เปลี่ยนโลกด้วย...ตอนที่ 3


766 ผู้ชม


ในสภาวะปัจจุบันการจะช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ดีขึ้น เราสามารถทำได้โดยง่ายๆ เพียงแต่เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค เช่นการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองโดยไม่ใช้สารเคมีก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้   

         หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2553  ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ มูลนิธิชีววิถี หรือ Biothai 
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชุมชนคนรักป่า และสถาบันต้นกล้า ได้จัด "โครงการรณรงค์กินเปลี่ยนโลก" (Slow Food Thailand) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องวิกฤตของอาหาร เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของเรา โดยได้แนะนำการกินเปลี่ยนโลกโดย เพียงกินอาหารตาม 3 เงื่อนไขหลัก ๆ ดังนี้ คือ อาหารดีมีคุณค่า (Good)วัตถุดิบคุณภาพดี สดใหม่ใส่ใจในทุกขั้นตอนการปรุงเปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ สะอาด (Clean)วัตถุ ดิบมาจากระบบการผลิตที่ปลอดสารเคมี  และไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นธรรม (Fair) ราคาเป็นธรรมต่อผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้อ โดย การมาปลูกกินเอง และมาทำกินเอง
 ที่มา  หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2553

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6  เรื่อง การปลูกผักกวางตุ้ง

การปลูกผักกวางตุ้ง

   เปลี่ยนโลกด้วย...ตอนที่ 3

        ผักกวางตุ้ง สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทยใกล้แห่งน้ำสะอาดและสะดวก       ต่อ การนำมาใช้ ไม่เป็นแหล่งที่มีน้ำท่วมขัง ห่างไกลจากแหล่งมลพิษการคมนาคมขนส่ง
 สะดวก สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว 
        ลักษณะดิน    ผักกวางตุ้งปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดีดินมีค่า PH ความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 6.0 – 6.5 
        สภาพภูมิอากาศ  อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 20 – 25  องศาเซลเซียส 
        แหล่งน้ำ  
  แหล่งน้ำที่เหมาะสมสำหรับปลูกผักกวางตุ้งควรเป็นแหล่งน้ำที่สะอาดปราศจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อนมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ตลอดฤดูปลูก 
        การเลือกพันธุ์   ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการเจริญเติบโตดี เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ปลูก 
         พันธุ์ที่นิยมปลูก
        พันธุ์ดอก เป็นพันธุ์ออกดอกเร็ว อายุเก็บเกี่ยว 30 – 40 วัน พันธุ์ใบ มีหลายพันธุ์ ลักษณะแตกต่างกัน มีทั้งพันธุ์ก้านใบแบน เช่นผักกาดฮ่องเต้ พันธุ์ก้านใบมน และพันธุ์ก้านใบกลม ได้แก่ พันธุ์ผักกาดกวางตุ้งที่จำหน่ายตามร้านค้าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป พันธุ์เหล่านี้อายุเก็บเกี่ยว 40 - 50 วัน        
        
 การเตรียมดิน   ไถตากดินไว้ประมาณ 7 วัน แล้วไถพรวนอีก1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดแมลง โรค และวัชพืช ยกร่องกว้างประมาณ 1.5 เมตร เว้นทาง เดิน 30 เซนติเมตร ก่อนปลูกหว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้วตามความสามารถที่จะหามาได้โดยทั่วไปควรใส่ อัตรา 2 ตัน/ไร่/ปี เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน 
          วิธีการปลูก
            เตรียมเมล็ดพันธุ์
 :
 แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 - 55 องศาเซลเซียส นาน 15-20  นาที 
ปลูกโดยวิธีหว่านเมล็ดโดยตรง : เหมาะสำหรับพันธุ์ดอก    หว่านเมล็ดลงในแปลงปลูก คลุมด้วยฟาง และรดน้ำเป็นฝอยละเอียดทั่วแปลง
  
                                                                
             สังเกตดู ถ้าต้นผักแน่น จนเกินไปให้ถอนต้นที่ไม่แข็งแรงทิ้งโดยเว้นระยะแต่ละต้นให้ห่างประมาณ 15-20  เซนติเมตร 

ปลูกแบบแถวเดียว : เหมาะสำหรับพันธุ์ใบ   
      -โรยเมล็ดเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 20-25 เซนติเมตร คลุมด้วยฟาง รดน้ำเป็นฝอยละเอียดทั่วแปลง
                            
      - ถอนแยกต้นกล้าเมื่อผักกาดกวางตุ้งแข็งแรง มีใบจริง 2 - 3 ใบ และต้นแข็งแรงอายุประมาณ 20-30วัน ให้มีระยะระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร

ปลูกแบบหยอดหลุม : เหมาะสำหรับพันธุ์ใบ

   - หยอดเมล็ดตามหลุมปลูก ให้มีระยะระหว่างต้นหรือหลุม 20-25  เซนติเมตรคลุมด้วยฟาง รดน้ำเป็นฝอยละเอียดทั่วแปลง
   -เมื่อต้นผักกวางตุ้งแข็งแรง ถอนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

  การดูแลรักษา
  การให้ปุ๋ย
   
  ก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ ใช้อีเอ็มสดผสมน้ำในอัตราส่วน 1:1,000 (1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 10 ลิตร) นำใส่บัวรดน้ำ รดราดลงบนแปลงจนทั่ว หลังจากนั้นไถกลบหน้าดินทิ้งไว้ 2 วัน เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำ และอากาศผ่านได้อย่างเหมาะสม 
   หลังจากไถกลบแล้วรดราดจุลินทรีย์อีเอ็มขยายผสมน้ำ 1:1000 อีก 1 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุย หว่านเมล็ดพันธุ์ผักแล้วโรยโบกาฉิ (จุลินทรีย์แห้ง) ทับลงไปในปริมาณ 4 กำมือ/ตารางเมตร (ขณะที่แตกต้นอ่อนจะได้รับอาหารทันที) ราดด้วยอีเอ็มขยาย (ผสมน้ำด้วยอัตราส่วน 1:1000) ประมาณ 5 วัน/ครั้ง ทำเช่นนี้จนครบกำหนดการเก็บเกี่ยว  ผักกวางตุ้ง ใช้เลา 30 วัน ผักเจริญเติบโตประมาณ 2 นิ้ว (10 วัน) โรยโบกาฉิ อีก 1 ครั้ง ในปริมาณเท่าเดิม

  การให้น้ำ
   
  ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ 
      ควรให้น้ำทันทีหลังการปลูกและใส่ปุ๋ย

  สุขลักษณะและความสะอาด

      1.ควรรักษาแปลงปลูกให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ
      2.กำจัดวัชพืช ควรกำจัดขณะวัชพืชยังเล็ก เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะวัชพืชหรือติดไปกับผลผลิต 
      3.ควรเก็บวัชพืช เศษพืชโดยเฉพาะ ที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก 
      4. อุปกรณ์ เช่น กรรไกร ภาชนะที่ใช้เก็บผลผลิต ฯลฯ หลังใช้งานแล้วต้องทำความสะอาด
 และเก็บให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ 
      5.  ภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้หมดแล้ว ให้ล้างทำความสะอาด นำน้ำที่ล้างไปพ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืช 
 
  โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด           
   โรคกล้าเน่า
    สาเหตุ เชื้อรา

  ลักษณะอาการ  อาการเน่าแบ่งได้เป็น 2 ระยะ อาการเน่าระยะก่อนงอก เมล็ดเน่าก่อนงอก หรืองอกออกมาเล็กน้อยแล้วเน่าตายไปก่อนที่จะโผล่พ้นดินขึ้นมา อาการเน่าระยะหลังงอก ต้นกล้าที่งอกพ้นดินขึ้นมาแล้ว มีแผลที่โคนต้นต้นหักพับที่ระดับผิวดิน หรือเกิดการเหี่ยวเฉาตาย เชื้อสาเหตุของโรคนี้ อาจปนเปื้อนมากับเมล็ดพันธุ์ หรืออาศัยอยู่ในดินบริเวณนั้นและสามารถเจริญได้ดีที่มีความชื้นสูง

  โรคราน้ำค้าง
  สาเหตุ เชื้อรา
  ลักษณะอาการ   ที่ใบเลี้ยงของต้นกล้าเกิดเป็นจุดช้ำ และต้นกล้าเน่ายุบ บนใบเกิดเป็นปื้นเหลืองด้านหลังใบมีเส้นใยสีขาวเป็นกระจุก เมื่อมีการระบาดมากขึ้น แผลขยาย 
อกไปเนื้อเยื่อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งกรอบ สภาวะที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคนี้คือ อุณหภูมิ และความชื้นสูง เชื้อสาเหตุสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ได้
 
   โรคใบจุด
   สาเหตุ เชื้อรา

  ลักษณะอาการ   เกิดจุดเล็ก ๆ บนต้นกล้าที่งอกใหม่ ๆ กล้าเน่าตายในระยะต้นโตอาการที่ใบเริ่มจากเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ ต่อมาแผลขยายออกเป็นวงกลมสีน้ำตาลหรือดำซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นเนื้อเยื่อรอบ ๆ แผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อการระบาดมากขึ้นแผลเหล่านี้ขยายมาติดกัน เนื้อใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลใบแห้งกรอบ 
   โรคใบแห้งหรือโรคเน่าดำ
    สาเหตุ แบคทีเรีย
     
  ลักษณะอาการ    อาการเริ่มแรกส่วนใหญ่จะเกิดที่ขอบใบ โดยเนื้อใบตรงส่วนที่เชื้อทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและลุกลามเข้าใบยังส่วนกลางของใบเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยยอดของสามเหลี่ยมนั้นอยู่ที่เส้นกลางใบ บางครั้งอาการอาจเริ่มแสดงที่ปากใบพืชทำให้เกิด อาการปื้นเหลืองบนใบ เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะค่อย ๆ ตายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เชื้อสาเหตุสามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ และสามารถมีชีวิต อยู่บนเศษซากพืชในดินได้นาน โรคนี้จะระบาดมากในสภาพที่มีความชื้นสูง 
         
  
การป้องกันกำจัดโรคของผักกวางตุ้ง

   1. การเตรียมแปลงเพาะ และแปลงปลูกควรย่อยดินให้ละเอียด ปรับดินด้วยปูนขาวอัตรา200-400 กก./ไร่ และปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 2-4 ตัน/ไร่ เพื่อป้องกันโรคกล้าเน่า และโรคเน่าดำ 
   2.แช่เมล็ดก่อนปลูกในน้ำอุ่น 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที สามารถลดความเสียหายเนื่องจากโรคกล้าเน่า โรคราน้ำค้าง โรคใบจุด และโรคเน่าดำ 
   3.  ไม่เพาะกล้าแน่นเกินไป สามารถลดความเสียหายเนื่องจากโรคเน่าดำ 
   4.
 ไม่ควรรดน้ำในแปลงกล้ามากเกินไป แปลงกล้าควรมีการระบายน้ำได้ดีเพื่อลดการเกิดโรคกล้าเน่า 
   5.  เมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคราน้ำค้างและโรคใบจุดในแปลงปลูก พ่นด้วยสารยาสูบสมุนไพรป้องกันศัตรูพืช
   6. เศษซากพืชที่เป็นโรคควรนำออกจากแปลงให้หมด ไม่ควรจะสับกลับลงไปในดินเพื่อลดการระบาดของโรคราน้ำค้าง โรคใบจุด และโรคเน่าดำ ในฤดูต่อไป 
                          
  
การเก็บเกี่ยว

   1. เก็บเกี่ยวผักกวางตุ้งตามอายุเก็บเกี่ยวของพันธุ์ที่ปลูก (30-50 วัน) 
   2.ใช้มีดคมตัดบริเวณโคนต้นให้ชิดดิน 
   3. ขณะเก็บเกี่ยวตัดใบที่แก่และเน่าเสียออกจากแปลง

   คุณประโยชน์ของผักกวางตุ้ง

   ผักกวางตุ้งนิยมนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง เช่น ต้มจับฉ่าย   แกงส้ม เป็นต้น
           
  ประเด็นสู่ารอภิปรายในห้องเรียน
        1.การผัดปลูกผักกวางตุ้งมีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไร
        
กิจกรรมเสนอแนะ
       - ศึกษาค้าคว้าเกี่ยวกับ การปลูกผักสวนครัวชนิดอื่นและนำมาอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
        สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2572

อัพเดทล่าสุด