เครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์


664 ผู้ชม


เครื่องบินพลังแสงอาทิตย์ผ่านการทดลองอยู่บนท้องฟ้าได้ตลอดทั้งคืนไม่มีปัญหา   

*เครื่องบินพลังแสงอาทิตย์ผ่านการทดลองอยู่บนท้องฟ้าได้ตลอดทั้งคืนไม่มีปัญหา*
                เอเอฟพี - “โซลา อิมพัลส์” เครื่องบินพลังแสงอาทิตย์ ที่ขับโดยนักบิน อังเดร บอร์ชเบิร์ก สามารถผ่านการทดลองบินในเวลากลางคืน ซึ่งต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรีที่เก็บสะสมเอาไว้จากช่วงกลางวันเท่านั้น โดยปรากฏว่าภายหลังทะยานขึ้นจากฐานทัพอากาศในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อช่วงเช้าตรู่ (ตรงกับ 04.51 น.ตามเวลามาตรฐานกรีนิช) ของวันพุธ (7) มันก็สามารถอยู่กลางเวหาได้ทั้งวันทั้งคืน และกลับลงมาจอดในเวลาสายๆ (ตรงกับ 07.01 น.ตามเวลามาตรฐานกรีนิช) ของวันพฤหัสบดี (8) รวมเวลาอยู่บนท้องฟ้าทั้งสิ้น 26 ชั่วโมง 9 นาทีเศษๆ แถมพลังงานในแบตเตอรียังเหลือมากพอที่จะบินต่อไปได้อีก 3 ชั่วโมงด้วยซ้ำ
ที่มา : https://www.norsorpor.com/

             

 พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานทดแทนประเภทหมุนเวียนที่ใช้แล้วเกิดขึ้นใหม่ได้ตามธรรมชาติ เป็นพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นพลังงานที่มีศักยภาพสูง ในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สามารถจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบคือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการใช้พลังงาน
แสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ แบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ
  1.เซลล์แสงอาทิตย์แบบอิสระ (PV Stand alone system)
เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการออกแบบสำหรับใช้งานในพื้นที่ชนบท
ที่ไม่มีระบบสายส่งไฟฟ้า อุปกรณ์ระบบที่สำคัญประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรง
เป็นไฟฟ้ากระแสสลับแบบอิสระ 
 2.เซลล์แสงอาทิตย์แบบต่อกับระบบจำหน่าย (PV Grid connected system) 
เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ถูกออกแบบสำหรับผลิตไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าโดยตรง ใช้ผลิตไฟฟ้าในเขตเมือง
 หรือพื้นที่ที่มีระบบจำหน่ายไฟฟ้าเข้าถึง อุปกรณ์ระบบที่สำคัญประกอบด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์เปลี่ยนระบบไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับชนิดต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า 
 3.เซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสาน (PV Hybrid system)เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ถูกออกแบบสำหรับทำงานร่วมกับอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าอื่นๆ เช่น ระบบเซลล์แสงอาทิตย์กับพลังงานลม และเครื่องยนต์ดีเซล ระบบเซลล์แสงอาทิตย์กับพลังงานลม และไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นต้น โดยรูปแบบระบบจะขึ้นอยู่กับการออกแบบตามวัตถุประสงค์โครงการเป็นกรณีเฉพาะ


เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 
(บูรณาการการมาตรฐานสู่สาระการเรียนรู้)หรือช่วงชั้นที่ 4
                เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน ได้แก่ การผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และการอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบ่งออกเป็น 3 ชนิด การผลิตน้ำร้อนชนิดไหลเวียนตามธรรมชาติ เป็นการผลิตน้ำร้อนชนิดที่มีถังเก็บอยู่สูงกว่าแผงรับแสงอาทิตย์ ใช้หลักการหมุนเวียนตามธรรมชาติ 
การผลิตน้ำร้อนชนิดใช้ปั๊มน้ำหมุนเวียน เหมาะสำหรับการใช้ผลิตน้ำร้อนจำนวนมาก และมีการใช้อย่างต่อเนื่อง 
การผลิตน้ำร้อนชนิดผสมผสาน เป็นการนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำร้อนจากแสงอาทิตย์มาผสมผสานกับความร้อนเหลือทิ้งจากการระบายความร้อนของเครื่องทำความเย็น หรือเครื่องปรับอากาศ โดยผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน 
  การอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันมีการยอมรับใช้งาน 3 ลักษณะ คือ 
 1.การอบแห้งระบบ Passive เป็นระบบที่เครื่องอบแห้งทำงานโดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์และกระแสลมที่พัดผ่าน 
 2.การอบแห้งระบบ Active เป็นระบบอบแห้งที่มีเครื่องช่วยให้อากาศไหลเวียนในทิศทางที่ต้องการ เช่น มีพัดลมติดตั้งในระบบเพื่อบังคับให้มีการไหลของอากาศผ่านระบบ 
 3.การอบแห้งระบบ Hybrid เป็นระบบอบแห้งที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และยังต้องอาศัยพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ช่วยในเวลาที่มีแสงอาทิตย์ไม่สม่ำเสมอ หรือต้องการให้ผลิตผลทางการเกษตรแห้งเร็วขึ้น


คำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน 
 1.อุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันชนิดใดบ้างที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้
 2.อภิปรายเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์กับพลังชนิดอื่นๆ 
 3.ออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ตามจินตนาการของตนเอง

กิจกรรมเสนอแนะ
 1.นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์
 2.นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลก

แหล่งอ้างอิง
https://www.dede.go.th/
https://th.wikipedia.org/wiki/
https://www.energy.go.th/
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2885

อัพเดทล่าสุด