ปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ


967 ผู้ชม


หญ้าแฝกพืชบำรุงดิน ช่วยกันปลูกมาก ๆ เพื่อความสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินไทย   

หญ้าแฝก ตอนที่ 1

ประเด็นข่าว
             นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา 12 สิงหาคม 2553 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงส่งเสริมงานด้านการพัฒนาการเกษตรโดยเฉพาะทรัพยากรดินและน้ำโดยตลอดมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯร่วมกับกรมพัฒนา ที่ดิน จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคม 2553 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

             โดยจัดกิจกรรมที่เน้นให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของ พระองค์และเผยแพร่พระเกียรติคุณ และเพื่อรณรงค์ให้คนไทยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผลงานของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ดำเนินการด้านการพัฒนา อนุรักษ์ปรับปรุง และฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดินทั่วประเทศ โดยน้อมนำวิธีปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ ที่พระราชทานในการป้องกัน แก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรดินไว้นานัปการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกร อีกทั้งเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยขอรับกล้าหญ้าแฝกได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป.

เนื้อหาสาระ หลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว เรื่อง การปลูกพืช ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

หญ้าแฝก (Vetiveria spp.)

ปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ
ภาพจากอินเทอร์เน็ต


           หญ้าแฝก เป็นพืชตระกูลหญ้าที่พบอยู่ทั่วไปตามภาคต่างๆ ของประเทศ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง ความเปียกแฉะและสภาพน้ำท่วมขังใด้ดี เพราะมีระบบรากลึกและใบแคบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vetiveria spp. หญ้าแฝกขึ้นเป็นกอใหญ่ ขนาดของกอประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-1.5 เมตร ใบแคบยาวประมาณ 75 เซนติเมตรกว้าง 4-10 มิลลิเมตร มีรากเป็นกระจุกเหมือนใยฟองน้ำ สามารถดูดซับน้ำได้ดี ถ้านำมาปลูกเป็นแถวจะช่วยในการดักตะกอนดินและป้องกันการพังทลายของดินได้ดี 

วัตถุประสงค์ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ 
1. 
เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 
2. เพื่อป้องกันการกัดชะการพังทลายของดิน 
3. เพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม 

ชนิดพันธุ์หญ้าแฝก หญ้าแฝกที่นิยมปลูกกันมากในประเทศมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่สามารถเจริญเติบได้ดีบนพื้นที่สูง ที่พบตามหน่วยจัดการต้นน้ำมี 6 สายพันธุ์ ได้แก่ 
1. 
พันธุ์แม่ลาน้อย 
2. พันธุ์ศรีลังกา 
3. พันธุ์อินเดีย 
4. พันธุ์แม่ฮ่องสอน 
5. พันธุ์เชียงใหม่ 
6. พันธุ์สุราษฎร์ธานี

ปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ
ภาพจากอินเทอร์เน็ต

การขยายพันธุ์หญ้าแฝก

           การขยายพันธุ์หญ้าแฝกที่นิยมกันมาก ง่าย และรวดเร็วได้แก่การแยกหน่อแล้วนำไปชำในแปลงเพาะหรือในถุงชำ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

           1. นำหญ้าแฝกที่เป็นกอมาตัดใบออกให้เหลือความยาวของต้นประมาณ 20 เซนติ เมตร และความยาวของรากประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วแยกออกเป็นต้นๆ คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์มีรากติดนำลงปลูกในถุงชำขนาด 5 x 8 นิ้วที่มีส่วนผสมของดินร่วนปนทรายและขี้เถ้าแกลบ จากนั้นนำถุงชำมาวางเรียงในที่แจ้งให้เป็นแถว แถวละประมาณ 10 ถุง ระหว่างแถวห่างกัน 1เมตร รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ

           2. การเพาะชำในแปลงเพาะแบบยกร่อง โดยการนำหญ้าแฝกที่เตรียมไว้ในข้อที่ 1 มาปลูกในแปลงขยายพันธุ์ที่เตรียมดินโดยการทำเป็นแปลงยกร่องกว้างขนาด 1-1.5 เมตร ความห่างระหว่างแปลงประมาณ 1 เมตร ความยาวของแปลงแล้วแต่ความเหมาะสม โดยนำหญ้าแฝกมาปลูกห่างกันระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกหญ้าแฝกได้ประมาณ 3,200 กอ รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หญ้าแฝกจะเจริญเติบอย่างรวดเร็ว และสามารถแตกหน่อได้ประมาณ 40-50 เท่าในระยะเวลา 4-5 เดือน 

การปลูกหญ้าแฝก

          หญ้าแฝกสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ โดยเฉเพาะภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร และมีปัญหาเกี่ยวกับการพังทลายของหน้าดิน (Soil-erosion) การปลูกหญ้าแฝกแบ่งตามสภาพพื้นที่ได้ 3 ประเภท ได้แก่ 
          1. 
ปลูกในพื้นที่ป่าที่ล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดิน 
          2. ปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม 
          3. ปลูกในพื้นที่อื่นๆที่มีล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดิน

ปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ
ภาพจากอินเทอร์เน็ต

 (ติดตาม หญ้าแฝกตอน 2)

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
 1. อธิบายการปลูกและการขยายพันธุ์หญ้าแฝก
 2. อธิบายวัตถุประสงค์ของการปลูกหญ้าแฝก
กิจกรรมเสนอแนะ
 ให้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการปลูกพืขชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายหญ้าแฝก  แล้วจัดทำเป็นรายงานส่ง
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
 สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

ที่มา
      https://www.dnp.go.th/
      https://www.doae.go.th/library/html/detail/grass/grass2.htm
      https://www.chaipat.or.th/chaipat_old/vetiver/vetiver_t.html

 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3100

อัพเดทล่าสุด