โอเน็ต(O-NET)ตกต่ำ...ดนตรีช่วยได้


815 ผู้ชม


ดนตรีมีพลัง สร้างสมาธิแก่ผู้เรียน และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้   

 "โอเน็ต"ตกต่ำเพราะปฏิรูปผิดพลาด 

 นักการศึกษาชี้ “โอเน็ต “ตกต่ำเพราะปฏิรูปผิดพลาด 10 ปี คุณภาพการศึกษายิ่งสาหัสขึ้นทุกที 
จี้ “อภิสิทธิ์” รับเจ้าภาพดูแลเอง
 


         รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)คะแนนสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตระดับชั้น ป.6 , ม. 3 และ ม.6 คะแนนเฉลี่ยตกหมดทุกวิชา แสดงถึงคุณภาพเด็กไทยที่ตกต่ำลง  แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยยิ่งอยู่ในระบบการศึกษานานเท่าไร ยิ่งคุณภาพลดต่ำลง และปัญหาคุณภาพการศึกษาก็ลามเข้ามาถึงระดับอุดมศึกษาแล้ว เพราะได้เด็กที่ด้อยคุณภาพเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งนี้คุณภาพการศึกษาที่ดิ่งเหวลงไปทุกขณะ กลับไม่มีเจ้าภาพหรือฝ่ายใดเข้ามาแสดงความรับผิดชอบ  จึงยิ่งทำให้คุณภาพการศึกษาสาหัสขึ้นทุกที คือข้อสอบโอเน็ตของ สทศ.เน้นการคิด วิเคราะห์ หาเหตุผล แต่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนยังเป็นแบบท่องจำ 80-90% เป็นเรื่องที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เป็นตลกทางการศึกษา ดังนั้นโรงเรียนจะต้องเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนรู้ครั้งใหญ่โดยวางเป้าหมายไว้ว่า 2 ปีจากนี้ จะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร  10 ปีของการปฏิรูปการศึกษา ได้ผลิดอกออกผลออกมาแล้วว่า คุณภาพของเด็กไทยลดต่ำลงเรื่อยๆเป็นการล้มเหลวด้านคุณภาพการศึกษาอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน เข้าสู่เงินเดือนและวิทยฐานะใหม่ ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ผิดพลาดมหาศาล  : ข่าววันที่ 7 เมษายน 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ 

        จากประเด็นข่าวผลสอบโอเน็ตต่ำมาก  ครูทุกท่านคงสร้างคำถามในใจว่า  ทำไมผลการสอบจึงเป็นเช่นนั้น และหาสาเหตุเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาอันยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทย  และจากการประชุมเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษาของจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่  1 พฤษภาคม  2552 ณ สยามริเวอร์รีสอร์ท ที่ผ่านมา  แต่ละกลุ่มสาระได้นำปัญหาดังกล่าวมาร่วมอภิปรายเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้สูงขึ้น  ในครั้งนี้กลุ่มสาระศิลปะ(ดนตรี) ได้เสนอแนวทางอีกหนึ่งแนวทางที่ได้ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนที่โรงเรียน  คือ การเรียนดนตรี อย่าสงสัยว่า เรียนดนตรีแล้วเรียนเก่งได้อย่างไร  มาพิสูจน์กันเลยดีกว่า 

โอเน็ต(O-NET)ตกต่ำ...ดนตรีช่วยได้

 ( ภาพจาก www.cm-market.com )

เหมาะสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัยมศึกษาปีที่ 4 - 6  ช่วงชั้นที่  4
สาระที่ 2 ดนตรี
สอดคล้องกับมาตรฐาน ศ 2.1 เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี
ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

        ดนตรีมีส่วนช่วยให้เรียนเก่ง  เพราะการเรียนดนตรี ปฏิบัติดนตรี การร้องเพลง  ต้องใช้สมาธิและการฝึกฝน เมื่อบทเรียนสูงขึ้นก็ยิ่งต้องการสมาธิที่สูงขึ้นและยาวขึ้น การฝึกซ้อมก็จะพบกับปัญหาและการท้าทายที่ยากขึ้นต้องใช้ความอดทนมากขึ้นเป็นลำดับ  ตรงนี้แหละที่เรียนเก่งได้ด้วยดนตรี   ที่ถึงแม้จะมีพรสวรรค์ แต่สิ่งที่ทำให้พรสวรรค์เปลี่ยนเป็นสวรรค์จริงๆ ขึ้นมาได้คือ "พรแสวง" หรือความอุตสาหะพยายาม   จากประสบการณ์ในการสอนดนตรีมาเป็นเวลามากกว่า  10 ปี  ลูกศิษย์ที่มีความสามารถด้านดนตรีไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีพื้นเมือง  นักดนตรีไทย  และนักดนตรีสากล  และมีความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาหรือระดับสูงขึ้นไปสามารถสอบคัดเลือกและเข้าศึกษาต่อได้ตามต้องการ แสดงให้เห็นว่า ดนตรีมีส่วนช่วยในการสร้างสมาธิก่อให้เกิดปัญญา นำพาไปสู่ความสำเร็จได้เป็นอย่างดี  ดนตรีมีพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนความคิดของผู้เรียนให้มีความรู้สึกที่อิ่มเอม  เกิดสมาธิ สร้างปัญญาให้กับตนเองและคนที่ได้ฟังและสัมผัส  นำไปขับคลื่นสังคมที่เขาดำรงอยู่มีให้เต็มไปด้วยความสุขทางปัญญาและสุขภาวะทางสังคมซึ่ง ดนตรี ศิลปะมีอิทธิพลสูงมากในการกล่อมเกลาจิตใจคน ไม่ว่ายุคใด รุ่นใดก็มีลักษณะที่คล้ายๆ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญอย่างมาก      
        นอกจากนี้การเรียนดนตรีสำหรับเด็กที่มีสมาธิสั้น  ทำให้เด็กผ่อนคลายและเกิดสมาธิในการปฏิบัติ  ส่งผลให้การเรียนในห้องเรียน หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็กประสบความสำเร็จมากขึ้น   ดนตรีนอกจากจะพัฒนาด้านอารมณ์ ทำให้มีจิตใจที่อ่อนโยนแล้ว ดนตรียังช่วยพัฒนาสมอง เสริมสร้างสติปัญญา สมาธิ และมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ เนื่องจากสมองของคนเรามี 2 ซีกคือซีกขวาและซีกซ้าย สมองซีกขวาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความสามารถด้านดนตรีและศิลปะ สมองซีกซ้ายใช้ในเรื่องของการเรียนรู้หลักการ เหตุผล ความไพเราะของเสียงดนตรีจะกระตุ้นให้เส้นสมองพัฒนามากขึ้น ฉะนั้นการเรียนดนตรีจึงช่วยให้เด็กได้มีการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอเน็ต(O-NET)ตกต่ำ...ดนตรีช่วยได้

( ภาพจาก www.thaihealth.or.th )

 ประโยชน์ของการเล่นดนตรี
        1.ได้ฝึกสมาธิ ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
        2. ช่วยให้เป็นคนใจเย็นและมีระเบียบวินัยในตนเอง
        3. สนุกสนานเพลิดเพลินและคลายเครียด
        4. ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
        5. เพิ่มทักษะการปฏิบัติด้านดนตรี
        6. สร้างเสน่ห์ให้แก่ตนเอง
        7. ส่งผลให้ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ EQ สูงขึ้น
 

 

โอเน็ต(O-NET)ตกต่ำ...ดนตรีช่วยได้

( ภาพจาก  www.manager.co.th )  

        ดนตรีเป็นวิชาที่เกี่ยวกับทักษะ ทักษะเกิดได้จากการเรียนรู้และฝึกฝนบ่อยๆ ต้องใช้เวลาในการเรียน ฝึกซ้อม ทำให้เกิดสมาธิได้โดยไม่รู้ตัว ในขณะที่เล่นดนตรี  ตามองโน้ต หูฟัง  ต้องบังคับมือทั้งสองมือเล่นตามตัวโน้ตให้ถูกต้องเมื่อใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำจึงเกิดสมาธิ ความนิ่งย่อมพัฒนาไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของเด็ก ขณะเดียวกันความก้าวร้าวการตัดสินใจรวดเร็ว โมโหร้าย จะค่อยพัฒนาให้เป็นคนสุขุมมากขึ้น ดังนั้นวุฒิภาวะทางอารมณ์จะดีขึ้นไปพร้อมกับการพัฒนาทางด้านร่างกายให้เติบโตมาเป็นคนที่มีคุณภาพ   คุณค่าของดนตรีนั้นมีมากมาย การให้เด็กสัมผัสความไพเราะความนุ่มนวลของดนตรี จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังคำกล่าวของ ดร.สุกรี   เจริญสุข  นักวิชาการดนตรีกล่าวไว้ว่า "กินข้าวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ มีดนตรีเพื่อให้อยู่อย่างมีชีวิต"

ต่อยอดความคิด
     1. จากผลการสอบโอเน็ต ปี 2551 ท่านมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น
     2. ดนตรี มีประโยชน์ต่อผู้เรียน การศึกษาไทยอย่างไรบ้าง 
     3. ดนตรีมีส่วนช่วยให้เรียนเก่งได้อย่างไร  
     4. พรสวรรค์และพรแสวงอย่างไหนสำคัญกว่ากัน

การบูรณาการกับกล่มสาระการเรียนรู้อื่น
     กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  เรื่อง การอ่านจับใจความและการวิเคราะห์
     กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่อง สมาธิสร้างปัญญา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
    www.siengsarnfun.com 
    www.thaihealth.or.th   
    www.bannkengkhim.com


 

       
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=301

อัพเดทล่าสุด