วิธีการดูแลรักษาเครื่องดนตรี เพื่อให้มีคุณภาพเสียงที่ดี ไพเราะ คงทนต่อการใช้งาน
ดูแลดีมีชัย...ช้างเผือกคุณพระ... (ตอนที่ 1 เครื่องดีด )
สพฐ.จับมือเวิร์คพอยท์จัด “ช้างเผือกคุณพระ” เปิดเวทีให้ นร.ประชันดนตรีไทย-สากล.....
จากการที่ สพฐ.จับมือกับเวิร์คพอยท์-อสมท จัดเวที “ช้างเผือกคุณพระ” ให้เยาวชนแสดงฝีมือด้านดนตรีไทย-สากล สู่ความเป็นเลิศให้ทั่วโลกได้รับรู้ เป็นเวทีการแข่งขันในระดับชาติที่มีคุณค่าต่อการศึกษาไทย เพราะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาฝีมือตนเองไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านดนตรี อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมไทย ดนตรีไทยไปอีกยาวนาน ผู้ที่เข้าแข่งขันสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านวัฒนธรรมไทย เน้นให้เยาวชนที่รักในด้านศิลปวัฒนธรรมไทยแต่ขาดโอกาสที่จะนำเสนอความเป็นไทย ซึ่งรายการคุณพระช่วย ได้เปิดเวทีเพื่อค้นหาช้างเผือกอย่างแท้จริง โดยเป็นการผสมผสานดนตรีไทยกับดนตรีสากลเพื่อให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่า ดนตรีไทยกับสากลมีความน่าสนใจ มีความเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินไทย โดยผ่านเยาวชนที่มีความรักในดนตรีไทย วงที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลพระราชทาน เข็มกลัดช้างเผือกคุณพระ ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลสูงสุดของการเป็นนักดนตรีและครูผู้สอนที่จะร่วมภาคภูมิใจและจากการประชันแข่งขันดนตรีไทยร่วมสมัยรอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552 ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ที่ผ่านมา โจทย์ของการประชันกำหนดให้ทั้งสามวงแต่งเนื้อร้องและทำนองขึ้นใหม่ ภายใต้แนวคิดของคำว่า “ช้าง” ที่ต้องสื่อถึงความยิ่งใหญ่ตามจินตนาการ ผลการแข่งขันปรากฏว่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล จ.นครปฐม ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วยบทเพลง “ร่ายคชลักษณ์” สื่อถึงความยิ่งใหญ่ของช้างทั้ง 4 ตระกูล วรรณกษัตริย์, พราหมณ์, แพทย์ และศูธ แนวดนตรีเน้นความอลังการตื่นเต้นพร้อมเสียงขับร้องที่สุดกังวาล มีทิมปานี มีเชลโล่ เข้ามาช่วย สร้างความประทับใจต่อผู้ชมและคณะกรรมการ จนได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้
จากการประชันแข่งขัน "ช้างเผือกคุณพระ" การใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีมีความสำคัญมาก เนื่องจากเครื่องดนตรีไทยแบ่งตามลักษณะการบรรเลงได้ 4 ประเภท คือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า ลักษณะของเครื่องดนตรีและวิธีการใช้ย่อมแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น ไม้ หวาย หนังสัตว์ งาช้าง เขาสัตว์ เป็นต้น เพื่อให้เครื่องดนตรีมีสภาพที่คงทนต่อการใช้งานและไม่ชำรุดเสียหายง่าย และที่สำคัญคุณภาพเสียงดนตรีที่ดี บรรเลงแล้วเกิดเสียงที่ไพเราะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้หรือผู้บรรเลงจะต้องรู้จักวิธีใช้และเก็บรักษาเครื่องดนตรีให้ถูกวิธี
สอดคล้องกับสาระดนตรี มาตรฐานที่ 2.1 ตัวชี้วัดที่ 9 ใช้และบำรุงรักษาเครื่องดนตรีอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบ
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ช่วงชั้นที่ 3
วิธีใช้และการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทย
วิธีการใช้และการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด
จะเข้
1.วิธีการนั่งบรรเลงจะเข้ ให้นั่งพับเพียบ ตัวตรง โดยด้านกระพุ้งอยู่ด้านซ้ายมือของผู้บรรเลง และด้านลูกบิด อยู่ด้านขวามือของผู้บรรเลง มือซ้ายใช้สำหรับกดนมจะเข้ และมือขวาใช้สำหรับพันไม้ดีด และดีดสายจะเข้
2.การอุ้มจะเข้ ต้องอุ้มให้ขนานกับพื้น โดยนำกระพุ้งเข้าแนบด้านข้างของลำตัวให้ส่วนหัวอยู่ทางด้านหน้า
3.เมื่อบรรเลงจะเข้เสร็จ ควรเก็บเข้าชิดข้างฝาผนังหรือด้านในของเวทีเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และป้องกันความเสียหาย
4.การทำความสะอาดจะเข้ควรใช้ผ้าที่มีความนุ่มและแห้งหรือชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตัวจะเข้
5.ควรมีผ้าคลุมตัวจะเข้ เพื่อป้องกันฝุ่นละออง
ซึง
1. วิธีการนั่งบรรเลง ถ้าเป็นผู้ชายสามารถนั่งขัดสมาธิ ผู้หญิงให้นั่งพับเพียบ เนื่องจากผู้หญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่นและดูเรียบร้อยสวยงาม โดยวางส่วนกระพุ้งแก้มของซึงไว้ที่หน้าตักของผู้บรรเลง และส่วนหัวของซึงด้านลูกบิดให้ปลายลูกบิดวางตั้งกับพื้น
2. เนื่องจากที่ดีดซึงมีขนาดเล็ก เมื่อบรรเลงเสร็จ ควรเก็บที่ดีดโดยเหน็บไว้กับตัวซึง ผูกเชือกร้อยที่ดีดไว้กับตัวซึง เพื่อป้องกันไม่ให้สูญหาย
3. ไม่ควรพิงซึงไว้ข้างฝาผนัง เพราะอาจล้ม หรือตกกระแทกกับพื้นจนเกิดความเสียหายได้
4. ควรมีขาตั้งสำหรับวางซึงโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกในการนำเก็บและหยิบใช้งาน ควรนำซึงใส่เก็บไว้ในถุงผ้าที่มีขนาดพอดีแล้วนำไปแขวนหรือเก็บ เป็นต้น เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและความเสียหาย
5. การถือซึง ให้ถือแนบกับลำตัว ไม่แกว่งไปแกว่งมาเพื่อป้องกันการกระแทก
พิณอีสาน
1. วิธีการบรรเลงพิณอีสาน ผู้บรรเลงสามารถนั่งหรือยืนบรรเลงก็ได้โดย มือซ้ายใช้กดสายและนมของพิณ และมือขวาใช้ที่ดีด ดีดสายพิณ
2. การเก็บพิณ สามารถเก็บได้หลายลักษณะดังนี้
2.1 พิณที่มีลูกบิดเป็นไม้ ในการวางพิณให้วางพิณหงายขึ้น และการเก็บควรเลือกเก็บใส่ถุงให้เรียบร้อย หรือนำไปแขวนไว้ตามความเหมาะสม
2.2 พิณประยุกต์ คือ พิณที่มีลูกบิดคล้ายลูกบิดของกีตาร์ในการวางให้วางคว่ำ ป้องกันไม่ให้สายพิณลด เพราะอาจทำให้เสียงเพี้ยนได้ การเก็บควรเก็บใส่ถุงให้เรียบร้อย หรือนำไปแขวนตามความเหมาะสม
3. ควรใช้ผ้าที่มีความนุ่ม และแห้ง เช็ดพิณทุกครั้งหลังจากบรรเลงเสร็จ
4. ไม่ควรพิงพิณอีสาน เพราะอาจเกิดการล้มหรือกระทบกระเทือน จนเกิดความเสียหายได้
กระจับปี่
1.วิธีการนั่งบรรเลงกระจับปี่ ผู้บรรเลงนั่งพับเพียบไปด้านขวา ตัวกระจับปี่วางบนตักของผู้บรรเลง มือซ้ายใช้สำหรับกดนมของกระจับปี่ตามเสียงต่างๆ มือขวาจับที่ดีดและดีดสายกระจับปี่
2. การถือกระจับปี่ ให้ถือแนบกับลำตัว โดยตั้งฉากกับพื้น ไม่แกว่ง
ไปแกว่งมาเพื่อป้องกันการกระแทก
3. ควรวางกระจับปี่คว่ำหน้าลง ไม่ควรวางพิงหรือวางชิดขอบเวทีโต๊ะ เพราะกระจับปี่มีโขนที่โค้งงอ อาจเกิดการกระทบกระเทือนให้แตกหักหรือเสียหายได้
4. ควรใช้ผ้าที่มีความนุ่มและแห้ง เช็ดกระจับปี่ทุกครั้งหลังจากบรรเลงเสร็จ
5. ควรมีขาตั้งสำหรับวางกระจับปี่โดยเฉพาะ เพื่อสะดวกในการนำเก็บแล้วหยิบใช้งาน
พัฒนากระบวนการคิด
1. การใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยที่ถูกวิธีมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
2. หากใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีไม่ถูกวิธี จะมีผลเช่นไรกับเครื่องดนตรี
บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การอ่านและคิดวิเคราะห์
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
แหล่งที่มาของข้อมูล/ภาพ
สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ( พว.)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=412