ดูแลดีมีชัย...ช้างเผือกคุณพระ....(ตอนที่ 2 เครื่องสี )


803 ผู้ชม


วิธีการดูแลรักษาเครื่องดนตรี เพื่อให้มีคุณภาพเสียงที่ดี ไพเราะ คงทนต่อการใช้งาน   

ดูแลดีมีชัย...ช้างเผือกคุณพระ...(ตอนที่ 2 เครื่องสี )

 ดูแลดีมีชัย...ช้างเผือกคุณพระ....(ตอนที่ 2 เครื่องสี )

ขอบคุณที่มาภาพ )
     สพฐ.จับมือเวิร์คพอยท์จัด “ช้างเผือกคุณพระ” เปิดเวทีให้ นร.ประชันดนตรีไทย-สากล.....

       จากการที่ สพฐ.จับมือกับเวิร์คพอยท์-อสมท จัดเวที “ช้างเผือกคุณพระ” ให้เยาวชนแสดงฝีมือด้านดนตรีไทย -สากล สู่ความเป็นเลิศให้ทั่วโลกได้รับรู้ เป็นเวทีการแข่งขันในระดับชาติที่มีคุณค่าต่อการศึกษาไทย เพราะเปิดโอกาสให้ เยาวชนได้พัฒนาฝีมือตนเองไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านดนตรี อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนมุ่งมั่นสืบสาน วัฒนธรรมไทย ดนตรีไทยไปอีกยาวนาน ผู้ที่เข้าแข่งขันสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านวัฒนธรรมไทย  เน้นให้เยาวชนที่รักในด้านศิลปวัฒนธรรมไทยแต่ขาดโอกาสที่จะนำเสนอความเป็นไทย ซึ่งรายการคุณพระช่วย ได้เปิดเวทีเพื่อค้นหาช้างเผือกอย่างแท้จริง โดยเป็นการผสมผสานดนตรีไทยกับดนตรีสากลเพื่อให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่า  ดนตรีไทยกับสากลมีความน่าสนใจ มีความเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินไทย โดยผ่านเยาวชนที่มีความรักในดนตรีไทย วงที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลพระราชทาน เข็มกลัดช้างเผือกคุณพระ ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลสูงสุดของการเป็นนักดนตรีและครูผู้สอนที่จะร่วมภาคภูมิใจและจากการประชันแข่งขันดนตรีไทยร่วมสมัยรอบชิงชนะเลิศ  เมื่อวันที่  21 เมษายน  2552 ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ที่ผ่านมา โจทย์ของการประชันกำหนดให้ทั้งสามวงแต่งเนื้อร้องและทำนองขึ้นใหม่ ภายใต้แนวคิดของคำว่า “ช้าง” ที่ต้องสื่อถึงความยิ่งใหญ่ตามจินตนาการ ผลการแข่งขันปรากฏว่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล จ.นครปฐม ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วยบทเพลง “ร่ายคชลักษณ์” สื่อถึงความยิ่งใหญ่ของช้างทั้ง 4 ตระกูล วรรณกษัตริย์, พราหมณ์, แพทย์ และศูธ  แนวดนตรีเน้นความอลังการตื่นเต้นพร้อมเสียงขับร้องที่สุดกังวาล มีทิมปานี มีเชลโล่ เข้ามาช่วย สร้างความประทับใจต่อผู้ชมและคณะกรรมการ จนได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้

        จากการประชันแข่งขัน "ช้างเผือกคุณพระ"  การใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีมีความสำคัญมาก เนื่องจากเครื่องดนตรีไทยแบ่งตามลักษณะการบรรเลงได้ 4 ประเภท คือ เครื่องดีด  เครื่องสี   เครื่องตี และเครื่องเป่า ลักษณะของเครื่องดนตรีและวิธีการใช้ย่อมแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ  ที่หาได้ตามท้องถิ่น เช่น  ไม้  หวาย  หนังสัตว์  งาช้าง  เขาสัตว์ เป็นต้น  เพื่อให้เครื่องดนตรีมีสภาพที่คงทนต่อการใช้งานและไม่ชำรุดเสียหายง่าย  และที่สำคัญคุณภาพเสียงดนตรีที่ดี บรรเลงแล้วเกิดเสียงที่ไพเราะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้หรือผู้บรรเลงจะต้องรู้จักวิธีใช้ ดูแลและการเก็บรักษาให้ถูกวิธี 

สอดคล้องกับสาระดนตรี มาตรฐานที่ 2.1  ตัวชี้วัดที่ 9 ใช้และบำรุงรักษาเครื่องดนตรีอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบ
                                   นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3  ช่วงชั้นที่  3
 

วิธีการใช้และการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสี

ซอด้วง ซออู้ 

ดูแลดีมีชัย...ช้างเผือกคุณพระ....(ตอนที่ 2 เครื่องสี )

      1. ผู้บรรเลงควรขึ้นสายซอ เลื่อนหย่องหรือหมอนลงให้อยู่กึ่งกลางของหน้าซอ จากนั้นเทียบเสียงของซอตามประเภทของซอนั้นๆ ผู้บรรเลงนั่งตัวตรง พับเพียบ มือซ้ายจับคันซอเพื่อกดสายซอ มือขวาจับคันชัก วางกระบอกซอตรงหน้าขาขวาหรือกะโหลกซอที่หน้าขาขวาข้างลำตัวผู้บรรเลง
      2. เมื่อบรรเลงเสร็จ ควรลดสายและปลดหย่อง หมอน  ขึ้นไว้บนขอบกระบอก หรือกะโหลกซอ เพื่อป้องกันหน้าซอยุบตัวจากการกดทับของสายและเก็บคันซอคล้องไว้กับลูกปัด โดยนำส่วนที่จับขึ้นด้านบน
     3. ควรใช้ผ้าที่มีความนุ่มและแห้ง เช็ดซอทุกครั้งหลังจากบรรเลงเสร็จ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนกระบอกและกะโหลกซอ เพราะจะมีฝุ่นของยางสนติดสะสมอยู่
     4. การถือซอให้ถือแนบกับลำตัว โดยตั้งฉากกับพื้น ไม่แกว่งไปมา
     5. ไม่ควรพิงซอไว้ข้างฝาผนัง หรือวางชิดขอบโต๊ะ เพราะอาจล้มหรือตกจนเกิดความเสียหายได้
     6. กล่องหรือถุงเก็บควรมีขนาดพอดีกับซอแต่ละชนิด เพื่อสะดวกในการนำเก็บและการหยิบใช้สอย
     7. เมื่อนำซอเก็บเข้าไว้ในตู้ แขวนหรือวางให้เป็นระเบียบไม่วางซ้อนกัน เพราะอาจ ทำให้ซอเกิดการกระแทกและเสียหายได้


ซอสามสายและสะล้อ

ดูแลดีมีชัย...ช้างเผือกคุณพระ....(ตอนที่ 2 เครื่องสี )

  1. วิธีการบรรเลงซอสามสายและสะล้อ ผู้บรรเลง นั่งตัวตรง พับเพียบ การวางซอต้องวางให้ปฏัก (ส่วนแหลมด้านล่างของซอ) อยู่ด้านหน้าทำมุม 45 องศา ประมาณกึ่งกลาง ของตัวผู้บรรเลง มือซ้ายประคองคันซอ และมือขวาของผู้บรรเลงถือคันชักซอ
  2. เมื่อบรรเลงเสร็จ ควรเลื่อนหย่องออกจากหน้าซอก่อน เพื่อป้องกันหน้าซอยุบตัวจากการกดทับของสาย
  3. การถือซอให้ถือแนบลำตัว ไม่แกว่งไปมา
  4. ควรใช้ผ้าที่มีความนุ่มและแห้ง เช็ดซอทุกครั้งหลังจากบรรเลงเสร็จ
  5. ควรมีถุงไว้สำหรับใส่คันชักซอ และควรมีถุงใส่ซอสามสายอีกถุง จากนั้นนำถุงคันชักใส่ในถุงซอสามสายอีกที เพื่อป้องกันการสูญหายหรือกระทบกระเทือน หรือนำใส่กล่องที่มีขนาดพอดี หรือใส่เฉพาะซอสามสาย

พัฒนากระบวนการคิด

     1. จากภาพ เป็นการดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยที่ถูกวิธีหรือไม่ เพราะเหตุใด

ดูแลดีมีชัย...ช้างเผือกคุณพระ....(ตอนที่ 2 เครื่องสี )

        2. การใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีไทยที่ถูกวิธีมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
        3. หากใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรีไม่ถูกวิธี จะมีผลเช่นไรกับเครื่องดนตรี

บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้

    กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  เรื่อง การอ่านและคิดวิเคราะห์
    กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  เรื่อง  ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
   

แหล่งที่มาของข้อมูล/ภาพ
    สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ( พว.)

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=417

อัพเดทล่าสุด