แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 3 นครเชียงราย)


805 ผู้ชม



เชียงราย..เมืองที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวมายาวนาน 700 กว่าปี อาณาจักรอันรุ่งเรืองในอดีต ของปฐมบรมกษัตริย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช   
เรียนรู้ เรื่องราวความเป็นมา ศิลปะอันเก่าแก่ ในยุคเริ่มแรก ของอาณาจักรในสมัยล้านนา 

                  สืบเนื่องจาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ความอนุเคราะห์ สนับสนุนงบประมาณ 146,500,000 บาท  เพื่อให้นักเรียนได้ไปทัศนศึกษากลุ่มเป้าหมายจะครอบคลุมนักเรียน เยาวชนและผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ทั่วประเทศ โดยเน้นการไปศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ แหล่ง โบราณคดีแหล่งทรัพยากรธรณี ที่จะเสริมกับการเรียนการสอนจึงขอความร่วมมือ จาก สพท.ได้ทำความเข้าใจกับโรงเรียนเพื่อดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในขณะเดียวกันขอให้ สพท.ได้จัดทำรายการแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจขึ้นเว็บไซต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนที่จะมาเยือนหากสามารถจัดเอกสารและจัดมัคคุเทศก์น้อยนำชมก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง (ที่มา พบกันทุกวันอังคาร กับเลขากพฐ. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา)

               ก่อนที่เราจะได้ไปพบเห็นแหล่งเรียนรู้ ในสถานที่จริง ตามโครงการที่ผู้ใหญ่ใจดี๊ดี มอบให้แก่เด็ก เราก็ควรมาเรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่เหล่านั้น เพื่อเติมเต็มเมื่อโอกาสนั้นมาถึง  จากที่เราตามรอยทางการสร้างเมือง ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยล้านนา จาก เมืองหิรัญนครเงินยาง (เมืองเชียงแสน) ในตอนนี้มาสู่ นครเชียงราย ที่หลายคนรู้จักในปัจจุบัน           

เนื้อหาสำหรับ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (บูรณาการ)  สำหรับนักเรียน ครู ผู้สนใจใฝ่รู้ทั่วไป

สอดคล้องมฐ.    
        มาตรฐาน ศ ๑.๒   เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทัศนศิลป์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่างานทัศนศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และสากล
        มาตรฐาน ศ ๒.๒ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรี ที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
       มาตรฐาน ศ ๓.๒  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนาฏศิลป์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล

 
สาระการเรียนรู้

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 3 นครเชียงราย)
" เหนือสุดในสยาม    ชายแดนสามแผ่นดิน   ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา   ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง " 
(คำขวัญจังหวัดเชียงราย)

         
              จังหวัดเชียงราย  ดินแดนเหนือสุดของประเทศไทย เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวมายาวนาน 700  กว่าปี ในอดีตเป็นอาณาจักร อันรุ่งเรือง ที่ปฐมบรมกษัตริย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช เป็นผู้ก่อร่างสร้างเมืองขึ้นและปกครองดินแดนแห่งนี้มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน   
      
           พญาเม็งราย หรือพ่อขุนเม็งราย เป็นกษัตริย์ที่อำนาจ ขยายอาณาเขตแผ่ไพศาลในภูมิภาคนี้ เป็นที่เกรงขามของเมืองต่าง ๆ โดยรอบ หากจะกล่าวถึงประราชประวัติของพญาเม็งรายนั้น พอจะกล่าวพอสังเขป ดังนี้  พญาเม็งรายประสูติในปี พ.ศ. 1781 เป็นพระโอรสของ  พระเจ้าลาวเม็ง และ นางอั้วมิ่งเมือง ธิดาท้าวรังแก่นชายผู้ครองเมืองเชียงรุ้ง ทรงอภิเษกสมรสกับธิดาเมืองเชียงเรือง เมื่อมีพระชนมายุ 16 พรรษาพญาเม็งราย ขึ้นครองเมืองหิรัญนครเงินยาง ( อำเภอเชียงแสนในปัจจุบันตามที่ได้กล่าวมาแล้ว)  ต่อจากพระเจ้าลาวเม็ง 
    

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 3 นครเชียงราย)
  สะพานข้ามน้ำกกสมัยโบราณ


               หลังจาก ขึ้นครองราชย์ พญาเม็งรายก็ปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อรวบรวมบ้านเมืองให้เป็น ปึกแผ่น ระหว่าง การปราบปรามหัว เมืองต่าง ๆ พญาเม็งรายก็ได้มาพบกับทำเลดีที่ราบริมน้ำกก   จากนั้นพญาเม็งราย จึงได้อพยพผู้คนมาตั้งเมืองใหม่ที่ริมแม่น้ำกกโอบล้อมดอยจอมทองไว้ ตั้งชื่อเมืองว่า เวียงชัยนารายณ์ หรือ เชียงรายในปัจจุบัน (ซึ่งผู้เขียนสัญนิษฐานเอาว่า น่าจะหมายถึง เมืองของพญาเม็งราย)

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 3 นครเชียงราย)
วัดพระสิงห์ จ.เชียงราย

           พญาเม็งราย ปกครองเมืองเชียงราย ได้เพียงไม่นาน  ก็ได้ไปสร้างเมืองใหม่ คือ เวียงไชยปราการ (อำเภอไชยปราการ ติดต่อ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน)   ส่วนเวียงชัยนารายณ์ หรือ เมืองเชียงรายนั้น ได้ยกให้ ขุนเครื่อง ราชโอรสองค์โต ปกครองสืบต่อ แต่ภายหลังก็ถูกประหารชีวิตเนื่องจากเป็นกบฏ (ที่มาwww.geocities.com )  

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 3 นครเชียงราย)
    

ลำน้ำกก

            อาณาจักรแห่งนี้ยังเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม จากอดีตสู่ปัจจุบัน  ที่ยังคงไว้ซึ่ง วัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ ที่ยึดถือปฏิบัติกันมา และอนุรักษ์รักษาไว้ 
ไม่ว่าจะเป็น โบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียม  วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันทรงคุณค่า ต่าง ๆ 
ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์  เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษอันทรงคุณค่า  ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้  
และสืบสาน สืบต่อไป

แหล่งเรียนรู้ศิลปะล้านนา (ตอนที่ 3 นครเชียงราย)
พระตำหนักดอยตุง

           ปัจจุบันจังหวัดเชียงราย มีการพัฒนาทั้งทางด้านเศษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีพื้นที่สามารถติดต่อสู่ประเทศ
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์เข้ามาอาศัย  โดยส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิม ที่เรียกตัวเองว่า  คนเมือง  และอพยพ ย้ายเข้ามาอาศัย เช่น  คนภาคกลางที่เข้ามาประกอบอาชีพต่างๆ  ชาวลื้อ ชาวไต ชนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ  ได้อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินนี้อย่างสงบร่มเย็น

คำถามสานต่อความคิด
       -  เรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงราย มีประเด็นใดที่ให้ความสนใจศึกษาเพิ่มเติม
       -  เราจะมีวิธีการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ลึกซึ้งได้อย่างไร
       -  ปัจจัยใดที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรมถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมา
       -  แนวทาง หรือ วิธีการใดที่จะทำให้ศิลปวัฒนธรรม ได้รับการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าต่อไป
       -  ปัจจัยใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม และศิลปวัฒนธรรม
       -  จำเป็นหรือไม่ที่เราต้อง ศึกษาเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ และศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ
       - ทิศทาง และลักษณะของเมืองจากปัจจุบัน ไปสู่อนาคตจะป็นเช่นไร  และเราต้องการให้เป็นเช่นไร 

เชื่อมโยงในองค์ความรู้
          ภาษาไทย             การอ่าน   การเขียนเรียงความ
          สังคมฯ                 ศึกษาความเป็นมาของประวัติศาสตร์  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตความ
                                    เป็นอยู่
          วิทยาศาสตร์          การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ  สิ่งแวดล้อมรอบตัว

เพิ่มเติมเต็มกันและกัน
          - จัดกิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษา
          -  เชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้
          -  แนะนำแหล่งศึกษาเรียนให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติม
          -   นำภาพย้อนอดีตมาให้นักเรียนได้มีโอกาสเห็น แล้วฝึกวาดแบบแรเงา
          -   ให้นักเรียนได้รับชม ภาพ หรือ การแสดงศิลปะพื้นเมืองของจังหวัดเชียงราย
          -  จัดกิจกรรมการแสดงละครบทบาทสมมุติ ละครอิงประวัติศาสตร์
        
                       


อ้างอิงข้อมูล
www.geocities.com

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=433

อัพเดทล่าสุด