รับขวัญ " แพนด้าน้อย "


657 ผู้ชม


พิธีกรรม ความเชื่อทางจิตใจ ซึ่งผูกพันต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม และ สิ่งอันเป็นที่รักของตน   

                                                             รับขวัญแพนด้าน้อย  

รับขวัญ " แพนด้าน้อย "
ภาพ แพนด้าน้อย

           พ่อเมืองเชียงใหม่เตรียมจัดเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่รับขวัญแพนด้าน้อยตั้งคณะทำงานจัดวางรูปแบบงานที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับ ประเพณีล้านนา  ( ที่มา ไทยรัฐ )  

          เป็นที่น่ายินดีจากที่รอคอยมานาน กับการลืมตาดูโลกของแพนด้าน้อย ทายาทของช่วงช่วง กับ หลินฮุ่ย หลังจากที่ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ จนเป็นผลสำเร็จในที่สุด เพื่อเป็นการฉลอง และแสดงความยินดีจึงจะมีการจัดพิธีรับข้าวตามประเพณีของชาวล้านนา เพราะถือว่าแพนด้าน้อยสัญชาติไทยตัวนี้ก็เป็นลูกหลานชาวล้านนาและชาวไทย  แล้วพิธีกรรมแบบล้านนาเป็นอย่างไร เราลองมาศึกษาเรียนรู้กันครับ..

                                                   รับขวัญ " แพนด้าน้อย "
                                                                            ที่มาภาพ

 มาตรฐานการเรียนรู้ 
           มาตรฐาน ศ ๑.๒   เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทัศนศิลป์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่างานทัศนศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และสากล
           มาตรฐาน ศ ๒.๒   เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรีที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
           มาตรฐาน ศ ๓.๒  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนาฏศิลป์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล


 สาระการเรียนรู้ 

                                 รับขวัญ " แพนด้าน้อย "
                                                       ที่มาภาพ

 "ฮ้องขวัญ"  ความเชื่อแรงศรัทธาของคนเมือง

           ฮ้องขวัญ เป็นภาษาของชาวล้านนาในภาคเหนือของไทย ซึ่งจะเรียกตนเองว่าเป็น  "คนเมือง"  โดยภาษาล้านนาจะออกเสียง “ร”  เป็น  “ฮ”  เช่น  เชียงราย จะออกเสียง เป็น เจียงฮาย เป็นต้น
          
           พิธีฮ้องขวัญหรือบางทีเรียก พิธีรับขวัญ พิธีเรียกขวัญ หรือพิธีสู่ขวัญ เป็นความเชื่อ สะท้อนการผสมผสานเรื่องของขวัญกับพุทธศาสนาพิธีกรรมลักษณะนี้อยู่บนรากฐานความเชื่อทางวัฒนธรรมในวิถีชีวิตของคนไทยในทุกท้องถิ่น แต่มีการปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่นนั้น
                                              รับขวัญ " แพนด้าน้อย "
                                                                          ที่มาภาพ

           
            คำว่า “ขวัญ” อธิบายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  กล่าวว่า “ขวัญ” หมายถึง ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย… สิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่า มีอยู่ประจำชีวิตของคนมาตั้งแต่เกิด ถ้าขวัญอยู่กับตัว
ก็จะเป็นสิริมงคล เป็นสุขสบาย จิตใจมั่นคง ถ้าตกใจหรือเสียขวัญ ขวัญก็จะออกจากร่างไป ซึ่งเรียกว่า ขวัญหาย ขวัญหนี ขวัญบิน เป็นต้น ทำให้คนได้รับผลร้ายต่าง ๆ  และอนุโลมใช้ไปถึงสัตว์หรือสิ่งของบางอย่าง เช่น ช้าง ม้า ข้าว เรือน ฯลฯ ว่ามีขวัญเช่นเดียวกับคนเหมือนกัน
                                          รับขวัญ " แพนด้าน้อย "
                                                                         ที่มาภาพ


         ชาวล้านนามีความเชื่อกันว่าขวัญจะอยู่ประจำตัว เป็นพลังที่ช่วยในการปกป้องรักษาเจ้าของขวัญให้มีความอยู่เย็นเป็นสุขไม่เจ็บไม่ป่วย แต่เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือออกจากร่าง จะเป็นเหตุให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญรู้สึกเสียใจ ตกใจท้อใจ อาจเรียกได้ว่า ขวัญหาย ขวัญหนีดีฝ่อ ขวัญเสียหรือเสียขวัญ ทำให้เจ้าของขวัญเจ็บป่วย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต ถ้าต้องการให้ขวัญกลับคืนสู่ตัวและชีวิตเป็นปกติสุข จำเป็นต้องทำพิธีฮ้องขวัญ 
          
         ในการประกอบพิธีฮ้องขวัญของชาวล้านนา ต้องอาศัยผู้ที่มีภูมิความรู้ความชำนาญในการจัดพิธีกรรม โดยผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่เป็นเพศชายและผ่านการบวชมาแล้ว เรียกว่า หมอขวัญ อาจารย์วัด(ปู่จ๋าน) พ่อหนาน (ผู้ที่ผ่านการบวชพระมาแล้ว)  ทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวคำเรียกขวัญ

                                                         รับขวัญ " แพนด้าน้อย "
                                                                                           ที่มาภาพ 

          สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีฮ้องขวัญ ได้แก่ เครื่องบายศรี (ทำจากใบตองและดอกไม้การทำขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาและวัสดุของแต่ละท้องถิ่น) ไข่ต้ม ข้าวเหนียว กล้วย ใบพลู หมากเมี่ยง บุหรี่ ด้ายมัดข้อมือ หรืออาจจะมีเสื้อผ้า เครื่องใช้ของเจ้าของขวัญขันตั้งครู (ดอกไม้ ธูปเทียน เงินค่าขึ้นครู) ทั้งหมดนี้นำจัดใส่พาน หรือ ขันโตก หรือ สหลุง ไว้ให้เรียบร้อย
 
         ขั้นตอนของพิธีกรรมฮ้องขวัญคือ ผู้ฮ้องขวัญจะทำพิธีตามฤกษ์ยามที่กำหนดไว้ให้เหมาะตามลักษณะของขวัญ โดยเริ่มจากเจ้าของขวัญมอบขันตั้งให้กับ ผู้ฮ้องขวัญ หลังจากนั้นผู้ฮ้องขวัญจะกล่าวคำอัญเชิญเทวดา ตามด้วยบทเรียกขวัญ จากนั้นผู้ฮ้องขวัญจะเอาน้ำมนต์มาพรมให้เจ้าของขวัญ และใช้ด้ายผูกข้อมือ พร้อมกับญาติพี่น้องและแขกผู้ร่วมงานเข้าร่วมในการผูกข้อมือและอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญพ้นจากทุกข์ภัยต่าง ๆ โดยจะนำ พานบายศรีไปตั้งไว้บนหัวนอนของเจ้าของขวัญ และหลังจากเสร็จพิธีแล้วก็จะร่วมกันรับประทานอาหาร  โดยอาจจะ มีการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองการแสดงฟ้อนรำ  เพื่อเป็นการรับขวัญที่ได้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว 
                                                 รับขวัญ " แพนด้าน้อย "
        
         พิธีฮ้องขวัญ เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางวัฒนธรรมบนวิถีชีวิตของชาวล้านนาและยังมีคุณค่า สนองตอบความต้องการทางด้านจิตใจทำให้เกิดความอบอุ่นทางใจ มีความมั่นใจพร้อมที่จะเผชิญปัญหาอุปสรรคและวิกฤตต่าง ๆ ในชีวิต เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวและชุมชน แสดงความห่วงใยช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่ต่อกัน และยังแสดงถึงความเมตตาธรรมต่อสิ่งที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของผู้คนอีกด้วย (ที่มา ข้อมูล)

           สังคมในยุคปัจจุบันมีถึงแม้ว่าจะมีความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วก็ตาม แต่ถ้าคนในสังคมขาดความมั่นใจ ไม่สบายกายและใจ มีความทุกข์ใจและหาทางแก้ไขไม่ได้  ตราบนั้นมนุษย์จะเข้ามาหาความเชื่อหรือพิธีกรรมและหวังพึ่งพาอำนาจเหนือธรรมชาติที่เป็นที่พึ่งทางใจตามสังคมท้องถิ่นที่ตนอยู่ความเชื่อและพิธีกรรมทางวัฒนธรรม จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรดูถูกหรือมองข้าม เพราะเป็นสิ่งที่มีบทบาทหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางใจของมนุษย์ เราจึงควรศึกษาถึงแก่นแท้  แนวคิดหลักที่เป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ของพิธีกรรมในท้องถิ่นให้เข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความหลงงมงาย เป็นความเชื่อที่ผิด ๆ  จนทำให้สาระสำคัญสำคัญของพิธีกรรมที่เป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แปรเปลี่ยนไป...
 

                                               *****************************************  

ข้อคำถามสานต่อความคิด
         -  อธิบาย คุณค่า และความสำคัญของพิธีกรรมในท้องถิ่น
         -  ชาวล้านนามีความเชื่อในพิธีการฮ้องขวัญ อย่างไร
         -  เหตุใดในสังคมเรายังมีการเชื่อถือในเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
         -  ประโยชน์ที่ได้รับจากพิธีฮ้องขวัญ คืออะไร
        

 เชื่อมโยงในองค์ความรู้
         สาระการเรียนรู้ศิลปะ      (ทัศนศิลป์)  วาดภาพ สร้างสรรค์งาน ตามจินตนาการ  (ดนตรี) เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ  (นาฎศิลป์) การแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ
         สาระการเรียนรู้ภาษาไทย        ศึกษาเรียนรู้คำศัพท์จากบทที่ใช้เรียกขวัญ   คำคล้องจอง  ฉันทลักษณ์ การแต่งคำประพันธ์ คุณค่าความงามของภาษาไทย
        สาระการเรียนรู้สังคมฯ             วัฒนธรรมประเพณี  วิถีชีวิตภูมิปัญาท้องถิ่น  ศาสนา
         สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์      ทักษะกระบวนการคิด และทำงานแบบวิทยาศาสตร์
         สาระการเรียนรู้สุขศึกษาฯ        โรคภัยไข้เจ็บ  การดูแลสุขภาพอนามัย
        สาระการเรียนรู้กอท.                การประดิษฐ์บายศรี


เพิ่มเติมเต็มกันและกัน
        -  นำนักเรียนศึกษาเรียนรู้ในแหล่งการเรียนรู้จากภูมิปัญญาในท้องถิ่น
        -  จัดกิจกรรมการประกวดแข่งขันการทำบายศรี
        -  จัดกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ  และการแสดงดนตรี - นาฏศิลป์ ให้แก่นักเรียนในโอกาสสำคัญในโรงเรียน
 

 อ้างอิงข้อมูล
www.stou.ac.th   
www.thairath.co.th 

 www.pantip.com 
www.geocities.com 
https://pics.manager.co.th 
https://board.postjung.com 
  https://tea.gspa-buu.net

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=528

อัพเดทล่าสุด