อุปรากรจีน


1,049 ผู้ชม


ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโขนหรือการแสดงงิ้ว คนไทยอย่างเรา เรา ส่วนมากจะรู้จักการแสดงทั้ง 2 แบบนี้เป็นอย่างดี เพราะการแสดงทั้ง 2 แบบนี้เหมือนจะอยู่คูกับคนไทยมาอย่างยาวนาน   

        ในโอกาสที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 60 ปี จึงได้จัดการแสดงโขน - งิ้วธรรมศาสตร์แสดงบนเวทีเดียวกันซึ่งถือว่าหาดูได้ยากมาก (รายละเอียด)
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  ช่วงชั้นที่ 3-4
        งิ้ว(อุปรากรจีน)

อุปรากรจีน
รูปภาพจาก www.3.bp.blogspot.com

        งิ้ว เป็นอุปรากรจีนที่แสดงศิลปะประจำชาติที่พัฒนามาหลายร้อยปี มีรูปแบบและลีลาการแสดงที่เป็นแบบแผนและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน งิ้วสามารถจำแนกตามลีลาที่แตกต่างกันของเครื่องดนตรีและภาษาท้องถิ่นซึ่งมีมากกว่าร้อยชนิด
        อุปรากรปักกิ่งเป็นแบบฉบับมาตรฐานของการแสดงอุปรากรจีนเนื่องจากมีการใช้ภาษาราชการมีการพัฒนาการด้านการแสดงอย่างมีระเบียบ อีกทั้งเป็นที่นิยมของขุนนาง ข้าราชการชั้นสูง ดังนั้นอุปรากรของปักกิ่งจึงเป็นตัวแทนของศิลปะและวัฒธรรมด้านการแสดงของจีน อุปรากรของจีนเน้นการแสดงศิลปะ 5 ลักษณะ ได้แก่
        - การแสดงดนตรี
        - การขับร้อง
        - การแสดงระบำ และนาฏลีลา
        - การแสดงอารมณ์และท่าทาง
        - การแสดงศิลปะการสู้รบป้องกันตัวและกายกรรม
        ศิลปะของชาวจีนตั้งแต่อดีตกาลนั้น ไม่เน้นการแสดงศิลปะรูปแบบเดียวแต่จะเน้นไปในด้านการผสมผสานศิลปะร่วมกัน เช่น การขับร้องจะต้องมีระบำหรือนาฏลีลาประกอบพร้อมกับการบรรเลงดนตรี การระบำรำฟ้อนต่างๆ มักมีการขับร้องและบรรเลงดนตรีควบคู่กันไป เป็นต้น ซึ่งมีความแตกต่างกับศิลปะตะวันตกเป็นอย่างมาก อุปรากรจีนเป็นศิลปะชั้นสูงที่มีแบบแผนประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นักแสดงต้องผ่านการฝึกฝนตั้งแต่เยาว์วัย

อุปรากรจีน
รูปภาพจาก www.songburi.com

        ในสมัยโบราณอุปรากรกรจีนแสดงร่วมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง มีพระราชโองการห้ามผู้หญิงแสดงร่วมกับผู้ชาย คณะอุปรากรจีนจึงต้องแสดงเป็นเพศตรงข้าม โดยผู้หญิงแสดงแทนผู้ชาย ผู้ชายแสดงแทนผู้หญิงมาจนกระทั่ง 200 ปี จึงทำให้เกิดศิลปินที่มีชื่อเสียง คือ เหม่ หลานฟัง ซึ่งเป็นนักแสดงชายที่สามารถแสดงเป็นหญิงได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ศิลปะการฝึกผู้ชายให้สวมบทบาทผู้หญิง แต่ในปัจจุบันก็นิยมใช้ผู้แสดงแบบชายจริงหญิงแท้

อุปรากรจีน
รูปภาพจาก www.pics.manager.co.th

ตัวละครแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. ตัวละครชาย "เชิง (Sheng)" ตัวละครฝ่ายชายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "บู๊" ผู้แสดงต้องแสดงบทโลดโผน ส่วน "บุ๋น" เน้นการขับร้องและการแสดงอารมณ์
2. ตัวละครหญิง "ตั้น (Dun)" 
3. ตัวละครวาด "จิ้ง (Jing)" เป็นตัวละครที่แต่งหน้าด้วยลวดลายสีสันต่างๆ ซึ่งบ่งบอกถึงนิสัยของตัวละคร ผู้แสดงต้องมีหน้าผากที่กว้าง รูปร่างสูงใหญ่ น้ำเสียงกังวาน
4. ตัวละครตลก "โฉ่ว (Chou)" แบ่งออกเป็นตลกแบบบุ๋น เช่น ยาม คนรับใช้ คนตัดไม้ เป็นต้น ส่วนตัวตลกแบบบู๊ ต้องแสดงเกี่ยวกับกายกรรม เช่น พลทหาร
ประเด็นคำถาม
1. นักเรียนเคยเห็นการแสดงประเภทอุปรากรจีน(งิ้ว)หรือไม่
2. การแสดงละครประเภทอุปรากรจีน(งิ้ว)คล้ายกับการแสดงของไทยประเภทใด
3. อะไรคือลักษณะเด่นของการแสดงประเภทอุปรากรจีน(งิ้ว)
กิจกรรมเสนอแนะ
1. ให้นักเรียนค้นประวัติความเป็นมาของการแสดงอุปรากรจีน(งิ้ว)
2. นักเรียนทดลองแสดงในรูปแบบอุปรากรจีน(งิ้ว)

บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ในเรื่อง ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
อ.วีระศิลป์  ช้างขนุน : หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานนาฏศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6. 2548
www.norsorpor.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=698

อัพเดทล่าสุด