การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมมาสตร์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ที่มาภาพ www.bloggang.com
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ จัดแสดงโขน-ละคร เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พรหมมาสตร์ นางมนต์รัก ภูรีศรีศักดิ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คณะกรรมการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละคร จัดการแสดงโขนชุดพรหมมาสตร์ เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักแก่สายตาชาวไทย และชาวต่างชาติขึ้น ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยข้อมูลแหล่งข่าว www.innnews.co.th 18 มิถุนายน 2552 13:30:18
ผ่านพ้นไปอย่างสวยสดงดงามสำหรับโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกพรหมมาสตร์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวกันว่าคนที่ไปดูถึงกับขนลุก ตื่นตาตื่นใจไปกับการแสดงที่มีความหลากหลาย รวมทั้งเครื่องแต่งกายที่ทำขึ้นใหม่ตามแบบโบราณราชประเพณี ที่ประณีตงดงามแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี
ที่มาภาพ www.oknation.net
เนื้อเรื่องย่อ
ทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกา ทรงทราบข่าว แสงอาทิตย์ มังกรกัณฐ์ พ่ายแพ้แก่พระรามเสียชีวิตในสนามรบ จึงสั่งให้กาลสูรไปทูลอินทรชิตให้เร่งชุบศรพรหมมาสตร์ และยกทับออกไปรบกับทัพพระราม ศึกคราวนี้พระรามให้พระลักษณ์เป็นนายทัพ อินทรชิตแสร้งแปลงกายาเป็นพระอินทร์ ให้การุณราชแปลง เป็นช้างเอราวัณ พร้อมกับให้โยธาทั้งหลายกลายเพศเป็นเทพบุตรและ เทพธิดา ออกมาจับระบำรำฟ้อนกลางเวหา พระลักษมณ์และพลวานร หลงกล คิดว่าองค์อมรินทรา เทพบุตร เทพธิดา มาจับระบำรำฟ้อน พิศมองด้วยความเพลิดเพลิน ทำให้ให้อินทรชิตแผลงศรพรหมาศ ถูกองค์พระลักษมณ์และพลวานรสลบทั้งกองทัพ เว้นแต่ หนุมานเพราะไม่โดนศรของอินทรชิต จึงขึ้นต่อตีกับอินทรชิต หนุมานตี ควาญช้างเสียชีวิต หักคอช้างเอราวัณ และต่อสู้กับอินทรชิต แต่แล้วก็เสียท่าถูกคันศรอินทรชิตฟาดสลบอยู่กลางสนามรบ ฝ่ายอินทรชิตและโยธาทั้งหลายก็ เลิกทัพกลับกรุงลงกา ความทราบถึงพระรามจึงรีบมาช่วยเหลือ ครั้นเดินทางมาถึงสนามรบ ก็พบกับหนุมานซึ่งกลับฟื้นคืนมาเมื่อพระพายพัดต้องกายสา(เหตุที่หนุมานฟื้นเพราะเป็นลูกของพระพายกับนางสะหวาหะเมื่อลมพัดก็จะกลับฟื้นคืนมาเหมือนเดิม) หนุมานจึง ทูลให้พระรามได้ทราบ เมื่อพระรามตรัสถามวิธีแก้ไขกับ พิเภก พิเภกโหราจารย์จึงกราบทูลว่ามีสรรพยาที่จะแก้ไขให้กลับฟื้นคืนมา ได้อยู่ในภูผาชื่ออาวุธ พระรามจึงใช้ให้หนุมานเดินทางไปเอาสรรพยามา แก้ไข กองทัพพระลักษมณ์จึงกลับฟื้นคืนมา
ที่มาภาพ www.moohin.com
ซึ่งในการแสดงตอนนี้มีระบำที่มีความอ่อนช้อยสวยงามสอดแทรกอยู่ด้วย นั้นคือระบำพรหมมาสตร์ ระบำชุดนี้วงการนาฏศิลป์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ระบำหน้าช้าง" น่าจะเป็นเพราะเรียกตามลักษณะระบำ ที่รำอยู่หน้าช้างเอราวัณของพระอินทร์แปลง
ที่มาภาพ www.gotoknow.org
เนื้อเพลง (ร้องสร้อยสน)
ต่างจับระบำรำฟ้อน ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา
ร่ายเรียงเคียงคมประสมตา เลี้ยวไล่ไขว่คว้าเป็นท่าทาง
ซ้อนจังหวะประเท้าเคล่าคล่อง เลี้ยวลอดสอดคล้องไปตามหว่าง
วงเวียนเหียนหันกั้นกาง เป็นคู่คู่อยู่กลางอัมพร
ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว- ลา
เห็นไหมครับศิลปะประจำชาติเราควรคู่แก่การอนุรักษ์จริงๆ ทั้งความประณีตงดงามของเครื่องแต่งกาย รวมไปถึงลีลาท่ารำกระกอบการแสดงก็อ่อนช้อยสวยงาม ดนตรีก็ฟังแล้วได้ อรรถรส เราในฐานะคนรุ่นใหม่ก็อย่าลืมใส่ใจนาฏศิลป์ไทยโดยเฉพาะการแสดงโขนซึ่งศิลปะการแสดงชั้นสูงที่นับวันจะหาชมได้ยาก และมีผู้สืบทอดน้อยลง
ประเด็นคำถาม
1) การสู้รบระหว่างทศกัณฐ์กับพระรามมีต้นเหตุมาจากอะไร
2) อินทรชิตมีความหมายว่าอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
1) ให้นักเรียนฝึกแปลความหมายของบทละคร
2) ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของรามเกียรติ์
บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้
ภาษาไทย ด้านการอ่าน การเขียน การวิจารณ์วรรณคดีไทย
สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศึกษาความเป็นมาของประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมวิถีชีวิต
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
www.innnews.co.th
www.gotoknow.org
สุมิตร เทพวงษ์ สารานุกรม ระบำ รำ ฟ้อน
แหล่งอ้างอิงภาพ
www.images.google.co.th
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=844