ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 3)


698 ผู้ชม


ลักษณะและประเภทของเพลงไทย..   

                                                       ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 3)    
                                                                       ที่มาภาพ 

           สืบเนื่องจากการเสียชีวิตของราชาเพลงบ๊อป ไมเคิล  แจ๊คสัน  ทำให้เพลงของไมเคิลติดกระแสอีกครั้งจึงเป็นเหตุที่เราได้ศึกษาในเรื่อง เพลงไทย ซึ่งยังมีลักษณะและประเภทของเพลงไทยที่ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ ต่อจากตอนที่แล้ว

สาระที่  2  :   ดนตรี
          มาตรฐาน ศ 2.1 :
  เข้าใจ  และแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์วิเคราะห์  วิพากษ์ วิจารณ์ คุณค่าถ่ายทอดความรู้สึกความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ  ชื่นชม และประยุกต์ ใช้ในชีวิตประจำวัน
          มาตรฐาน ศ 2.2 :  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม   เห็นคุณค่า ของดนตรีที่เป็นมารดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิทที่ปัญญาไทยและสากล
 
 
                                              ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 3)
                                                                  ที่มาภาพ

สาระการเรียนรู้ เพลงไทย    

เพลงตับ

        เพลงตับ หมายถึง เพลงที่บรรเลงเป็นเรื่อง ๆ  มีแขนงย่อย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ตับเรื่อง และ ตับเพลง

        ๑. ตับเรื่อง  หมายถึง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกัน มีบทร้องที่เป็นเรื่องเดียวกัน และดำเนินไปโดยลำดับ ฟังแล้วรู้เรื่องโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ    ส่วนทำนองเพลงจะเป็นคนละอัตรา คนละประเภท หรือหมายถึง เพลงที่ร้องและบรรเลงประกอบการแสดงโขนและละครที่เป็นเรื่อง เป็นชุด หรือเป็นตอน 
        ตัวอย่างของเพลงตับเรื่อง 
               ตับนางลอย  ตับพระลอ(ตับเจริญศรี)  และตับนางซินเดอริลลา
               ตับนางลอย ได้แก่ เพลง ยานี  เชิดฉิ่ง  แขกต่อยหม้อ  โล้  ช้าปี่  หรุ่ม  ร่าย  เต่าเห่  ตะลุ่มโปง  พ้อ  ขวัญอ่อน  กล่อมพญา พราหมณ์เก็บหัวแหวน  แขกบรเทศ  เชิดนอก
               ตับพระลอ(ตับเจริญศรี) ได้แก่ เพลง เกริ่น  ลาวเล็กตัดสร้อย  ลาวเล่นน้ำ  สาวกระตุกกี่  กระแตเล็ก  ดอกไม้เหนือ  ลาวเฉียง  ลาวครวญ  ลาวกระแช
               ตับนางซินเดอริลลา  ได้แก่ เพลง วิลันดาโอด  ฝรั่งจรกา  ครอบจักรวาล  ฝรั่งรำเท้า  เวสสุกรรม  หงส์ทอง

              ๒. ตับเพลง  หมายถึง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลง จะต้องมีสำนวนทำนองสอดคล้องต้องกัน คือ มีเสียงขึ้นต้นเพลงคล้าย  ๆ กัน คือ สำเนียงคล้าย  ๆ กัน เป็นเพลงในอัตราจังหวะเดียวกัน เช่น เป็นสองชั้น เหมือนกัน หรือสามชั้นเหมือนกัน  ส่วนบทร้องจะมีเนื้อเรื่องอย่างไร เรื่องเดียวกันหรือไม่ ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญ  
            ตัวอย่างตับเพลง ได้แก่  
 ตับลมพัดชายเขา (สามชั้น)  ตับต้นเพลงฉิ่ง (สามชั้น)  และ ตับต้นเพลงฉิ่ง (สองชั้น)
         ตับลมพัดชายเขา (สามชั้น)  ได้แก่   เพลง ลมพัดชายเขา  แขกมอญบางช้าง  ลมหวน  เหราเล่นน้ำ
         ตับต้นเพลงฉิ่ง (สามชั้น)  ได้แก่เพลง ต้นเพลงฉิ่ง  จระเข้หางยาว  ตวงพระธาตุ  นกขมิ้น
         ตับต้นเพลงฉิ่ง (สองชั้น)  ได้แก่เพลง ต้นเพลงฉิ่ง  สามเส้า  ตวงพระธาตุ  นกขมิ้น  ธรณีร้องไห้


                                              ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 3)
                                                            ที่มาภาพ

เพลงเกร็ด

        เพลงเกร็ด เป็นเพลงขนาดย่อม นำมาขับร้องและบรรเลงเป็นเพลง ๆ ไป อาจเป็นอัตราจังหวะใดจังหวะหนึ่ง ในชุดของเพลงเถา หรือเป็นเพลงใด เพลงหนึ่งจากชุดเพลงตับ หรือเพลงเรื่องก็ได้  เพลงเกร็ดที่ขับร้องและบรรเลงกันอยู่โดยทั่ว ๆ ไป มักจะมีบทร้องที่มีความหมาย มีคติ มีความซาบซึ้งประทับใจและมีช่วงทำนองที่มีความไพเราะเป็นพิเศษ  
ตัวอย่างเพลงเกร็ด เช่น เพลงแป๊ะ (สามชั้น) เพลงแขกสาหร่าย (สองชั้น) และเพลงเต่าเห่ (สองชั้น)

เพลงแป๊ะ (สามชั้น)  
ทำนอง ของเก่า 
     คิดไปใจหายไม่วายโศก         เหมือนเดือนดับลับโลกไม่แลเห็น 
จะแลเหลียวเปลี่ยวเปล่าเศร้าทรวงเย็น   ไหนจะเว้นโศกาแสนอาดูร 
หอมอะไรที่ในสวน          หอมดอกลำดวนกระดังงา 
หอมกระถินกลิ่นจำปา            เมื่อเวลาเย็นเอย 
อกเอ๋ยหมายเชยก็แลลับ           เหมือนเดือนดับลับโลกก็เห็นสูญ 
ยิ่งซ้ำโศกโรคร้ายมาเพิ่มพูน         โอ้จะสูญสิ้นชื่อเจียวฤาเอย  
หอมอะไรที่ในดง          หอมดอกประยงค์นางแย้ม 
หอมพิกุลยี่สุ่นแซม          หอมไม่แรมโรยเอย 
    
เพลงแขกสาหร่าย 
ทำนอง ของเดิม
บทร้อง ถนอม นาควัชระ 
       อันเพลงไทยใช่จะไร้ในคุณค่า หรือด้วยกว่าเขาอื่นนั้นหาไม่ 
เพลงของเราก็เสนาะเพราะจับใจ ทั้งยังเป็นสมบัติไทยสืบเนื่องมา 
(สร้อย) โอ้เจ้าดอกจำปาของข้าเอย  สีสวยกระไรเลย กลิ่นหอมชวนเชยชื่นนาสา 
ตามสายพระพายพัดมา หอมกลิ่นจำปา ไม่แพ้บุผผาของใครเลย (เที่ยวกลับ) 
        เรามีชาติถ้าขาดวัฒนธรรม สิ่งประจำสำหรับชาติเสียแล้วหนา 
ใช่ว่าไทยจะอยู่ได้ในโลกา อย่าลืมคิดพิจารณาดูให้ดี 
(สร้อย) อันชาติไทยต้องไม่กลายไปเป็นอื่น  ไทยต้องยั่งยืนไทยต้องชมชื่นนิยมไทย 
ร่วมชีวิตร่วมจิตใจ ร่วมกันใช้ของไทย  อย่าเห็นของใครดีกว่าเอย


                                   ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 3)
                                                                        ที่มาภาพ

เพลงใหญ่

        เพลงใหญ่    เป็นเพลงสามชั้นที่มีขนาดยาว มีการร้องเอื้อนมาก  และสลับซับซ้อน หลายชั้น หลายเชิง ยิ่งกว่าเพลงในประเภทสามชั้นใด ๆ และการบรรเลงก็ค่อนข้างยาก ยืดยาว ต้องใช้เวลาในการบรรเลงนานมากกว่าจะจบเพลง เนื่องจากผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกเทคนิค และวิธีการบรรเลงไว้มากมาย สำหรับใช้ขับร้องและบรรเลง เพื่อเป็นการอวดทางเพลงและฝีมือของผู้บรรเลง  มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเพลงประเภทนี้ คือ มีทางร้องสั้น แต่ ทางรับยาวมาก
        ตัวอย่างเพลงใหญ่  ได้แก่  เพลงทยอยนอก เพลงทยอยใน เพลงเขมรราชบุรี และ เพลงแขกลพบุรี    

                                                เพลงแขกลพบุรี (สามชั้น)  
                                          บทร้อง เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  
                                ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว           เกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี 
                      จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี                          จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ 
                      ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม                        จะพลอยตรอมเหือดสิ้นกลิ่นตรลบ 
                     ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ                         จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป


                                                 ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 3)
                                                                       ที่มาภาพ

เพลงละคร

        เพลงละคร หมายถึง เพลงที่ใช้ขับร้องและบรรเลงในการแสดงโขน ละคร และมหรสพต่างๆ มีทั้งร้องแล้วดนตรีรับ ทั้งร้องคลอดนตรี เคล้า และลำลอง ขึ้นอยู่กับลักษณะการแสดงนั้นๆ 
       
           ตัวอย่างเพลงละคร ได้แก่ เพลงอัตราสองชั้น เช่น เพลงสร้อยเพลง เพลงเวสสุกรรม เพลงพญาโศก หรือเพลงในอัตราเดียว เช่น เพลงนาคราช เพลงหนีเสือ เพลงลิงโลด  และเพลงพิเศษที่ใช้เฉพาะละครแท้ๆ เช่น เพลงช้าปี่ เพลงโอ้ชาตรี เพลงโอ้โลม เพลงโอ้ร่าย เพลงยานี เพลงชมตลาด เป็นต้น
        
           เพลงที่ใช้ร้องประกอบละครหรือมหรสพอื่นๆ จะต้องใช้ให้ถูกต้องตามอารมณ์ของตัวละคร เช่น เพลงพญาโศก เพลงสร้อยเพลง ใช้สำหรับอารมณ์โศก  เพลงนาคราช เพลงลิงโลด ใช้สำหรับอารมณ์โกรธ เพลงโอ้โลม เพลงโอ้ชาตรี ใช้สำหรับอารมณ์รักหรือเวลาเกี้ยวพาราสี เป็นต้น


                                                 ว่าด้วยเรื่อง..ของเพลงไทย (ภาค 3)
                                                                                  ที่มาภาพ

เพลงลา

        เพลงลา หมายถึง เพลงที่ผู้ขับร้องและบรรเลง  แสดงเป็นอันดับสุดท้ายก่อนที่การแสดงจะจบลง ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนของการแสดงกิจกรรมการบรรเลงดนตรีไทย ที่โบราณจารย์ได้กำหนดไว้ กล่าวคือ เพลงแรกที่บรรเลงคือเพลงโหมโรง และเพลงสุดท้ายต้องบรรเลงเพลงลา เพื่อเป็นการร่ำลาให้ศีลให้พรแก่เจ้าของงานหรือผู้ชมผู้ฟัง  เนื้อร้องมีความหมายในทางร่ำลา อาลัย อาวรณ์ และให้ศีลให้พรแล้ว มักจะมี สร้อย คือ มีการร้องว่า "ดอกเอ๋ย เจ้าดอก..." และจะมีเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่ง บรรเลงเลียนเสียงร้องให้คล้ายคลึงกันมากที่สุด ซึ่งเรียกกันเป็นทางภาษาสามัญว่า "ว่าดอก" เครื่องดนตรีที่ใช้ก็อาจใช้ ซออู้
        เพลงลาที่นิยมใช้บรรเลงกัน เช่น เพลงเต่ากินผักบุ้ง เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง เพลงอกทะเล

เพลงเต่ากินผักบุ้ง 
บทร้อง มนตรี ตราโมท
 
     ยามเรียนข้าจะเรียนเพียรศึกษา    เพื่อก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลัง 
จะเหนื่อยยากสักเท่าใดไม่หยุดยั้ง     จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสมใจ 
ดอกเอ๋ยเจ้าดอกมะไฟ     จิตมุ่งมั่นอันใด ไม่แคล้วไปเลยเอย  
ผลแห่งความพยายามเอย จะตามมาสนอง  สิ่งใดที่ใฝ่ปอง ต้องเสร็จสมอารมณ์เอย 

 

คำถามสานต่อความคิด
       -  เพลงไทย มีลักษณะอย่างไร
       -  เพลงไทยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคืออะไร
       -  เมื่อได้รับฟัง การบรรเลงเพลงไทยเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง
       -   หลักและวิธีการบรรเลงไทยให้ถูกต้องเป็นอย่างไร
       -  แนวทาง หรือ วิธีการใดที่จะทำให้เพลงไทยได้รับการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าต่อไป

เชื่อมโยงในองค์ความรู้
          ภาษาไทย             การอ่าน   การเขียนเนื้อร้องเพลงไทย 
          สังคมฯ                 ศึกษาความเป็นมาของ ประวัติศาสตร์  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม
                                     ประเพณี

เพิ่มเติมเต็มกันและกัน
          -  การเรียนรู้แบบโครงงาน ศึกษาเพลงไทยในโอกาสต่าง ๆ
          -  ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดจินตนาการ เมื่อได้รับฟังเพลงไทยเดิมในโอกาสต่าง ๆ
          -  เข้ารับชมการแสดงบรรเลงดนตรีไทย ในงานและเทศกาลต่าง ๆ 
                       

อ้างอิงข้อมูล
 https://i216.photobucket.com 
https://www.thailifemusic.com 
https://www.chula-alumni.com 
https://web.schq.mi.th 
 https://img.ihere.org 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1147

อัพเดทล่าสุด