การศึกษาประวัติสุริยุปราคา กับประวัติของขลุ่ย เครื่องดนตรีของไทยมี่มานานแสนนาน......
สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ ตามธรรมชาติ ที่ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรง ทำให้ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ และเงาของดวงจันทร์จึงตกมาบน บริเวณ ต่างๆ บนโลก สุริยุปราคาคืออะไร (ข้อมูลเพิ่มเติม)
ประเด็นจากข่าว ประวัติที่มาของเครื่องดนตรีประเภทเครื่อเป่า (ขลุ่ยเพียงออ)
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ ศิลปะ วิชา ดนตรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ศ 2.1 เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวัน
ศ 2.2 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรีที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
ตัวชี้วัด เล่าประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรีไทยสำหรับฝึกปฏิบัติได้
เนื้อหา
ประวัติดนตรีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับมนุษยชาติ และมีวิวัฒนาการควบคู่มากับการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์สืบเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย เมื่อกล่าวถึงการกำเนิดเครื่องดนตรีไม่ว่าของชาติใด ๆ ในโลก สามารถแยกแยะเครื่องดนตรีตามวิธีการบรรเลงได้ 4 ประเภท คือ ดีด สี ตี และเป่า ทั้งนี้โดยธรรมชาติได้สร้างให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ มนุษย์จึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อเลียนเสียงธรรมชาติต่าง ๆ ที่อยู่รอบกาย เช่น เสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลมพัด กอไผ่เสียดสี น้ำตก หรือเสียงจากการใช้เครื่องมือล่าสัตว์ เช่น การยิงธนู การเป่าลูกดอก เป่าไม้ซาง เป็นต้น จากความพยายามที่จึงสร้างเครื่องมือเพื่อเลียนเสียงธรรมชาติเหล่านั้น และมนุษย์มีความต้องการในเสียงที่ไพเราะซาบซึ้งใจ หรือเสียงที่ทำให้เกิดความสุนทรีย์ จึงได้พัฒนารูปแบบเครื่องมือที่ทำให้เกิดเสียงเหล่านั้นมาตามลำดับ จากเครื่องมือที่มีเสียงเดียวจนกลายเป็นเครื่องดนตรีที่มีหลายเสียง จนสามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบันขึ้น ตามข้อสันนิษฐานว่า เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี น่าจะเกิดมาเป็นอันดับแรก และตามมาด้วยเครื่องเป่า เครื่องดีด และเครื่องสี ที่ว่าเครื่องตีน่าจะเกิดขึ้นก่อน ทั้งนี้เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ ธรรมชาติได้สร้างให้มนุษย์มีมือสองข้าง ซึ่งสามารถปรบจังหวะได้ ต่อมาจึงได้ใช้วัตถุต่าง ๆ แทนมือ เช่น ไม้ หิน โลหะ เครื่องหนัง และเกิดการวิวัฒนาการจนกลายเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่สามารถบรรเลงทำนองเพลงได้ เครื่องดนตรีที่วิววัฒนาการตามมา คือ เครื่องเป่า โดยสันนิษฐานว่าวิวัฒนาการมาจากการเป่าใบไม้ เป่าเขาสัตว์ เป่าไม้ซาง และได้พัฒนาการมาเป็นเครื่องเป่าชนิดต่าง ๆ ส่วนเครื่องดีดและเครื่องสีนั้นสันนิษฐานว่าวิวัฒนาการมาจาก การยิงธนู เป็นต้น
(ชิ้น ศิลปบรรเลง, 2521: 20-22)
ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีของไทยที่จัดอยู่ในประเภทเครื่องเป่าที่ไม่มีลิ้น (เครื่องเป่าของไทยแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ เครื่องเป่าที่มีลิ้น ได้แก่ ปี่ชนิดต่าง ๆ และเครื่องเป่าที่ไม่มีลิ้น ได้แก่ขลุ่ยชนิดต่าง ๆ) ตามข้อสันนิษฐานที่กล่าวมาแล้วว่า ขลุ่ยอาจจะมีวิวัฒนาการมาจากการเป่าใบไม้ การเป่าไม้ซาง เป่าเขาสัตว์ หรือการผิวปาก การประดิษฐ์ขลุ่ยนั้นแต่แรกเริ่มจะเป็นคนไทยคิดทำขึ้นเองหรือจากชาติอื่นไม่ปรากฏชัด เพราะชาติอื่น ๆ หลายชาติ ก็มีเครื่องเป่าเช่นเดียวกับขลุ่ยไทย เช่น อินเดียมี “มุราลี” ญี่ปุ่นมี “ซาฮุกาชิ” (Shaku-hachi) จีนมี “โถ่งเซียว” และ “ฮวยเต็ก” ดนตรีตะวันตกมี “คาริเน็ต” (Carinet) และ “ปิคโคโล” (Piccolo) เครื่องเป่า เหล่านี้มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่จะต่างกันที่วิธีการเป่า คือ ขลุ่ย ซาฮุกาชิ และโถ่งเซียว ใช้เป่าลงตรง ๆ เช่นเดียวกับ คาริเน็ต ส่วน มุราลี ฮวยเต็ก ใช้เป่าโดยหันเครื่องดนตรีไปด้านข้าง เช่นเดียวกับ ปิคโคโล (ธนิต อยู่โพธิ์ 2523 : 56) ประวัติความเป็นมาของขลุ่ยไทยนั้น จะนับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่โบราณที่สุดชนิดหนึ่งก็ย่อมได้ ทั้งนี้จากหลักฐานที่มีการขุดพบหีบศพภรรยาเจ้าเมืองไทยที่ริมฝั่งแม้น้ำฮวงโห ในหีบศพนั้น มีเครื่องดนตรีอยู่ 3 ชิ้น คือ แคน ขลุ่ย และขิม นอกจากนี้ยังมีอักษรจารึกศักราชไว้ที่หีบศพ จึงทำให้ทราบว่า มีขลุ่ยเกิดขึ้นมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว (อุทิศ นาคสวัสดิ์ 2521: 1) ในยุคก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ก็ยังไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับขลุ่ย จะมีก็แต่ปี่พาทย์ไม้นวม และมโหรีหญิงเครื่องสี่ จนในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ขลุ่ยเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงดนตรีไทย โดยผสมอยู่ในวงมโหรีหญิงเครื่องหก ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่อยู่ในวงมโหรีหญิงเครื่องสี่ ได้แก่ ซอสามสาย กระจับปี่ ทับหรือโทน กรับพวง และได้เพิ่มรำมะนากับขลุ่ยเข้าไป จึงกลายเป็นวงมโหรีเครื่องหกขึ้นมา ในสมัยนี้คงนิยมเล่นดนตรีกันอย่างแพร่หลาย แม้ในเขตพระราชฐาน และคงเป็นที่รำคาญในเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) จึงได้มีข้อห้ามในกฎมณเฑียรบาล ว่า “ห้ามร้องเพลง เป่าขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดจะเข้ กระจับปี่ ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน” แสดงว่าขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นกันมากในสมัยนั้น ในสมัยกรุงธนบุรี บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะหลังสงครามกู้ชาติ การดนตรีจึงยังซบเซาจึงไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับขลุ่ยเท่าใดนัก ขลุ่ยเริ่มมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งเมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นคือ ได้เข้าผสมอยู่ในวงดนตรีไทยหลายประเภท โดยเฉพาะที่สำคัญคือเป็นตัวคุมเสียงของวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ นอกจากขลุ่ยจะมีบทบาทสำคัญในวงดนตรีต่าง ๆ แล้ว ขลุ่ยยังเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย เพราะสามารถเป่าคนเดียวได้ การเล่นก็ไม่พิถีพิถันเหมือนกับเล่นร่วมอยู่ในวงดนตรี จะนั่งเป่า นอนเป่า เดินเป่า ขี่หลังควายเป่าก็ย่อมทำได้ตามถนัด นอกจากนนี้ขลุ่ยยังมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย รูปร่างและขนาดก็เหมาะสำหรับที่จะพกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวกโดยเฉพาะในการเดินทางไปต่างประเทศ เสียงของขลุ่ยก็มีความโหยหวนไพเราะอ่อนหวาน สามารถสะท้อนความรู้สึก หรืออารมณ์อันสุนทรีย์ทั้งของผู้เป่าและผู้ฟังได้อย่างลึกซึ้ง ช่วยแก้เหงาได้อย่างดียิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่ใกล้ชิดกับคนไทยมากที่สุด ในปัจจุบัน ขลุ่ยก็ได้มีบาบาทสำคัญในด้านการศึกษาทางด้านดนตรี เพราะได้มีการเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับการปฏิบัติเครื่องดนตรีไทยที่หลากหลายในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะวิชาการปฏิบัติเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ซึ่งนิยมเปิดสอนการปฏิบัติขลุ่ยกันโดยทั่วไป จึงเป็นผลทำให้เกิดผลผลิตเกี่ยวข้องกับขลุ่ยขึ้นมากมาย ทั้งในด้านบุคลากร เครื่องดนตรี สื่อ เอกสาร งานวรรณกรรม และงานวิจัย เป็นต้น
ประเด็นคำถาม
1. เครื่องดนตรีแบ่งตามวิธีการบรรเลงได้ประเภท เรียงตามลำดับการเกิด ก่อนหลัง ดังนี้
2. ตามหลักฐานการพบเครื่องดนตรีในหีบศพภรรยาเจ้าเมืองไทยที่แม่น้ำฮวงโห เมื่อสมัย 2,000 ปี
มาแล้ว มีเครื่องดนตรี 3 ชนิด คือ
3. ขลุ่ย จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภท ………………สันนิษฐานว่ามีวิวัฒนาการมาจาก
กิจกรรมเสนอแนะ
อาจใช้ข้อมูลจากบทความนี้ ไปประยุกต์ใช้ฝึกกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆได้เช่นกัน
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล /ภาพประกอบ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://www.thaigoodview.com/library/teachershow/phichit/apichat_p/sec03p01.html
https://school.obec.go.th/lamnam/suriyu.jpg
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1269