สื่อสัมพันธ์สองแผ่นดิน


820 ผู้ชม


การรับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันระหว่างสองชาติ ไทย - จีน   

                                      สื่อสัมพันธ์สองแผ่นดิน
              สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรปรากฏการณ์ธรรมชาติ "สุริยุปราคา" ณ สวนสาธารณะเฉิงซื่อ ซาทัน เมืองจินซาน ประเทศจีน และทรงถ่ายภาพปรากฏการณ์ครั้งนี้ไว้ด้วย.  (ที่มาภาพ / ข่าว)         
              ประเทศไทยและจีน ถือได้ว่าเป็นชนชาติที่มีสายสัมพันธ์กันมายาวนานทางประวัติศาสตร์นับแต่อดีตจนเวลาผ่านล่วงมายุคปัจจุบัน ตั้งแต่ในระดับเชื้อพระวงศ์ ลงมาถึงสามัญชนคนทั่วไป ที่มีต้นตระกูลเป็นชาวจีนโพ้นทะเล ล่องเรือสำเภาเข้ามาไทยในอดีต อีกทั้งในเรื่อง สังคม  การเมือง  เศรษฐกิจ ต่าง ๆ จะเห็นได้จากฑูตทางวัฒนธรรมที่กำลังเป็นกระแส นั่นก็คือ ช่วงช่วง และหลินฮุยที่รัฐบาลจีนได้มอบมาให้ประเทศไทยได้ดูแล ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่แน่นแฟ้น  
            นอกจากนี้ใครจะทราบว่าในอดีต ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของสองชาติไทย จีน ยังมีเสียงบรรเลงอันไพเราะเสนาะหู ของ "ขิม"ดนตรีที่คนไทยรู้จักดี จนกลางเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรีไทย ขิม เป็นสื่อกลางแห่งความผูกพันจนฝังลึกในความรู้สึกและจิตใจ หล่อหลอมวัฒนธรรม และความต่างให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

สาระที่ ๒  ดนตรี
         มาตรฐาน ศ ๒.๑  เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
         มาตรฐาน ศ ๒.๒   เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรี
  ที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล


                                    สื่อสัมพันธ์สองแผ่นดิน
                                                                 ที่มาภาพ  ขิม

                                                        ขิม : สายสัมพันธ์  ไทย - จีน  

                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายไว้ว่า " เครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง รูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีก ทำให้เกิดเสียงโดยวิธีการตี"   
            ในสมัยโบราณนั้นขิมของจีนเป็นทั้งเครื่องตี เครื่องสี และเครื่องดีด มีประวัติกล่าวไว้ว่า   มีเจ้าเมืองแห่งหนึ่งชื่อ  "จีเซียงสี" ปกครองเมืองอยู่ได้ สองปีก็เกิดภัยพิบัติเป็นพายุใหญ่  ทำให้ไม้ดอกไม้ผลโรยร่วงหล่นไปสิ้น จูเซียงสี จึงปรึกษากับขุนนางว่าจะทำประการใดดี ขณะนั้นขุนนางคนหนึ่งได้กล่าวขึ้นว่า   เมื่อก่อนได้ทราบว่า  พระเจ้าฮอกฮีสี ฮ่องเต้ ได้สร้างขิมชนิดหนึ่งมีสาย ห้าสาย ถ้าหากว่าแผ่นดินมีทุกข์สิ่งใดเกิดขึ้น ก็ให้นำขิมที่สร้างขึ้นนั้นมาดีด เนื่องจากว่าขิมนั้นเป็นชัยมงคล จูเซียงสี จึงสั่งให้ช่างทำขิมห้าสายแจกให้ราษฏร ที่เกิดทุกข์เข็ญ เมื่อราษฏร ดีดขิมขึ้น เสียงที่ออกมามีความไพเราะ ทำให้ลมสงบ ต้นไม้ทั้งหลาย ก็ติดดอกออกผลบริบูรณ์ทั่วถึงกัน
           ชาวจีนจึงถือว่าขิม เป็นเครื่องสีที่ให้เสียงประสานกันอย่างบริสุทธิ์ ถ้านำมาบรรเลงควบกับพิณอีกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า "เซะ"หรือ "เซ็ก" ซึ่งมีมากสาย ก็จะเป็น สัญลักษณ์ แลดงถึงความสามัคคี ประสานกันเป็นอย่างดี ขงจื้อได้กล่าวไว้ว่า  
" ผู้ซึ่งมีสามัคคีรสเป็นสุขสบายอยู่กับภรรยาและลูก ก็เปรียบเสมือนดนตรีขิม และพิณเซะฉันนั้น " 
(ขอบคุณข้อมูล)

                                        สื่อสัมพันธ์สองแผ่นดิน
                                                                      ที่มาภาพ

              ขิม  เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่4 โดยชาวจีนนำมาบรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายจีน และประกอบการแสดงงิ้วบ้าง บรรเลงในงานเทศกาล และงานรื่นเริงต่างๆบ้าง
       นักดนตรีไทยนำ ขิม มาบรรเลงในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 โดยปรับปรุงแก้ไขบางอย่าง คือ เปลี่ยนสายลวดทองเหลืองให้มีขนาดโตขึ้น เทียบเสียงเรียงลำดับไปตลอดจน ถึงสายต่ำสุด เสียงคู่แปดมือซ้ายกับมือขวามีระดับเกือบตรงกัน เปลี่ยนไม้ตีให้ใหญ่ และก้านแข็งขิ้น หย่องที่หนุนสายมีความหนากว่าของเดิม เพื่อให้เกิดความสมดุล และมีความประสงค์ให้เสียงดังมากขึ้น และไม่ให้เสียงที่ออกมาแกร่งกร้าวเกินไป ให้ทาบสักหลาดหรือหนัง ตรงปลายไม้ตี   ส่วนที่กระทบกับสาย ทำให้เสียงเกิดความนุ่มนวล และได้รับความนิยม บรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายผสมจนถึงปัจจุบัน
        เพลง ที่นิยมบรรเลงกันมากคือ   เพลงขิมเล็ก   และเพลงขิมใหญ่   ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงจีน ที่เกิดขึ้นในราวปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ได้จำทำนองการตีขิมของคนจีน แล้วมาแต่งเป็นเพลงในอัตรา 2 ชั้นได้ 2 เพลง ตั้งชื่อว่า เพลงขิมเล็ก และ เพลงขิมใหญ่ สำหรับเพลงขิมเล็ก พระประดิษฐ์ไพเราะ ได้แต่งขยายเป็นอัตรา 3 ชั้น ส่วนเพลงขิมใหญ่ ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้แต่งขึ้นเป็น อัตรา 3 ชั้น เช่นกัน และทั้ง 2 เพลงนี้ ครูมนตรี ตราโมท ได้แต่งตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว จนครบเป็นเพลงเถา เมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2478 และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้   ( ขอขอบคุณข้อมูล )  
                                         

                                 สื่อสัมพันธ์สองแผ่นดิน
                                                                          ที่มาภาพ

 ส่วนประกอบต่าง ๆ ของขิม    (ขอบคุณข้อมูล)                                     
            
1.ตัวขิม ทำมาจากไม้เนื้อแข็งโดยคัดเลือกชนิดของไม้และอายุของเนื้อไม้ที่มีความเหมาะสม มาผึ่งให้แห้ง แล้วแปรรูปเป็นตัวขิม ขัดมันให้เรียบ อาจจะมีการทาสีหรือไม่ก็ได้ แล้วทาสารเคลือบเงาเพื่อความสวยงาม  
           
 2.ฝาขิม ทำมาจากไม้อย่างเดียวกับที่นำมาทำตัวขิม และนำมาตัดให้ได้รูป แล้วแปรรูปเป็นฝาขิม ตกแต่งเหมือนตัวขิม  
            
3.สายขิมทำมาจากทองเหลืองมีลักษณะเป็นเส้นกลมยาวเส้นเล็กแต่ข้อเสียของสายทองเหลืองคือ เมื่อใช้ไปนานสายจะเริ่มมีสนิม และขาดได้ง่าย ปัจจุบันจึงนิยมใช้สายที่ทำมาจาก สแตนเลส เพราะขาดยาก มีความคงทน สามารถใช้งานได้นาน 
          
 4. นมขิม ทำมาจากไม้ มีลักษณะเป็นไม้แบนยาวยึดติดกับตัวขิม ล่างสายขิม มีทั้งหมด 2 อัน  
           
5.หลักขิมเป็นโลหะที่ติดอยู่กับตัวขิมยึดสายขิมเอาไว้สามารถหมุนได้เพื่อไว้สำหรับปรับระดับเสียงของขิม 
          
 6.ตุ๊กตาขิม จะติดอยู่กับตัวขิม จะมีรูโปร่งไว้สำหรับเสียงกระจายออก เวลาบรรเลง 
          
 7.หย่องพาดสายขิมทำมาจากไม้มีลักษณะเป็นไม้แบนเป็นตัวรองสายก่อนที่จะไปยึดติดอยู่กับหลักขิม 
          
 8.ไม้ตีขิมทำมาจากไม้มีลักษณะเป็นก้านแข็งและมีความยึดหยุ่นให้ทาบหนังหรือสักหลาดตรงปลายไม้ตี 

                                                  สื่อสัมพันธ์สองแผ่นดิน
                                                                     ที่มาภาพ      

วิธีการบรรเลง (ขอบคุณข้อมูล)  
         วิธีการบรรเลงโดยเริ่มที่การจับไม้ตีขิม จับโดยใช้นิ้วชี้แตะตรงส่วนล่างของไม้ตีขิม และนำนิ้วหัวแม่มือมาวางตรงด้านบนของไม้ตีขิม แล้วนำนิ้วที่เหลืออีก 3 นิ้วมาจับประคองไม้ตีขิมทางด้านล่าง เมื่อเวลาจะเริ่มตีปฏิบัติโดยใช้ข้อมือ ขึ้น และ ลง ไป - มาสลับ ซ้าย และ ขวา โดยให้ลักษณะของปลายไม้จะมีการกระดก ขึ้น - ลง อยู่ภายในอุ้มมือของผู้บรรเลง เวลาบรรเลงนั่งพับเพียบหลังขิม ลำตัวและใบหน้าตรง ตามองมุมต่ำ

ดาวน์โหลดฟังเพลงบรรเลงขิม  

เชื่อมโยงในองค์ความรู้
       คณิตศาสตร์                             คำนวนขนาด รูปทรง  รูปร่างทางเรขาคณิต            
       ภาษาไทย                                การเขียน  การอธิบาย  การอ่านเนื้อเพลง  
       วิทยาศาสตร์                             การกำเนิดเสียง
       สังคมศึกษา                             วัฒนธรรมประเพณี   ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  ประเทศเพื่อนบ้าน
       สุขศึกษาและพลศึกษา               กิจกรรมเข้าจังหวะประกอบเพลงบรรเลงสำเนียงจีน
       ภาษาต่างประเทศ                     ศึกษาเรียนรู้ภาษาจีน
       บูรณาการในทุกสาระการเรียนรู้      บทเพลง  เนื้อร้องสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน   กิจกรรม กระตุ้นเร้าความสนใจ การเรียนรู้ของผู้เรียน

 เพิ่มเติมกิจกรรมนำไปใช้
        -  กิจกรรมวดาภาพรูปร่างขิม และเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ
        -  ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ขิม และเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ
        -  ศึกษาและแสวงหาประสบการณ์ตรงทางด้านดนตรีในงานต่าง ๆ
        -  สร้างสรรค์การแสดงประกอบการบรรเลงขิม และดนตรีไทย
      
ข้อคำถามสานต่อความคิด
         -  แสดงความคิดเห็นถึงคำว่า ดนตรีไม่มีเชื้อชาติและพรมแดน
         -  คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า "ภาษาดนตรีเป็นภาษาสากล"
        -   ยังมีเครื่องดนตรีไทยใดอีกบ้างที่ได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น
       
        
อ้างอิงที่มา
 https://www.thairath.co.th 
https://writer.dek-d.com 
www.thaimusic.com 
https://www.panyathai.or.th 
https://www.janburi.buu.ac.th 
https://www.yenta4.com 
https://www.phrapiyaroj.com

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1353

อัพเดทล่าสุด