ศัพท์สังคีต..ภาษาดุริยางค์ไทย


1,273 ผู้ชม


อธิบายความหมาย ลักษณะเฉพาะการบรรเลงทางดุริยางค์ไทย   

  
ศัพท์สังคีต..ภาษาดุริยางค์ไทย
 
 " เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล  จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้..
เรารักชาติ  ขออย่าทำลายภาษาที่มีอยู่ " 
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                   ภาษาไทยถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ ที่แสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติมานับแต่โบราณกาล ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นกันมา  การสืบทอดทางภาษาเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงชนชาติอารยธรรม วัฒนธรรมประเพณีที่สั่งสมมาช้านาน
                   ในด้านภาษาดนตรีไทย ที่ผู้ที่สนใจดนตรีไทยควรศึกษาเรียนรู้เพื่อความเข้าใจ  รับรู้ถึงลักษณะของการบรรเลงของเครื่องดนตรี ที่เรียกว่า "ศัพท์สังคีต"

สาระที่ ๒  ดนตรี
           มาตรฐาน ศ ๒.๑  เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้              ในชีวิตประจำวัน
           มาตรฐาน ศ ๒.๒   เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรี
  ที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล

 ศัพท์สังคีต

              ศัพท์สังคีต คือ ภาษาเฉพาะที่ใช้พูดกันในวงการดนตรีไทย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายความถึงอะไร หรือให้ปฏิบัติอย่างไร   (ที่มา)  
 

ศัพท์สังคีต..ภาษาดุริยางค์ไทย

             กรอ เป็นวิธีบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทตี (เช่น ระนาด ฆ้องวง) อย่างหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีตี ๒ มือ สลับกันถี่ ๆ เหมือนรัวเสียงเดียว (ดูคำว่า รัว) หากแต่วิธีที่เรียกว่า "กรอ" นี้ มือทั้งสอง มิได้ตีอยู่ที่ลูกเดียวกัน 
             ทางกรอ เป็นคำเรียกทางของการดำเนินทำนองเพลงอย่างหนึ่งที่ดำเนินไปโดยใช้เสียงยาว ๆ ช้า ๆ เพลงที่ดำเนินทำนองอย่างนี้ เรียกว่า "ทางกรอ" ที่เรียกอย่างนี้ก็ด้วยเหตุที่เพลงที่มีเสียง ยาว ๆ นั้น เครื่องดนตรีประเภทตีไม่สามารถจะทำเสียงให้ยาวได้ จึงต้องตีกรอ (ดูคำว่า กรอ) ให้ได้ความยาวเท่ากับความประสงค์ของทำนองเพลง เพลงทางกรอนี้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นต้นคิดขึ้น เป็นทางเพลงที่นิยมมาก 
    
             กวาด คือ วิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งของเครื่องดนตรีประเภทตี (เช่น ระนาด ฆ้องวง) โดยใช้ไม้ตี ลากไปบนเครื่องดนตรี (ลูกระนาดหรือลูกฆ้อง) ซึ่งมีกิริยาอย่างเดียวกับใช้ไม้กวาด กวาดผง การกวาดนี้จะกวาดจากเสียงสูงมาหาเสียงต่ำหรือจากเสียงต่ำไปหาเสียงสูงก็ได้ 
   
            เก็บ ได้แก่ การบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกแซงให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าเนื้อเพลงธรรมดา ถ้าจะเขียนเป็นโน้ตสากลในจังหวะ ๒/๔ ก็จะเป็นจังหวะละ ๔ ตัว ห้องละ ๘ ตัว (เขบ็ต ๒ ชั้นทั้ง ๘ ตัว) อธิบาย : การบรรเลงที่เรียกว่า เก็บ นี้ เป็นวิธีการบรรเลงของระนาดเอก และ ฆ้องวงเล็ก ส่วนเครื่องดนตรีอื่น ๆ ใช้เป็นตอน ๆ ตัวอย่างโน้ต "เก็บ" รวมบันทึก เปรียบเทียบไว้กับ "สะบัด" (ดูคำว่าสะบัด) 
  
           ขยี้ เป็นการบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงแทรกแซงให้มีพยางค์ถี่ขึ้น ไปจาก "เก็บ" อีก ๑ เท่า ถ้า จะเขียนเป็นโน้ตสากลในจังหวะ ๒/๔ ก็จะเป็นจังหวะละ ๘ ตัว ห้องละ ๑๖ ตัว (เขบ็ต ๓ ชั้นทั้ง ๑๖ ตัว) อธิบาย : การบรรเลงที่เรียกว่าขยี้นี้ จะบรรเลงตลอดทั้งประโยคของเพลง หรือ จะบรรเลงสั้นยาวเพียงใดแล้วแต่ผู้บรรเลงจะเห็นสมควร วิธีบรรเลงอย่างนี้บางท่านก็ เรียกว่า "เก็บ ๖ ชั้น" ซึ่งถ้าจะพิจารณาถึงหลักการกำหนดอัตรา (๒ ชั้น ๓ ชั้น) แล้ว คำว่า ๖ ชั้นดูจะไม่ถูกต้อง ตัวอย่างโน้ต "ขยี้" รวมบันทึกเปรียบเทียบไว้กับ "สะบัด" (ดูคำว่า สะบัด) 
   
          ขับ คือ การเปล่งเสียงออกไปอย่างเดียวกับร้อง (ดูคำว่า ร้อง) แต่การขับมักใช้ในทำนอง ที่มีความยาวไม่แน่นอน การเดินทำนองเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น และถือถ้อยคำเป็น สำคัญ ทำนองต้องน้อมเข้าหาถ้อยคำ เช่น ขับเสภา เป็นต้น การขับกับร้องมีวิธีการที่ คล้ายคลึง และมักจะระคนปนกันอยู่ จึงมักจะเรียกรวม ๆ กันว่า "ขับร้อง"
                                          ศัพท์สังคีต..ภาษาดุริยางค์ไทย
         ครวญ เป็นวิธีร้องอย่างหนึ่งซึ่งสอดแทรกเสียงเอื้อนยาว ๆ ให้มีสำเนียงครวญคร่ำรำพัน และ เสียงเอื้อนที่สอดแทรกนี้มักจะขยายให้ทำนองเพลงยาวออกไปจากปรกติ อธิบาย: เพลงที่จะแทรกทำนองครวญเข้ามานี้ ใช้เฉพาะแต่เพลงที่แสดงอารมณ์ โศกเศร้า เช่น เพลงโอ้ปี่ และเพลงร่าย (ในบทโศก) เป็นต้น และบทร้องทำนองครวญ ก็จะต้องเป็นคำกลอนสุดท้ายของบทนั้น ซึ่งเมื่อร้องจบคำนี้แล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลง เพลงโอดประกอบกิริยาร้องไห้ติดต่อกันไป 
     
         คร่อม คือ การบรรเลงทำนองหรือบรรเลงเครื่องประกอบจังหวะ หรือร้องดำเนินไปโดยไม่ ตรงกับจังหวะที่ถูกต้อง เสียงที่ควรจะตกลงตรงจังหวะกลายเป็นตกลงในระหว่าง จังหวะซึ่งกระทำไปโดยไม่มีเจตนา และถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด เรียกอย่างเต็มว่า "คร่อมจังหวะ" 
           
         ครั่น เป็นวิธีที่ทำให้เสียงสะดุดสะเทือน เพื่อความไพเราะเหมาะสมกับทำนองเพลงบางตอน อธิบาย : การทำเสียงให้สะดุดและสะเทือนที่เรียกว่าครั่นนี้ ใช้เฉพาะกับการขับร้อง หรือเครื่องดนตรีประเภทเป่า เช่น ปี่ ขลุ่ย และเครื่องดนตรีประเภทสี เช่น ซอต่าง ๆ เท่านั้น การขับร้องคั่นด้วยคอ เครื่องดนตรีประเภทเป่า ครั่นด้วยลมจากลำคอและเครื่อง ดนตรีประเภทสีครั่นด้วยคันสี (หรือคันชัก) 
     
        คลอ เป็นการบรรเลงดนตรีไปพร้อม ๆ กับการร้องเพลง โดยดำเนินทำนองเป็นอย่างเดียวกัน คือ บรรเลงไปตามทางร้อง เช่น ซอสามสายสีคลอไปกับเสียงร้อง เป็นต้น เปรียบเทียบ ก็เหมือนคน ๒ คนเดินคลอกันไป       เคล้า เป็นการบรรเลงดนตรีไปพร้อม ๆ กับการร้องเพลง (เช่นเดียวกับคลอ ดูคำว่า คลอ) โดย เพลงเดียวกัน แต่ต่างก็ดำเนินทำนองไปตามทางของตน คือร้องก็ดำเนินไปตามทางร้อง ดนตรีก็ดำเนินไปตามทางดนตรี ยึดถือแต่เนื้อเพลง จังหวะ และเสียงที่ตกจังหวะ (หน้าทับ) เท่านั้น เช่น การร้องเพลงทะแย ๒ ชั้น ในตับพรหมาสตร์ที่มีบทว่า "ช้างเอย ช้างนิมิต เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน ฯลฯ" ซึ่งคนร้องดำเนินทำนองไปอย่างหนึ่ง ดนตรี ก็ดำเนินทำนองไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นเพลงทะแยที่ ร้องและบรรเลงไปพร้อม ๆ กัน เทียบได้กับการคลุกเคล้าปรุงรสอาหารให้รสเปรี้ยวเค็มเข้าผสมผสานกันให้โอชารส วิธีการเช่นนี้บางท่านเรียกว่า "คลอ" 
                                              ศัพท์สังคีต..ภาษาดุริยางค์ไทย
              จน หมายถึงการที่นักดนตรีบรรเลงเพลงอันถูกต้องที่เขาประสงค์ไม่ได้ อธิบาย : เพลงที่นักดนตรีจำจะต้องบรรเลงให้ถูกต้องตามความประสงค์นั้น หลายอย่าง เป็นต้นว่านักร้องเขาส่งเพลงอะไรนักดนตรีก็ต้องบรรเลงรับด้วย เพลงนั้น หรือเมื่อคนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกให้บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ อะไร นักดนตรีก็ต้องบรรเลงเพลงนั้น ถ้าหากนักดนตรีบรรเลงเพลงให้ตรงกับที่นักร้อง เขาร้องไม่ได้ หรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตามที่คนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกไม่ได้ จะเป็นนิ่งเงียบอยู่หรือบรรเลงไปโดยกล้อมแกล้มหรือบรรเลงไปเป็นเพลง อื่นก็ตาม ถือว่า "จน" ทั้งสิ้น 
 
       เดี่ยว เป็นวิธีบรรเลงอย่างหนึ่งที่ใช้เครื่องดนตรีจำพวกดำเนินทำนองเช่น ระนาด ฆ้องวง จะเข้ ซอ บรรเลงแต่อย่างเดียว การบรรเลงเครื่องดำเนินทำนองเพียงคนเดียวที่ เรียกว่า "เดี่ยว" นี้ อาจมีเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง โทน รำมะนา สองหน้า หรือกลองแขก บรรเลงไปด้วยก็ได้ การบรรเลงเดี่ยวอาจบรรเลงตลอดทั้งเพลงหรือแทรกอยู่ในเพลงใดเพลงหนึ่งเป็นบางตอนก็ได้       
      
       การบรรเลงเดี่ยวมีความประสงค์อยู่ ๓ ประการ คือ
 ๑. เพื่ออวดทาง คือ วิธีดำเนินทำนองของเครื่องดนตรีชนิดนั้น 
๒. เพื่ออวดความแม่นยำ 
๓. เพื่ออวดฝีมือ 
 
        
เพราะฉะนั้น การบรรเลงที่จะเรียกได้ว่าเดี่ยว จึงมิใช่จะหมายความแคบ ๆ เพียงบรรเลงคนเดียวเท่านั้น ที่จะเรียกว่าเดี่ยวได้โดยแท้จริงนั้น ทาง (การดำเนินทำนอง) ก็ควรจะให้เหมาะสมกับที่จะบรรเลงเดี่ยว เช่น มีโอดพันหรือวิธีการโลดโผนพลิกแพลง ต่าง ๆ ตามสมควรแก่เครื่องดนตรีชนิดนั้นด้วย เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมา 
  (ขอบคุณแหล่งข้อมูล )  

เชื่อมโยงในองค์ความรู้
       คณิตศาสตร์                             คำนวนขนาด รูปทรง  รูปร่างทางเรขาคณิต            
       ภาษาไทย                                การเขียน  การอธิบาย ลักษณะวิธีการบรรเลงเพลงไทย  
       วิทยาศาสตร์                             การกำเนิดเสียง
       สังคมศึกษา                             วัฒนธรรมประเพณี   ในการบรรเลงดนตรีไทย
       สุขศึกษาและพลศึกษา               กิจกรรมเข้าจังหวะประกอบเพลงไทยเดิม
       บูรณาการในทุกสาระการเรียนรู้      บทเพลงไทยสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน   กิจกรรมกระตุ้นเร้าความสนใจการเรียนรู้ของผู้เรียน

 เพิ่มเติมกิจกรรมนำไปใช้
        -  กิจกรรมวาดภาพเครื่องดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ
        -  ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศัพท์สังคีต
        -  ศึกษาและแสวงหาประสบการณ์ตรงทางด้านดนตรีไทยในงานต่าง ๆ
       
      
ข้อคำถามสานต่อความคิด
         -  แสดงความคิดเห็นถึงคำว่า ดนตรีไม่มีเชื้อชาติและพรมแดน
         -  คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า "ภาษาดนตรีเป็นภาษาสากล"
        -   วิธีการและแนวทางในการอนุรักษ์สืบสานดนตรีไทย
         
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ
https://writer.dek-d.com 
https://guru.sanook.com 
https://gotoknow.org 
https://images.google.com 
https://images04.olxthailand.com 
 https://www.momypedia.com

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1551

อัพเดทล่าสุด