เป็นส่วนหนึ่งของวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที ด้วยการร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีมหาราชา
วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที
ที่มาภาพ เด็กดี.คอม
คณะประสานงานโครงการ 9 ในดวงใจ ขอความร่วมมือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงสดุดีมหาราชา ในวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ให้ดังกระหึ่มไปทั่วเมือง ไม่ว่าพสกนิกรชาวไทย หรือชาวต่างชาติ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทุกคนสามารถร้องเพลงที่ไหนก็ได้ จะร้องอยู่ที่บ้านก็ได้ (ที่มา นสพ.ไทยรัฐ)
เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปวงชนชาวไทยได้แสดงถึงความรัก สมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที การทำความดีเพื่อถวายในหลวง การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดา มารดา ครู อาจารย์ ผู้มีพระคุณ
เหมาะสำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 - ช่วงชั้นที่ 4
สาระดนตรี มาตรฐาน ศ 2.2 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรีที่
เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี
เพลงสรรเสริญพระบารมี มีเค้าโครงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ก่อนแล้ว ใช้บรรเลงในเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จลงท้องพระโรงและเสด็จขึ้น แต่เพลงสรรเสริญพระบารมีในฐานะเพลงชาตินั้น เริ่มปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีการใช้เพลง God Save the King ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติของอังกฤษ บรรเลงเป็นเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ ตามแบบอย่างการฝึกทหารของอังกฤษ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ใช้ทำนองเพลงนี้แต่งคำร้องสรรเสริญพระบารมีถวายโดยให้ชื่อว่า "เพลงจอมราชจงเจริญ"จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเกาะชวาในปี พ.ศ. 2414 ขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สิงคโปร์นั้น ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง God Save the King บรรเลงเป็นเพลงเกียรติยศรับเสด็จ ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทั้งอังกฤษและไทยต่างใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงเดียวกัน ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองปัตตาเวีย ชาวฮอลันดาที่ตั้งอาณานิคมที่นั้น ได้ถามถึงเพลงประจำชาติของไทย เพื่อจะได้นำไปบรรเลงรับเสด็จ พระองค์จึงมีพระราชดำริแก่ครูดนตรีไทย ให้แต่งเพลงแตรวงรับเสด็จเพื่อใช้แทนเพลง God Save the King
คณะครูดนตรีไทยจึงได้เสนอเพลงบุหลันลอยเลื่อน (หรือเพลงทรงพระสุบิน) ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายเฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็กชาวฮอลันดา เรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่ให้เป็นทางดนตรีตะวันตก และได้ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 จนถึง พ.ศ. 2431 ดร. สุกรี เจริญสุข ได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพลงเดียวกันกับเพลงสรรเสริญเสือป่า ซึ่งใช้เป็นเพลงเกียรติยศของเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ 6
ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนมาใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับที่เป็นผลงานของ ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2431 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบและได้ออกบรรเลงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปีเดียวกัน ต่อมาทรงนิพนธ์เนื้อร้องของเพลงนี้อีกหลายเนื้อร้องเพื่อขับร้องในกลุ่มต่าง ๆ กัน เช่น ทหาร นักเรียนชาย นักเรียนหญิง เป็นต้น แต่มีเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกสำนวนหนึ่งที่เป็นพระนิพนธ์ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สำนวนนี้เป็นสำนวนสำหรับทหารเรือขับร้องโดยเฉพาะ เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบันนั้น เดิมทีเป็นเนื้อร้องที่พระองค์ได้นิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมี มาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทรงเปลี่ยนคำร้องในท่อนสุดท้ายว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย และประกาศใช้ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2456 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ มีอยู่ช่วงหนึ่งมีการตัดทอนเพลงนี้ให้สั้นลง แต่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว
เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บุญดิเรก
เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย
ที่มาภาพ วีกิพิเดีย
วาระและโอกาสที่ใช้
เพลงสรรเสริญพระบารมี ใช้บรรเลงในโอกาสดังต่อไปนี้
1. พิธีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ/หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งรับและส่งเสด็จฯ
2ง พิธีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ/หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมกับประมุขต่างประเทศ ให้บรรเลงเพลงชาติของประมุขต่างประเทศก่อน แล้วจึง บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี รับเสด็จฯ เมื่อประมุขต่างประเทศเสด็จฯ กลับ หรือไปตามลำพัง ให้บรรเลงเพลงชาติของประเทศนั้น เพื่อส่งเสด็จฯ
3. พิธีที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนิน ให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งรับและส่งเสด็จฯ
4.พิธีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และ/หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จพระราชดำเนินให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งรับและส่งเสด็จฯ
5. พิธีที่ผู้แทนพระองค์ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในงานเสด็จพระราชดำเนินต่างๆ
5.1 ถ้าผู้แทนพระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี หรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระราชดำเนินให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งรับและส่งเสด็จฯ
5.2ถ้าผู้แทนพระองค์เป็นบุคคลอื่น เมื่อผู้แทนพระองค์มาถึง ไม่ต้องบรรเลงเพลงใด ๆ และเมื่อผู้แทนพระองค์นั่งเรียบร้อยแล้ว ให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการเปิดงานและปิดงาน เมื่อผู้แทนพระองค์กลับไม่ต้องบรรเลงเพลงใด ๆ
6. การใช้ในช่วงเวลาเปิดการแสดงหรือฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ และการแสดงบันเทิงที่ส่วนใหญ่แสดงในโรงภาพยนตร์ จะใช้ในพิธีเปิดเท่านั้น
7. ใช้ในช่วงเริ่มต้นและยุติยกเลิกการกระจายเสียงหรือการแพร่ภาพออกอากาศ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะไม่ทุกสถานี หรือหากมีก็จะมีการฉายทั้งสถานีฟรีวิทยุ สถานีฟรีโทรทัศน์ สื่อแห่งชาติ สาธารณะ และสื่อการศึกษา ซึ่งอาจจะมีบางสถานี ที่จะมีการฉายหรือออกเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกล่าว ในช่วงเปลี่ยนแปลงวันและเวลาการออกอากาศจากเดิมไปสู่ใหม่
สานต่อก่อปัญญา
1.การถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ ในครั้งแรกใช้เพลงใดบรรเลง
2. เพลงใดที่ใช้ทำนองเพลง God Save the King และมีการแต่งคำร้องสรรเสริญพระบารมีขึ้นใหม่
3. เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้ในปัจจุบัน ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อใด
บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
กิจกรรมเสนอแนะ
ควรฝึกปฏิบัติการขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีให้ถูกต้องตามจังหวะ เนื้อร้อง และทำนองเพลง
แหล่งที่มาข้อมูล
วีกิพิเดีย
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1585