ประเพณีความเชื่อ ควบคู่กับความศรัทธาจนกลายมาเป็นศิลปวัฒนธรรมภาคประจำอีสาน
ที่มาภาพ www.images.google.co.th
นี่ก็ย่างเข้าเดือนหกแล้ว ว่ากันว่าใครที่ได้ไปเที่ยวจังหวัดยโสธรช่วงนี้จะได้ยินเสียงกลองผสมผสานการขับขานบอกถึงตำนานบั้งไฟด้วยจังหวะแบบพื้นเมืองอีสาน บุญเดือนหก หรือ ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณี เก่าแก่ที่ดีงามสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้งยังเป็นประเพณีที่ผู้คนให้ความสนใจมานานนับหลายชั่วอายุคน เชื่อกันว่าเป็นการบูชาพญาแถน เทพเจ้าผู้บันดาลน้ำฝน สำหรับงานบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร จะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2553 โดยงานนี้จัดเพื่อมุ้งเน้นความสามัคคี สืบสานประเพณีดั้งเดิม
จากประเด็นข่าวข้างต้นทำให้นึกถึงขบวนแห่ที่มีศิลปวัฒนธรรมของทางภาคอีสาน ที่สวยงาม มีความพร้อมเพียง มุ่งเน้นความความสนุกสนาน ที่ใช้ในงานบุญต่างๆ และ ในขบวนแห่ก็มักควบคู่มากับการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานนั้นคือการ เซิ้ง ซึ่ง เซิ้งที่ว่านั้นคือ เซิ้งบั้งไฟ
เนื้อหา สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ นาฏศิลป์ ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6
มาตรฐาน ศ 3.1 เข้าใจและแสดงออกทางด้านนาฏศิลป์อย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ คุณค่านาฏศิลป์ ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดอย่างอิสระ ชื่นชมและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
มาตรฐาน ศ 3.2 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนาฏศิลป์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
คำว่า เซิ้ง หมายถึง ศิลปะการแสดงของภาคอีสาน ลีลาจังหวะการร่ายรำเน้นจังหวะการย่ำเท้าประกอบเพลงด้วยความคึกครื้น สนุกสนาน
ประวัติประเพณีบั้งไฟ
กล่าวกันว่าเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็น พญาคันคาก แสดงธรรมจนเหล่ามนุษย์เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจนลืมถวายเครื่องบัดพลี แด่พญาแถน ทำให้เกิดความโกรธ จึงสาปให้มนุษย์ไม่มีฝนตกนานเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน ทำให้แห้งแล้งไปทุกหย่อมหญ้า ต่อเมื่อพญาคันคาก อาสาออกไปรบกับพญาแถน พญาแถนได้รับความพ่ายแพ้ จึงร้องขอชีวิต โดยมีข้อตกลงว่า หากมวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นไปบนเมืองสวรรค์ พญาแถนก็จะบันดาลให้ฝนตก หากเมืองสวรรค์ได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนตกลงมาโลกมนุษย์แล้ว และเมื่อพญาแถนได้ยินเสียง สนูว่าว ให้บันดาลให้ฝนหยุดตก เพราะถึงฤดูกาลการเก็บเกี่ยวแล้วประเพณีบุญบั้งไฟจึงถือกำเนิดนับแต่นั้นมา
ที่มาภาพ www.images.google.co.th
การแสดงเซิ้งบั้งไฟ เป็น การแสดง เรื่องราวในงานประเพณีแห่บั้งไฟ โดยการจำลองเหตุการณ์การแข่งขันบั้งไฟ โดยมีวัตถุประสงค์จะใช้กิจกรรมทางด้านนาฏศิลป์ สื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับรู้ถึงอดีตและความเป็นมา ของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสืบสานและเผยแพร่สู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
ตัวอย่างกาพย์เซิ้งบั้งไฟ
โอ เฮาโอศรัทธา เฮาโอ ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าจักโอ
ขอเหล้าโทนำเจ้าจักถ้วย หวานจ้วยๆต้วยปากหลานชาย
เอามายายหลานชายให้คู่ ขั่นบ่คู่ตูข่อยบ่หนี
ตายเป็นผีกะสินำมาหลอก ออกจากบ้านกะสิหว่านดินนำ
หว่านดินนำกะให้แม่สาวย้าน เป็นต้น
การแต่งกาย
คือสวมเสื้อแขนกระบอกย้อมคราม มีการตกแต่งตัวเสื้อด้วยด้ายสีและกระดุมสีต่างๆ นุ่งโสร่งหรือผ้าซิ่นมัดหมี่คั่นต่อตีนซิ่น ที่เอวจะแขวนกระดิ่งหรือกระพรวนคอวัว สวมหมวกกาบเซิ้ง พาดสไบขิดเฉียงไหล่ สวมส่วยมือ
ที่มาภาพ www.images.google.co.th
ประเด็นคำถามที่น่าสนใจ
1.เมื่อจุดบั้งไฟแล้วฝนตกจริงตามตำนานหรือไม่
2. นอกจากเซิ้งบั้งไฟแล้วยังมีเซิ้งชนิดใดที่เกี่ยวกับความเชื่อของคนในชุมชนอีกบ้าง
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
1.ให้นักเรียนลองค้นคว้าที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟที่นอกจากจังหวัดยโสธรแล้วมีจังหวัดใดอีกบ้าง
2.ให้นักเรียนเรียนรู้และศึกษาสภาพบริบทของแต่ละท้องที่ที่มีการแห่บั้งไฟ
3.ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าการแสดงของภาคอีสานว่ามีการแสดงชนิดบ้างนอกจากการเซิ้ง
การบูรณาการกับกลุ่มมาระการเรียนรู้
วิชา ภาษาไทย
มาตรฐาน ท 3.1 สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ และพูดแสดงความรู้ ความคิด และความรู้สึกในโอกาสต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์
วิชา สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
มาตรฐาน ส 3.1 เข้าใจและปฏิบัติตนตามหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี มีค่านิยมที่ดีงาม และธำรงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไทย ดำรงชีวิตอยู่ร่วมในสังคมไทย และสังคมโลก อย่างสันติสุข
อ้างอิงแหล่งข้อมูล
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันศุกร์ ที่ 30 เมษายน 2553 หน้า 28
อ้างอิงข้อมูลภาพ
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2322