ย้อนรอยวันวาน,,ขับขานเสียงดนตรี (กาลสมัย อรุณรุ่งแห่งสุโขทัย)


809 ผู้ชม


เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยที่สืบสานดุริยศิลป์มาแต่บรรพบุรษยุคสมัยอรุณรุ่งแห่งสุโขทัยสืบมาถึงปัจจุบัน  

ย้อนรอยวันวาน ขับขานเสียงดนตรี กาลสมัยอรุณรุ่งแห่งสุโขทัย

          ดนตรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมกันมาทุกสมัย  ประวัติความเป็นมาของดนตรีจะสะท้อนให้เห็นถึงแหล่งที่มา  และวิวัฒนาการมาตามลำดับตามยุคสมัยต่าง ๆ ทั้งเครื่องดนตรี  รูปแบบการผสมของดนตรี  บทเพลง และบุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้น


สาระการเรียนรู้ ศิลปะ (สาระที่ ๒  ดนตรี )

         มาตรฐาน ศ ๒.๑  เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
         มาตรฐาน ศ ๒.๒ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรีที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล

ย้อนรอยวันวาน,,ขับขานเสียงดนตรี (กาลสมัย อรุณรุ่งแห่งสุโขทัย)
ขอบคุณภาพ

ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย

       ดนตรีไทยที่เป็นมาตรฐานเป็นการผสมผสานกันของดนตรีพื้นเมืองที่มีอยู่ในท้องถิ่นและชุมชนกับดนตรีที่ใช้ในพิธีการทางศาสนาและดนตรีในราชสำนัก  มีวิวัฒนาการมาตามลำดับดังนี้

 สมัยกรุงสุโขทัย
         ดนตรีในสมัยสุโขทัย  มีหลักฐานปรากฏจากศิลาจารึก  พงศาวดาร และหนังสือไตรภูมิพระร่วง แสดงให้เห็นว่ามีการบรรเลงดนตรีที่เป็นแบบแผน ซึ่งพอสรุปได้ ว่า เครื่องดนตรีในสมัยสุโขทัย  มีใช้ครบทั้ง  4  ประเภท  คือ
          1) ประเภทเครื่องดีด ได้แก่  พิณต่าง ๆ  เช่น พิณเพียะ  พิณน้ำเต้า  กระจับปี่  ซึง  
          2) ประเภทเครื่องสี  ได้แก่ สะล้อ  ซอด้วง  ซออู้  และซอสามสาย
          3) ประเภทเครื่องตี  ได้แก่  ฆ้องโหม่ง  ฆ้องวงใหญ่  ฆ้องราว  กลองทัด กลองตะโพน  กลองตุ๊ก  ฉิ่ง  ฉาบ  กรับคู่  กรับพวง  กังสดาล มโหระทึก  บัณเฑาระว์  และระนาด (ไม่พบหลักฐานการผสมวงดนตรี)
          4) ประเภทเครื่องเป่า  ได้แก่  แคน  ขลุ่ย  ปี่ซอ  ปี่ใน  พิสเนญชัย (แตรเขาควาย)  แตรงอน สังข์

                                       ย้อนรอยวันวาน,,ขับขานเสียงดนตรี (กาลสมัย อรุณรุ่งแห่งสุโขทัย)
                                                                        ขอบคุณภาพ

การผสมวงดนตรีในสมัยสุโขทัย มี  4  แบบ  คือ

           1) การบรรเลงพิณ  เป็นการบรรเลงพิณเดี่ยวประกอบการขับลำนำ  โดยผู้บรรเลง  พิณที่ใช้อาจเป็นพิณเพียะ  พิณน้ำเต้า  หรือกระจับปี่
          2) วงขับไม้  มีผู้เล่น  3  คน  คือ  ซอสามสายบรรเลงคลอทางลำนำ คนขับลำนำซึ่งจะตีกรับไปด้วยและคนไกวบัณเฑาะว์ใช้บรรเลงในงานพิธีสำคัญ เช่น  สมโภชพระมหาเศวตฉัตร  สมโภชช้างเผือก เป็นต้น
           3) วงปี่พาทย์เครื่องห้า (แบบเก่า)  ประกอบด้วยเครื่องดนตรี  5  ชิ้น  คือ  ปี่ในฆ้องวงใหญ่  ตะโพน  กลองทัด  1  ลูก  และฉิ่ง  ใช้บรรเลงประกอบพิธีการและการแสดงต่าง ๆ 
          4) วงเครื่องประโคม  เป็นการผสมวงแบบพิเศษที่จัดขึ้นเฉพาะงานพระราชพิธีเท่านั้น  เครื่องดนตรี  คือ  มโหระทึก  แตรงอน  สังข์  พิสเนญชัย และเครื่องบรรเลงจังหวะต่าง ๆ

                                        ย้อนรอยวันวาน,,ขับขานเสียงดนตรี (กาลสมัย อรุณรุ่งแห่งสุโขทัย)
                                                                      ขอบคุณภาพ

 บทเพลงในสมัยสุโขทัย
     ในสมัยสุโขทัยบทเพลงส่วนมากได้สูญหายไป เนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกไว้ ที่ยังคงรู้จักได้แก่ เพลงเทพทอง เพลงนางนาค  และเพลงขับไม้บัณเทาะว์

                                                        ย้อนรอยวันวาน,,ขับขานเสียงดนตรี (กาลสมัย อรุณรุ่งแห่งสุโขทัย)
                                                                        ขอบคุณภาพ

กระบวนการเรียนรู้
          1. ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยและให้นักเรียนดูรูปภาพเครื่องดนตรี
          2. ศึกษาประวัติความเป็นมาไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
          3. อธิบายความสัมพันธ์ของยุคสมัยกับวิวัฒนาการทางดนตรีของไทย
          4. ศึกษาประวัติและผลงานทางดนตรีของคีตกวีบางท่าน
          5. ศึกษาประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยยุคสมัยต่าง ๆ 
          6. อธิบายความสัมพันธ์ของยุคสมัยกับวิวัฒนาการทางดนตรีไทย
          7. ศึกษาประวัติและผลงานของคีตกวีที่สำคัญในยุคต่าง ๆ  
          8. ครูสรุปความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย

เชื่อมโยงในองค์ความรู้
       คณิตศาสตร์                             คำนวนขนาด รูปทรง  รูปร่างทางเรขาคณิต ของเครื่องดนตรี           
       ภาษาไทย                               การเขียน  การอธิบาย ลักษณะรูปร่างของเครื่องดนตรี
       วิทยาศาสตร์                            วิธีการกำเนิดเสียง  
       สังคมศึกษา                             วัฒนธรรมประเพณี  วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ 
       สุขศึกษาและพลศึกษา               กิจกรรมเข้าจังหวะประกอบเพลง  
       บูรณาการในทุกสาระการเรียนรู้      บทเพลงไทยสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน   กิจกรรมกระตุ้นเร้าความสนใจการเรียนรู้ของผู้เรียน

 เพิ่มเติมกิจกรรมนำไปใช้
        -  กิจกรรมวาดภาพเครื่องดนตรีไทย
        -  ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทยประเภทอื่นๆ
        -  ศึกษาและแสวงหาประสบการณ์ตรงทางด้านดนตรีไทยในงานต่าง ๆ
        -  ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์
       
ข้อคำถามสานต่อความคิด
         -  แสดงความคิดเห็นถึงคำว่า ดนตรีไม่มีเชื้อชาติและพรมแดน
         -  คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า "ภาษาดนตรีเป็นภาษาสากล"
        -   วิธีการและแนวทางในการอนุรักษ์สืบสานดนตรีไทย
        -  เสียงดนตรีมีประโยชน์อย่างไร
        -  ความสำคัญและประโยชน์ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรีไทย

       
อ้างอิงข้อมูล / รูปภาพ
แผนการจัดการเรียนรู้, พงศ์พันธุ์ ไชยบุญเรือง, 2552.
https://www.jokung.com/wp-content/uploads/2009/09/DSC02131.JPG 
https://travel.mthai.com/uploads/2009/12/14/3487-2552.jpg 
https://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK1/pictures/s1-263.jpg 
https://www.thainame.net/weblampang/thaimusicso/music.jpg

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2839

อัพเดทล่าสุด