ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
ย้อนรอยเส้นเสียง...สำเนียงดุริยางค์ไทย (รัตนโกสินทร์,,ปฐมฤกษ์เรืองรอง)
ดนตรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมกันมาทุกยุคสมัย ประวัติและความเป็นมาของดนต รีจะสะท้อนให้เห็นถึงแหล่งที่มาและวิวัฒนาการมาตามลำดับตามยุคสมัยต่าง ๆ ทั้งเครื่องดนตรี รูปแบบการผสมของดนตรี บทเพลง และบุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้น ทำให้เราได้ศึกษาเรียนรู้สืบต่อกันมา
สาระการเรียนรู้ ศิลปะ (สาระที่ ๒ ดนตรี )
มาตรฐาน ศ ๒.๑ เข้าใจและแสดงออกทางดนตรีอย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าดนตรี ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดต่อดนตรีอย่างอิสระ ชื่นชม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
มาตรฐาน ศ ๒.๒ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของดนตรีที่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย
-สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การดนตรีของไทยมีวิวัฒนาการมาถึงขีดสูงสุด ทั้งนี้เนื่องมาจากพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ทรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จึงปรากฏว่ามีคีตกวีและนักดนตรีที่มีความเป็นอัจฉริยะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ พระยาประสานดุริยศัพท์หลวงไพเราะเสียงซอ เป็นต้น รวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นนักดนตรีซอสามสาย และทรงพระราชนิพนธ์ เพลงบุหลันลอยเลื่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ เพลงโหมโรง คลื่นกระทบฝั่ง เพลงเขมรลออองค์ เถา เพลงราตรีประดับดาว เถา เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีเกิดขึ้นอีกมากมาย โดยการดัดแปลงจากเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมและสร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งนำเครื่องดนตรีของชาติอื่นมาปรับเสียงให้เข้ากับเครื่องดนตรีของไทย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
สมัยรัชกาลที่ 1
- กลองทัด เพิ่มเป็น 2 ลูก ซึ่งมีเสียงแตกต่างกัน คือ เสียงสูงและเสียงต่ำ (เรียกว่า กลองตัวผู้และกลองตัวเมียตามลำดับ)
สมัยรัชกาลที่ 2
- กลองสองหน้า ดัดแปลงมาจากตะโพน คือทำให้มีขนาดเล็กลง ใช้บรรเลง ในวงปี่พาทย์แทนตะโพน สำหรับการขับเสภา
สมัยรัชกาลที่ 3
- ระนาดทุ้ม ทำตามแบบระนาดเอกของเดิม ลูกระนาดบางกล่าวแต่ขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้เกิดเสียงทุ้มต่ำ ใช้บรรเลงร่วมกับระนาดเอกในวงปี่พาทย์ ฆ้องวงเล็ก สร้างขึ้นเพื่อบรรเลงทำนองเต็มแบบระนาดเอก
สมัยรัชกาลที่ 4
- ระนาดทอง (ระนาดเอกเหล็ก) สร้างเลียนแบบระนาดเอกไม้ แต่เดิมทำด้วยทองเหลือง บรรเลงเป็นแนวเดียวกันกับระนาดเอกไม้ระนาดทุ้มเหล็ก ใช้บรรเลงคู่กับระนาดเอกเหล็ก
สมัยรัชกาลที่ 5
- กลองตะโพน เป็นการนำเอาตะโพน 2 ลูก มาตั้งตีแบบกลองทัด และใช้ไม้นวมตี เพื่อให้เกิดเสียงต่ำทุ้ม ไม่ดังกึกก้องเหมือนกลองทัด ใช้บรรเลงในวงดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
สมัยรัชกาลที่ 6
- อังกะลุง ผู้ประดิษฐ์คือ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยได้แบบอย่างมาจากชวา ดัดแปรงให้มี 7 เสียง ตามมาตรเสียงของดนตรีไทย (ของเดิมมี 5 เสียง) การบรรเลงจะบรรเลงเป็นวง ผู้เล่นแต่ละคนจะถืออังกะลุงคนละ 2 ราว (เสียงต่างกัน)
นอกจากนี้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ยังมีการนำเครื่องดนตรีของต่างชาติมาร่วมบรรเลงผสมกับดนตรีไทยด้วย เช่น ฆ้องมอญ ปี่ชวา เปิงมางคอก ตะโพนมอญ ไวโอลิน ออร์แกน เป็นต้น
กระบวนการเรียนรู้
1.ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยและให้นักเรียนดูรูปภาพเครื่องดนตรี
2.ศึกษาประวัติความเป็นมาไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
3.อธิบายความสัมพันธ์ของยุคสมัยกับวิวัฒนาการทางดนตรีของไทย
4.ศึกษาประวัติและผลงานทางดนตรีของคีตกวีบางท่าน
5.ศึกษาประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยยุคสมัยต่าง ๆ
6.อธิบายความสัมพันธ์ของยุคสมัยกับวิวัฒนาการทางดนตรีไทย
7.ศึกษาประวัติและผลงานของคีตกวีที่สำคัญในยุคต่าง ๆ
8.ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย
เชื่อมโยงในองค์ความรู้
คณิตศาสตร์ คำนวนขนาด รูปทรง รูปร่างทางเรขาคณิต ของเครื่องดนตรี
ภาษาไทย การเขียน การอธิบาย ลักษณะรูปร่างของเครื่องดนตรี
วิทยาศาสตร์ วิธีการกำเนิดเสียง วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และโลก
สังคมศึกษา วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์
สุขศึกษาและพลศึกษา กิจกรรมเข้าจังหวะประกอบเพลง
ภาษาอังกฤษ การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับต่างชาติในอดีต
การงานอาชีพ งานประดิษฐ์ เครื่องดนตรีตามความเหมาะสม
บูรณาการในทุกสาระการเรียนรู้ บทเพลงไทยสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมนำเข้าสู่บทเรียน กิจกรรมกระตุ้นเร้าความสนใจการเรียนรู้ของผู้เรียน
เพิ่มเติมกิจกรรมนำไปใช้
- กิจกรรมวาดภาพเครื่องดนตรีไทย
- ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทยประเภทอื่นๆ
- ศึกษาและแสวงหาประสบการณ์ตรงทางด้านดนตรีไทยในงานต่าง ๆ
- ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์
- กิจกรรมศึกษาประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย ที่เป็นลักษณะสำคัญของแต่ละยุคสมัย
- กิจกรรมเล่าประวัติและผลงานทางดนตรีของคีตกวีบางท่าน
- ส่งเสริมกิจกรรมประสบการณ์ในการฟังเพลงไทยและเพลงสากล
- ร่วมกันระบุลักษณะเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง รูปแบบในการผสมวงดนตรี และยุคสมัยของเพลงตามสมควร
ข้อคำถามสานต่อความคิด
- แสดงความคิดเห็นถึงคำว่า ดนตรีไม่มีเชื้อชาติและพรมแดน
- คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า "ภาษาดนตรีเป็นภาษาสากล"
- วิธีการและแนวทางในการอนุรักษ์สืบสานดนตรีไทย
- เสียงดนตรีมีประโยชน์อย่างไร
- ความสำคัญและประโยชน์ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของเครื่องดนตรีไทย
อ้างอิงข้อมูล
แผนการจัดการเรียนรู้ศิลปะ (สาระดนตรี)ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, พงศ์พันธุ์ ไชยบุญเรือง, 2550
อ้างอิงรูปภาพ
กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์
บรมราชจักรีวงศ์
กลองทัด
กลองสองหน้า
ระนาดทุ้ม
ระนาดทองหรือระนาดเหล็ก
ตะโพน
อังกะลุง
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3257