รามเกียรติ์นาฎศิลป์ชั้นสูงของไทย
วันที่ 6 เมษายน ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์ในราชจักรีวงศ์ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ช่วงสมัยนั้นได้แก่ การสงคราม เพื่อรักษาอธิปไตย คือ สงครามเก้าทัพ นอกเหนือจากบทบาททางด้านการสงครามแล้ว พระองค์ท่านยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูบ้านเมือง พระบรมหาราชวัง และทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกบูรณปฎิสังขรณ์พระอาราม ซึ่งศิลปะในสมัยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยา ตามเอกสารเชื่อกันว่าในสมัยนี้เริ่มมีศิลปะด้านจิตกรรมฝาผนังเกิดขึ้น และได้ดำเนินการเขียนซ่อมติดต่อกันมาหลายสมัยจนมาถึงปจจุบัน เห็นได้จากภาพจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถ และภาพจิตกรรมฝาผนังรอบพระระเบียง 178 ภาพ เรียงต่อกันเป็นเรื่องราวในวัดพระศรีรัตนศาสนารามหรือวัดพระแก้วในปัจจุบัน
ภาพจิตกรรมฝาผนังที่มีความงดงามควรค่าแก่การอนุรักษ์ ทั้งสี่ทิศในวัดพระศรีรัตนศาสนารามเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของรามเกียรติ์นับว่าเป็นภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือชั้นครูแห่งยุครัตนโกสินทร์ นอกจากความสวยงามเมื่อพบเห็นแล้วภาพนี้ยังสะท้อนถึงวิถีชิวิตสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่ดีงาม ของเหล่าวีรชนคนรุ่นหลังที่ร่วมแรงร่วมใจก่อร่างสร้างชาติไทยขึ้นมา จนกายเป็นประเทศไทยที่ให้เราได้อยู่อาศัยในปัจจุบัน
เนื้อหา สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ นาฏศิลป์ ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1-3
มาตรฐาน ศ 3.1 เข้าใจและแสดงออกทางด้านนาฏศิลป์อย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ คุณค่านาฏศิลป์ ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดอย่างอิสระ ชื่นชมและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
มาตรฐาน ศ 3.2 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนาฏศิลป์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล
รามเกียรติ์ในภาพจิตกรรมฝาผนังเป็นศิลปะชั้นสูงของไทย หรือเรียกอีกอย่างว่าการแสดงโขน มีวิวัฒนาการมาจากการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ หนังใหญ่ กระบี่กระบอง แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดงล้วน แต่งกายยืนเครื่อง ผู้แสดงสวมหัวแบ่งเป็นฝ่ายดำ กับข่าว เปรียบได้กับความถูกต้องและความไม่ถูกต้อง เป็นการแสดงที่ใช้แสดงในราชสำนัก
ความหมายของโขน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ มักเล่นเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวโขนจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่า หัวโขน
โขนเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์
โขน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม นิยมแสดงตอนยกรบ
2. โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน)
3. โขนหน้าจอ คือโขนที่เล่นหน้าจอหนังใหญ่ มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้า
4. โขนโรงใน คือ โขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม มีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในบทพากย์บทเจรจาไพเราะสละสลวยขึ้นอีก
5. โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง
จะเห็นได้ว่าการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เพื่อให้เข้าถึงอรรถรสผู้เขียนขอนำเสนอเนื้อเรื่องย่อการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นางลอย ซึ่งเป็นตอนหนึ่งที่ปรากฏในภาพจิตกรรมฝาผนังระเบียงโบถ์วัดพระศรีศาสดาราม เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า
ทศกัณฐ์ คิดจะตัดศึกพระราม จึงหาแผนการที่จะทำให้พระรามยกทัพกลับ โดยใช้นางเบญกายลูกสาวของพิเภก จำแลงแปลงกายเป็นนางสีดา ทำตายลอยน้ำไปที่หน้ากองทัพพระราม เบญกายกลัวพระอาญาของทศกัณฐ์ผู้เป็นบิตุลา ไม่อาจทัดทานจึงจำใจรับพระราชบัญชา
นางเบญกายขอไปดูตัวนางสีดา ครั้นถึงจึงเข้าไปเฝ้านางสีดาทูลถวายตัวว่าเป็นบุตรของพิเภกและตรีชฎา พร้อมทั้งลอบดูโฉมนางสีดา ครั้นจำได้มั่นคงจึง ทูลลานางสีดากลับ
นางเบญกายจึงแปลงเป็นนางสีดาเข้าไปเฝ้าทศกัณฐ์ ขณะนั้นทศกัณฐ์ กำลังสำราญอยู่ในปราสาท ครั้นเห็นเบญกายจำแลงมาเข้าใจว่า เป็นนางสีดาเข้ามาหาจึงออกไปเกี้ยวพาราสี จนเป็นที่ขบขันของเหล่านางกำนัล นางเบญกายอับอายเป็นยิ่งนักจึงแปลงกายคืนเช่นเดิม ทศกัณฐ์ครั้นเห็นเป็นนางเบญกายตกใจ จึงแก้เก้อ สั่งให้นางเบญกายรีบไปที่กองทัพพระราม นางเบญกายจึงเหาะข้ามมหาสมุทรไปจนถึงเขาเหมติรัน แล้วแปลงกายเป็นนางสีดาทำตายลอยน้ำ ไปวนอยู่ที่หน้ากองทัพพระราม
ครั้นรุ่งเช้าพระรามตื่นบรรทมพร้อมพระลักษณ์ จึงตรัสชวนพระลักษณ์ และเหล่าวานร ไปสรงน้ำริมฝั่งแม่น้ำ ครั้นเห็นนางเบญกายแปลง ตายลอยน้ำมา พระรามเข้าใจว่าเป็นนางสีดา จึงวิ่งเข้าไปอุ้มมาบนฝั่ง และทรงพระกรรแสง ด้วยคิดว่าเป็นนางสีดาจริง
เมื่อพระรามทอดพระเนตรเห็นหนุมานจึงกริ้วโกรธ ด้วยคิดว่าหนุมานไปหักสวนขวาและฆ่าสหัสกุมารบุตรทศกัณฐ์ตาย ทศกัฐ์จึงฆ่านางสีดาทิ้งน้ำมา หนุมานจึงทูลว่านางสีดานี้อาจเป็นยักษ์แปลงมา ด้วยศพก็ยังไม่เน่าเปื่อย และลอยทวนน้ำมาจนถึงหน้าพลับพลา หนุมานจึงขอพิสูจน์โดยการนำศพมาเผาไฟ แม้เป็นนางสีดาจริง หนุมานยอมถูกประหารชีวิต พระรามเห็นด้วย จึงสั่งให้สุครีพคุมวานรทำเชิงตะกอนเพื่อเผาศพนางสีดาแปลง เมื่อเชิงตะกอนเสร็จจึงให้นำศพนางสีดาวางบนเชิงตะกอน แล้วจุดไฟเผา ให้เหล่าทหารวานรล้อมไว้ เบญกายครั้นโดนไฟเผา ทนไม่ได้จึงเหาะขึ้นตามเปลวควันหนีไป หนุมานจึงเหาะตามจับนางเบญกาย เพื่อนำตัวมาถวายพระรามเพื่อให้รับโทษ
จากการอ่านบทความในครั้งนี้ผู้อ่านคงได้รับความรู้ไปไม่มากก็น้อย อย่างหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ที่มีอัตลักษณ์ที่ดีงามโดยมีจารีตแห่งขนบธรรมเนียมอารยธรรมตลอดจน ศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนและยิ่งเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นข้ารองพระบาทในพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์
กระบวนการเรียนรู้
1. ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับภาพจิตกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
2. ศึกษาประวัติความเป็นมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับการแสดงโขน
3. อธิบายความสัมพันธ์ของยุคสมัยกับวิวัฒนาการแสดงโขน
เชื่อมโยงในองค์ความรู้
ภาษาไทย การเขียน การอธิบาย
สังคมศึกษา วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์
สุขศึกษาและพลศึกษา กิจกรรมเข้าจังหวะประกอบเพลง การตบจังหวะ
เพิ่มเติมกิจกรรมนำไปใช้
- ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การแสดงโขนประเภทอื่นๆ
- ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- กิจกรรมศึกษาประวัติความเป็นมาของการแสดงโขน แต่ละยุคสมัย
ข้อคำถามสานต่อความคิด
- แสดงความคิดเห็นถึงคำว่าโขน
- คิดอย่างไรกับการแสดงโขน
- วิธีการและแนวทางในการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านการแสดงโขน
- ความสำคัญและประโยชน์ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของการแสดงโขน
ที่มาภาพ
www.thaicatwalk.com
www.google.co.th
ที่มาข้อมูล
www.talk.edtguide.com
www.oknation.net
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3614