อย่าลืม "กิริณี"


1,363 ผู้ชม


“กิริณีเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่ว งา พระหัตถ์ขวาจับตะขอ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน ทรงพาหนะกุญชร   

อย่าลืม "กิริณี"   

   ที่มาภาพ

            แม้ว่าจะผ่านเทศกาลวันสงกรานต์มาแล้ว เหลือทิ้งไว้แค่เพียงร่อยรอยของภาพข่าวที่เกิดขึ้น แต่คุณรู้จักประเพณีสงกรานต์ กันดีแค่ไหน จะมีสักคนที่หันมาให้ความสนใจกับประวัติประเพณีสงกรานต์ ว่าถือกำเนิดมาได้อย่างไร และควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อถึงวันสงกรานต์ ก่อนที่จะนึกงานสังสรรค์ที่เป็นผลพลอยได้ตามมา ทั้งที่เป็นประเพณีที่ดีงาม เราคนไทยน่าจะคำนึงถึงความเป็นอัตลักษณ์ตามแบบดังเดิมของจารีตประเพณีนี้ไว้เพื่อให้ชาวต่างชาติต่างภาษาได้เห็นความงามของประเพณีและซึมซับวัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้เพื่อไปเผยแพร่บอกต่อกับคนที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยในช่วงเทศกาลงานสงกรานต์ และเช่นเดียวกันเราเป็นคนไทยก็ควรทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการรับแขก ควรที่จะรู้ว่าและสามารถตอบได้เมื่อมีคนถามถึงความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์   อ่านข่าวเพิ่มเติม

อย่าลืม "กิริณี"

ที่มาภาพผู้เขียน


            ประเพณีสงกรานต์ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาด้านศิลปะการร่ายรำที่สืบทอดกันมาจากเหล่าบูรพคณาจารย์ด้านนาฏศิลป์ไทย นอกจากความสวยงามเมื่อได้สัมผัสและพบเห็นแล้วประเพณีสงกรานต์ ยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่ดีงาม ของเหล่าวีระชนคนรุ่นหลังที่ร่วมแรงร่วมใจก่อร่างสร้างชาติไทยขึ้นมา จนกายเป็นประเพณีที่ดีงาม

              เนื้อหา สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ นาฏศิลป์ ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1-3
         มาตรฐาน ศ 3.1 เข้าใจและแสดงออกทางด้านนาฏศิลป์อย่างสร้างสรรค์ วิเคราะห์   วิพากษ์วิจารณ์ คุณค่านาฏศิลป์ ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดอย่างอิสระ ชื่นชมและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
         มาตรฐาน ศ 3.2 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนาฏศิลป์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของนาฏศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและสากล

                 สงกรานต์   หมายถึง   การที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่  
                 มหาสงกรานต์   หมายถึง   สงกรานต์ปี 
                 วันเนา  หมายความว่า   เป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน          
          
             สงกรานต์ประเพณีที่เล่าขานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีตำนานเล่าขานมาว่า เมื่อครั้งสมัยต้นภัทรกัลป์เศรษฐีคนหนึ่งมาพบนักเลงสุราโดยบังเอิญ ได้ถูกนักเลงสุรากล่าวเย้ยหยันดูถูกเศรษฐีว่า ท่านเศรษฐีมีสมบัติก็มากมายมหาศาล แต่จะมีบุตรมาเกิดสักคนไม่ ข้าพเจ้าสิดีกว่าท่านเป็นไหนๆ มีบุตรตั้ง ๒ คนรูปร่างงดงามหมดจดน่ารัก ท่านคงมีเวรมีกรรม ไม่สามารถมีบุตรไว้สืบสกุลอย่างข้าพเจ้าได้ ท่านเศรษฐีมีความละอายใจและน้อยใจตัวเอง เฝ้าแต่คิดว่าจะทำอย่างไร จึงได้จัดเครื่องสังเวยบูชาพระอาทิตย์และพระจันทร์วอนขอบุตรเป็นเวลา ๓ ปี ก็มิได้บุตรตามความปรารถนา ครั้นถึงฤดูคิมหันต์ วันสงกรานต์ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทร นำเอาข้าวสารมาล้างน้ำ ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชารุกขเทวดา ณ ใต้ต้นไทรนั้นพร้อมด้วยโภชนาหารดอกไม้เครื่องหอม และผ้าแพร ๓ สี ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรต่อรุกขเทวดา ณ พระไทรแห่งนั้น และด้วยความเมตตาสงสาร พระไทรจึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ให้ประทานบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์ได้ส่งธรรมบาลเทวบุตร จุติลงมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐี มีชื่อว่าธรรมบาลกุมาร มีสติปัญญาความสามารถฉลาดรอบรู้ศิลปศาสตร์ต่างๆ สามารถบอกมงคลกาลเป็นที่ยกย่องแก่คนทั้งหลายในชมพูทวีป

อย่าลืม "กิริณี"

ที่มาภาพ

              ด้านท้าวกบิลพรหม หรือ ท้าวมหาพรหม สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ ๓ มหาพรหมภูมิมีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีพระธิดา ๗ องค์ คือ ทุงษเทวี ราโคเทวี รากษสเทวี มณฑาเทวี กิรินีเทวี กมีทาเทวี และมโหธรเทวี ทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก จากคำเล่าลือท้าวกบิลพรหมใคร่ทดสอบความสามารถของธรรมบาลกุมาร จึงเสด็จมายังโลกมนุษย์พบกับธรรมบาลกุมาร เพื่อขอถามปัญหา ๓ ข้อโดยมีสัญญาว่า ถ้าธรรมบาลตอบได้ ท้าวกบิลพรหมตัดหัวตนเองขึ้นบูชา ถ้าธรรมบาลตอบไม่ได้ธรรมบาลจะต้องตัดหัวตนเองขึ้นบูชา และให้เวลาคิดปัญหา ๗ วัน ธรรมบาลรับพนันตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม ๓ ข้อ
         ข้อที่ ๑ เวลาเช้าราศีอยู่ที่ใด   ข้อที่ ๒ เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ใด  ข้อที่ ๓ เวลาค่ำราศีอยู่ที่ใด
          ธรรมบาลกุมารเฝ้าขบคิดปัญหาคิดเท่าไรก็คิดไม่ออกคงเหลือเวลาอีกเพียง ๑ วัน รู้สึกท้อแท้ใจจึงเดินไปพักคิดอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงนกอินทรีผัวเมียพูดโต้ตอบกันว่านกอินทรีตัวผู้พูด "พรุ่งนี้เราจะได้กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหารเพราะครบ ๗ วัน ที่ธรรมบาลจะต้องตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม ถ้าตอบปัญหาไม่ได้จะต้องถูกตัดหัว"นกอินทรีตัวเมียพูด "ท่านรู้จักแก้ปัญหานั้นหรือไม่"นกอินทรีตัวผู้ตอบ "รู้สิ เวลาเช้า ราศีนั้นอยู่ที่หน้าคนทั้งหลายต้องเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำมาลูบอก เวลาเย็น ราศีอยู่ที่เท้าคนทั้งหลายต้องเอาน้ำมาล้างเท้า"ครั้นธรรมบาลกุมารได้ฟังจดจำคำในการแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำ ครบกำหนด ๗ วันตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาตามที่นัดหมายไว้กับธรรมบาลกุมาร ธรรมบาลกุมารแก้ปัญหานั้นได้อย่างคล่องแคล่ว ท้าวกบิลพรหมได้ฟังคำตอบก็กล่าวว่า "เจ้าเป็นผู้ชนะเราเป็นผู้แพ้ จะต้องเสียหัวให้เป็นรางวัลตามสัจจะวาจา"ท้าวกบิลพรหมได้เรียกพระธิดาทั้ง ๗ องค์ ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์เข้ามาหาแล้วสั่งความว่า
๑. อย่าให้เศียรของเราตกถึงพื้นดินเป็นอันขาด ถ้าตกถึงพื้นดินเมื่อใดจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
๒. อย่าให้เศียรของเราตกลงไปในมหาสมุทร น้ำจะแห้งขอดตลอดไป
๓. อย่าทิ้งเศียรของเราลอยไปในอากาศ จะทำให้ฝนแล้งตลอดไป
ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้นางทุงษเทวีนำเอาพานทองมารองรับพระเศียร และให้เทพบริษัททำประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วเชิญเข้าประดิษฐานในมณฑลถ้ำคันธธุลี ณ เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ชื่อ ภควดี ใช้เป็นที่ประชุมเทพยดา แล้วนำเอาเถาฉมูนาคมาล้างในสระอโนดาษ ๗ ครั้ง แล้วแจกจ่ายกันเสวยโดยทั่วกัน และเมื่อครบกำหนด ๑ ปี ถือกันว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ เทพบริษัทแสนโกฏิพร้อมด้วยพระธิดาทั้ง ๗ องค์ ผลัดเวรกันเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่แหนทำประทักษิณไปรอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี ซึ่งในแต่ละปีถ้าวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันใดพระธิดาองค์นั้นจะเป็นผู้อัญเชิญพระเศียรเราจึงเรียกผูอัญเชิญพระเศียรว่า “นางสงกรานต์”  นางสงกรานต์หรือเทพธิดาทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหม จะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ต่างๆ กันตามวัน ดังต่อไปนี้
วันอาทิตย์ ชื่อ ทุงษ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ
วันจันทร์ ชื่อ โคราค ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะเสือ
วันอังคาร ชื่อ รากษส ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธขวา ตรีศูล ซ้ายธนู พาหนะสุกร
วันพุธ ชื่อ มัณฑา ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะลา
วันพฤหัสบดี ชื่อ กิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะช้าง
วันศุกร์ ชื่อ กิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะกระบือ

วันเสาร์ ชื่อ มโหทร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง

อย่าลืม "กิริณี"

ที่มาภาพ
    
             เป็นที่ทราบกันว่า วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ เมษายน เวลา ๑๓ นาฬิกา ๓๓ นาที ๓๖ วินาที ตรงกับเวลา ๑๓ นาฬิกา ๕๑ นาที ๓๖ วินาที (เวลามาตรฐานประเทศไทย)    ธิดาผู้อัญเชิญพระเศียรของท้าวกบิล พรหมนามว่า กาฬกิณีเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาทรงขอช้าง หัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร(ช้าง)เป็นพาหนะ ซึ่งคนไทยเรียกเทพธิดาผู้อัญพระเศียรว่านางสงกรานต์

อย่าลืม "กิริณี"

   ที่มาภาพ

 
            ซึ่งในปีนี้ ได้ปฏิทินหลวงวันสงกรานต์ ได้บอกชื่อนางสงกรานต์ประจำปีพุทธศักราช 2554 ตรงกับปีเถาะ  นางสงกรานต์ทรงพระนามว่า  “กิริณีเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่ว งา พระหัตถ์ขวาจับตะขอ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน ทรงพาหนะกุญชร วัน พฤหัสบดี ที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันมหาสงกรานต์ ของไทย มีการพยากรณ์ว่า ปีนี้ดุ เกิดเหตุเภทภัยทั่วประเทศ ประชาชนเจ็บไข้ วัวควายล้มตาย ทหารมีชัย อาหารบริบูรณ์ นาคให้น้ำ 5 ตัว ฝนตกโลกมนุษย์ 60  ห่าตลอดปี

 
             จากคำทำนายดังกล่าว ที่ค่อนข้างออกไปร้ายมากกว่าดี แต่ถึงกระนั้นนางสงกรานต์กิริณีเทวี ทรงนั่งมาบนหลังช้างซึ่ง   ถือเป็นสัตว์ใหญ่ที่เป็นมงคลจะช่วยขับไล่สิ่งร้ายๆ และที่สำคัญทรงยังทัดดอกมณฑาเป็นดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์ คนไทยโบราณเชื่อว่าจะช่วยให้พ้นวิกฤติจากหนักลายกเป็นเบา เมื่อรวมกับภักษาหารที่เป็นถั่วงา ทางพืชผลข้าวปลาอาหารยังมีความสมบูรณ์อยู่ ส่วนคำทำนายที่ว่าทหารจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู ก็น่าจะแสดงถึงความสงบสุขของบ้านเมืองในปีนี้และประเพณีที่มีความสำคัญของไทยเรามักพบเห็นการแสดงที่ใช้ในพิธีเปิดงานในวันสงกรานต์นั้นคือการแสดงชุดระบำนางสงกรานต์

            ระบำนางสงกรานต์ จัดแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๔ ณ โรงละครแห่งชาติ ในงานศรีสุขนาฏกรรม โดยอาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ เป็นผู้ริเริ่มการประพันธ์บทร้องเพื่อให้ทราบถึงตำนานวันสงกรานต์ โดยมีครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีไทย ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘  เป็นผู้บรรจุเพลง มีคุณครูลมุล ยมะคุปต์ อดีตผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย ตัวพระ วิทยาลัยนาฏศิลป และคุณครูเฉลย ศุขะวณิช ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทย ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ และอดีตผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย ตัวนาง วิทยาลัยนาฏศิลป) เป็นผู้ประดิษฐ์กระบวนท่ารำ โดยมีรูปแบบการแสดงแบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ
           ช่วงที่ ๑ เป็นการร่ายรำในช่วงทำนองและบทร้องแรก โดยนางสงกรานต์ทั้ง ๗ จะออกมาพร้อมกันแล้วตั้งซุ้ม
           ช่วงที่ ๒ ลักษณะของการแสดงในช่วงนี้ นางสงกรานต์แต่ละตนออกมาร่ายรำตามบทร้องทีละตน จนครบ ๗  ตนโดยสัตว์พาหนะของนางสงกรานต์แต่ละตนออกมาในบทที่กล่าวถึงพาหนะทั้ง ๗ ตัว
           ช่วงที่ ๓ เป็นการร่ายรำของนางสงกรานต์ทั้ง 7 และสัตว์พาหนะจะออกมาร่ายรำพร้อมกันในเพลงหน้าพาทย์ตระบองกัน จนจบกระบวนท่ารำ
      
             จะเห็นได้ว่าก่อนที่จะมาเป็นการแสดงในแต่ละชุดต้องใช้เวลาในการประดิษฐคิดค้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้านความงามของลีลาท่ารำที่สื่อต้องการสือออกมาให้เห็นถึงจุดเด่นในชุดการแสดงนั้น ในขณะเดียวกันเราเป็นเยาวชนคนไทยควรร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาตินี้ไว้
       
           กระบวนการเรียนรู้

          1. ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงในประเพณีสงกรานต์
          2. ศึกษาประวัติความเป็นมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับประวัติสงกรานต์
          3. อธิบายความสัมพันธ์ของยุคสมัยกับวิวัฒนาการแสดงในงานประเพณีสงกรานต์
         
          
            เชื่อมโยงในองค์ความรู้
            
       ภาษาไทย                               การเขียน  การอธิบาย  
       สังคมศึกษา                             วัฒนธรรมประเพณี  วิถีชีวิต  ประวัติศาสตร์ 
       สุขศึกษาและพลศึกษา               กิจกรรมเข้าจังหวะประกอบเพลง การตบจังหวะ   
       
            เพิ่มเติมกิจกรรมนำไปใช้

        -  ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การแสดงในงานประเพณีสงกรานต์
        -  ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ด้านงานสงกรานต์
        -  กิจกรรมศึกษาประวัติความเป็นมาของการแสดงในงานสงกรานต์ แต่ละยุคสมัย

 
            ข้อคำถามสานต่อความคิด
         -  แสดงความคิดเห็นถึงคำว่าระบำนางสงกรานต์
         -  คิดอย่างไรกับการแสดงในงานสงกรานต์
         -  วิธีการและแนวทางในการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านการแสดงในประเพณีสงกรานต์
         -  ความสำคัญและประโยชน์ในการศึกษาประวัติความเป็นมาของการแสดงระบำนางสงกรานต์

            แหล่งที่มาภาพ
 www.city.yellowpages.co.th

www.google.co.th

www.google.co.th

www.google.co.th

www.google.co.th

                       แหล่งที่มาข้อมูล
 www.hilight.kapook.com

 www.th.wikipedia.org

www.myhora.com
 

www.prapayneethai.com


www.travel.mthai.com 

www.songkran.tlcthai.com

www.komchadluek.net

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3683

อัพเดทล่าสุด