พลงกล่อมลูก 4 ภาค : ท่วงทำนองแห่งรักจากแม่
เพลงกล่อมลูก ท่วงทำนองแห่งรักจากแม่
(โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 สิงหาคม 2549 )
หากลองนึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณยังจำอ้อมกอดอบอุ่นบนอกในอ้อมแขนของแม่ได้ไหม แม่โอบกอดเราอย่างเบามือ เห่กล่อม พัดวี ยุงริ้นไม่ให้ต้องผิวกาย ทะนุถนอมกล่อมเกลาด้วยความรัก น้ำเสียงของแม่ อ้อมกอดของแม่อบอุ่น ช่วยให้ลูกน้อยอุ่นใจ ผ่อนคลาย รู้สึกปลอดภัย และหลับใหลอย่างเป็นสุข
ขณะที่พ่อแม่จำนวนมากในยุคนี้ละเลย ทิ้งลูกไว้กับเสียงเพลงจากแผ่นซีดี หรือเปิดนิทานจากเทปให้ลูกฟัง บ้างให้ความสนใจกับการพัฒนาสมองของลูกน้อยด้วยดนตรีของ โมสาร์ท จนลืมไปแล้วว่า เรามี เพลงกล่อมลูก ภูมิปัญญาไทย ที่สั่งสมถ่ายทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งเป็นท่วงทำนองแห่งรักจากแม่ที่ผูกเกี่ยวสายใยความอบอุ่นด้วยสัมผัสทางตา หู กาย ใจ
รศ.โสภนา ศรีจำปา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ม.มหิดล อธิบายที่มาของเพลงกล่อมลูกว่า เพลงกล่อมลูกถือเป็นคติชาวบ้านที่ใช้ภาษาเป็นสื่อ เป็นวรรณกรรมที่ไม่มีการเขียนหรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยการท่องจำและบอกเล่าต่อๆ กันมา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามธรรมชาติที่แม่ได้ถ่ายทอดความรัก ความอบอุ่น ห่วงใยไปตามกระแสเสียงส่งถึงลูกน้อย
บทเพลงกล่อมลูกมักมีท่วงทำนองเห่กล่อมแช่มช้า ละมุนละไมอ่อนโยนเพื่อให้เด็กหลับง่าย และหลับอย่างเป็นสุข เนื้อหาถ้อยคำมักสะท้อนความเป็นอยู่ วิถีชีวิต นิทานพื้นบ้าน ที่มีความหมายในเชิงอบรมสั่งสอน พรรณนาความรักความผูกผันและฟูมฟักให้เด็กซึมซับความเป็นเด็กดี เป็นคนดีของสังคม
นอกจากนี้ เพลงกล่อมลูกของไทยในแต่ละภาคก็มีท่วงทำนองและเนื้อร้องที่แตกต่างกันไปด้วย อย่างทางภาคเหนือก็จะเรียกว่า เพลงอื่อลูก ทางอีสานเรียกว่า เพลงนอนสาหล่า ส่วนทางใต้จะเรียกว่า เพลงชาน้อง หรือ เพลงช้าน้อง และทางภาคกลางจะเรียก เพลงกล่อมลูก หรือ เพลงกล่อมเด็ก นั่นเอง
กระนั้น แม้ว่าเพลงกล่อมลูกในแต่ละภาคของไทยเรา จะมีเนื้อหาท่วงทำนองที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสำเนียงการร้อง ที่ใช้ภาษาถิ่นของตนเอง แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ จังหวะและอารมณ์ของแม่ที่มุ่งหวังให้ลูกรู้สึกอบอุ่น และนอนหลับอย่างสบายใจ
ทุกวันนี้เพลงกล่อมลูกค่อยๆ เลือนหายไป พ่อแม่ยุคใหม่มักเลือกเปิดเพลงให้ลูกฟัง ถึงแม้ประโยชน์ที่ได้รับจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือสัมผัสของความรักความอบอุ่น รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูเพลงกล่อมลูกซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทย
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ก็มีน้อยคนนักที่จะรู้จัก เพลงกล่อมเด็ก และนี่เป็นเสียงเล็กๆ ของเด็กๆ จำนวนหนึ่งที่รักชอบศิลปวัฒนธรรมและเห็นคุณค่าของเพลงกล่อมเด็ก
จิราพรรณ พินิจมนตรี หรือ น้องยุ้ย อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนน้ำพองศึกษา จ. ขอนแก่น หนึ่งในผู้แข่งขันซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียนนักศึกษา ภาคอีสานใน โครงการประกวดขับร้องเพลงกล่อมลูก 4 ภาค ของ ม.มหิดลบอกเล่าความรู้สึกว่า พ่อแม่ยุคใหม่อาจไม่ให้ความสำคัญกับเพลงกล่อมเด็ก เหลือเพียงย่า ยายเท่านั้นที่ยังคงร้องเพลงกล่อมลูกหลานได้อยู่ ซึ่งแท้จริงแล้วเพลงกล่อมลูกมีความสำคัญมากไม่ต่างกันกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แต่การร้องเพลงเด็กจะได้วัฒนธรรมประเพณีผ่านทำนองรวมทั้งการใช้คำที่คล้องจองกันทำให้เด็กเกิดการจดจำมากขึ้น
ตอนเด็กๆ แม่ก็ร้องเพลงกล่อมหนูและน้องเหมือนกัน โดยแม่จะไม่ได้ร้องเน้นทำนอง เนื้อร้อง ตามแบบฉบับของเพลงกล่อมลูก แม่สร้างทำนองและเนื้อร้องเอง ที่จำได้แม่มักเริ่มร้องว่า...นอนสาหล่าหลับตาแม่สิกล่อม...แม่ร้องเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จนหนูหลับ
จิราพรรณ ยังบอกอีกว่า เนื้อหาเอกลักษณ์ของเพลงกล่อมลูกอีสานมักจะเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของลูกอีสาน การทำงาน วัวควายไร่นา พูดถึงการเลี้ยงลูก ดูแล การขับกล่อมบางคราวก็มีลักษณะขู่ให้เด็กกลัว ชวนให้นอน เคลิบเคลิ้ม ทั้งปลอบและขู่ในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญมีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมให้เด็กได้เพลิดเพลินและหลับไปในที่สุด
ส่วนทัศนะของจิรพรรณหากอนาคตเธอมีครอบครัว แน่นอนว่าเธอจะแบ่งเวลาให้กับลูกและร้องเพลงกล่อมลูกแน่นอน ครั้งนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้เด็กได้เรียนรู้และรู้จักคุณค่าของเพลงกล่อมลูก พร้อมกับการเผยแพร่อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยด้วย
ขณะที่คุณแม่ซึ่งขณะนี้พ่วงตำแหน่งคุณย่าวัย 55 ปี ชาว จ. เชียงใหม่ เจ้าของแชมป์ ประเภทประชาชนทั่วไป ภาคเหนือ ในเวทีเดียวกัน สมศรี ชัยวงศ์ บอกว่า ตอนนี้ร้องเพลงกล่อมหลานนอนตลอด เป็นเพลงอื่อ ซึ่งช่วยให้เด็กไม่ดื้อ ไม่กวน เป็นเด็กดี ว่านอนสอนง่าย ผู้ร้องก็สุขสบายใจ
มีลูกชาย 2 คน ก็ร้องเพลงกล่อมมาตั้งแต่เด็ก ไกวเปล ผูกติดขื่อบ้านโยงเชือกยาวๆ สูง แกว่งไกว บางทีลูกเกาะเปลไม่หลับแต่เราหลับก่อนลูกก็มี ตอนนั้นเป็นข้าราชการครูแต่ด้วยโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน ก่อนออกไปทำงานก็ต้องคอยดูจนกว่าลูกจะหลับก่อนแล้วค่อยออกไป ส่วนกลางวันก็กลับมาให้นม ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่เราก็จะร้องเพลงเพื่อให้รู้ว่าแม่อยู่ใกล้ๆ ทั้งเช้ากลางวัน เย็น คอยดูแลลูกไม่ห่าง ทำให้ลูกติดเรามาก ติดจนโตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังติดแม่เพราะเราให้ ความอบอุ่นใกล้ชิดลูก
สมศรี ทิ้งท้ายว่า เพลงกล่อมเด็กมีคุณค่าและคุณประโยชน์อย่างยิ่ง กระทรวงวัฒนธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีส่วนส่งเสริม ไม่เพียงนอกจากมีเทศกาลก็จะทำพักเดียว อยากให้ช่วยสนับสนุน
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3812