เรื่องราวของเพลงชาติไทย


1,213 ผู้ชม


ประวัติความเป็นมาของเพลงชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   

ประวัติความเป็นมาของเพลงชาติไทย
เนื้อหา : สำหรับนักเรียนทุกระดับชั้น

        เพลงชาติไทย  เป็นชื่อเพลงชาติของประเทศไทยประพันธ์ทำนองโดย พระเจนดุริยางค์ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คำร้องฉบับแรกสุดโดยขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งแต่งขึ้นภายหลังในปีเดียวกันต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อร้องอีกหลายครั้งและได้เปลี่ยนมาใช้เนื้อร้องฉบับปัจจุบันเมื่อพ.ศ. 2482



ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์)
ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงชาติฉบับแรกสุด


          ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ต่างชาติที่เสด็จเยี่ยมประเทศสยามตามธรรมเนียมสากลแม้เพลงดังกล่าวไม่ใช่เพลงชาติของประเทศสยามอย่างเป็นทางการก็ตามแต่ก็ถืออนุโลมว่าเป็นเพลงชาติโดยพฤตินัยตามหลักดังกล่าว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475คณะราษฎรได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นเพลงชาติอยู่ 7 วัน (ใช้ชั่วคราว ระหว่างรอพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติใหม่)แต่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี



พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติ


          ที่มาของทำนองเพลงชาติปัจจุบันนั้น จากบันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์ได้เล่าไว้ว่า ราวปลายปี พ.ศ. 2474 เพื่อนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของท่าน คือ หลวงนิเทศกิจ (กลาง โรจนเสนา) ได้ขอให้ท่านแต่งเพลงสำหรับชาติขึ้นเพลงหนึ่ง ในลักษณะของเพลงลามาร์แซแยสซึ่งพระเจนดุริยางค์ได้บอกปฏิเสธเพราะถือว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติอยู่แล้วทั้งการจะให้แต่งเพลงนี้ก็ยังไม่ใช่คำสั่งของทางราชการด้วย แม้ภายหลังหลวงนิเทศกลกิจจะมาติดต่อให้แต่งเพลงนี้อีกหลายครั้งก็ตามพระเจนดุริยางค์ก็หาทางบ่ายเบี่ยงมาตลอด เพราะท่านสงสัยว่าการขอร้องให้แต่งเพลงนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองประกอบกับในเวลานั้นก็มีข่าวลือเรื่องการปฏิวัติอย่างหนาหูด้วย

          หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผ่านไปได้ประมาณ 5 วันแล้ว หลวงนิเทศกลกิจ ซึ่งพระเจนดุริยางค์รู้ภายหลังว่าเป็น 1 ในสมาชิกคณะราษฎรด้วย ได้กลับมาขอร้องให้ท่านช่วยแต่งเพลงชาติอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของคณะผู้ก่อการ ท่านเห็นว่าคราวนี้หมดทางที่จะบ่ายเบี่ยงเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงขอเวลาในการแต่งเพลงนี้ 7 วัน และแต่งสำเร็จในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ตนได้กำหนดนัดหมายวันแต่งเพลงชาติไว้ขณะที่นั่งบนรถรางสายบางขุนพรหม-ท่าเตียน เพื่อไปปฏิบัติราชการที่สวนมิสกวัน จากนั้นจึงได้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงและมอบโน้ตเพลงนี้ให้หลวงนิเทศกลกิจนำไปบรรเลงในการบรรเลงตนตรีประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันพฤหัสบดีถัดมาพร้อมทั้งกำชับว่าให้ปิดบังชื่อผู้แต่งเพลงเอาไว้ด้วย

          อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์ศรีกรุงก็ได้ลงข่าวเรื่องการประพันธ์เพลงชาติใหม่โดยเปิดเผยว่าพระเจนดุริยางค์เป็นผู้แต่งทำนองเพลงนี้ ทำให้พระเจนดุริยางค์ถูกเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เสนาบดีกระทรวงวัง ตำหนิอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ แม้ภายหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี จะได้ชี้แจงว่าท่านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คิดการแต่งเพลงนี้ และเพลงนี้ก็ยังไม่ได้รับรองว่าเป็นเพลงชาติเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการทดลองก็ตาม แต่พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับคำสั่งปลดจากทางราชการให้รับเบี้ยบำนาญ ฐานรับราชการครบ 30 ปี และหักเงินเดือนครึ่งหนึ่งเป็นบำนาญอีกครึ่งที่เหลือเป็นเงินเดือน โดยให้รับราชการต่อไปในอัตราเงินเดือนใหม่นี้ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง

          ส่วนเนื้อร้องของเพลงชาตินั้น คณะผู้ก่อการได้ทาบทามให้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เป็นผู้ประพันธ์ โดยคำร้องที่แต่ขึ้นนั้นมีความยาว 2 บท สันนิษฐานว่าเสร็จอย่างช้าก่อนวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เนื่องจากมีการคันพบโน้ตเพลงพร้อมเนื้อร้องซึ่งตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งลงวันที่ตีพิมพ์ในวันดังกล่าวแม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปก็ตาม แต่เพลงนี้ก็ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเพลงชาติและมีการจดจำต่อๆ กันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครรู้ที่มาชัดเจน ดังปรากฏว่ามีการคัดลอกเนื้อเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราส่งเข้าประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการเมื่อ พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้แต่งด้วย เนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราประพันธ์เริ่มแรกสุดก่อนที่จะมีการแก้ไขเมื่อมีการประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ ใน พ.ศ. 2476 มีดังนี้ (โปรดเทียบกับเนื้อร้องฉบับราชการ พ.ศ. 2477 ในหัวข้อเพลงชาติไทยฉบับ พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2477)
แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสสระเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เทิดชัยไชโย

เพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477 

            ในปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ ผลปรากฏว่าเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตรายังคงได้รับการรับรองให้ใช้อีกต่อไปแต่มีการเพิ่มเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล เข้าต่อท้ายอีก 2 บท (แต่ละบทมีความยาว 8 วรรค)ทำให้เนื้อร้องเพลงชาติยาวมาก เพราะเนื้อร้องของเดิมของขุนวิจิตรมาตรามีความยาวถึง 2 บท (16 วรรค)อยู่แล้ว เมื่อรวมกับเนื้อร้องของนายฉันท์ด้วยแล้วเนื้อร้องเพลงชาติทั้งหมดจะมีความยาวถึง 32 วรรคหากจะร้องเพลงชาติให้ครบทั้งสี่บทจะต้องใช้เวลาร้องถึง 3 นาที 52 วินาที (เฉลี่ยแต่ละท่อนรวมดนตรีนำด้วยทั้งเพลงตกที่ท่อนละ 35 วินาที)ในสมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมร้องแต่เฉพาะบทร้องของขุนวิจิตรมาตราและต่อมาภายหลังจึงไม่มีการขับร้อง คงเหลือแต่เพียงทำนองเพลงบรรเลงเท่านั้น



ฉันท์ ขำวิไล
ผู้ประพันธ์เพลงชาติสยามฉบับราชการ บทที่ 3 และบทที่ 4
 

เพลงชาติสยามฉบับสังเขป พ.ศ. 2478

          ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน)ระเบียบดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดให้แบ่งการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติออกเป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิสดาร (บรรเลงตามความยาวปกติเต็มเพลง) และการบรรเลงแบบสังเขป ในกรณีของเพลงชาตินั้น ได้กำหนดให้บรรเลงเพลงชาติฉบับสังเขปในการพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สโมสรสันนิบาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีปกติ ส่วนการบรรเลงแบบเต็มเพลงนั้นให้ใช้ในงานพิธีใหญ่เท่านั้น

          ท่อนของเพลงชาติที่ตัดมาใช้บรรเลงแบบสังเขปนั้น คือท่อนขึ้นต้น (Introduction) ของเพลงชาติ (เทียบกับเนื้อร้องเพลงชาติฉบับปัจจุบันก็คือตั้งแต่ท่อน สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี จนจบเพลง) ความยาวประมาณ 10 วินาทีไม่มีการขับร้องใดๆ ประกอบ

เพลงชาติไทย พ.ศ. 2482 – ปัจจุบัน

             ในปี พ.ศ. 2482 “ประเทศสยาม” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ประเทศไทย” รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิมแต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า “ไทย” ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศรัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เนื้อร้องของหลวงสารานุประพันธ์
ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกไทยก่อนแก้ไขเป็นฉบับทางการมีดังนี

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย


           การประกวดเพลงชาติครั้งนี้ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีกวีและผู้มีชื่อเสียงในทางการประพันธ์เพลงหลายท่านเช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แก้ว อัจฉริยะกุล ชิต บุรทัต เป็นต้นซึ่งรวมถึงผู้ประพันธ์เนื้อเพลงชาติสองฉบับแรก (ขุนวิจิตรมาตรา และฉันท์ ขำวิไล) ได้ส่งเนื้อร้องของตนเองเข้าประกวดด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านการตัดสินครั้งนั้นเฉพาะเนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งใหม่นั้น ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า “ไทย” ถึง 12 ครั่ง

เนื้อเพลงชาติไทย

ฉบับปัจจุบัน

  • ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
     
  • คำร้อง: พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
    ในนามกองทัพบก
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
 
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
 
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
 
ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
 
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
 
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
 
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย



ฉบับ พ.ศ. 2477

            ประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ ใช้เป็นเพลงชาติไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 (ในลักษณะไม่เป็นทางการ) โดยช่วงแรกใช้คำร้องที่ประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนาคพันธุ์) ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้จัดการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติ และประกาศรับรองเนื้อร้องที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยขุนวิจิตรมาตราและเนื้อร้องที่แต่งโดยนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นฉบับที่ชนะการประกวด เป็นเนื้อร้องเพลงชาติฉบับทางราชการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477

ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)คำร้อง: ขุนวิจิตรมาตรา

(บทที่ 1 และบทที่ 2)

แต่งเมื่อ พ.ศ. 2475

แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477

ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)คำร้อง: ฉันท์ ขำวิไล

(บทที่ 3 และบทที่ 4)

แต่งเมื่อ พ.ศ. 2477

ประกาศใช้เพิ่มเติมจากเนื้อร้องเดิมในปีเดียวกัน

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
 
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
 
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
 
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
 
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
 
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
 
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
 
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
 
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
 
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
 
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
 
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
 
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
 
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
 
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
 
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
 
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
 
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
 
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
 
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
 
แม้ถึงภัยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
 
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
 
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
 
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
 
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
 
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสรเสรี
 
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
 
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
 
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
 
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
 
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย
 

ที่ม่า วีกีพีเดีย
ประเด็นคำถาม
       1. ผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงชาติไทย ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือใคร ?
       2. ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทย ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือใคร ?
       3. ชื่อเดิมของ "ประเทศไทย" มีชื่อว่าอะไร ?
       4. ประเทศไทยชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเวลาเท่าไร และชักธงลงจากยอดเสาเวลาเท่าไร ?
กิจกรรมเสนอแนะ
       1. ลองสังเกตดูว่าในเวลาที่มีการชักธงชาติขึ้นลงจากเสา คนไทยยืนตรงหรือเปล่า
       2. เราเป็นคนไทย ต้องร้องเพลงชาติไทยให้ถูกต้องทั้งเนื้อร้องและทำนองเพลง ควรใช้เวลาว่างฝึกหัดร้องเพลงไทยให้ถูกต้องด้วย
การบูรณาการกับสาระการเรียนรูอื่น ๆ
       1. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม : ประวัติความเป็นของประเทศสยาม, การเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย, หน้าที่พลเมือง
       2. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย : ทักษะการฟัง, ทักษะการเขียน (เขียนเนื้อร้องเพลงชาติไทยได้ถูกต้อง
       3. กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ : ทักษะการจำ (เวลาในการชักธงขึ้นลงจากยอดเสา)
       4. กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา : การพัฒนาตน การพัฒนาบุคลิกภาพ
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3828

อัพเดทล่าสุด