ศิลปะคืออะไร


1,381 ผู้ชม


ความหมายของศิลปะ   

ศิลปะ (ART)


ศิลปะเป็นคำที่มีความหมายทั้งกว้างและจำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ทัศนะของแต่ละคน แต่ละสมัยที่จะกำหนดแนวความคิดของศิลปะให้แตกต่างกันออกไป หรือแล้วแต่ว่าจะมีใคร นำคำว่า "ศิลปะ" นี้ไปใช้ในแวดวงที่กว้างหรือจำกัด อย่างไร

ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ได้ให้ความหมายของศิลปะ (Art) ไว้ว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ต้นไม้ ภูเขา ทะเล น้ำตก ความงดงามต่าง ๆตามธรรมชาติจึงไม่เป็นศิลปะ ดอกไม้ที่เห็นว่าสวยสดงดงามนักหนา ก็ไม่ได้เป็นศิลปะเลย ถ้าหากเรายึดถือตามความหมายนี้แล้ว สิ่งที่มนุษย์สร้างสร้างขึ้นทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพพิมพ์ งานปั้น งานแกะสลัก เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เครื่องใช้สอย ตลอดจนถึงอาวุธที่ใช้รบราฆ่าฟันกัน ก็ล้วนแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้นไม่ว่ามนุษย์สร้างสิ่งที่ดีงาม เลิศหรูอลังการ หรือน่าเกลียดน่าชังอย่างไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นงานศิลปะอย่างนั้นหรือไม่ 
ศิลปะเป็นงานสร้างสรรค์
‍ในสมัยต่อมา มีผู้ให้ความหมายของศิลปะว่า ศิลปะเป็นผลงานการสร้างสรรค์ ซึ่งในความหมาย นี้ เราต้องมาตีความหมายของคำว่า "การสร้างสรรค์" กันเสียก่อน การสร้างสรรค์ หรือที่ภาษา อังกฤษเรียกว่า "Cerative" นั้น คือ การทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา ซึ่งบางสิ่งบางอย่างนั้น ไม่เคยมีอยู่มาก่อน ทั้งที่เป็นผลิตผล หรือกระบวนการ หรือความคิด ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นงานสร้าง สรรค์ได้จะต้องเป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก หรือเป็นกระบวนการใหม่ ๆ ที่ สร้างขึ้นมาเพื่อกระทำการบางสิ่งบางอย่างให้ประสบผลสำเร็จ หรือเป็นการสร้างแนวคิดใหม่ ที่จะนำไปสู่วิธีการใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ เพราะแนวคิด ใหม่ จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการ หรือวิธีการใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่ผลผลิตหรือประดิษฐ์กรรม ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมาในโลก และตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ เพื่อแทนที่ ผลผลิต หรือประดิษฐ์กรรมเดิม ที่ตอบสนองได้ไม่พอเพียง หรือไม่เป็นที่พอใจ การสร้างสรรค์ใน อีกความหมายหนึ่งจึงเกิดขึ้น คือ เป็นการทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีหลาย ๆ วิธี โดยอาจเป็นการปรับ ปรุงกระบวนการใหม่ ให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม หรือเป็นการปรับปรุงรูปแบบผลผลิตใหม่ โดยใช้ วิธีการเดิม แต่ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ ก็ตาม เป็นการกระทำให้เกิดขึ้น จากการใช้แนวคิดแบบใหม่ ๆ ทั้งสิ้น และเป็นผลของวิธีการคิดที่เรียกว่า "ความคิดสร้างสรรค์"


ศิลปะคืออะไร

ความหมายของศิลปะ "ศิลปะคืออะไร อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นศิลปะ" 
ใครต่อใครชอบพูดถึง "ศิลปะ" กันมากมาย บ้างก็ว่า "เขามีหัวทางศิลปะ" บ้าง "เรามันคนไม่มี
ศิลปะ" บ้างบางครั้งเราอาจพูดถึง ศิลปะโดยไม่รู้ตัว เพราะศิลปะแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของเราอยู่ตั้งแต่
เช้าจรดเย็น เช่น"โอ้ โฮ วันนี้เธอแต่งตัวสวยเชียว ดูเข้ากันไปหมดตั้งแต่ผมลงไปถึงเท้า" หรือ "บ้านของเธอตกแต่ง ได้งดงามมาก" "หมอนั่นมีศิลปะในการโกงสูงมาก" เมื่อเราพูดถึงศิลปะ เรารู้หรือไม่ว่า ศิลปะคืออะไร อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นศิลปะ เรามาดูกันดีกว่า

     ความหมายของศิลปะ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2530 หมายถึง ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏ ซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยม และทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีหรือ ความเชื่อทางศาสนา นอกจากนั้นนักปรัชญาได้นิยามความหมายของศิลปะไว้ มากมาย ดังเช่น
          
          ศิลปะ คือการถ่ายทอดความรู้สึก ศิลปะเป็นวิธีสื่อสารความรู้สึกระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (เรโอ ตอลสตอย : Leo Tolstoi) 
          ศิลปะ เกิดจากความเมาหรือความเพลิน ช่วยให้เราได้รับความเพลิดเพลินในชีวิต ด้วยเหตุนี้ โลกที่น่าเกลียดจึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นโลกที่น่ารักเพราะศิลปะ (ไดโอนิซุส : Dionisus) 
          ศิลปะ ได้แก่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในเมื่อธรรมชาติไม่สามารถอำนวยให้ 
(หลวงวิจิตรวาทการ)
          ศิลปะ หมายถึงงานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและด้วยความคิด (ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี)
          ศิลปะ คือการเลียนแบบธรรมชาติ
          ศิลปะ คือการแสดงออกทางความงาม
          ศิลปะ คือภาษาชนิดหนึ่ง
          ศิลปะ คือการรับรู้ทางการเห็น
          ศิลปะ คือการกระทำทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการสร้างขึ้น เพื่อให้มีความงาม ความแปลก และมีประโยชน์เท่าที่ความสามารถและแรงดลใจของมนุษย์จะแสดงให้ปรากฏได้

     จากการนิยามความหมายดังกล่าวพอสรุปได้ว่า ศิลปะ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความงามและความพึงพอใจ
กล่าวกันว่าการสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมากับมนุษย์เสมอหน้ากันจนดูเหมือนว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้มันมากกว่าใคร แล้วความคิดสร้างสรรค์คืออะไร และ เกิดได้อย่างไร

     ความคิดสร้างสรรค์ คือการกระทำในลักษณะต่างๆ เพื่อให้เกิด สิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งที่มีชีวิตเท่านั้นที่จะมีความคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดระดับสูง เป็นความสามารถทางสติปัญญาแบบหนึ่งที่จะคิดได้หลายทิศทางหลากหลายรูปแบบโดยไม่มีขอบเขตนำไปสู่กระบวนการคิดเพื่อสร้างสิ่งแปลกใหม่ หรือเพื่อการพัฒนาของเดิมให้ดีขึ้นทำให้เกิดผลงานที่มีลักษณะเฉพาะตน ของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวในโลกที่มีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องเพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบในการดำรงชีวิต และสามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีความสามารถในการพัฒนาตน พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ และรวมถึงพัฒนาโลกที่เราอยู่ให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับมนุษย์มากที่สุด ไม่ว่าโลกจะหมุนในแนวใด หรือแปรเปลี่ยนไปอย่างไร มนุษย์เราก็สามารถพัฒนาความคิดปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างชาญฉลาด

     การสร้างสรรค์มี 3 ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่

          1. การรับรู้ (Perception) เพราะเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้ จะต้องพบเห็นสิ่งต่างๆ มากๆ มีการรับรู้มาก และต้องพยายามสังเกตจากการรับรู้รั้น
          2. จินตนาการ (Inagination) ซึ่งเกิดจากการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เมื่อรู้มาก เห็นมาก จึงทำให้เกิด ความคิดมาก และมีจินตนาการต่อสิ่งต่างๆ มาก จินตนาการจึงเกิดจากการรับรู้ของเราต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว เสริมด้วยความคิด การใช้จินตนาการแบบอุดมคติคืการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร
          3. ประสบการณ์ (Experience) เป็นผลจากการรับรู้ เรียนรู้ หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก่อนแล้วเก็บสะสมไว้ ในสมอง และรอจังหวะที่จะแสดงออกมา
  ถ้าศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ นั่นแสดงว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นกระทำขึ้นมาทั้งที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ หรือเป็นเรื่องที่ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นงานศิลปะหรือไม่แล้ว แนวคิดใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ ความเชื่อใหม่ๆ ศาสนาใหม่ๆ ตลอดจนถึงการดำรงชีวิตแบบใหม่อาวุธใหม่ๆ การสร้างความหายนะให้กับผู้อื่นด้วยวิธีการใหม่ๆ ก็เป็นศิลปะด้วยหรือไม่การคดโกง คอรัปชั่นด้วยวิธีการใหม่ๆ ด้วยชั้นเชิงที่แนบเนียน สร้างความเสียหายใหญ่หลวง จะถูกยกย่องว่าเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมหรือไม่

     ยังไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นยังไม่ใช่ศิลปะทั้งหมด เพราะ "ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อความงามและความพึงพอใจ" ฉะนั้นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น โดยไม่มีความงาม และความพึงพอใจ จึงไม่ใช่ศิลปะ 
 
     ความงาม และความพึงพอใจของศิลปะ จะเกิดขึ้นกับผู้ชมในเบื้องต้นที่พบเห็น  และต่อไปจะก่อให้เกิด ความสะเทือนใจ  ด้วยอารมณ์ทางสุนทรียะในผลงานศิลปะนั้น  
ความงามในงาน ศิลปะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

          1. ความงามทางกาย (Physical Beauty) เป็นความงามของรูปทรง ที่กำหนด เรื่องราว หรือเกิดจากการ ประสานกลมกลืนกัน ของทัศนธาตุ เป็นผลจากการ จัดองค์ประกอบทางศิลปะ คือ เส้น สี แสงเงา รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว และน้ำหนัก โดยมีหลักการที่สำคัญคือ ความสมดุลย์ สัดส่วน จังหวะ ความกลมกลืน ความขัดแย้ง และจุดเด่น ซึ่งจะกล่าวในเรื่อง "องค์ประกอบศิลป์" 
          2. ความงามทางใจ (Moral Beauty) ได้แก่ ความรู้สึก หรืออารมณ์ ที่แสดงออก มาจากงานศิลปะ หรือ ที่ผู้ชมสัมผัสได้จากงานศิลปะนั้น ๆ

     งานศิลปะนั้น มีความงามทั้ง 2 ประเภทอยู่ร่วมกัน แต่อาจแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง มากน้อย ขึ้นอยู่กับ ประเภทของงาน เจตนาของผู้สร้าง และการรับรู้ของผู้ชมด้วยความงามในศิลปะ เป็นการสร้างสรรค์แท้ ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความงามของธรรมชาติ   เป็นความงามที่แสดงออกได้แม้ในสิ่งที่น่าเกลียด หัวข้อ เรื่องราว หรือเนื้อหาที่ใช้สร้างงานนั้นอาจน่าเกลียด แต่เมื่อ เสร็จแล้ว ก็ยังปรากฎความงาม ที่เกิดจากอารมณ์ ที่ศิลปินแสดงออก  

     ดังนั้น ความงามจึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ว่าด้วยความงามที่ศิลปินแสดงออกในงานศิลปะ ซึ่งเรียกว่า "สุนทรียศาสตร์" มีข้อความที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยเรอเนซองค์จนถึงทุกวันนี้ว่า " ศิลปะมิได้จำลองความงาม แต่สร้างความงามขึ้น" 
 
 ศิลปะคืออะไร

ประเภทของศิลปะ           

ศิลปะแขนงจิตรกรรม
ศิลปะแขนงประติมากรรม 
ศิลปะแขนงสถาปัตยกรรม 
    ปัจจุบัน ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายหลายประเภท ซึ่งเรา สามารถแบ่ง ประเภทของศิลปะ ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามประเภทของความงาม คือ 
          
         1. วิจิตรศิลป์ (Fine Art) คือศิลปะที่อำนวยประโยชน์ทางใจที่มุ่งเน้นความงดงาม และความพึงพอใจ มากกว่าประโยชน์ใช้สอย หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการ ทางด้านจิตใจ และอารมณ์ เป็นสำคัญ แบ่งออกเป็น 6 แขนง คือ 
               1.1 จิตรกรรม (ภาพเขียน)
               1.2 ประติมากรม (ภาพปั้น)
               1.3 สถาปัตยกรรม (งานก่อสร้าง)
               1.4 วรรณกรรม (บทประพันธ์)
               1.5 ดุริยางศิลป์ หรือ ดนตรี (การขับร้อง,การบรรเลง)
               1.6 นาฏศิลป์ (การ่ายรำ,การละคร) 
          
         2. ประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) คือศิลปะที่อำนวยประโยชน์ทางกายมุ่งเน้นประโยชน์ทางการใช้สอยมากกว่าความงาม หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการ ทางร่างกาย แบ่งออกเป็น 
5 แขนง คือ
               1.1 พาณิชย์ศิลป์ (ศิลปะเพื่อประโยชน์ทางการค้า)
               1.2 มัณฑนศิลป์ (ศิลปะการตกแต่ง)
               1.3 อุตสาหกรรมศิลป์ (ศิลปะออกแบบผลิตภัณฑ์)
               1.4 หัตถศิลป์ (ศิลปะที่ใช้ฝีมือ)
               1.5 ประณีตหัตถศิลป์ (ศิลปะการช่างฝีมือชั้นสูง)
 จากความหมาย ความงาม และประเภทของศิลปะ เราสามารถสรุปได้ว่าศิลปะ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความงามและความพอใจ สิ่งใดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แม้จะมีความงดงาม ก็หาใช่ศิลปะไม่ ดังเช่น พระอาทิตย์กำลังจมลงทะเล ดอกไม้หลากสีสวยงาม ความงามและความพึงพอใจของศิลปะมี 2 ประเภท คือ 
ความงามทางกาย และความงามทางใจ 
     
     ความงามทางกาย เป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเรา เราสัมผัส และเห็นคุณค่าได้อย่าง เป็นรูปธรรม ส่วนความงามทางใจเป็นศิลปะที่มีคุณค่าทางนามธรรม ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ ที่สมบูรณ์ สามารถ ดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมีความสุขเฉกเช่น การปฏิบัติศีลในพระพุทธศาสนา
     
     ดังนั้น ศิลปะจึงมีความผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของเราอย่างขาดไม่ได้ เราจะพบศิลปะอยู่ในทุกหน ทุกแห่ง ที่เราผ่านไป คล้ายกับอากาศที่เราหายใจเข้าไปทีเดียว

     คุณสมบัติของคนศิลปะ            
     คนที่มีศิลปะในตัวตนจำเป็นต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

   1. เป็นคนมีศรัทธา มีความเชื่อมั่น และตั้งใจมั่น ในสิ่งที่จะทำ ว่าเป็นสิ่งดีจริง มีประโยชน์จริง และจะต้องทำให้สำเร็จ
   2. เป็นคนไม่ขี้โรค รู้จักระวังดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง 
   3. เป็นคนถ่อมตน เพราะคนโอ้อวดไม่มีใครอยากสอน ไม่มีใครอยากแนะนำ คนพวกนี้มัวแต่อวด มัวแต่คุย จนไม่มีเวลาฝึกฝีมือตัวเอง 
   4. เป็นคนขยัน มีความมานะพากเพียร อดทน 
   5. เป็นคนมีปัญญา รู้จักพินิจพิจารณาช่างสังเกต 
 
วิธีฝึกตนให้มีศิลปะ             

     ศิลปะในตัวตน เปรียบเหมือน "พรสวรรค์" ซึ่งคงไม่สำคัญมากกว่าการมีพรแสวง คือการฝึกฝนตนเองให้ มีศิลปะ โดยมีวิธีการ ดังนี้

   1. ฝึกตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาจุดเด่นของสิ่งรอบตัว 
   2. ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่มาถึงตนให้ดีที่สุด อย่าดูถูกงาน อย่าเกี่ยงงาน 
   3. ตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความประณีต ละเอียดลออ 
   4. ตั้งใจปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ 
   5. หมั่นใกล้ชิดกับผู้มีศิลปะ
   6. ฝึกสมาธิอยู่เสมอ เพื่อให้ใจสงบผ่องใส เกิดปัญญาที่จะฝึกและปรับปรุงตนเองให้มีคุณสมบัติของผู้มีศิลปะได้ 
 
ข้อดีของการมีศิลปะ           

      ศิลปะนอกจากมีความผูกพันกับชีวิตของเราแล้ว ศิลปะยังมีส่วนผูกพันอย่างแนบแน่นกับหลักธรรม ทาง พระพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์ บทหนึ่งที่กว่าไว้ว่า “ผู้มีศิลปะแม้เพียงอย่างเดียว ก็สามารถเลี้ยงชีพได้โดยง่าย ” การมีศิลปะทั้งที่เป็นพรสวรรค์ หรือพรแสวง ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงเกิดผลดีกับผู้มี หรือฝึกฝนให้มีศิลปะ ดังนี้

    1. ทำคนให้เป็นคน 
    2. ทำคนให้ดีกว่าคน 
    3. ทำคนให้เด่นกว่าคน 
    4.ทำคนให้เลิศกว่าคน 
    5. ทำคนให้ประเสริฐกว่าคน 
    6. ทำคนให้สูงกว่าคน 
    7. ทำคนให้เลี้ยงตัวได้ 
    8. ทำคนให้ฉลาด 
    9. ทำคนให้มั่งคั่งสมบูรณ์ 
  10. ทำคนให้ประเสริฐ 
  11. ทำคนให้ได้รับความสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า 
  12. ทำโลกให้เจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4034

อัพเดทล่าสุด