คำพูดที่ว่า "เด็กกับขนม เป็นของคู่กัน" ขนม ถูกใช้เป็นของขวัญ เป็นรางวัล เป็นสื่อแสดงความรัก ขนม ถูกหยิบยื่นให้แก่เด็ก
ชื่อเรื่อง ขนมหวานอันตรายของเด็กไทย
คำพูดที่ว่า "เด็กกับขนม เป็นของคู่กัน" ขนม ถูกใช้เป็นของขวัญ เป็นรางวัล เป็นสื่อแสดงความรัก ขนม ถูกหยิบยื่นให้แก่เด็ก รูปแบบของขนม มีมากมาย และมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงกัน ทางการค้าจึงมีสูง แม้กระทั่งการโฆษณา ถึงคุณค่าของสารอาหารที่มีในขนม ที่เกินความจริง ทำให้แม่ และผู้เลี้ยงดูเด็ก เกิดความเข้าใจว่า ขนมเหล่านี้ สามารถใช้แทนอาหารได้ จึงทำให้มีการใช้ขนมเหล่านี้ เป็นมื้อของอาหารเช้าของเด็ก สาธารณสุขจึงร่วมกับผู้ผลิต ผลิตขนมลดน้ำตาล เพื่อเป็นทางเลือกบริโภคขนมของเด็กไทย
กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันวิจัย และบริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ผลิตขนมแนวใหม่ลดน้ำตาล ไขมันและโซเดียมลงร้อยละ 25 เพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคขนมของเด็กไทย หวังลดจำนวนเด็กอ้วนที่นำไปสู่การป่วยด้วยโรคเรื้อรังในอนาคต พร้อมเปิดตัวสัญลักษณ์ใหม่รับรองอาหารอ่อนหวาน
ภาพอ้างอิงจาก https://www.didofood.com
หลังพบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 6 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 มีภาวะโภชนาการเกินร้อยละ 12-13 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคขนมเกือบจะเป็นอาหารหลัก โดยเด็กไทยเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อขนมคนละ 9,800 บาทต่อปี ในขณะที่จ่ายเงินด้านการศึกษาเพียง 3,024 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งอนาคตเด็กเหล่านี้ร้อยละ 30-80 จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงทั้งนี้ขนมที่ร่วมผลิตครั้งนี้ จะมีออกมาวางจำหน่ายตามท้องตลาดในเดือน พ.ค.นี้ โดยผู้ซื้อสามารถแยกขนมดังกล่าวจากขนมทั่วไปได้ที่สัญลักษณ์รับรองอาหารลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม 25เปอร์เซ็นต์ที่เปิดตัวใหม่วันนี้
ภัยที่มาจากขนมหวาน
ภัยที่แฝงตัว มากับความสุข และความสนุกของขนมหวานเหล่านี้ ด้วยเหตุที่โทษ หรือพิษภัยที่มากับขนมนั้น เป็นสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เห็นมีผลทันทีทันใด เหมือนกับอาการปวดหัว ตัวร้อน ที่เห็นได้ทันที จึงนับเป็นภัยมืดที่แอบแฝง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในระยะยาว โดยปกติแล้ว ขนมส่วนใหญ่มักจะมีองค์ประกอบของ แป้ง และน้ำตาล เป็นหลัก เนื่องจากความหวานของแป้ง เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความอร่อย ให้ขนม ด้วยเหตุนี้ การกินขนมที่มาก บ่อย ทั้งวัน จึงทำให้เด็กไม่หิน ไม่อยากอาหาร เด็กจะกินอาหารหลักได้ไม่พอเพียง และการกินขนมหวานบ่อย ก็จะทำให้สภาวะในช่องปาก เป็นกรดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการละลายของแร่ธาตุ จากตัวฟันอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นฟันผุในที่สุด ข้อมูลในระดับประเทศ มีรายงานว่า ในปี 2544 ที่ผ่านมา เราพบว่า เด็กวัย 3ปี มีฟันผุถึงร้อยละ 65.7 และทั้งหมดเป็นฟันที่ยังไม่ได้รับการรักษา ยิ่งทำให้เด็กไปบริโภคขนม ซึ่งหวาน อร่อย นิ่ม เคี้ยวง่ายยิ่งขึ้น ภาวะที่เราเห็นตามมา คือ เด็กตัวเล็ก เติบโตไม่สมวัย ส่งผลถึงพัฒนาการโดยรวมของเด็กด้วย ที่น่าเป็นห่วงมาก คือ มีการศึกษาที่รายงาน ตรงกันว่า เราสามารถพบเด็กฟันผุได้ ตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตั้งแต่เริ่มมีฟันขึ้นในปาก ก็ฟันผุเสียแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูที่ ย่า ยาย หรือแม่ มักจะตามใจเด็ก ให้เด็กสามารถเลือกซื้อขนมเองได้ ตามใจชอบ จากร้านค้าในหมู่บ้าน หรือรถเร่ ที่มาขายหน้าบ้าน การศึกษาในเขตจังหวัดแพร่ พบว่า ผู้ใหญ่เริ่มปล่อยให้เด็กเลือกซื้อขนมเองได้ ตั้งแต่อายุ 12 เดือน หรือเมื่อเด็กเริ่มเดินได้ ทั้งนี้การรับรู้ของแม่ต่อขนมเด็กนั้น จะให้ความสำคัญที่เด็กจะต้อง อิ่ม ไม่งอแง ดังนั้น แม้ว่าบางครั้ง แม่จะรู้สึกว่า ขนมมีโทษอยู่บ้าง หากแต่สงสารลูก ไม่อยากให้งอแง และอยากให้ลูกอิ่มท้อง จึงยอมปล่อยให้เด็กกินขนมตามใจชอบ
การแก้ปัญหา
ต้องฝึกให้เด็กกินขนมเป็นมื้อ ให้กินขนมหลังอาหารมื้อหลัก และหากต้องการรับประทานระหว่างมื้ออาหาร ควรเลือกอาหารว่าง ที่ไม่ใช่ขนมถุง ขนมกรุบกรอบ ควรเลือกอาหารว่างจำพวกผลไม้ หรือธัญพืช เช่น ถั่ว ข้าวโพด เป็นต้น และควรให้ห่างจากมื้ออาหารหลักพอควร เพื่อเด็กจะสามารถกินอาหารในมื้อหลัก ได้เต็มที่ สำหรับขนมถุง ลูกอม ทอฟฟี่ ควรให้เด็กกินแต่น้อย และฝึกให้เด็กแปรงฟันหลังกินทุกครั้ง หรือบ้วนปากเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยให้สภาวะความเป็นกรด ในช่องปาก คืนกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วธรรมชาติสร้างฟันน้ำนมให้แก่เด็ก เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต เพื่อที่เด็กจะมีฟันเคี้ยวอาหารอย่างครบถ้วน เพื่อการเจริญเติบโต ดังนั้น จะต้องเข้าใจ และจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของเด็ก ตั้งแต่วัยเยาว์เป็นต้นมาก ควรสอนให้เด็กได้รับรู้ รสที่เป็นธรรมชาติของอาหาร ได้รับการฝึกให้กินอาหารที่อยู่บนพื้นฐาน ของการเจริญเติบโตที่ดี หากอวัยวะพื้นฐานอย่างเช่น ฟันของเด็กต้องผุ และนำความเจ็บปวดมาให้เด็ก ตั้งแต่วัยเยาว์ ผลกระทบที่ตามมาต่อสุขภาพกาย โดยรวมที่ตามมา กลับจะทำให้เกิดผลเสียอย่างมากมาย ทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ โดยภาพรวมได้จึงอาจกล่าวได้ว่า การสร้างบริโภคนิสัยที่ดี การดูแลสุขภาพช่องปาก ให้แก่เด็กตั้งแต่ยังเล็ก เป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดีโดยรวมด้วย
ประเด็นคำถาม
1. ขนมหวานที่เด็กนิยมรับประทานมีอะไรบ้าง
2. โรคที่เกิดจากการทานขนมหวานมีโรคอะไรบ้าง
3. จงบอกวิธีการลดการทานขนมหวานของเด็กมาให้เข้าใจ
4. เราสามารถทานอาหารชนิดใดแทนนมหวานได้
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนจัดป้านนิเทศในห้องเรียนเกี่ยวกับ ชนิดของขนมหวาน อันตรายจากขนมหวาน และวิธีการแก้ปัญหา การทานขนมหวานของเด็ก
การบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้
1. วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสีผสมอาหาร สารที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
เอกสารอ้างอิง
กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. รายงานผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ
ครั้งที่ 5 พ.ศ.2543-2544. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด เมษายน 2545.
ผุสดี จันทร์บาง และคณะ. ขนมของที่หนูชอบ: ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรคฟันผุ. เอกสารอัดสำเนา
พฤศจิกายน 2545.
โครงการเด็กรู้ทัน. ค่าขนมสำคัญไฉน. เรียบเรียงจาก สันติ จิตรจินต์. รายงานการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าขนมเด็ก ของนักเรียนประถมศึกษา ในพื้นที่กรุงเทพฯ นครสวรรค์ นนทบุรี ชลบุรี
และนครราชสีมา (2545).
ปิยะดา ประเสริฐสม สุขจิตตรา วนาภิรักษ์ ขนิษฐ์ รัตนรังสิมา. พฤติกรรมการบริโภคขนมเด็ก 3-12 ปี
จ.แพร่ (รายงานเบื้องต้น). มกราคม 2545.
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน. ข้อมูลสำคัญสำหรับสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์ "เด็กไทยไม่กินหวาน" 2545.
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=246