ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009….ความรุนแรง WHO ให้ถึงระดับ 6 แล้วแต่ไม่ต้องตกใจ สามารถป้องกันได้ด้วย “ หลักสุขบัญญัติ 10 ประการ”
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009….ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1 N1….
ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก.....หรือที่ชาวบ้านเรียก ไข้หวัดหมู...คือโรคเดียวกัน
ระบาดไปทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ ความรุนแรง WHO ให้ถึงระดับ 6 แล้ว
เพราะเกิดจากเชื้อไวรัส ปัจจุบันจึงไม่มียารักษา แต่ไม่ต้องตกใจ สามารถป้องกันได้
ด้วย “ หลักสุขบัญญัติ 10 ประการ”
ภาพจาก:https://www.thaihed.com
“ ป้องกันได้.......ง่ายนิดเดียว”
โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1)
คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกผู้ป่วยไอ จามรดโดยตรง เนื่องจากมีเชื้อไวรัสอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น
อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปก็สามารถทำลายเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้และจากการสอบสวนโรคไม่เคยพบผู้ป่วยที่ติดโรคจากการรับประทานเนื้อหมู
อาการใกล้เคียงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย บางรายมีอาการปอดอักเสบรุนแรง
หอบ หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้
ภาพจาก:https://www.worldproutassembly.org/pigs.jpg
การป้องกัน.....ง่ายนิดเดียว!!......หมู..หมู
สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ
สุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ มีอะไรบ้าง ?
1. ดูแลรักษาร่างกายและของเครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ
2. ดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน
3. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย
4. รับประทานอาหารที่สุก สะอาด มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และถูกหลักอนามัย
5. งดบุหรี่ สุรา ยาเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ
6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
7. ป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท
8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส
10. มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
แต่ท่านไม่ต้องตกใจ (อะไรต้องปฏิบัติถึง 10 ข้อเลยหรือ..??)
เพียงปฏิบัติได้แค่ 3-4 ข้อ ก็ป้องกันได้
ภาพจาก: www.med.cmu.ac.th ภาพจาก:www.sameskybooks.org
ภาพจาก: www.tarad.com ภาพจาก:www.tkc.go.th
การมีสุขภาพที่ดี ย่อมหมายถึงการมีเกราะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้สามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้
การปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติเพียง 3-4 ข้อ ได้แก่ การรู้จักดูแลรักษาความสะอาดของ
ร่างกายและของเครื่องใช้ ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด
มีประโยชน์ ถูกหลักอนามัย พร้อมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย เท่านี้ร่างกายก็แข็งแรง
เชื้อโรคใดๆก็ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายของท่านได้
และถ้าท่านสามารถปฏิบัติได้ครบทั้ง 10 ข้อข้างต้น ท่านจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพที่ดี ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
1. หากไม่จำเป็นไม่ควรเดินทางไปยังประเทศที่เกิดการระบาด จนกว่าสถานการณ์
จะยุติลง
2. หากจำเป็นต้องเดินทาง ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ ไอ จาม
และสถานที่แออัด
3. สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่
ภายใน 7 วัน หลังจากเดินทางกลับ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
4. หากพบผู้ที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ ต้องแจ้งสำนักงานสาธารณสุข เพื่อดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที
เนื้อหานี้เหมาะสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระดับช่วงชั้นที่ 3 และ 4
สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค
มาตรฐาน พ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงสุขภาพ การป้องกันโรค
และการสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ
ประเด็นคำถาม
1. โรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันมีชื่อเรียกว่าอะไร เกิดจากเชื้ออะไร
2. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นอย่างไร
3. ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคนี้
4. โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่โรคอะไรบ้าง ( ยกตัวอย่าง)
5. การปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ สามารถป้องกันโรคได้อย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
1. สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเครือข่ายอินเตอร์เนต
2. ค้นคว้า อภิปราย และนำเสนอ
3. ให้ทำโครงงานเกี่ยวกับเรื่องโรคติดต่อต่างๆ การสร้างเสริมสุขภาพและ
การป้องกันโรค
การบูรณาการ
สามารถบูรณาการได้กับ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา-จุลินทรีย์/การแพร่ระบาด)
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ศัพท์ภาษาอังกฤษ )
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (โภชนาการ)
ข้อมูลอ้างอิง
1. www.moph.go.th กระทรวงสาธารณสุข
2. www.thaihed.com กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
3. www.ddc.moph.go.th กรมควบคุมโรค
5. https://beid.ddc.moph.go.th สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=279