หยุด...ความรุนแรงในเด็ก


1,413 ผู้ชม


ภาพของความรุนแรงในเด็กที่มากขึ้น เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข   

         เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคลิปภาพตบตีกันของ 2 นักเรียนจาก 2 สถาบันดังในจังหวัดน่าน ที่กำลังได้รับความนิยม ส่งต่อกันในกลุ่มนักศึกษา นักเรียน โดยเป็นคลิปการตบตีกันระหว่างนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด กับนักศึกษาหญิงระดับ ปวช.ของวิทยาลัยแห่งหนึ่งในชุดนักเรียนนักศึกษา ความยาวประมาณ 5 นาที  โดยในคลิปการตบตี มีการดึงผม กระชากเสื้อจนล้มกลิ้ง นอนกับพื้น บางตอนกระโปรงของนักเรียนหญิงถลกร่นขึ้นมาจนถึงชั้นใน โดยมีกลุ่มเพื่อนทั้งชาย-หญิง และกะเทยของทั้งสองสถาบัน ต่างช่วยกันเชียร์ และล้อมวงถ่ายคลิปกันอย่างสนุกสนาน ไม่มีใครห้ามหรือช่วยยุติเหตุการณ์ จนเวลาผ่านไปจะมีการรุมเข้ามาช่วยจากเพื่อนๆของคู่กรณี แต่ก็มีการห้ามปรามกัน จึงได้เปลี่ยนจากการตบตี มาเป็นด่าทอกัน โดยฝ่ายหญิงที่ตบกัน บังคับให้มีการกราบขอโทษ เรื่องที่เคยทำกันไว้ จากนั้นคลิปก็จบลง 
( ข้อมูลจาก thai health  https://news.thaihealth.net/modules.php?name=News&file=article&sid=5398 )

หยุด...ความรุนแรงในเด็ก

สาระที่ ๕    ความปลอดภัยในชีวิต
มาตรฐาน พ ๕.๑   ป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง  พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ  อุบัติเหตุ  การใช้ยา       สารเสพติด  และความรุนแรง
ตัวชี้วัด ม.3  พ.5.1ม.3/1-3
 1. วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและแนวทางป้องกัน
 2. หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและชักชวนเพื่อนให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
 3. วิเคราะห์อิทธิพลของสื่อต่อพฤติกรรมสุขภาพและความรุนแรง


หยุด...ความรุนแรงในเด็กความหมายของคำว่า "ความรุนแรง"
         “ ความรุนแรง (Violence) หมายถึงพฤติกรรมและการกระทำใด ๆ ที่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งร่างกาย วาจา จิตใจ ทางเพศ โดยการบังคับขู่เข็ญ ทำร้าย ทุบตี เตะต่อย ตลอดจนคุกคาม จำกัด และกีดกันเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะและในการดำเนินชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นผลหรืออาจจะเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้กระทำ (อรอนงค์ อินทรจิตร และคณะ ,2542:1)

สถิติของความรุนแรงในโรงเรียน
        จากผลการศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนทั่วประเทศ ปี 2549 โครงการส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน ป. 4 จนถึง ม. 3 พบว่า ร้อยละ 68.6 ถูกเพื่อนรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง ร้อยละ 20 ถูกรังแกสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง โดยการด่า กลั่นแกล้ง แย่งสิ่งของ การข่มขู่ และการทำร้ายร่างกาย ขณะที่ครูส่วนใหญ่ มักลงโทษผู้เรียนที่ก่อความรุนแรงหรือทำผิดด้วยการตี และการทำร้ายจิตใจ ผลการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน ปี 2549 สมัชชาเด็กและเยาวชน จ. อุดรธานี พบว่า ครูกว่าร้อยละ 77.3 ลงโทษด้วยการตี ร้อยละ 68.9 ใช้วิธีการตะคอกใส่ ร้อยละ 54.1 พูดสบประมาท ประชดประชัน และมีนักเรียนร้อยละ 8 ถูกครูทำโทษโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งหากปล่อยไว้ อาจเป็นการบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงในผู้เรียนได้
 

หยุด...ความรุนแรงในเด็กสาเหตุของความรุนแรงในเด็ก 
         สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการกระทำรุนแรงในเด็ก ในสังคมไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดี่ยว หากแต่เกิดจากปัจจัยหลายปัจจัยและซับซ้อน(Broadbent & Bentley,1997 อ้างถึงใน จิราวรรณ แท่นวัฒนกุล, 2545) ซึ่งสามารถแบ่งเป็นปัจจัยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 
        1.ปัจจัยด้านตัวเด็ก เด็กที่มีพื้นอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก หงุดหงิดง่าย ร้องไห้บ่อย นอนหลับยาก กินยาก อาจเป็นเหตุให้เกิดการลงโทษ กระทำรุนแรงและทารุณได้ เพราะจะทำให้พ่อแม่ไม่พอใจในพฤติกรรมของลูก พ่อแม่ที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตนเองเกิดความยับยั้งไม่ได้ เกิดการทำร้ายเด็กขึ้นได้ง่าย เด็กที่มีความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ความพิการทางร่างกาย เด็กปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มนี้ จะทำให้พ่อแม่ไม่ชอบ มีการลงโทษเด็กกระทำรุนแรง บางรายอาจเกิดร่วมกับการกระทำรุนแรงทางเพศ
        2.ปัจจัยด้านลักษณะและบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับการกระทำรุนแรงของครอบครัวของผู้กระทำ พบว่า พ่อแม่ที่มีพฤติกรรมกระทำรุนแรงเด็ก มีประวัติเคยถูกกระทำรุนแรง ถูกทอดทิ้งมาก่อนในวัยเด็ก พ่อแม่มีปัญหาบุคลิกภาพ เจ้าอารมณ์ หุนหันพลันแล่น โกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ต่อต้านสังคม พ่อแม่ที่มีการติดการพนัน ติดเหล้า หรือสารเสพติด พ่อแม่ที่คาดหวังกับเด็กเกินความสามารถ ที่แท้จริงของเด็กทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่พอใจและลงโทษเมื่อเด็กไม่สามารถทำตามความคาดหวังพ่อแม่ที่ขาดความเข้าใจในพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก ขาดทักษะในการอบรมสั่งสอนเด็ก มีโอกาสกระทำรุนแรงต่อเด็กเพิ่มมากขึ้น 
        3.ปัจจัยด้านลักษณะเศรษฐกิจของครอบครัวและที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ภายในครอบครัวจะมีการไม่ลงรอยกัน ทะเลาะกัน ครอบครัวไม่สงบสุขเด็กจะถูกทอดทิ้งและห่างเหินกับพ่อแม่ เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงนั้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี พ่อแม่มีปัญหาทางจิตใจ หรือมีความกดดันทางจิตใจ เช่น ความตึงเครียดที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง แม่ขาดรายได้ประจำ การมีปัญหาระหว่างสามีภรรยา เช่น พ่อไปมีภรรยาใหม่ เป็นต้น ปัจจัยแวดล้อม เด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ หรืออยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนมากๆ มักจะขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดี อาจถูก ปล่อยปละละเลยจนขาดสารอาหาร ขาดการดูแล ไม่ได้รับการศึกษา มีความเป็นอยู่ที่ขัดสน

 ผลกระทบของความรุนแรงในครอบครัวที่มีต่อเด็กและเยาวชนหยุด...ความรุนแรงในเด็ก
     ความรุนแรงในครอบครัวมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ดังนี้
       1.ปัญหาทางด้านอารมณ์
     เด็กและเยาวชนที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว จะมีปัญหาทางด้านอารมณ์ โดยเฉพาะการเก็บกด มีการรับภาพความรุนแรงเข้าไปในจิตใจ เกิดความสับสนทางด้านอารมณ์ เช่น มีความรู้สึกรักผู้ใช้ความรุนแรงต่อครอบครัวในฐานะพ่อ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้เป็นพ่อต้องใช้ความรุนแรงในครอบครัว จนกระทั่งเกิดความโกรธและเกลียดขึ้นในใจ อันเป็นความสับสนทางอารมณ์ที่พยายามหาคำตอบหรือทางออกให้กับปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกกังวลใจ ขาดความมั่นใจในตนเอง ความหดหู่ เศร้าใจ อันนำไปสู่ปัญหาโรคซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้ง่าย
        2.ปัญหาการปรับตัวเข้ากับสังคม
     เด็กและเยาวชนที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว จะมีปัญหาทางด้านการปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก โดยเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะชอบเก็บตัวเงียบคนเดียว ไม่ชอบในการคบค้าสมาคมกับเพื่อน ซึ่งอาจเกิดจากความหวาดกลัวความรุนแรงที่เคยประสบจากครอบครัว ทำให้ไม่กล้าไว้วางใจสมาชิกอื่น ๆ ใน
       3.ทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง
     เด็กและเยาวชนที่ครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการรับรู้และทัศนคติต่อการใช้ความรุนแรงว่าเป็นพฤติกรรมปกติธรรมดาในสังคม และในบางครั้งยังเห็นว่า การใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติต่อผู้อื่นเป็นพฤติกรรมที่มีความเหมาะสมและ
       4.ทัศนคติต่อการใช้ชีวิตครอบครัวในอนาคต
     เด็กและเยาวชนที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว มีโอกาสสูงที่จะใช้ความรุนแรงในครอบครัวต่อไป เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นพฤติกรรมที่มักจะมีการถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งได้เสมอ 
        5.ปัญหาซ่อนเร้นในระยะยาว
     ปัญหาซ่อนเร้นในระยะยาวของเด็กและเยาวชนที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว นอกจากการซึมซับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น ปัญหาซ่อนเร้นในระยะยาวอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาความหดหู่ เศร้าหมอง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า อันเป็นพฤติกรรมซ่อนเร้นที่อาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ อาทิ โรคประสาท โรคจิต และการฆ่าตัวตาย เป็นต้น (Jeffrey L.Edleson ,1999)

การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
         1. การมีครอบครัว พ่อแม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม  ครอบครัวที่ไม่พร้อม พ่อแม่ ที่มีอายุน้อย ไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และนำไปสู่ความรุนแรงใรครอบครัวได้
         2. ให้เวลากับครอบครัว  บริหารเวลาทุกอย่างอย่างมีคุณค่า  มีเวลาในการทำงานและมีเวลากับคนในครอบครัว  การมีเวลาไม่ได้หมายถึงการอยู่ด้วยกันอย่างเดียว  เพราะถ้าทุกคนอยู่ในบ้านแต่ไม่พูดคุยกันเลย ต่างคนต่างอยู่ก็ไม่เรียกว่ามีเวลา  การมีเวลาในครอบครัวต้องมีกิจกรรมของครอบครัวร่วมกัน เช่น การรับประทานอาหาร  การดูทีวี  การฟังเพลง  การพูดคุยเล่ารเร่องของแต่ละให้ฟัง
         3. การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  พัฒนาการของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัย ครอบครัวต้องเรียนรู้และเข้าใจ วัยรุ่น หงุดหงิน อารมณืร้อน เพราะฮอร์โมนเปลี่ยน  พ่อแม่ หงุดหงิด  ขี้บ่น  เอาแต่ใจ ก็เพราะย่างเข้าวัยทอง ฮอร์โมนเปลี่ยน  คนในครอบครัวต้องเอาใจใส่ หมั่นสังเกตุความเปลี่ยนแปลงของคนในครอบครัว หาสาเหตุ และร่วมกันปรับตัวเพื่อให้อยู่ในบ้านอย่างมีความสุข
        4. ให้ความรักซึ่งกันและกัน  การให้ความรักซึ่งกันและกัน จะทำให้คนในครอบครัวมองกันและกันในแง่ดี  มากกว่าการไม่ไว่้ใจกัน  การคอยจับผิด และพูดถึงข้อผิดพลาดของกันและกันอยู่เสมอ
         5. ใช้ภาษากายบ้าง สร้างความอบอุ่นในครอบครัว  การสื่อสารด้วยภาษากาย การจับมือ  การโอบกอด  เป็นการสื่อสารที่สร้างความอบอุ่น  สร้างความมั่นใจ  และกำลังใจ ซึ่งกันและกัน และมีความหมายมากกว่าการใช้คำพูด  
         6. พ่อแม่ ผู้ใหญ่ในครอบครัว  ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่ใช้ความรุนแรง   พ่อแม่ต้องเป็นตนแบบที่จะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน เช่นไม่ดต้เถีง ทะเลาะวิวาทต่อหน้าลูก  ไม่ใช้การลงโทษที่รุนแรง  การขู่ให้ลูกกลัว  แต่หลีกเลี่ยงด้วยการสอน  การให้กำลังใจ และการให้รางวัลเมื่อลูกทำถูกต้อง  และการงดรางวัลหรืองดสิ่งที่เด็กชอบบางอย่างเพื่อเป็นการลงโทษแทนการตี หรือใช้ความรุนแรงอย่างอื่น

การแก้ปัญหาและป้องกันการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาหยุด...ความรุนแรงในเด็ก

          1.  พัฒนา ทดสอบ ความรู้ด้านจิตวิทยาและทักษะอารมณ์ ครูส่วนใหญ่มักลงโทษเด็กด้วยการตีหรือการดุด่า เพราะรับรู้วิธีนี้มาตั้งแต่เป็นนักเรียน ดังนั้น ศธ. ควรปรับปรุงการพัฒนาครู โดยเพิ่มเติมในเรื่องจิตวิทยาและทักษะอารมณ์ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาครูก่อนประกอบวิชาชีพครู นักศึกษาควรได้รับการทดสอบความรู้จิตวิทยาและทักษะทางอารมณ์ หากใครไม่ผ่านจะไม่สามารถไปประกอบวิชาชีพครู และเมื่อมาเป็นครูประจำการ ควรมีการทดสอบและประเมินผลสภาพจิตใจและอารมณ์เป็นระยะ นอกจากนี้ ควรมีการสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นกับครู ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์ของครู เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้ครูระบายอารมณ์กับนักเรียนเมื่อเกิดความเครียด
 
          2.  ทดสอบและประเมินทักษะทางอารมณ์ของนักเรียน สถานศึกษามีระบบทดสอบและประเมินทักษะทางอารมณ์ของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น และมีการส่งผลผลการทดสอบและประเมินไปยังระดับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือเมื่อเปลี่ยนสถานศึกษา เพื่อปรับพฤติกรรมผู้เรียนในระยะยาว
 
         3.   ร่วมมือกับนักจิตวิทยาแก้ปัญหาและป้องกันใช้ความรุนแรงสถานศึกษาร่วมมือกับนักจิตวิทยา เพื่ออบรมครูแนะแนว ครูประจำชั้น และครูฝ่ายปกครอง ให้เข้าใจสภาพของผู้เรียน รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาและการลงโทษที่ถูกต้องเหมาะสม

         4.   มีช่องทางสื่อสารระหว่างสถานศึกษากับครอบครัว สถานศึกษามีช่องทางสื่อสารเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กสู่สถานศึกษาและจากสถานศึกษาสู่ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนดูแลและแก้ไขพฤติกรรมเด็ก โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงใช้ความรุนแรง รวมถึง ให้พ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิเด็ก และวิธีการลงโทษเด็กที่ไม่เกินกว่าเหตุ เพื่อปกป้องเด็กไม่ให้ถูกกระทำความรุนแรงภายในสถานศึกษา

         5.   พัฒนาระบบการลงโทษในสถานศึกษาที่ได้มาตรฐาน สถานศึกษาควรมีระบบการลงโทษผู้เรียนที่ได้มาตรฐานและยุติธรรม โดยไม่ควรให้ครูคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินลงโทษนักเรียน แต่ควรมีหลายฝ่ายเข้าร่วมพิจารณา เช่น ผู้ปกครอง ครูประจำชั้น ครูแนะแนว เพื่อนสนิท นักจิตวิทยาในพื้นที่ ฯลฯ โดยปรับภาพลักษณ์ของครูฝ่ายปกครองที่มีความเอื้ออาทร พึ่งได้ และมีความยุติธรรม
 

หยุด...ความรุนแรงในเด็ก

ถามต่อก่อปัญญา

1. สาเหตุของความรุนแรงมีอะไรบ้าง

2. ในชีวิตประจำวันมีปัจจัยอะไรบ้างบ้างที่ส่งเสริมความรุนแรงในสังคม

3. นักเรียนจะมีวิธีการหยุด ความรุนแรงในสถานศึกษาได้อย่างไร

4. นักเรียนจงยกตัวอย่างหลักธรรมของศาสนาที่นักเรียนนับถืออยู่เพื่อมาป้องกันปัญหาความรุนแรง

5. นักเรียนเขียนคำขวัญเพื่อรนณรงค์ป้องกันความรุนแรงได้อย่างไรบ้าง

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=673

อัพเดทล่าสุด