ชายวัยทอง


638 ผู้ชม


ความเชื่อที่มีกันมานานว่า ผู้ชายจะคงความเป็นชายหรือมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายไปตลอดชีวิต ส่วนผู้หญิงนั้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วรังไข่จะหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เกิดกลุ่มอาการต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ และอารมณ์   

ชายวัยทอง

ภาวะการพร่องฮอร์โมนใน...ชายวัยทอง

ความเชื่อที่มีกันมานานว่า ผู้ชายจะคงความเป็นชายหรือมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายไปตลอดชีวิต ส่วนผู้หญิงนั้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วรังไข่จะหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เกิดกลุ่มอาการต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ และอารมณ์

แท้ที่จริงแล้ว เมื่ออายุย่างเข้าวัย 40 ปีขึ้นไป การสร้างฮอร์โมนเพศชายจะลดลงอย่างสม่ำเสมอทุกปี เมื่อระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลงถึงระดับหนึ่งจะเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายไปบางส่วน ทำให้เกิดอาการต่างๆคล้ายกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

ภาวะการพร่องฮอร์โมนเพศชายดังกล่าว มักจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อผู้ชายย่างเข้าสู่วัยกลางคน และอาการต่างๆจะแสดงออกเมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงกว่าระดับปกติของร่างกายประมาณ 20 เปอร์เซนต์ การพร่องฮอร์โมนเพศชายไปบางส่วนนี้จึงมีชื่อเรียกว่า " พา - ดาม " ตรงกับคำในภาษาอังกฤษคือ PADAM ซึ่งย่อมาจากคำว่า PARTIAL ANDROGEN DEFICIENCY OF THE AGING MALE

ผลการศึกษาวิจัยที่เชื่อถือได้มาจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยบอสตันประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อผู้ชายอายุย่างเข้า 40 ปี การสร้างฮอร์โมนเพศชายจะลดลงปีละ 1 เปอร์เซนต์ และอาการต่างๆ อันเป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศชายนั้น จะค่อยเป็นค่อยไป ไม่เกิดขึ้นรวดเร็วและอาการมากเหมือนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
อาการ ! ที่บ่งบอกถึง " ภาวะการพร่องฮอร์โมนเพศชาย "

อาการระยะแรก : เมื่อร่างกายเริ่มพร่องฮอร์โมนเพศชาย อวัยวะต่างๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายจะเริ่มเสื่อมลง ทำงานลดลงและเกิดอาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ตามมา

อาการทางด้านร่างกาย : จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อต่างๆลดขนาดลง ไม่มีแรง และอวัยวะเพศเริ่มไม่แข็งตัวในช่วงตื่นตอนเช้า

อาการทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ : เครียดและหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เฉื่อยชา ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น

อาการทางด้านระบบไหลเวียนโลหิต : บางคนอาจมีอาการ ร้อนวูบวาบหรือมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน

อาการทางด้านจิตและเพศ : จะมีอาการนอนไม่หลับ ตื่นตกใจง่าย สมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง หรือ ไม่มีอารมณ์เพศ บางคนเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย ปัจจุบันพบว่าชายไทยหลังอายุ 40 ปีไปแล้ว มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีอารมณ์เพศ เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศเมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลง จึงไม่เกิดอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งอวัยวะเพศชายเมื่อขาดฮอร์โมนเพศชายไปกระตุ้นแล้วก็มักจะเสื่อมลงตามไปด้วย
.... ภัย...ที่รุกรานในระยะยาว
ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

ผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้ เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดกระดูกหักในผู้ชายสูงวัยได้ นอกจากนี้กล้ามเนื้อจะค่อยๆลดขนาดลง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ชอบออกกำลังกาย มีผลให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง

ระบบหลอดเลือดและหัวใจ

ฮอร์โมนเพศชายมีหน้าที่ช่วยการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ทำให้กระจายตัวของไขมันเป็นปกติ เมื่อขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้ไขมันเลือดสูง มีผลทำให้ไขมันไปเกาะที่ผนังของเส้นเลือด ทำให้ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นเลือดลดลงและทำให้ผนังเส้นเลือดไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร ทำให้เลือดไหลผ่านเส้นเลือดได้น้อยลง โดยเฉพาะถ้าเลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยหัวใจน้อยลง เป็นผลให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง

สมรรถภาพทางเพศ

เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศชายไปนานๆเข้า นอกจากอารมณ์เพศและการตอบสนองทางเพศลดลงแล้ว ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ความถี่ในการถึงจุดสุดยอด รวมทั้งความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์ จะลดลงไปตามระดับของฮอร์โมนเพศชายที่ขาดหายไป รวมทั้งระยะเวลาที่ขาดหายไปด้วย

คุณภาพชีวิต

ผู้ชายส่วนใหญ่แล้วมักจะนำเอาความสามารถ และสมรรถภาพทางเพศมาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ดังนั้น เมื่อความสามารถในด้านนี้ลดลงจึงทำให้คุณภาพชีวิตลดลงไปด้วย

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายจิตใจและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในผู้ชายวัยทอง จะเป็นสิ่งที่ซ้ำเติมให้คุณภาพชีวิตลดลงไปอีก

เตรียมกายเตรียมใจเข้าสู่วัยทอง

การเตรียมตัวที่ดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง บางคนกล่าวว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่อพ้นสี่สิบ ในวัยทองนี้จะต้องหมั่นรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจให้ได้ ใช้ชีวิตอย่างสุขุมรอบคอบ เดินสายกลาง ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม ทั้งการทำงาน การพักผ่อนสันทนาการ การออกกำลังกาย รวมทั้งการทำจิตใจให้สงบ ควบคุมอาหารการกินให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับวัย และแน่นอนว่าถ้าระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงไปนั้น ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลงแล้ว การไปขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ และรับฮอร์โมนเพศชายเสริมให้ได้ระดับปกติ อาจทำให้อาการต่างๆ อันไม่พึงประสงค์หมดไปและคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1035

อัพเดทล่าสุด