มาเรียนรู้ประวัติกรีฑากันเถอะ


1,756 ผู้ชม


"แฝดใหญ่" สุรพงษ์ อาริยะมงคล เลขาฯ กรีฑาไทย เผยศึกซีเกมส์ ปลายปีนี้ สมาคมตั้งเป้าขออย่างน้อย 15 - 17 เหรียญทอง โดยมองว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง เวียดนาม, อินโดนีเซีย และ มาเลย์เซีย ไม่ใช่คู่แข่งที่น่าจับตามองแต่อย่างใด  

          แฝดใหญ่" สุรพงษ์ อาริยะมงคล เลขาฯ กรีฑาไทย เผยศึกซีเกมส์ ปลายปีนี้ สมาคมตั้งเป้าขออย่างน้อย 15 - 17 เหรียญทอง โดยมองว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง เวียดนาม, อินโดนีเซีย และ มาเลย์เซีย ไม่ใช่คู่แข่งที่น่าจับตามองแต่อย่างใด
          ที่ห้องประชุมรอดโพธิ์ทอง สนามศุภชลาศัย นาย สุรพงษ์ อาริยะมงคล เลขาธิการสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย เปิดเผยความพร้อมของทีมนักกรีฑาทั้งชายและหญิง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การรักษาความเป็นจ้าวกรีฑาอาเซียน โดยส่งนักกีฬาลงครบทุกรุ่นเป็นครั้งแรก
          โดยเลขาฯ กรีฑาไทยออกมาเผยเป้าหมายของกรีฑาไทยในศึกซีเกมส์ครั้งนี้ว่า "เราเตรียมทีมมาตั้งแต่ต้นปี และจากการที่ไปตระเวนแข่งหลายรายการในเอเชีย โดยภาพรวมแล้วเรายังเป็นที่ 1 ในอาเซียน อย่างน้อยๆต้องมี 15 เหรียญทองเป็นอย่างน้อย ซึ่งปีนี้เราส่งนักกีฬากรีฑาครบเป็นครั้งแรก อย่างวิ่ง 4x 400เมตร ชาย และ กระโดดไกลชายที่เราไม่เคยได้ ปีนี้เราก็หวัง ซึ่งคู่แข่งสำคัญๆของเราก็มี เวียดนาม, อินโดนีเซีย และ มาเลย์เซีย โดยเฉพาะการวิ่งระยะสั้น อินโดฯ นั้นต้องจับตามองเป็นพิเศษ ส่วนในประเภทหญิง เวียดนาม นั้นเป็นคู่แข่งน่ากลัวที่สุด แต่รวมๆแล้วแต่ยังถือว่าห่างไกลจากเราอยู่ เราหวัง 15 -17 เหรียญทอง ขณะที่ชาติอื่นๆหวังไว้ไม่เกิน 8 เหรียญ ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งที่จะมาเป็นจ้าว แต่เป็นแค่คู่แข่งที่แย่งเหรียญเราไปให้น้อยลงก็เท่านั้น"
         โดยแฝดใหญ่ยังคงกล่าวต่อไปว่า "ส่วนดาวรุ่งที่ขึ้นมาครั้งนี้ประมาณ 40 เปอร์เซนต์ จากซีเกมส์ชุดที่แล้ว โดยอยากให้จับตา วัลลภา พันธ์สูงเนิน ในวิ่งข้ามรั้ว100 เมตรหญิง และ ศุภนร ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา จากกระโดดไกล มากที่สุด เด็ก 2 คนนี้มีสมาธิ และระเบียบวินัยดีมาก ส่วนเวลานี้ภายในทีมเหมือนช่วงศุกร์ดิบ เพื่อเตรียมตัวเข้าแข้งขันต้องระมัดระวังเรื่องการบาดเจ็บเป็นพิเศษ หากใครเจ็บเราจะตัดชื่อออกทันที และผมได้ย้ำกับนักกีฬาว่า ต้องไม่ประมาทอย่างเด็ดขาด เนื่องจากถ้ายังไม่วิ่งถึงเส้นชัย ก็ยังไม่มีใครรู้หรอกว่าใครเหนือใคร" นาย สุรพงศ์ ปิดท้าย
          สำหรับการแข่งขัน ซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ณ จังหวัด โคราช ครั้งที่ผ่านมา ทัพกรีฑาไทยคว้าเหรียญทองไปทั้งหมด 17 เหรียญทอง 18 เหรียญเงิน และ7 เหรียญทองแดง

ที่มา: https://www.manager.co.th/Sport
กลุ่มสาระการเรียนรู้     สุขศึกษาและพลศึกษา ช่วงชั้นที่ 4( ชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 - 6
สาระที่ 3 :  การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย  เกม  กีฬาไทย และกีฬาสากล
มาตรฐาน พ 3.1:  เข้าใจ มีทักษะในการเคลื่อนไหว กิจกรรมทางกาย การเล่นเกมและกีฬา
มาตรฐาน พ 3.2: รักการออกกำลังกาย การเล่นเกม และการเล่นกีฬา  ปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ  มีวินัย  เคารพสิทธิ กฎ กติกา  มีน้ำใจนักกีฬา  มีจิตวิญญาณในการแข่งขัน  และชื่นชมในสุนทรียภาพของการกีฬา

ผลการเรียนรู้ที่คาดหว้ง
      1.สามารถอธิบายและบรรยายเกี่ยวกับประวัติของกรีฑาได้
      2.สามารถตระหนักและนำกรีฑาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

เนื้อหาสาระ

          กรีฑานับเป็นกีฬาเก่าที่เกิดมาพร้อมกับมนุษย์ เพราะแต่ก่อนมนุษย์ไม่รู้จักทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง ไม่รู้จักสร้างที่พัก ตลอดจนสร้างเครื่องนุ่งห่มเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน มนุษย์สมัยนั้นต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และความดุร้ายของสัตว์ป่านานาชนิดและมีที่อยู่อาศัยแห่งเดียวกันคือ ถ้ำ ซึ่งเรียกว่า "มนุษย์ชาวถ้ำ"(Cave man) และที่แห่งนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของการกีฬา โดยที่มนุษย์เหล่านี้ต้องป้องกันตัวเองจากสัตว์ร้าย บางครั้งต้องวิ่งเร็วเพื่อให้พ้นจากสัตว์ร้าย การวิ่งเร็วหากเทียบกับปัจจุบันก็คือการวิ่งระยะสั้น หากการวิ่งหนีต้องใช้เวลาในการวิ่งนานๆ ก็คือการวิ่งระยะยาวหรือวิ่งทน
          การวิ่งในที่นี้อาจรวมไปถึงการวิ่งเพื่อไล่จับสัตว์ มาเป็นอาหารหรือการต่อสู้ระหว่างเผ่า ในบางครั้งขณะที่วิ่งมีต้นไม้หรือก้อนหินขวางหน้า ถ้าเป็นที่ต่ำก็สามารถกระโดดข้ามได้ ปัจจุบันคือ การกระโดดข้ามรั้ว และกระโดดสูง ถ้าต้องการกระโดดข้ามได้อย่างธรรมดาจำเป็นต้องหาไม้ยาวๆ มาปักกลางลำธารหรือแง่หิน และโหนตัวข้ามไปยังอีฝั่งหนึ่ง กลายเป็นการกระโดดค้ำ การใช้หอกหรือแหลนหลาวที่ทำด้วยไม้ยาวๆ เป็นอาวุธพุ่งฆ่าสัตว์ ปัจจุบันก็กลายมาเป็นพุ่งแหลน หรือการเอาก้อนหินใหญ่ๆ มาทุ่มใส่สัตว์ ขว้างสัตว์ กลายมาเป็นการขว้างจักรในปัจจุบัน จึงเห็นได้ว่าการ วิ่ง กระโดด ทุ่ม พุ่ง ขว้าง เหวี่ยง ที่พ่อแม่ หรือหัวหน้าเผ่าสั่งสอนถ่ายทอดให้ในสมัยนั้นมีไว้เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ประจำวันในปัจจุบันก็มีเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ทำหน้าที่นี้คือ ครูอาจารย์และโค้ชนั่นเอง
          สมัยกรีก ชาวกรีกโบราณเป็นผู้ริเริ่มการเล่นกีฬาขึ้นหลายอย่าง เมื่อราว 1,000 ปี ก่อนคริสต์กาล กรีก คือชนเผ่าหนุ่มซึ่งอพยพมาจากทางเหนือเข้ามาอยู่ในคาบสมุทรบอลข่าน และตั้งรกรากปะปนกับชาวพื้นเมืองเดิม แล้วสืบเชื้อสายผสมกันมาเป็นชาวกรีก ต่อมากรีกได้เจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุดในด้านต่างๆ ทั้งด้านปรัชญา วรรณคดี ดนตรี และการพลศึกษา โดยเฉพาะด้านการพลศึกษา นับว่ามีบทบาทสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรีกอย่างยิ่ง
          เนื่องจากประเทศกรีกมีลักษณะภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยภูเขา ความเป็นอยู่ในสมัยนั้นจึงเป็นไปอย่างหยาบๆ กรีกจะแบ่งออกเป็นรัฐ โดยแต่ละรัฐปกครองตนเอง และเมื่อแต่ละรัฐคิดที่จะแย่งกันเป็นใหญ่ จึงมีการรบพุ่งกันอยู่เสมอ รัฐที่สำคัญและเข้มแข็งมีอยู่สองรัฐคือ เอเธนส์ และสปาร์ต้า ชาวกรีกมีความเชื่อในพระเจ้าต่างๆ หลายองค์ด้วยกันเช่น 
1. เทพเจ้าซีอุส (Zeus) เป็นประธานหรือพระเจ้าองค์ใหญ่ที่สุดในบรรดาพระเจ้าทั้งหลาย 
2. พระเจ้าอะธินา (Athena) คือเทพธิดาแห่งความเฉลียวฉลาด 
3. เทพเจ้าอะพอลโล (Apollo) คือเทพเจ้าแห่งแสงสว่างกับความจริง 
4. เทพเจ้าเฮอร์เมส (Hermes) คือเทพเจ้าแห่งการสื่อสาร 
5. เทพเจ้าอาเรส (Ares) คือเทพเจ้าแห่งสงคราม 
6. เทพเจ้าอาร์ทีมิส (Artemis) คือเทพธิดาแห่งการล่าสัตว์
          ชาวกรีกเชื่อว่าเทพเจ้าเหล่านี้สถิตอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส (Olimpus) คล้ายกับเป็นผู้ชี้ชะตาของชาวกรีก ชาวกรีกจึงพยายามที่จะเอาใจ ทำความเข้าใจ และสนิทกับพระเจ้า โดยการบวงสรวงหรือทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อฉลองพระเกียรติของพระเจ้าเหล่านั้น ดังนั้นเวลากระทำพิธีหรือมีงานฉลองมหกรรมใดๆ ชาวกรีกจะจัดการแข่งขันกีฬาขึ้น ณ บริเวณยอดเขาโอลิมปัส แต่ต่อมาคนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก จึงย้ายสถานที่ลงมาที่ราบเชิงเขาโอลิมปัส เพื่อเป็นการถวายความเคารพบูชาต่อเทพเจ้าซีอุส ประธานแห่งเทพเจ้าทั้งหลายของตนอย่ามโหฬาร อนึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการบวงสรวงตามพิธีการทางศาสนาแล้ว ก็มีการจัดการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ขึ้นดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งการแข่งขันจะไม่มีพิธีรีตรองอะไรมากนัก เป็นเพียงแข่งขันไปตามที่กำหนดให้เท่านั้นผู้ชนะของการแข่งขันก็ได้รับ รางวัล ความมุ่งหมายในการแข่งขันของกรีกสมัยนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พลเมืองมี สุขภาพสมบูรณ์ และมีร่างการที่สมส่วนสวยงาม
          เมื่อกรีกเสื่อมอำนาจลงและต้องตกอยู่ภายใต้การครอบตรองของชนชาติโรมัน การกีฬาของกรีก เริ่มเสื่อมโทรมลงตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. 937 ธีโอดอซีอุส มหาราชแห่งโรมัน ประกาศห้ามชาวกรีก ประชุมแข่งขันกีฬาอีก จึงทำให้การเล่นกีฬาของกรีกต้องล้มเลิกไปเป็นเวลานานถึง 15 ศตวรรษ
          สมัยโรมัน ต่อมาในปลายสมัยของโฮเมอร์ มีชนเผ่าหนึ่งมาตั้งรกรากอยู่บนฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ ด้านตะวันออกของกรีก ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นพวกโรมันชาตินักรบ มีความกล้าหาญอดทน และมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ขึ้นมาพร้อมๆ กับความเสื่อมลงของประเทศกรีก ชาวโรมันนิยมและศรัทธาพลศึกษามากเป็นชีวิตจิตใจ เขาถือว่าพลศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นแก่ชีวิตประจำวัน ชาวโรมันฝึกฝนบุตรของตนมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ให้มีความสามารถในเชิงดาบ โล่ห์ แหลน ในการสู้รบบนหลังม้า รวมทั้งการต่อสู้ประเภทอื่นๆ สนามฝึกหัดกีฬาเหล่านี้เรียกว่า แคมปัสมาร์ติอุส (Campusmartius) เป็นสนามกว้างใหญ่อยู่นอกตัวเมือง และมีสถานฝึกแข่งว่ายน้ำสำคัญเรียกว่า เธอร์มา (Therma) และมีสนามกีฬาแห่งชาติขนาดใหญ่ในกรุงโรมที่จุคนได้ถึง 200,000 คน เรียกว่า โคลิเซี่ยม (Coliseum)
          ชาวโรมันชายทุกคนต้องเป็นทหารในยามสงคราม เขาจึงฝึกพลศึกษาการต่อสู้แบบต่างๆ ในค่ายฝึกเสมอ ด้วยผลแห่งการฝึกพลศึกษา การกีฬา และเชิงรบแต่เยาว์วัยของประชาชน โรมันจึงมีกองทัพอันเข้มแข็ง และสามารถแผ่อำนาจเข้าครองดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และยุโรปตะวันตกบางตอน รวมขึ้นเป็นราชอาณาจักรโรมัน (The Roman Empire) ต่อมาราชอาณาจักรโรมันก็เสื่อมลงเนื่องจากสาเหตุหลายประการ การเสื่อมความนิยมในพลศึกษาซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญข้อหนึ่งเพราะชาวโรมันกลับ เห็นว่าพลศึกษาเป็นของต่ำ จึงเลิกเล่นกีฬาหันไปใช้พวกทาสแกลดิเอเตอร์ (Gladiators) ต่อสู้กันเองบางครั้งก็ต่อสู้กับสัตว์ร้ายและเห็นว่าการศึกษาวิชาการมี ประโยชน์กว่าวิชาพลศึกษา ดังนั้นโรมันจึงกลายเป็นชาติที่อ่อนแอ จนถึงกับใช้ทหารรับจ้างในยามศึกสงครามแล้วในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ชนชาวติวตัน (Tue Ton) อันเป็นชาติที่นิยมกีฬากลางแจ้ง และมีร่างการแข็งแรงสมบูรณ์
          สมัยปัจจุบัน พ.ศ. 2435 นักกีฬาชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง มีฐานันดรศักดิ์เป็น บารอน เปียร์(บางท่านอ่านว่าปิแอร์) เดอ กูแบรแตง (Baron Piere de Coubertin) ท่านผู้นี้มีความสนใจในการกีฬาอย่างยิ่ง ได้พิจารณาเห็นว่าการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศเป็นการเชื่อมความสามัคคี ผูกมัดสัมพันธภาพระหว่างชาติต่างๆ ที่ร่วมการแข่งขันด้วยกัน เป็นการสมาคมชั้นสูง เพื่อแลกเปลี่ยนจิตใจของนักกีฬาอันแท้จริงต่อกัน ไม่มีการผิดพ้องหมองใจกัน ซึ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมเปียดสมัยโบราณได้ยุติลงเมื่อ พ.ศ. 935 เป็นเหตุที่ทำให้ห่วงสัมพันธภาพในการกีฬาขาดสะบั้นลง และเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง
          ท่านผู้นี้จึงได้เชื้อเชิญสหายคือ ศาสตราจารย์ W. Stone แห่งสหรัฐอเมริกา Victor Black แห่งสวีเดน Dr. Jiriguch แห่งโบเฮาเมีย Sir Johe Astenley แห่งบริเตนใหญ่ ร่วมกันเปิดการประชุมกีฬาโอลิมปิกขึ้นใหม่ โดยยึดเอาอุดมคติแห่งความยุติธรรม อ่อนโยน สุภาพ มั่นคง และกำลังเป็นมูลฐานตามวัตถุประสงค์ของโอลิมเปียดโบราณที่ว่า Citus, Altius, Fortius (เร็ว, สูง, แรง) ผู้สนใจการกีฬาคณะนี้ได้ปรึกษาหารือกัน จนกระทั่งวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2437 จึงได้เกิดการประชุมใหญ่ ระหว่างผู้แทนประเทศต่างๆ ที่เมืองเซอร์มอนน์ ประเทศฝรั่งเศส และได้ประกาศตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Olympic Committee)และตกลงกันให้มีการชุมนุมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกของสมัยปัจจุบันที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศ กรีก ใน พ.ศ. 2439 บารอน เปียร์ เดอ กูแบรแตง ได้มอบคำขวัญให้ไว้แก่การแข่งขันโอลิมปิกสมัยปัจจุบันนี้ว่า "สาระสำคัญในการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ใช่การชนะ แต่สำคัญอยู่ที่การเข้าร่วมแข่งขัน 4 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างประเทศในเครือสมาชิก" โดยความคิดของ บาริน เปียร์ เดอ กูแบรแตง ที่ได้รื้อฟื้นการแข่งขันโอลิมปิกขึ้น มิใช่เฉพาะเพื่อชัยชนะของผู้แข่งขันเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญ คือ การเข้าร่วมก่อให้เกิดสุขสันติภาพระหว่างชาติ และก้าวไปสู่สันติของโลก
ที่มา:https://www.sport-za.com/


 ประวัติกรีฑาในประเทศไทย
           กรีฑาในประเทศไทยริเริ่มโดยครูฝรั่งชาวอังกฤษนำมาสอนให้นักเรียนไทยได้ฝึกเล่นกันในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วค่อยเจริญแพร่หลายขึ้นหลังปี พ.ศ.2440 เป็นต้นมาการเเล่นเริ่มเป็นทางการขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปและเมื่อเสด็จนิวัติคืนสประเทศไทย ทางราชการโดยมอบหมายให้ กระทรวงธรรมการ ครู นักเรียนรวมถึงประชาชนได้จัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนและประชาชน โดยได้จัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวง (ทุ่งพระสุเมรุ) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2440 และตั้งแต่นั้นมาก็จัดเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาโดยตลอด
ปี.ศ.2476 รัฐบาลตั้งกรมพลศึกษาขึ้น กรมพลศึกษามีนโยบายส่งเสริมการกีฬาและการกรีฑาของชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น หลังจากตั้งกรมพลศึกษาขึ้นแล้ว กีฬาและกรีฑาได้ก็รับการสนับสนุนจัดให้มีการแข่งขันหลายประเภท เช่น กรีฑาระหว่างโรงเรียน กรีฑาระหว่างมหาวิทยาลัย และกรีฑาระหว่างประชาชน
ปี พ.ศ. 2494 ได้มีการจัดตั้งสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการแข่งขัน กรีฑาประเภทมหาวิทยาลัยและประชาชนแทนกรมพลศึกษา และในปีนี้เองประเทศไทยก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์กรีฑาโลก
ปี พ.ศ. 2504 ได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้น มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมกีฬาประชาชน โดยจัดให้มีการแข่งขันกีฬาทุกๆปีหมุนเวียนกันไปในแต่ละจังหวัด ในการแข่งขันกีฬาเขต (กีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน) และถือว่ากรีฑาเป็นกีฬาหลักที่ต้องมีการแข่งขันทุกครั้ง
ปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทยเข้าอยู่ในพราะบรมราชูปถัมภ์
ปี พ.ศ. 2528 มีการเปลี่ยนชื่อจากองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยเป็น "กีฬาแห่งประเทศไทย"

ประวัติงานกรีฑานักเรียนประจำปี 
วันที่ 11 มกราคม ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) เป็นวันที่บรรดานักเรียนในกรุงเทพฯได้กราบบังคมทูลอันเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาในที่ประชมุนักเรียนในกรุงเทพฯ ณ ท้องสนามหลวง เนื่องในวโรกาสที่พระองค์เสด็จกลับมาจากยุโรป ซึ่งต่อมากระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ได้ทำการจัดการแข่งขันเป็นงานประจำปี และจัดควบกันไปในวันเดียวกับวันรับประกาศนียบัตรของนักเรียน กรีฑาในสมัยนั้นมีหลายประเภท เช่น วิ่งแข่งขันระยะ 2 เส้นระยะทาง 10 เส้น กระโดดไกลกระโดดสูง แข่งขันจักรยาน ขว้างไกล วิ่งสวมกระสอบ วิ่งสามขา การแข่งขันดังกล่าวประเภทมีเหรียญและหนังสือเป็นรางวัล
ปี พ.ศ. 2444 ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาที่สนามโรงเลี้ยงเด็กหน้าโรงเรียนสวลี และได้เพิ่มการแสดงฝีมือด้วย ต่อมาการแข่งขันกรีฑานักเรียนได้ว่างเว้นมาหลายปี
ปี พ.ศ. 2447 อธิบดีกรมศึกษาธิการได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาโรเงรียนวันที่ 1 และ 2 มกราคมมีสูจิบัตรสำหรับการแข่งขันด้วยเป็นครั้งแรก โดยแบ่งเป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันแข่งขันฟุตบอลคู่สุดท้ายที่ท้องสนามหลวง และวันที่ 2 มกราคม เป็นวันแข่งขันกรีฑาโรงเรียนที่สนามโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกหลาบในปัจจุบัน) ดังที่กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลในการแข่งขันดังนี้
เริ่มการแข่งขันเวลาบ่ายโมง การแข่งขันกรีฑาได้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ
ภาค 1 การแสดงกายบริหารมี โหนราว ไต่บันไดโค้ง หกคะเมนบนม้า หกคะเมนไม้เดี่ยว เล่นห่วง เล่นชิงช้า และจัดแถว
ภาค 2 เป็นการประกวดกำลังมีชักเย่อ กระโดดสูง วิ่งข้ารั้ว วิ่งเก็บของกระโดดไกล วิ่งระยะทาง 2 เส้น วิ่งสวมกระสอบ วิ่งทนระยะทาง 10 เส้น ปิดตาหาทาง วิ่งสามขา และวิ่งวิบาก
ปี พ.ศ. 2463 ได้จัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งและแสดงวิชามวยไทย
ปี พ.ศ. 2464 ได้จัดให้มีการแสดงวิชาฟันดาบไทย ดาบฝรั่ง
ปี พ.ศ. 2470 กระทรวงธรรมการได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า "กรมการจัดการกีฬาประจำปีของ>กระทรวงธรรมการ" เลือกจากอาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่โรงเรียนต่างๆแต่งตั้งเป็นกรรมการเป็นปีๆไป กรรมการคณะที่มีหน้าที่เป็นผู้จัดการกีฬาต่างๆของกระทรวงธรรมการทุกอย่างเฉพาะในจังหวัดพระนครและธนบุรี ส่วนภูมิภาคเป็นหน้าที่ของกรรมการจังหวัด

ปี พ.ศ. 2478 ได้เพิ่มประเภทการแข่งขันกีฬาโรงเรียนให้มีมากขึ้นรวมทั้งเพิ่มสถานที่แข่งขันด้วย ส่วนการแข่งขันกรีฑาประจำปีได้ใช้สนามโรงเรียนหอวัง (กรีฑาสถานแห่งชาติในปัจจุบัน) และเพื่อเป็นการควบคุมการแข่งขันและนักกีฬา กรมพลศึกษาได้ออกกฎระเบียบควบคุมมารยาทนักกีฬา โดยมีคณะกรรมการสอดส่องมารยาทนักกีฬาขณะแข่งขัน กับได้วางระเบียบในการให้รางวัลผู้มีฝีมือในการแข่งขัน โดยมีรางวัลเป็นลำดับดังนี้
- เสื้อสามารถ
 หมวกสามารถ
- เข็มสามารถ
ส่วนกรรมการที่มีความรู้ความสามารถในการตัดสินนั้นกรมพลศึกษาได้จัดแหนบให้เป็นเครื่องสมนาคุณ
ปี พ.ศ. 2479 ได้เปิดการแข่งขันกรีฑาขึ้นเป็นครั้งแรกในพระบรมปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มอบธงกีฬา ธงนำกีฬานักเรียน และธงนำกีฬาประชาชนแก่กรมพลศึกษา การแข่งขันตะกร้อข้ามตาข่าย ก็ได้จัดให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรกในปีนี้
ปี พ.ศ. 2480 ได้จัดให้มีการแข่งขันเป็นปีสุดท้ายที่ท้องสนามหลวง
ปี พ.ศ. 2481 กรมพลศึกษาได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาประจำปี ในกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นครั้งแรก ลักษณะของสนามมีอัฒจันทร์ไม้ล้อมรอบหรือที่เรียกว่า "สนาม 1-2" ในการดำเนินการแข่งขันในครั้งนี้ได้จัดสร้างลู่ทางวิ่ง การจับเวลาให้เป็นไปอย่างการแข่งขันกรีฑาสากลนิยมซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดการแข่งขันในกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นครั้งแรกนอกจากนั้นในการแข่งขันบาสเกตบอล ฟุตบอล ตะกร้อ ฯลฯ ซึ่งเคยแยกไปแข่งขันตามสนามโรงเรียนต่างๆนั้น กรมพลศึกษาได้จัดให้มีการแข่งขันในกรีฑาสถานแห่งชาติทุกประเภท ส่วนการแข่งขันกรีฑานั้นได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาประชาชนหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย
ปี พ.ศ. 2483 ได้เปิดให้มีการแข่งขันหมากรุกฝรั่งขึ้น
ปี พ.ศ. 2484 ทางกรมพลศึกษาได้จัดปรับปรุงสนามแข่งขันด้านต่างๆอีกทั้งยังได้พิจารณาปรับปรุงกติกากรีฑาให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม ทั้งในแง่ของเครื่องมือและการแต่งกายของกรรมการ นับว่าเป็นแบบฉบับที่ดีจนเป็นพื้นฐานที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
ปี พ.ศ. 2485 ได้งดจัดการแข่งขันเนื่องจากมีอุทกภัยครั้งใหญ่ ตุลาคม แต่ก่อนนั้นกระทรวงได้สั่งการใหกรมพลศึกษานำนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆไปแสดงกายบริหารที่ท้องสนามหลวง มีนักเรียนแสดงทั้งหมด 4,000 คน(ในเดือนมิถุนายน)
ปี พ.ศ. 2486 งดจัดการแข่งขันเพราะเกิดภาวะสงครามแต่หน่วยทหารญี่ปุ่นและทหารไทยได้ขอใช้สนามแข่งขันเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีอยู่ เนืองๆและในราวปลายปีก็ให้มีการแข่งขันจักรยาน 2 ล้อทางไกลระหว่างประชาชนจากกรีฑาสถานแห่งชาติถึงตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
ปี พ.ศ.2487 สงครามทวีความรุนแรง ไม่ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาและกรีฑาใดๆ
ปี พ.ศ. 2488 สงครามสงบ ประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม กรมพลศึกษาเห็นว่าพอจะดำเนินการแข่งขันกีฬาได้ จึงจัดให้มีการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจากนี้สมาคมรักบี้ฯสมาคมฟุตบอลแห่งสยามฯได้เช่าสนามเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาประจำปี
ปี พ.ศ. 2489 กรมพลศึกษาได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬากรีฑานักเรียนทุกประเภทต่อไปตามเดิม มีนักเรียนให้ความสนใจพอสมควร

          การจัดการแข่งขันกรีฑานักเรียนได้ดำเนินการแข่งขันเป็นประจำทุกๆปีติดต่อกัน ส่วนมากจัดการแข่งขันระหว่างเดือนพฤศจิกายน และเดือนธันวาคม
ปี พ.ศ. 2511 มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนโดยกรมพลศึกษาได้มีหนังสือถึงจังหวัดต่างๆ เชิญชวนให้จังหวัดจัดส่งนักกีฬาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนไม่เกิน ม.ศ.- 3 อายุไม่เกิน 20 ปี เป็นการยกระดับการแข่งขันและเป็นการพัฒนาของด้านสถิติด้วย
ปี พ.ศ. 2512 การแข่งขันกรีฑานักเรียนได้จัดพร้อมกับงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ซึ่งเรียกชื่อรวมกันว่างานกรีฑาศิลปหัตถกรรมของนักเรียน
         จนถึงปัจจุบันนี้การกีฬาของไทยได้มีวิวัฒนาการมาโดยตลอดและมิอาจจะปฏิเสธได้และว่ากรีฑานักเรียนเป็นส่วนช่วยให้การกีฬาของประเทศไทยมีการเจริญเติบโตขึ้นทัดเทียมประเทศต่างๆจะสังเกตจากการแข่งขันทุกครั้งมีการทำลายสถิติใหม่อยู่เสมอ 
ที่มา:https://www.cmw.ac.th/elibrary/fileselibrary/Zstudentcmw/sdSportH/sdsporth015/2.htm

ประเด็นคำถาม

        1. การสร้างความรู้กับประวัติกรีฑามีผลดีอย่างไร
        2. การเล่นกรีฑาให้ประโยชน์ต่อร่างกายคนเราอย่างไร
        3. อธิบายประวัติกรีฑามาให้เข้าใจ
       
กิจกรรมเสนอแนะ
  
        1. ให้นักเรียนไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในห้องสมุดโรงเรียนหรืออินเตอร์เน็ต
        2. จัดนิทรรศการ หรือจัดบอร์ดเกี่ยวกับกรีฑา
         
การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆ

        1. ภาษาไทย     การอ่านจับใจความ  การสรุปบทความ 
        2. วิทยาศาสตร์  ระบบการไหลเวียนโลหิตและการเต้นของหัวใจ
        3. คณิตศาสตร์   การคำนวณเวลาในอดีตจนถึงปัจจุบัน
        4. สุขศึกษาและพลศึกษา (สุขศึกษา)  อาหารและโภชนาการสนองต่อการเล่นกรีฑา

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1821

อัพเดทล่าสุด