เชื้อโรคสามารถติดต่อได้หลายทาง ถ้าไม่รู้จักป้องกัน อาจเจ็บป่วยได้
โรคติดต่อ (ตอน 2)
ทางติดต่อของเชื้อโรค
เชื้อโรคสามารถติดต่อได้หลายทาง ถ้าไม่รู้จักป้องกัน อาจเจ็บป่วยได้
https://www.scumdoctor.com/images/Peru-And-Common-Infectious-Diseases.jpg
ทางติดต่อของเชื้อโรค
ได้แก่
1. ทางการหายใจหรือสูดดม นับว่าเป็นทางที่สำคัญที่สุด
ผู้ป่วยจะปล่อยเชื้อโรคออกมากับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยการไอหรือจาม
เกิดเป็นละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ ถ่ายทอดให้ผู้อื่นโดยการสูดดมละอองเชื้อโรคเข้าไป
ทำให้ติดเชื้อป่วยเป็นโรค ตัวอย่างเช่น วัณโรค ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้คอตีบ ไอกรน และหัด เป็นต้น
2. ทางการกิน โดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเชื้อโรคจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในลำไส้
ออกมากับอุจจาระแล้วปนเปื้อนกับอาหารหรือเครื่องดื่ม ติดต่อสู่ผู้อื่นต่อไป ตัวอย่างเช่น อหิวาตกโรค
บิด ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โปลิโอ ตับอักเสบ พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว
พยาธิใบไม้ในปอด และพยาธิตัวจี๊ด เป็นต้น
3. ทางผิวหนัง ทางบาดแผล รอยถลอกหรือฉีดยา โดยทั่วไปผิวหนังและเยื่อบุของคนปกติจะสามารถป้องกัน
การบุกรุกของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าเกิดบาดแผลหรือรอยถลอก หรือแทงเข็มผ่านไปก็จะทำให้
เชื้อโรคเข้าไปเพิ่มจำนวนได้ ตัวอย่างเช่น โรคพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก และหนองฝี เป็นต้น
แมลงหลายชนิดเป็นพาหะนำโรค เช่น ยุง หมัด เห็บ เหา และไร
แมลงจะกัดกินเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคเข้าไป เชื้อโรคไปเพิ่มจำนวนในตัวแมลง
และเมื่อแมลงไปกัดกินเลือดผู้อื่นก็จะปล่อยเชื้อถ่ายทอดไป ตัวอย่างเช่น มาลาเรีย
ไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบ เป็นต้น แมลงบางชนิดเป็นพาหะนำโรค
โดยเป็นสื่อกลางนำเชื้อจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยตรงไม่มีการเพิ่มจำนวนของเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้น
4. ทางเพศสัมพันธ์ โรคที่ติดต่อทางเพศเดิมเคยเรียกว่า กามโรค ปัจจุบันเรียกว่า โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ซึ่งมีมากมายหลายโรค เช่น หนองใน ซิฟิลิส หูดหงอนไก่ เริม และแผลริมอ่อนเป็นต้น
5. ทางรกและช่องคลอด ถ้ามารดามีการติดเชื้อโรคบางอย่างขณะตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกติดเชื้อ
เกิดความพิการแต่กำเนิด แท้ง หรือตายตั้งแต่แรกคลอด เชื้อที่สำคัญได้แก่ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ถ้ามารดามีการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ทารกจะได้รับเชื้อโดยการกลืนกิน สูดดมหรือสัมผัสขณะคลอด
ทำให้เกิดโรคอาการรุนแรง ตัวอย่างเช่น ตาอักเสบจากหนองใน หนองในเทียมและโรคเริม เป็นต้น
เนื้อหานี้เหมาะสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ระดับช่วงชั้นที่ 3 และ 4
สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค
มาตรฐาน พ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงสุขภาพ การป้องกันโรค
และการสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ
ประเด็นคำถาม
1. เชื้อโรคสามารถติดต่อได้กี่ทาง ทางไหนบ้าง จงอธิบาย
2. โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ติดต่อโดยทางไหน อย่างไร
3. โรคที่ติดต่อทางการกินหรือรับประทานมีอะไรบ้าง จงยกตัวอย่าง
กิจกรรมเสนอแนะ
1. สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเครือข่ายอินเตอร์เนต
2. ค้นคว้า อภิปราย และนำเสนอ
3. ให้ทำโครงงานเกี่ยวกับเรื่องโรคติดต่อต่างๆ การสร้างเสริมสุขภาพและ
การป้องกันโรคด้วยภูมิปัญญาไทย
การบูรณาการ
สามารถบูรณาการได้กับ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา-จุลินทรีย์/การแพร่ระบาด)
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ศัพท์ภาษาอังกฤษ )
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (โภชนาการ)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1850