โรคติดต่ออุบัติใหม่ / โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ...คืออะไร?


1,245 ผู้ชม


สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมสถานการณ์โรคในปัจจุบัน พบว่า แนวโน้มของการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำมีเพิ่มขึ้น   

โรคติดต่ออุบัติใหม่ / โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ...คืออะไร?

 โรคติดต่ออุบัติใหม่ / โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ...คืออะไร?
https://www.thaihealth.or.th/files/u4910/78921.jpg


 โรคติดต่ออุบัติใหม่ / โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ...คืออะไร?
https://dpc6.ddc.moph.go.th/media/files/3003028.jpg

 

ความหมายของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ 

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) หมายถึง โรคติดเชื้อชนิดใหม่ ๆ 
                              ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา หรือ 
                              โรคติดเชื้อที่มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึง
                              โรคที่เกิดขึ้นใหม่ในที่ใดที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกที่หนึ่ง 
                              และยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะแต่เกิดการดื้อยา 
                              ตัวอย่างโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น โรคเอดส์ ไข้หวัดใหญ่ สัตว์ปีกหรือไข้หวัดนก 
                              และวัณโรคดื้อยา เป็นต้น
โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ (Re-emerging Infectious Diseases) หมายถึง โรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดในอดีต 
                              และสงบไปแล้วเป็นเวลานานหลายปี แต่กลับมาระบาดขึ้นอีก 
                              ตัวอย่างโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เช่น วัณโรค ไข้เลือดออก และมาลาเรีย เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามโรคติดต่ออุบัติใหม่ว่าเป็นโรคติดต่อที่มีอุบัติการณ์ในมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นมาก
ในช่วงที่เพิ่งผ่านมา หรือมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ 
ซึ่งหมายความรวมถึงกลุ่มโรค 5 กลุ่มด้วยกันคือ 
             1. โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่(new infectious diseases) 
             2. โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่(new geographical areas)
                      เป็นโรคที่มาจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง หรือข้ามทวีป เช่นซาร์ส 
             3. โรคติดต่ออุบัติซ้ำ(Re-emerging infectious diseases) 
                     คือโรคติดต่อที่เคยระบาดในอดีตและสงบไปนานแล้วแต่กลับมาระบาดอีก เช่นกาฬโรค 
             4. เชื้อโรคดื้อยา(Antimicrobial resistant organism) 
             5. อาวุธชีวภาพ(Deliberate use of bio-weapons) 
                     โดยใช้เชื้อโรคหลายชนิดผลิตเป็นอาวุธ เช่น เชื้อแอนแทรกซ์ ไข้ทรพิษ

โรคติดต่ออุบัติใหม่ / โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ...คืออะไร?

https://www.vcharkarn.com/uploads/60/60862.jpg

โรคที่เกิดขึ้นใหม่แบบไม่เคยพบมาก่อน เช่น โรคซาร์ส    โรคไข้หวัดนก  โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น 
จัดว่าอยู่ในกลุ่มของ “โรคอุบัติใหม่ (emerging diseases)”

ในขณะที่โรคอย่างมาลาเรีย วัณโรค หรือแม้แต่เอดส์ที่เคยเป็นโรคอุบัติใหม่ในรอบหลายสิบหรือหลายร้อยปีก่อน 
ปัจจุบันนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “โรคอุบัติซ้ำ (reemerging diseases หรือ resurgent diseases)” 
โรคเหล่านี้ดูเหมือนคล้ายกับจะควบคุมได้และมีจำนวนผู้ป่วยลดลงในระยะก่อนหน้านี้ 
แต่แล้วในช่วงไม่กี่ปีนี้ก็กลับมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง

โรคอุบัติซ้ำสามโรคที่เอ่ยถึงข้างต้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อพลเมืองโลก 
เฉพาะสามโรคนี้ ก็ทำให้มีผู้ป่วยรวมกันแล้วมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในโลกนี้ 
และทำให้มีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีรวมกันแล้วมากกว่า 6 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว!
 

สาเหตุและการป้องกันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ ได้แก่ 
             1. การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำรงชีวิต 
                     เช่น การที่ผู้ปกครองนำบุตรไปฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก 
                     ถ้าสถานรับเลี้ยงเด็กจัดสถานที่และอาหารไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะหรือดูแลเด็กไม่ดี 
                     อาจเกิดโรคอุจจาระร่วงและโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ 
             2. การรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารดิบ หรืออาหารกระป๋อง ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ 
             3. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย 
                     ทำให้เกิดการระบาดของโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 
             4. การใช้ยาเสพติดโดยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทำให้เกิดการระบาดของโรคเอดส์และไวรัสตับอักเสบ 
             5. ความก้าวหน้าในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนอวัยวะ 
                     ได้รับยาสเตียรอยด์หรือเคมีบำบัด ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และกลับอุบัติซ้ำ มีดังต่อไปนี้คือ

          ๑. การเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำรงชีวิต
             - การจัดการที่อยู่อาศัย เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศภายในอาคาร ทำให้มีโรคลีเจียนแนร์ หรือโรคสหายสงครามเกิดขึ้น
             - การที่พ่อแม่ออกทำงานนอกบ้าน ไม่มีคนเลี้ยงเด็กที่บ้าน ไม่มีญาติผู้ใหญ่ดูแลต้องเอาลูกไปฝากเลี้ยงไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ทำให้เด็กอยู่ด้วยกันเป็นหมู่มากทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง จากเชื้อหลายๆ ชนิด และโรคติดเชื้อระบบหายใจ
             - การบริโภคอาหาร การนิยมบริโภคอาหารจานด่วนแบบตะวันตก เช่น แฮมเบอร์เกอร์เนื้อสุกๆ ดิบๆ  ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษลำใส้ใหญ่อักเสบและตกเลือด และเกิดกลุ่มอาการฮีโมลัยติก-ยูรีมิก การบริโภคอาหารกระป๋องทำใหเกิดอาหารเป็นพิษโบทูลิสมการบริโภคปลาดิบญี่ปุ่นทำให้เกิดก้อนทูมจากพยาธิอะนิซาคิสในกระเพาะและลำไส้(อะนิซาคิเอสิส)
             - การวางแผนครอบครัว การใช้ยาคุมกำเนิดทำให้มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีแนวโน้มที่จะเกิดการสำสอน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคทางเพศสัมพันธ์ และทำให้เชื้อดื้อยา
             - การเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติเพศสัมพันธ์ เช่น รักร่วมเพศ รักสองเพศ การใช้ปากในการร่วมเพศ เป็นทางที่ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี อันเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์
             - การเดินทางทัศนาจรไกล ๆ  และมีการท่องเที่ยวเพื่อแสวงเพศสัมพันธ์ (sex tour) ทำให้เกิดการติดเชื้อต่างถิ่น ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
             - สันทนาการ การไปตั้งค่ายพักแรม การเดินป่าอาจทำให้ถูกเห็บในป่ากัด และเป็นโรค เช่น แอร์ลิชิโนสิส โรคลายม์ โรคติดเชื้อริกเก็ตเซีย เป็นต้น
             - การใช้ยาเสพย์ติด เช่น เฮโรอีน โคเคนโดยการฉีด และมักใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี เชื้อตับอักเสบบี
             - การใช้ผ้าอนามัยชนิดดูดซับ (tampon) ทำให้เกิดกลุ่มอาการท๊อกซิก-ช๊อก
             - การอาบน้ำในอ่างน้ำร้อน ทำให้ติดเชื้อ Pseudomonas ที่ผิวหนัง การเล่นน้ำในแหล่งน้ำอุ่นๆ  นอกจากจะติดเชื้อแล้ว ยังทำให้สมองอักเสบจากอะมีบาด้วย

          ๒. ผลของความก้าวหน้าในเทคโนโลยีของการรักษา
               - การกำจัดกวาดล้างโรคไข้ทรพิษ ก็ทำให้มีโรคไข้ฝีดาษวานรอุบัติขึ้นในมนุษย์
               - การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ โดยนำสารกดภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคมะเร็ง มาใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ ทำให้เกิดการติดเชื้ออื่นๆ ได้ง่าย เพราะจะต้องได้รับยากดระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ และติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย
               - การปลูกถ่ายกระจกตา ทำใหติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และติดโรคคร็อยซเฟลด์-จาค๊อบ
               - การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โรคที่เคยถูกควบคุมได้มาช้านาน เช่น คอตีบ ไอกรนได้ถูกละเลยเพราะเข้าใจว่า โรคถูกกวาดล้างไปแล้ว จึงไม่มีการฉีดวัคซีนปูพรมอย่างเข็มงวด โรคจึงกลับมาอุบัติใหม่
               - ปัญหาเชื้อดื้อยา การใช้ยาไม่ถูกต้อง ใช้ยาไม่ครบขนาด ซื้อยารับประทานเอง การนำเอาปฏิชีวนะไปผสมอาหารสัตว์ทำให้เชื้อจุลชีพก่อโรคหลายชนิดดื้อยา เช่น เชื้อในหนองในเทียม เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส เชื้อ ซูโดโมแนส  เชื้อวัณโรค เชื้อมาลาเรีย  เป็นต้น
               - วิธีการวินิจฉัยโรคใหม่ๆ  ทำให้มีหัตถการทะลุทะลวง (invasive) เป็นการนำเอาเชื้อโรคใหม่ๆ เข้าสู่ร่างกาย
    
          ๓. ปัญหาสิ่งแวดล้อม
               - การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชและแมลงทำให้แมลงเหล่านี้แพร่พันธุ์มากขึ้น และยังมีสารตกค้างอื่นๆ  ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมผันแปรไป เช่น พีซีบี สารกัมมันตรังสี โลหะหนักต่างๆ ซีเอฟซี
               - ความแห้งแล้ง ความอดอยาก ทำให้สัตว์ป่าเข้าสู่หมู่บ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นเหตุของการกลายพันธุ์ของไวรัสเอชไอวีว่ามาจากไวรัสของลิง ความแห้งแล้งทำให้คนชนบทย้ายถิ่นฐานสู่เมืองใหญ่ รวมทั้งการศึกสงคราม และความขัดแย้ง ก็จะมีผู้อพยพลี้ภัย เป็นการนำโรคเข้าไปสู่ถิ่นปลอดโรค เช่น   มีการอพยพของแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศ และได้นำโรคที่เคยสงบแล้วเข้ามาอาทิ โรคเท้าช้าง คอตีบ โปลิโอ เป็นต้น  การขาดอาหารจากความแห้งแล้งทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ จึงติดโรคต่างๆ ได้ง่าย
               - การตัดไม้ทำลายป่า การปลูกป่าใหม่ทำให้คนไปอยู่ใกล้ป่า ทำให้ติดโรคได้หลายโรค เช่น โรคลายม์ โรคริกเก็ตเซีย 
          ๔. การอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และจำหน่ายอาหาร
               - การเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงสุกร เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ นำไปสู่การระบาดของไข้สมองอักเสบเจอี
               - การเปลี่ยนแปลงวิธีเลี้ยงสัตว์ โดยนำอวัยวะสัตว์ไปผลิตเป็นอาหารเสริมในการเลี้ยงวัว ทำให้เกิดโรควัวบ้าในอังกฤษ
               - การผลิตอาหารในปริมาณที่มากพร้อมๆ กัน มีร้านจำหน่ายเป็นเครือข่ายสาขา เช่น  อาหารจานด่วนแบบตะวันตก ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ลำใส้ใหญ่อักเสบตกเลือดกลุ่มอาการฮีโมลัยติก-ยูรีมิก
    
          ๕. การค้าขายระดับสากล
               - การส่งยางรถยนต์เก่า จากเอเชียอาคเนย์ไปยังอเมริกากลาง นำเอาไข่ยุงลายกลับไปแพร่ในอาณาบริเวณที่เคยปลอดยุงลาย และทำให้เกิดการระบาดไข้เลือดออกเด็งกี่
               - การส่งสัตว์ทดลอง เช่น ลิงจากทวีปแอฟริการไปยุโรป ทำให้มีการอุบัติของไข้เลือดออกมาร์บวร์กในยุโป การส่งลิงแสมจากฟิลิปปินส์ไปสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการอุบัติของเชื้อไวรัสอีโบลา เรสตัน เป็นต้น
               - การนำสัตว์จากแหล่งต่างๆ  ไปเลี้ยงในที่ห่างไกล ทำให้มีการแพร่โรคจากต่างถิ่น เช่น  การระบาดของโรคพิษสุนักบ้าในแรคคูนในสหรัฐอเมริกา
   
          ๖. ศึกสงคราม ความขัดแย้ง มีการเคลื่อนย้ายเป็นขบวนใหญ่ทำให้มีการนำโรคจากถิ่นหนึ่งไปสู้ถิ่นหนึ่ง เช่น โรคหัดเยอรมัน มีการสัมผัสธรรมมชาติมากขึ้น เช่น กลุ่มอาการไข้เลือดออกที่มีอาการทางไต โรคทางเพศสัมพันธ์สงครามชีวภาพ (เชื้อโรค) ฯลฯ
    
         ๗. อื่นๆ ยังมีปัจจัยย่อยๆ อีกมากที่เป็นสาเหตุส่งเสริมให้มีโรคใหม่ๆ อุบัติขึ้น ซึ่งจะต้องคอยเฝ้าระวังสังเกตกันต่อไป

การป้องกัน 
            ประชาชนทุกคนสามารถที่จะป้องกันตนเองจากภาวะ เจ็บป่วยได้ด้วยการรักษาร่างกายให้แข็งแรง 
เพื่อให้เกิดภูมิต้านทานโรค โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย การพักผ่อน และ
ผ่อนคลายความเครียด การบริหารจิต งดสิ่งเสพติดและพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ งดบุหรี่ มีสุขอนามัยที่ดี รักษาสิ่งแวดล้อม 
ติดตามข่าวสารต่าง ๆ เพื่อรับรู้ความเป็นไปของโลก เป็นต้น

เนื้อหานี้เหมาะสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา   ระดับช่วงชั้นที่ 3 และ 4
สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค
มาตรฐาน พ 4.1 เห็นคุณค่าและมีทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ การดำรงสุขภาพ การป้องกันโรค
                           และการสร้างเสริมสมรรถภาพเพื่อสุขภาพ
ประเด็นคำถาม
              1. จงให้ความหมายของโรคติดต่ออุบัติใหม่ และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ พร้อมกับยกตัวอย่างประกอบ
              2. องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามโรคติดต่ออุบัติใหม่ซึ่งหมายความรวมถึงกลุ่มโรค 5 กลุ่มด้วยกันคืออะไรบ้าง
              3. ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และกลับอุบัติซ้ำ ได้แก่อะไรบ้าง
กิจกรรมเสนอแนะ   
              1. สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเครือข่ายอินเตอร์เนต
              2. ค้นคว้า อภิปราย และนำเสนอ 
              3. ให้ทำโครงงานเกี่ยวกับเรื่องโรคติดต่อต่างๆ    การสร้างเสริมสุขภาพและ            
                       การป้องกันโรคด้วยภูมิปัญญาไทย
                  
การบูรณาการ
      สามารถบูรณาการได้กับ  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา-จุลินทรีย์/การแพร่ระบาด)
                                           กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ศัพท์ภาษาอังกฤษ )
                                           กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (โภชนาการ)

ข้อมูลอ้างอิง

https://beid.ddc.moph.go.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=34&Itemid=36

https://guru.sanook.com/encyclopedia 

https://prachachonthai.com/webboard/index.php?topic=525.0
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1851

อัพเดทล่าสุด