มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานกรีฑาตอนที่ 3


2,281 ผู้ชม


มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานกรีฑาตอนที่ 3   

                    วิ่งผลัด 4x100 ไทยผงาดซิวทองทั้งชายหญิง "โจ๊ก" สิทธิชัย สุวรประทีป ประกาศอำลาลู่ กำปั้นไทยไม่พลาดเก็บ 5ทองรวด
                    กรีฑา ที่เมนสเตเดี้ยม เนชั่นแนล สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ไฮไลท์สำคัญประเภทวิ่งผลัด 4x100 หญิงและชาย โดยทีมหญิงไทย ประกอบด้วย จินตหรา เสียงดี, ภัสสร จักษุนิลกร, ลภัสสร ถาวรเจริญ และ นงนุช แสนราช ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 เวลา 44.54 วินาที ซิวเหรียญทองมาครอง ส่วนเวียดนามได้เหรียญเงิน เวลา 44.82 วินาที และอินโดนีเซียวิ่งไป 45.32 วินาที ได้เหรียญทองแดง

ที่มา:https://www.siamsport.co.th/Sport

กลุ่มสาระการเรียนรู้   สุขศึกษาและพลศึกษา ช่วงชั้นที่ 4 ( ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6)
สาระที่ 3 :  การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย  เกม  กีฬาไทย และกีฬาสากล
มาตรฐาน พ 3.1:  เข้าใจ มีทักษะในการเคลื่อนไหว กิจกรรมทางกาย การเล่นเกมและกีฬา
มาตรฐาน พ 3.2: รักการออกกำลังกาย การเล่นเกม และการเล่นกีฬา  ปฏิบัติเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ  มีวินัย  เคารพสิทธิ กฎ กติกา  มีน้ำใจนักกีฬา  มีจิตวิญญาณ ในการแข่งขัน  และชื่นชมในสุนทรียภาพของการกีฬา

ผลการเรียนรู้ที่คาดหว้ง
      1.สามารถอธิบายการถือคฑาแบบต่างๆได้
      2.สามารถปฏิบัติทักษะการถือคฑาในการวิ่งผลัดแบบต่างๆได้

        การวิ่งผลัด หมายถึง การแข่งขันกรีฑาประเภททีม ซึ่งต้องประกอบด้วยนักกีฬาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปลงทำหน้าที่วิ่งในแต่ละช่วงของระยะทางตามที่ตนได้ รับมอบหมายหรือทำการตกลงไว้ภายในทีมตามปกติการแข่งขันกรีฑาประเภทวิ่งผลัดในระดับนานาชาติที่เป็นทางการจะประกอบด้วยการวิ่งผลัดประเภท   4x100 เมตร  ชายหญิง และ 4X400 เมตร ชายหญิง ส่วนระยะทางในการแข่งขันและจำนวนผู้ร่วมแข่งขัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมตามสภาพ  เพื่อเพิ่มความสนุกสนานอีกทั้งยังอาจเป็นการฝึกทักษะเพื่อเชื่อมโยงไปถึงการวิ่งผลัดระดับมาตราฐานต่อไปได้ด้วย
                
                                                 
การวิ่งผลัด และการตั้งต้นวิ่งผลัด 
การวิ่งผลัด 
     เป็นการวิ่งตามระยะทางที่กำหนดโดยมีผู้เข้าแข่งขันเป็นชุด ๆ ตั้งแต่ 2 ชุดขึ้นไปโดยมีคทาเป็นอุปกรณ์ในการรับส่งช่วงการวิ่งจนกว่าจะหมดระยะทางที่ กำหนดมีการแบ่งการวิ่งผลัดออกเป็นหลายรายการ คือ 
      1. วิ่งผลัดระยะทางเท่ากัน โดยผู้แข่งขันแต่ละชุดต้องวิ่งแข่งขันในระยะทางที่เท่ากัน มี 
      1.1 วิ่งผลัด 5x80 เมตร ผู้แข่งขัน 5 คน วิ่งคนละ 80 เมตร 
      1.2 วิ่งผลัด 8x50 เมตร ผู้แข่งขัน 8 คน วิ่งคนละ 50 เมตร 
      1.3 วิ่งผลัด 4x100 เมตร ผู้แข่งขัน 4 คน วิ่งคนละ 100 เมตร 
      1.4 วิ่งผลัด 4 x200 เมตร ผู้แข่งขัน 4 คน วิ่งคนละ 200 เมตร 
      1.5 วิ่งผลัด 4x400 เมตร ผู้แข่งขัน 4 คน วิ่งคนละ 400 เมตร 
      2. วิ่งผลัดต่างระยะ ผู้แข่งขันแต่ละคนอาจจะวิ่งในระยะทางที่ไม่เท่ากันแต่รวมระยะทางของแต่ละชุดแล้วต้องเท่ากันมี 
      2.1 วิ่งผลัด 80x70x50x50x70x80 เมตร ผู้เข้าแข่งขัน 6 คน แบ่งการวิ่งเป็นวิ่ง 80 เมตร 2 คน วิ่ง 70 เมตร 2 คน 
      2.2 วิ่งผลัด 80x120x120x80 เมตร ผู้เข้าแข่งขัน 4 คน แบ่งการวิ่งเป็น วิ่ง 80 เมตร 2 คน วิ่ง 120 เมตร 2 คน

 การถือคฑาตั้งต้นวิ่ง 
     การถือคฑาออกวิ่งนั้น มักจะยึดหลักให้ถือคทาด้วยมือซ้ายเสมอและให้เท้าขวาอยู่ข้างหลังเพราะจะได้ส่งให้กับผู้รับซึ่งรับด้วยมือขวาสะดวกและการแกว่งแขนออกวิ่ง แขนซ้ายที่เหวี่ยงไปข้างหลังจะได้สะดวก คทาจะได้ไม่หลุดมือ แต่หากว่าคนรับถนัดใช้มือซ้ายในการรับ ก็อาจถือคทาด้วยมือขวาได้ 
     วิธีที่ 1 ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หนีบคฑาบริเวณส่วนกลางใช้ปลายนิ้วทั้ง 5 ยันพื้นไว้ 
     วิธีที่ 2 ใช้นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย จับกำรอบคฑาทางส่วนหลัง ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และข้อนิ้วที่สองของนิ้วอื่นยันพื้น 
     วิธีที่ 3 ใช้นิ้วกลางนิ้วเดียวกำรอบคฑา ใช้ปลายนิ้วอื่นยันพื้น 
     วิธีที่ 4 ใช้นิ้วกลางและนิ้วนางกำรอบคฑา ใช้ปลายนิ้วที่เหลือยันพื้น 
     วิธีที่ 5 ใช้นิ้วชี้นิ้วเดียวกำรอบคฑาใช้นิ้วที่เหลืออีก 4 นิ้วยันพื้น

                         มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานกรีฑาตอนที่ 3         มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานกรีฑาตอนที่ 3

ที่มา:https://www.thaigoodview.com/library
     ในการถือคฑาทั้ง 5 วิธีนี้ให้หัวคฑาชี้ตรงไปข้างหน้าตามทางวิ่งและไม่ให้หัวคฑาแตะพื้นบนเส้นเริ่มหรือแตะพื้นเลยเส้นเริ่มออกไปเพราะถือว่าเป็นการ ผิดระเบียบของการเริ่มต้น และใช้ท่าทางการออกสตาร์ทเช่นเดียวกันกับการวิ่งระยะสั้น 
 การรับส่งคทา แบ่งออกตามลักษณะมือผู้รับและลักษณะการส่ง คือ 
   1. ผู้รับเหยียดแขนไปข้างหลัง หงายฝ่ามือ แยกนิ้วหัวแม่มือออกจากนิ้วอื่น ฝ่ามืออยู่ต่ำกว่าระดับไหล่ ผู้ส่งคทา ฟาดคทาลงบนฝ่ามือของผู้รับ 
   2. ผู้รับเหยียดแขนไปข้างหลังเฉียงออกทางด้านนอกหงายฝ่ามือขึ้นนิ้วหัวแม่มือแยกออกจากนิ้วอื่นฝ่ามืออยู่สูงกว่าระดับสะโพกประมาณ 4- 5 นิ้ว ผู้ส่งฟาดคทาลงบนฝ่ามือผู้รับ 
   3. ผู้รับเหยียดแขนไปข้างหลังให้มืออยู่ในระดับสะโพกหันฝ่ามือไปข้างหลังนิ้วมือชี้ลงพื้นกางนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ออกจากกันผู้ส่งตีคทาขึ้นให้เข้าฝ่ามือผู้รับระหว่างนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ 
   4. ผู้รับยืนงอแขนให้นิ้วหัวแม่มือจดสะเอว กางข้อศอกออก นิ้วหัวแม่มือแยกออกจากนิ้วอื่น ๆ ผู้ส่งเหยียดแขนและตีคทาขึ้นให้เข้าฝ่ามือผู้รับ

มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานกรีฑาตอนที่ 3

ที่มา:https://www.thaigoodview.com/library

 ข้อควรปฏิบัติ 
   1. ผู้ส่งต้องพยายามเร่งฝีเท้าให้ทันผู้รับคทาอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้รับ-ส่ง ให้ทันภายในเขตรับ-ส่ง 
   2. ต้องเหยียดแขนออกไปให้ได้จังหวะไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ฝีเท้าลดลงในการวิ่งผลัดระยะสั้น ระยะรับส่งคทาควรอยู่ในระหว่าง 15-18 เมตร หลังจากเส้นเริ่มของเขตรับส่ง  ส่วนวิ่งผลัดระยะไกลประมาณ 5- 12 เมตร หลังเส้นเริ่ม 
   3. ฟาดคทาลงบนมือผู้รับด้วยความแรงพอสมควร ไม่ปล่อยคทาจนกว่าผู้รับจะรับได้มั่นคงและมีแรงดึงจากมือ 
   4. ผู้ส่งต้องอยู่ในช่องวิ่งของตนเอง จนกว่านักกีฬาทีมอื่น ๆได้ออกวิ่งเลยไปหมดแล้วจึงจะออกจากลู่วิ่งได้ 
   5. เมื่อวิ่งถึงผู้รับแล้วจะต้องไม่ลดฝีเท้าลง ให้วิ่งชะลอไปกับผู้รับ จนกระทั่งถึงจุดรับส่งซึ่งได้กำหนดไว้จึงส่งคทาออกไป 
   6. วิธีถือคทาเพื่อส่งให้ผู้รับแบบสากลนิยม ที่ได้ผลดีมากที่สุดเริ่มด้วย ผู้ตั้งต้นออกวิ่งด้วยการถือคทาด้วยมือขวาวิ่งไปส่งให้ผู้รับคนที่ 2 ซึ่งยืนชิดขอบขวาของช่องวิ่งและรับคทาด้วยมือซ้าย วิ่งไปส่งให้คนที่ 3 ซึ่งยืนชิดขอบซ้ายของช่องทางวิ่งและรับคทาด้วยมือขวา วิ่งไปส่งให้คนสุดท้าย ซึ่งจะยืนชิดขอบ ขวาช่องวิ่งและรับคทาด้วยมือซ้ายวิ่งไปตลอดระยะทาง ทั้งนี้ ผู้รับไม่ต้องเปลี่ยนมือ เมื่อรับคทาแล้ว ทำให้ไม่เสียความเร็วในการวิ่ง

 เขตรับ-ส่งคทา 
      ตามกติกาการแข่งขันวิ่งผลัดระยะสั้น จะมีการกำหนดการส่งและการรับคทาไว้ ผู้ส่งและผู้รับจะต้องทำการเปลี่ยนคทามือต่อมือได้ภายในเขต 20 เมตรเท่านั้น กล่าวคือ เขตนี้นับจากระยะทางเต็มขึ้นไปข้างหน้า 10 เมตร และถอยหลังลงไป 10 เมตร แต่อนุญาตให้ผู้รับถอยหลังลงไปต่ำกว่าเขตรับส่งจริงได้อีก 10  เมตร แต่ระยะนี้ผู้รับจะรับคทาไม่ได้ ใช้เพื่อให้ผู้รับวิ่งเพื่อให้เกิดความเร็วสัมพันธ์กับผู้ส่งเท่านั้น  

มาเรียนรู้ทักษะพื้นฐานกรีฑาตอนที่ 3

ที่มา:https://www.thaigoodview.com/library

การกำหนดที่หมาย 
     การกำหนดที่หมายและการใช้สัญญาณระหว่างผู้ส่งและผู้รับคทาจะต้องมีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีคือ เมื่อผู้ส่งวิ่งมาถึงที่หมายที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว  ผู้รับก็จะออกวิ่งเองการกำหนดที่หมายนั้นขึ้นอยู่กับฝีเท้าของผู้ส่งและผู้รับถ้าผู้ส่งวิ่งเร็วกว่าผู้รับก็ต้องกำหนดที่หมายให้ไกลจากเดิม ถ้าผู้ส่งวิ่งช้ากว่าผู้รับก็ต้องเลื่อนจุดกำหนดให้มาใกล้กว่าเดิมจนกระทั่งสามารถรับ-ส่งกันด้วยความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี 
 ประเด็นคำถาม
        1. จงอธิบายการถือคฑาแบบต่างๆมาให้เข้าใจ
        2. การรับส่งคฑามีเทคนิคปฏิบัติอย่างไร
       
กิจกรรมเสนอแนะ  
        1. ให้นักเรียนไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในห้องสมุดโรงเรียนหรืออินเตอร์เน็ต
        2. จัดนิทรรศการ หรือจัดบอร์ดเกี่ยวกับกรีฑา
         
การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆ
        1. ภาษาไทย     การอ่านจับใจความ  การสรุปบทความ 
        2. วิทยาศาสตร์  ระบบการไหลเวียนโลหิตและการเต้นของหัวใจ
        3. คณิตศาสตร์   การคำนวณเวลาในอดีตจนถึงปัจจุบัน
        4. สุขศึกษาและพลศึกษา (สุขศึกษา)  อาหารและโภชนาการสนองต่อการเล่นกรีฑา

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1889

อัพเดทล่าสุด