ประวัติความเป็นมาของกรีฑาในประทศและต่างประเทศ ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างละเอียดในการศึกษาครั้งนี้
ภาพจาก..sporthero.sat.or.th
กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา ช่วงชั้นที่ 3 ( ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3)
สาระที่ 3 : การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย เกม กีฬาไทย และกีฬาสากล
มาตรฐาน พ 3.1: เข้าใจ มีทักษะในการเคลื่อนไหว กิจกรรมทางกาย การเล่นเกมและกีฬา
มาตรฐาน พ 3.2: รักการออกกำลังกาย การเล่นเกม และการเล่นกีฬา ปฏิบัติเป็นประจำ
อย่างสม่ำเสมอ มีวินัย เคารพสิทธิ กฎ กติกา มีน้ำใจนักกีฬา มีจิตวิญญาณ
ในการแข่งขัน และชื่นชมในสุนทรียภาพของการกีฬา
ผลการเรียนรู้ที่คาดหว้ง
1.สามารถอธิบายและเข้าใจในประวัติของกรีฑาในประเทศและต่างประเทศ
2.สามารถวิเคราะห์ความเป็นมาของกรีฑาและปฏิบัติทักษะการเคลื่อนไหว
เนื้อหาสาระ
สาระที่ 3 : การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย เกม กีฬาไทย และกีฬาสากล
มาตรฐาน พ 3.1: เข้าใจ มีทักษะในการเคลื่อนไหว กิจกรรมทางกาย การเล่นเกมและกีฬา
มาตรฐาน พ 3.2: รักการออกกำลังกาย การเล่นเกม และการเล่นกีฬา ปฏิบัติเป็นประจำ
อย่างสม่ำเสมอ มีวินัย เคารพสิทธิ กฎ กติกา มีน้ำใจนักกีฬา มีจิตวิญญาณ
ในการแข่งขัน และชื่นชมในสุนทรียภาพของการกีฬา
ผลการเรียนรู้ที่คาดหว้ง
1.สามารถอธิบายและเข้าใจในประวัติของกรีฑาในประเทศและต่างประเทศ
2.สามารถวิเคราะห์ความเป็นมาของกรีฑาและปฏิบัติทักษะการเคลื่อนไหว
เนื้อหาสาระ
ประวัติความเป็นมาของกรีฑา
นับย้อนหลังไปในสมัยกรีกเรืองอำนาจ ชาวกรีกสมัยนั้นส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าซีอุสว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด และจัดให้มีพิธีบวงสรวง ซึ่งในพิธีบวงสรวงมีกิจกรรมต่าง ๆ และกิจกรรมส่วนหนึ่งก็คือการแข่งขันกีฬา โดยจัดขึ้นที่เชิงเขาโอลิมปัส เมืองโอลิมเปีย เรียกชื่อการแข่งขันนี้ว่า รัฐพิธีโอลิมปิก ซึ่งถือว่าเป็นการกำเนิดกีฬาโอลิมปิก
กีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณ (Ancient Olympic Games) ของกรีกจัดขึ้น 4 ปี ต่อครั้ง จะเริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่ที่มีหลักฐานบันทึกไว้และถือกันว่าเป็นกีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณครั้งที่ 1 คือ การแข่งขันซึ่งจัดในปี 776 ก่อนคริสต์ศักราช กรีฑามีบทบาทสำคัญในกีฬาโอลิมปิกเป็นอย่างมาก กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 13
มีการแข่งขันวิ่ง 192 เมตรอย่างเดียว และต้องแข่งขันเสร็จภายในวันเดียว ครั้งที่ 18 เพิ่มการแข่งขันมวยปล้ำและปัญจ กรีฑา ซึ่งปัญจกรีฑาประกอบด้วยการวิ่ง การกระโดดไกล การพุ่งแหลน การขว้างจักร และมวยปล้ำ หลังจากนั้นได้เพิ่มกีฬาอื่น ๆ เข้าไปอีก และเพิ่มจำนวนเวลาในการแข่งขันเป็น 5 วัน สำหรับผู้ชนะในการแข่งขันจะได้รับมงกุฎที่
ทำด้วยใบมะกอกเป็นรางวัล
นอกจากกรีกจะใช้กีฬาเพื่อประโยชน์ในการบวงสรวงเทพเจ้าที่ตนนับถือแล้ว ชนชาติกรีกยังถือว่ากีฬาโดยเฉพาะกรีฑามีคุณประโยชน์ในการสร้างประชาชนพลเมืองของกรีกให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจให้พร้อมที่จะรับใช้และปกป้องชาติบ้านเมือง
หลังจากกรีกตกอยู่ใต้อำนาจของโรมัน เมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราชโรมันยังคงจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกต่อมาเพื่อสนองความต้องการของสาธารณชนแต่มาตรฐานการกีฬาเริ่มด้อยลง ต่อมาในสมัยจักรพรรดิทีโอโดซิอัสที่ 1 (Theodosius 1) แห่งโรมัน ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ทรงรังเกียจว่ามีพวกนอกศาสนาร่วมแข่งขันจึงให้เลิกกีฬาโอลิมปิกเสียตั้งแต่ พ.ศ. 937 เป็นอันว่ากีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณซึ่งจัดมานานถึง 1,200 ปี ได้ถึงวาระสิ้นสุดลง
กีฬาโอลิมปิกหยุดไปเป็นเวลานานถึง 15 ศตวรรษ จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 บารอน ปิแอร์ เดอกูเบอร์แตง (Baron Pierre de Coubertin, พ.ศ. 2406 – 2480) ชาวฝรั่งเศสได้ริเริ่มฟื้นฟูกีฬาโอลิมปิกขึ้นมาใหม่ทำให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยปัจจุบัน (Modern Olympic Games) ครั้งแรกขึ้นใน พ.ศ. 2439 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ การที่กำหนดให้กรีกเป็นสถานที่แข่งขันครั้งแรกก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ถิ่นกำเนิดของกีฬาโอลิมปิก
ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ ยังคงให้ความสำคัญต่อกรีฑาเช่นกันประเภทกรีฑาที่แข่งขันในโอลิมปิกครั้งแรกนี้ ได้แก่ วิ่ง 100 เมตร วิ่ง 400 เมตร วิ่ง 800 เมตร วิ่ง 1,500 เมตร วิ่งมาราธอน วิ่งข้ามรั้ว 110 เมตร กระโดดสูง กระโดดค้ำ กระโดดไกล วิ่งเขย่งก้าวกระโดด ทุ่มน้ำหนัก และขว้างจักร
กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 2 จัดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมาได้เวียนไปจัดตามประเทศต่าง ๆ โดยจัด 4 ปีต่อครั้ง เช่นเดียวกับโอลิมปิกสมัยโบราณ แต่มีเว้นไปบ้างในช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลก
ใน พ.ศ. 2455 ได้มีการจัดตั้งองค์การระดับนานาชาติที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกรีฑาโดยเฉพาะ คือ สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (International Amateur Athletic Federation ชื่อย่อว่า IAAF) โดยมีประเทศสมาชิก 207 ประเทศ IAAF ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑาในระดับนานาชาติขึ้น คือ การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก
นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกรีฑารายการต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การแข่งขันกรีฑาในร่ม การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย การแข่งขันกรีฑาในกีฬาเอเชียนเกมส์ การแข่งขันกรีฑาในกีฬาซีเกมส์ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่ภายใต้กฎระเบียบของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ
ในการแข่งขันรายการที่สำคัญของโลกล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญต่อกรีฑาทั้งสิ้น ทั้งนี้การแข่งขันกรีฑารายการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาภายหลังนั้น ก็เกิดจากแนวความคิดของการแข่งขันกรีฑาในกีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณนั่นเอง
ประวัติกรีฑาในประเทศไทย
กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2440 ณ ท้องสนามหลวง ในพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนั้นพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิดการแข่งขันและทอดพระเนตรการแข่งขัน ได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทครั้งนั้นด้วย การแข่งขันกรีฑานักเรียนในครั้งแรกนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นที่สนใจของนักเรียนและประชาชนโดยทั่วไป ต่อมากระทรวงธรรมการได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนเป็นประจำทุกปี
การแข่งขันกรีฑานักเรียนซึ่งได้เริ่มแข่งขัน ณ ท้องสนามหลวงนั้น ต่อมาได้เปลี่ยนสถานที่มาแข่งขันที่สนามโรงเลี้ยงเด็ก และมีการแสดงทางการฝีมือของนักเรียนด้วย ต่อจากนั้นก็ย้ายสนามแข่งขันไปแข่งที่โรงเรียนมัธยมราชบูรณะ (ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) ซึ่งในการแข่งขันได้เพิ่มกิจกรรมอย่างอื่นเข้าไปด้วย เช่น การแสดงกายบริหาร การโหนราว การไต่บันไดโค้ง การหกคะเมนบนหลังม้า การหกคะเมนไม้คู่ การหกคะเมนไม้เดี่ยว การเล่นว่าย การเล่นชิงช้า การหัดแถว การชักเย่อ การกระโดดสูง การวิ่งข้ามรั้ว การวิ่งเก็บของ การกระโดดไกล การวิ่งเร็วระยะทาง 2 เส้น การวิ่งรอบกระสอบ การวิ่งทนระยะทาง 10 เส้น เป็นต้น และต่อมาใน พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนสถานที่ไปแข่งขันที่บริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ
พ.ศ. 2484 ได้มีการจัดตั้งสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพลศึกษา มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการจัดการแข่งขันกรีฑาประเภทมหาวิทยาลัยและประชาชนแทนกรมพลศึกษา
พ.ศ. 2504 ได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้น มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมกีฬาประชาชน โดยให้จัดมีการแข่งขันกรีฑาและกีฬาต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี เรียกกันโดยทั่วไปว่า กีฬาแห่งชาติ และให้ถือว่ากรีฑาเป็นกีฬาหลักที่ต้องจัดให้มีในการแข่งขันทุกครั้ง
พ.ศ. 2528 เปลี่ยนชื่อองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นการกีฬาแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีเอกชนหลายแห่งได้ให้ความสำคัญต่อกรีฑาของประเทศไทย โดยจัดให้มีการแข่งขันกรีฑารายการต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยร่วมกับสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ประเด็นคำถาม
1. การสร้างเสริมสุขภาพทางกายในการเล่นกรีฑามีผลดีอย่างไร
2. นักเรียนคิดว่าการเล่นกรีฑาให้ประโยชน์ต่อร่างกายเราอย่างไร
3. นักเรียนบอกได้ไหมว่าการเล่นกรีฑามีผลกระทบกับร่างกายดีอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
1. ให้นักเรียนไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในห้องสมุดโรงเรียนหรืออินเตอร์เน็ต
2. จัดนิทรรศการ หรือจัดบอร์ดเกี่ยวกับความเป็นมาของกรีฑา
การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆ
1. ภาษาไทย การอ่านจับใจความ การสรุปบทความ
2. วิทยาศาสตร์ ระบบการไหลเวียนโลหิตและการเต้นของหัวใจ
3. คณิตศาสตร์ การคำนวณเวลาในของแต่ละยุคของกรีฑา
4. สุขศึกษาและพลศึกษา (สุขศึกษา) อาหารและโภชนาการสนองต่อการอออกำลังกาย
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1897