วัยหมดระดูกับฮอร์โมนทดแทน


744 ผู้ชม


วัยหมดระดู หรือ วัยทอง (Menopause) เป็นวัยที่สิ้นสุดการมีระดูอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่สร้างฮอร์โมนลดลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับสตรีทุกคน   

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้       สุขศึกษาและพลศึกษา (สุขศึกษา)

                                                  ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
        หน่วยการเรียนรู้ที่  1         เรื่อง  การดูแลและส่งเสริมสุขภาพของผู้ใหญ่วัยทองและผู้สูงอายุ
        สาระที่ 2                        ชีวิตและครอบครัว
        มฐ.พ. 2.1                      เข้าใจและเน้นคุณค่าของตนเองครอบครัว  เพศศึกษา  และมีทักษะในการดำเนินชีวิต 
        วัยหมดระดู หรือ วัยทอง (Menopause) เป็นวัยที่สิ้นสุดการมีระดูอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่สร้างฮอร์โมนลดลง  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับสตรีทุกคน โดยส่วนใหญ่สตรีจะเข้าสู่วัยหมดระดูเมื่ออายุ 47–50 ปี เริ่มจากรังไข่เริ่มทำงานไม่ปกติ ซึ่งทำให้มีระดูถี่ขึ้นจากช่วงห่าง 28 วัน เป็นประมาณ 21 วัน หรือมีระดูไม่สม่ำเสมอ ระยะเวลาระหว่างรอบระดูจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งไม่มีระดูอย่างถาวร โดยทั่วไปช่วงนี้ใช้เวลา 2–8 ปี เราเรียกช่วงเวลานี้ว่าวัยใกล้หมดระดู (Perimenopause) หรือวัยเปลี่ยน (Climacteric)

วัยหมดระดูกับฮอร์โมนทดแทน


     การเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูเกิดขึ้นได้หลากหลาย ส่วนใหญ่ดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ในสตรีบางคนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นและไม่พบปัญหา แต่ในสตรีบางคนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องการการดูแลรักษา ความแตกต่างในสตรีแต่ละคนนั้นอาจเนื่องจากความแตกต่างในพื้นฐานพันธุกรรม การดำเนินชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ มีปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและชุมชน ดังนั้นจึงควรทราบว่าการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูนั้นมีอะไรบ้าง  เพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยหมดระดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในวัยหมดระดูสามารถแบ่งอย่างง่ายๆ ออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น  และการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว 
     การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น   เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัยใกล้หมดระดู และวัยหมดระดูช่วงต้น  เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่
1.อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบตามตัว (Hot Flashes) มักจะมีอาการร้อนซู่ขึ้นมาทันทีบริเวณหน้า ลำคอ และหน้าอก  มักเกิดอาการอยู่นานประมาณ 3–5นาที แล้วก็หายไป บางคนพบมีเหงื่อออกมากร่วมด้วย  ส่วนใหญ่มักมีอาการในช่วงกลางคืน ทำให้นอนไม่หลับตามมา 
2.อาการของระบบอวัยวะสืบพันธุ์  ได้แก่  ช่องคลอดอักเสบ คันช่องคลอด ช่องคลอดแห้ง ทำให้เจ็บเวลามีการร่วมเพศ 
3.อาการช่องระบบทางเดินปัสสาวะ  ได้แก่  ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย 
4.การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์  ได้แก่  หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เครียด กังวล เหนื่อย เพลีย หมดความต้องการทางเพศ เป็นต้น 
5.การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง ในวัยหมดระดูผิวหนังจะบางลง ความยืดหยุ่นลดลง 
6.การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและข้อ  พบว่า กำลังของกล้ามเนื้อลดลง มีอาการปวดตามข้อ 
    
  การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวัยหมดระดูช่วงหลัง มักเกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกาย  
1.การเปลี่ยนแปลงทางกระดูก เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูจะมีการสูญเสียกระดูกมากขึ้น แต่ละคนจะมีอัตราการสูญเสียกระดูกที่เร็วช้าแตกต่างกันไป  ประมาณ 1 ใน 3 จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว เกินกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้เร็ว  การสูญเสียกระดูกที่รวดเร็วในอัตรานี้อาจคงอยู่นาน 10–15 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง
2.การเปลี่ยนแปลงของหัวใจและหลอดเลือด  พบว่าในวัยหมดระดูจะมีอุบัติการณ์และความชุกของโรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น มีไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นในปัจจุบันมีการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกัน และรักษาอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูกันอย่างแพร่หลาย  อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน หรือผู้ที่อยู่ในวัยหมดระดูควรมีความรู้ และความเข้าใจในฮอร์โมนทดแทน และการปฏิบัติตัวในช่วงวัยหมดระดู เพื่อสามารถใช้ชีวิตในช่วงวัยหมดระดูได้อย่างมีความสุข และสุขภาพที่ดี

วัยหมดระดูกับฮอร์โมนทดแทน

 ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดระดู แบ่งตามลักษณะการใช้ออกเป็น
1.ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการของวัยหมดระดู มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทาบริเวณผิวหนังชนิดแผ่นแปะ 
2.ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่  เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วย เอสโตรเจน และโปรเจสโตเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้สามารถแบ่งได้เป็น 
 2.1 ชนิดที่ใช้เป็นรอบๆ (Cyclic regimen) เป็นการให้เอสโตรเจน 21 วันและใน 12 วัน หลังจะมีโปรเจสโตเจนร่วมด้วย จะมีช่วงที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน 7 วัน ทำให้มีระดูสม่ำเสมอ 
2.2 ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้กับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยน หรือวัยหมดระดูช่วงต้น 
2.3 ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen) เป็นการให้เอสโตรเจนในปริมาณที่เท่ากันทุกวันเพื่อให้ไม่ต้องมีระดู ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หมดระดูมานานมากกว่า1ปีขึ้นไป 
3.ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจน แต่สามารถป้องกันและรักษาการเปลี่ยนแปลงในวัยหมดระดูได้  ได้แก่  Tibolone   Raloxifene    สารสกัดจากพืช (Phytoestrogen)
      
  อาการข้างเคียงของฮอร์โมนทดแทน
 1.เลือดออกทางช่องคลอด เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย และทำให้ไม่อยากใช้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนใหญ่พบได้ในช่วง 3 – 6 เดือนแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน และเมื่อใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ เลือดที่ออกทางช่องคลอดจะหายไปเอง แต่ถ้ามีเลือดออกปริมาณมากหรือเลือดออกนานเกิน 6 เดือนแรก ควรปรึกษาแพทย์
2.อาการเจ็บคัดเต้านม  พบในสตรีที่หมดระดูมานานได้มากกว่าสตรีที่หมดระดูไม่นานอาการนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น  หลังจากนั้นอาการจะลดลงและหายไปอาการปวดศีรษะไมเกรน การให้ฮอร์โมนทดแทนชนิดต่อเนื่อง จะทำให้อาการนี้ลดลง แต่การให้ฮอร์โมนทดแทนชนิดเป็นรอบ อาจทำให้อาการดีเพิ่มขึ้นได้ 
3.น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  การให้ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในวัยหมดระดูนั้น สาเหตุหนึ่ง มาจากการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างอาหาร และการออกกำลังกาย รวมทั้งอัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายลดลง 
การปฏิบัติตัวในวัยหมดระดู
1.ควบคุมอาหาร  โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง 
2.รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง 
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
4.ตรวจเต้านมด้วยตนเอง และตรวจ  Mammogram ในรายที่จำเป็น 
5.ตรวจร่างกาย และตรวจภายในประจำปี 
6.ปรึกษาแพทย์ และใช้ฮอร์โมนทดแทนในรายที่จำเป็น
        สตรีทุกคนจะต้องผ่านเข้าสู่วัยหมดระดู เมื่อมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการปฏิบัติตัวในวัยหมดระดูจะทำให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี สำหรับในผู้ที่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้  และควรติดตามผลการใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยการดูแลของแพทย์ เพื่อที่จะได้ใช้ฮอร์โมนทดแทนที่เหมาะสมในแต่ละคน

วัยหมดระดูกับฮอร์โมนทดแทน

ที่มา: https://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-19-02
        
โดย    พ.ญ.กาญจนา ชัยกิตติศิลป์, พ.ญ. สุกัญญา ชัยกิตติศิลป์
                                               
        ประเด็นคำถาม 
        1. อะไรที่บ่งบอกได้ว่าเป็น สตรีวัยทอง 
        2. วัยทองเกิดขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงอายุกี่ปีขึ้นไป
        3. ปัญหาสุขภาพทางเพศของสตรีวัยทองมาจากสาเหตุใด
        4. เมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง ควรปฏิบัติตนอย่างไร ไม่ให้ครอบครัวเกิดปัญหา
                 
        กิจกรรมเสนอแนะ   
        1. แนะนำกิจกรรมนันทนาการคลายเครียดให้นักเรียนลองไปปฏิบัติกับผู้ปกครอง                                     
        2. ให้นักเรียนไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ต
        3. จัดนิทรรศการ หรือ เชิญเจ้าหน้าที่กองสุขภาพมาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุ 
            รวมทั้งการปฏิบัติตนเมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง 
          
         การบูรณาการกับกลุ่มสาระอื่นๆ
        1. ภาษาไทย                               อ่านออกเสียง คัดไทย  สรุปบทความ  การวิเคราะห์บทความในข่าว
        2. สังคมศึกษา และวัฒนธรรม          บทบาทของเยาวชนที่มีต่อผู้สูงอายุ
        3. ศิลปะ                                     วาดภาพผู้สูงอายุ ตามจินตนาการของนักเรียน
        4. วิทยาศาสตร์                             ความสำคัญของเซลล์และสิ่งมีชีวิต
        5. สุขศึกษาและพลศึกษา(พลศึกษา) การจัดกิจกรรมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2335

อัพเดทล่าสุด