ปากยังไม่สิ้นกลิ่น.......?


627 ผู้ชม


กลิ่นปาก นับเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยและไม่ได้รับการรักษา ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ หลายคนเก็บความกังวลใจกับปัญหากลิ่นปากเอาไว้จนทำให้เสียบุคลิกภาพ กลายเป็นคนขาดความมั่นใจในการสนทนากับผู้อื่นในระยะใกล้ๆ   

กำจัด "กลิ่นปาก" ให้สิ้นซาก

ปากยังไม่สิ้นกลิ่น.......?
ที่มา

สาเหตุการเกิดกลิ่นปาก มีสาเหตุ 2 สาเหตุ คือ

1. สาเหตุจากภายในช่องปาก ได้แก่
    - ฟันผุเป็นรู ฟันคุด
    - โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์
    - แผลถอนฟัน แผลผ่าตัดในช่องปาก หรือแผลที่เกิดจากการติดเชื้อต่างๆในช่องปาก  ตลอดจนแผลร้อนใน หรือแผลมะเร็ง เป็นต้น
    - ฟันปลอมที่ไม่สะอาด ครอบฟันที่ขอบไม่แนบกับตัวฟัน หรือหรือวัสดุอุดฟันที่มีขอบเกิน ทำให้เป็นที่กักของเศษอาหาร
    -  ฟันซ้อนเก หรือการใส่เครื่องมือจัดฟัน ทำให้มีเศษอาหารตกค้าง
    -  ฝ้าขาวบนลิ้น ซึ่งเกิดจากการสะสมของเศษอาหารและแบคทีเรียบนพื้นผิวของลิ้น เป็นสาเหตุใหญ่ของการเกิดกลิ่นปาก เนื่องจากฝ้าขาวบนลิ้นทำให้เกิดสารประกอบกำมะถัน จำพวกไฮโดรเจน ซัลไฟด์ และการอักเสบในร่องเหงือก ทำให้เกิดสารจำพวกเมททิล เมอร์แคปแทน หากผู้ป่วยมีน้ำลายไหลน้อย หรือปากแห้งร่วมด้วยจะทำให้การสะสมของสารประกอบกำมะถันดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นถึง 6 เท่า

2. สาเหตุจากภายนอกช่องปาก ได้แก่
    - อาหาร กลิ่นปากที่เกิดจากอาหารจะเป็นกลิ่นที่ไม่ถาวร คือจะหายไปเมื่อร่างกายย่อยสลายและขับออกหมด เว้นเสียแต่ว่าจะรับประทานอาหารเหล่านั้นเป็นประจำทุกวัน จนมีอยู่ในร่างกายอย่างต่อเนื่อง อาหารเหล่านั้นได้แก่ กระเทียม เครื่องเทศ หัวหอม อาหารที่มีโปรตีนสูงตลอดจนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    - บุหรี่
    - โรคทางระบบอื่น ๆ เช่น
    - โรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น การอักเสบ หรือมะเร็งในโพรงจมูก ไซนัส  ทอนซิล คอหอย กล่องเสียง หรือปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ  ซึ่งทำให้เกิดน้ำมูกที่ข้นเหนียวกว่าปกติ และไหลลงในลำคอทางด้านหลังจมูกเป็นประจำ 
    - โรคของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ การอักเสบของหลอดอาหาร โรคกระเพาะ โรคลำไส้ ซึ่งในระยะหลังมีการวิจัยสนับสนุนว่าโรคกรดไหลย้อนเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวในทางเดินหายใจ ซึ่งมีผลต่อการเกิด post nasal drip ได้ในระยะต่อมา
    - โรคตับ โรคไต และโรคเบาหวาน สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นกลิ่นเฉพาะของแต่ละโรค
กำจัดกลิ่นปาก หากมีโรคในช่องปากต้องการรักษาโรคนั้นๆ ให้หายดีเสียก่อน แต่ถ้าในกรณีที่ไม่มีโรคในช่องปาก แต่ยังคงมีกลิ่นปากอยู่ วิธีลดกลิ่นปากที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดและได้ผลมากที่สุดคือ การทำความสะอาดช่องปากของเราเองโดยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และการแปรงลิ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนมักมองข้าม  

ประเด็นการศึกษา  การดูแลสุขภาพปากและฟัน

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา   มาตรฐาน  พ 1.1     ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5


คำถามชวนคิด ชวนคุย

1. กลิ่นปากเกิดขึ้นได้อย่างไร 
2. มีวิธีอย่างไรบ้างในการกำจัดกลิ่นปาก
3. หากเรากำจัดกลิ่นปากไม่ได้ ควรทำอย่างไร เพราะอะไร

 
แหล่งอ้างอิงข้อมูล : https://www.thairath.co.th/content/life/91721

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2837

อัพเดทล่าสุด