พลาสเตอร์คุมกำเนิด


1,120 ผู้ชม


เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99 ลักษณะคล้ายพลาสเตอร์ยา   

ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

(Transdermal patch female contraceptive)

            เป็นยาคุมกำเนิดแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99  เพิ่งเข้านำเข้ามาใช้ในประเทศไทย มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิด Combined pill โดยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะสัปดาห์ละ 1 แผ่น ในระหว่างที่ใช้แผ่นแปะ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ เช่น อาบน้ำ ว่ายน้ำ ออกกำลังกาย โดยไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา จึงเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ง่าย สะดวก ลดปัญหาการลืมทานยาเม็ด  ทำให้ไม่อ้วน และช่วยลดผลกระทบต่อการทำงานของตับ นอกจากนี้เมื่อเลิกใช้ยาแล้วจะมีการตกไข่ภายใน 4-6 สัปดาห์ ทำให้มีบุตรง่าย    
         
ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดด้านละ 1 3/4 นิ้ว ผิวเรียบ เป็นแผ่นบาง สีเบจ ประกอบด้วยตัวยาสองชนิด คือโปรเจสโตเจนและเอสโตรเจน ตัวยาดังกล่าวเหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไป เมื่อแปะที่ผิวหนังแล้ว ตัวยาจะค่อยๆซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณที่สม่ำเสมอ พอดีสำหรับการออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์
         ใน 1 กล่อง มีแผ่นแปะ 3 แผ่น ซึ่ง 3 แผ่นนี้จะใช้แปะผิวหนังใน 1 รอบเดือน (รอบเดือนปกติของสตรีจะมีระยะเวลาประมาณ 28 วัน หรือ 4 สัปดาห์) โดยในแผ่นของยาคุมกำเนิดจะแปะผิวหนังได้นาน 1 สัปดาห์ และต้องใช้ต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ของรอบเดือน ส่วนสัปดาห์ที่ 4 เป็นช่วงที่ไม่มีการใช้ยา   
       สรุป คือ ใน1 รอบเดือน ให้แปะแผ่นยาคุมกำเนิด 3 สัปดาห์ และหยุดแปะ 1 สัปดาห์

                                                          พลาสเตอร์คุมกำเนิด                

                                                       พลาสเตอร์คุมกำเนิด

   กลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์
          กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ เหมือนกับยาคุมกำเนิดชนิดกิน คือ ทำให้เมือกที่บริเวณปากมดลูกเหนียวข้นขึ้น ซึ่งทำให้อสุจิผ่านเข้ามาผสมกับไข่ได้ยากขึ้น และมีผลทำให้เยื่อบุมดลูกบางลง ไม่เหมาะต่อการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการตกไข่  ซึ่งสามารถสรุปได้ป็นข้อๆดังนี้    
    
1.ฮอร์โมนในแผ่นค่อยๆ ออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ จากการศึกษาประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะในการยับยั้งการตกไข่ โดยการตรวจติดตามระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในกระแสเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง พบว่าในระยะเวลาหนึ่งปี มีการตกไข่เกิดขึ้นเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
     2.เปลี่ยนแปลงมูกที่บริเวณปากมดลูกให้เหนียวข้น มีผลป้องกันการผ่านของตัวอสุจิ
     3.ยับยั้งการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้แห้งบาง ไม่เหมาะสมในการฝังตัวของตัวอ่อน
     4.ลดการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนตามธรรมชาติจากรังไข่ในระยะหลังไข่ตกในรอบที่มีการตกไข่เกิดขึ้น

วิธีใช้แผ่นแปะ   
 
    ทำได้สองวิธี วิธีแรกเริ่มใช้วันแรกของรอบเดือน ส่วนวิธีที่สองเริ่มใช้วันอาทิตย์  
    วิธีแรก เรียกว่า "First Day Start" โดยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะในวันแรกที่รอบเดือนมา โดยเริ่มใช้แผ่นแปะภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเริ่มแปะหลังจากวันแรกไปแล้ว 7 วันแรก ควรใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย ส่วนรอบต่อไปก็เปลี่ยนแผ่นในวันที่เคยเปลี่ยน และสามารถมีผลคุมกำเนิดได้ตั้งแต่วันแรกของแผงแรกของรอบนั้นทันที หนึ่งรอบมี 4 สัปดาห์ แปะสัปดาห์ละหนึ่งแผ่น สัปดาห์ที่4 เว้นการแปะ 7 วัน เมื่อเว้นครบ 7 วันแล้ว ไม่ว่ารอบเดือนจะมาหรือไม่มา รอบเดือนมาแล้วจะหยุดหรือไม่หยุด ก็ให้แปะแผ่นแรกของรอบใหม่ทันที   
   วิธีที่สอง เรียกว่า "Sunday Start" โดยเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะในวันอาทิตย์ ส่วนรอบต่อไปก็เปลี่ยนแผ่นแปะทุกวันอาทิตย์ ทั้งนี้ในช่วง 7 วันแรก ควรใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย วิธีที่สองนี้สามารถมีผลคุมกำเนิดได้ตั้งแต่วันแรกของแผงแรกของรอบนั้นทันที หลักการเดียวกับวิธีที่หนึ่ง คือหนึ่งรอบมี 4 สัปดาห์ แปะสัปดาห์ละหนึ่งแผ่น สัปดาห์ที่4 เว้นการแปะ 7 วัน เมื่อเว้นครบ 7 วันแล้ว ไม่ว่ารอบเดือนจะมาหรือไม่มา รอบเดือนมาแล้วจะหยุดหรือไม่หยุด ก็ให้แปะแผ่นแรกของรอบใหม่ทันที

 ตำแหน่งของแผ่นแปะ  
         ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ สามารถแปะได้หลายที่ แต่ส่วนมากก็มักแปะที่ท้องน้อย หรือสะโพก แต่ละแผ่นไม่ควรแปะซ้ำที่ แต่ให้เลื่อนออกไปตำแหน่งใหม่  บริเวณที่เหมาะสมในการแปะแผ่นยาคุมกำเนิด คือ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังช่วงบน แต่ห้ามแปะบริเวณหน้าอก

                                                   พลาสเตอร์คุมกำเนิด

                                                                               ภาพจาก www.krubannok.com

1.จุดที่ห้ามแปะคือที่เต้านม และจุดที่จะแปะไม่ควรใช้เครื่องสำอาง หรือแป้งหรือครีม และหลีกเลี่ยงจุดที่มีแผล มีการอักเสบ หรือมีโรคผิวหนัง
2.แปะไว้หนึ่งสัปดาห์แล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่ในวันเดียวกัน เช่นแปะเช้าวันจันทร์ ก็เปลี่ยนแผ่นใหม่เช้าวันจันทร์ถัดมา พอครบ 3 แผ่น 3 สัปดาห์ก็เว้นไม่ต้องแปะหนึ่งสัปดาห์ เช่นเดียวกับการกินยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด
3.ระหว่างแปะไม่ควรแกะออกแล้วแปะใหม่ เพราะการแปะใหม่จะไม่แน่นพอ อาจหลุดได้ง่าย
4.กรณีที่แผ่นหลุด ควรใช้แผ่นใหม่แปะต่อจนครบ 7 วัน โดยให้แผ่นหลุดบวกแผ่นใหม่รวม 7 วัน
วิธีเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ

ข้อแนะนำบางประการ

1. หลังจากเว้นไป 7 วันแล้ว หากวันรุ่งขึ้นลืมแปะแผ่นใหม่ ผ่านไป 2 - 3 วันเพิ่งนึกได้ ก็ให้รีบแปะ โดยในช่วง 7 วันแรกต้องใช้การคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยก่อน หลังจากนั้นจึงจะปลอดภัย
2. ถ้าแผ่นแรกแปะครบ 7 วันแล้วลืมแกะออกหรือลืมเปลี่ยนแผ่นใหม่ ทันทีที่นึกได้ ให้รีบเปลี่ยนแผ่นใหม่ทันที ถ้าไม่เกิน 2 วัน ก็ยังมีผลในการคุมกำเนิด แผ่นที่แปะช้าก็แปะไม่ถึง 7 วัน โดยให้อยู่ในล็อคเดิม ส่วนแผ่นที่สามถ้าลืมก็ปฏิบัติเหมือนแผ่นที่สอง
3. ถ้าแผ่นหลุดหรือแผ่นเผยอออก ให้ลองกดดูถ้ายังติดได้ก็ใช้ต่อ แต่ถ้าหมดยางเหนียวหรือยังเผยอ ก็ต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยแปะเท่าเวลาที่เหลือ เช่นแผ่นนั้นยังเหลือ 3 วันแล้วหลุด ก็แปะแผ่นใหม่แค่ 3 วัน แล้วก็เปลี่ยน
4. การเปลี่ยนรอบใหม่กลางคันนั้น ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนรอบใหม่ เช่น แปะไป 2 แผ่นแล้วเลิก ก็สามารถเริ่มรอบใหม่ได้เลย แต่ 7 วันแรกต้องใช้การคุมกำเนิดอื่นช่วยเสริมด้วย ทั้งนี้ หนึ่งรอบ หมายถึง 3 แผ่นสามสัปดาห์บวกกับสัปดาห์ที่ 4 ที่ไม่ต้องแปะ
5. หลังจากแปะแผ่นแล้ว อาบน้ำ ว่ายน้ำ ออกกำลังกายได้ แต่ถ้าบังเอิญแผ่นเผยอหรือหลุด ก็ปฏิบัติตามที่แนะนำข้างต้น
6.ไม่ควรตัดแต่งแผ่นแปะ เช่น ตัดเป็นรูปดาว เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลดลงได้ ปกติจุดที่แปะก็มักเป็นจุดซ่อนเร้นจากสายตาอยู่แล้ว
7. การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะแล้ว จะมียังคงมีรอบเดือน เช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด หลังจากแกะแผ่นที่สามออกแล้ว วันสองวันเลือดระดูจะมาตามรอบเดือนปกติ

ประเด็นคำถาม   ( ตอบโดยสรุป สั้นแต่ได้ใจความสมบูรณ์ โดยส่งทาง e-mail ที่ครูกำหนดให้แต่ละห้อง )
     1. กลไกในการคุมกำเนิดของแผ่นแปะคุมกำเนิดป็นอย่างไร   
     2. ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดแผ่นแปะคุมกำเนิด ได้แก่บริเวณใดบ้าง  
     3. ตำแหน่งใดบ้าง ที่ห้ามใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด  
     4. หากแผ่นแปะคุมกำเนิดหลุด ควรปฏิบัติอย่างไร  
     5. จงบอกข้อดีของอุปกรณ์คุมกำเนิดชนิดนี้มา 3 ข้อ

กิจกรรมเสนอแนะ  
     1. ค้นคว้าเพิ่มเติมถึงข้อเสีย หรือข้อจำกัดของการใช้การคุมกำเนิดวิธีนี้   
     2. จงเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างแผ่นแปะคุมกำเนิด กับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น  
    1. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ : ศัพท์เฉพาะทางของอุปกรณ์คุมกำเนิด 
    2. กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ : การคำนวณค่าใช้จ่ายจากการเลือกใช้อุปกรณ์คมกำเนิด 
    3. กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี : การค้นคว้าผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต   
    4. กลุ่มสาระภาษาไทย : อ่านแล้วสรุปใจความ

แหล่งที่มาของข้อมูล

: นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ 
www.bangkokhealth.com
  
www.th.wikipedia.org/wiki/

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2961

อัพเดทล่าสุด