ผู้ป่วยที่หยุดหายใจ หากรู้วิธีช่วยที่ถูกต้องและทันเวลา จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้สูง
การผายปอด
การผายปอด คือ การปฏิบัติเพื่อช่วยให้ปอดได้รับออกซิเจนได้เพียงพอ เพื่อจะฟอกโลหิตส่งไปสู่หัวใจ และหัวใจจะได้สูบฉีดไปเลี้ยงสมองและร่างกายต่อไป การผายปอดเป็นการช่วยหายใจในคนไข้ที่หมดสติหรือไม่รู้สึกตัว หรือหายใจลำบาก หรือ ไม่หายใจ เพื่อให้ปอดได้รับออกซิเจนให้เพียงพอแก่ความต้องการในการหายใจ เพราะการหยุดหายใจชั่วคราวอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้
หลักปฏิบัติในการผายปอด
ผู้ประสบอุบัติเหตุจนส่งผลให้หยุดหายใจ จะต้องได้รับการช่วยเหลือโดยการผายปอดซึ่งมีหลักปฏิบัติ ดังนี้
1.) จัดทำนอนของผู้บาดเจ็บให้ถูกต้องและเหมาะสมกับวิธีการผายปอดและควรให้ศีรษะต่ำเล็กน้อย
2.) ปลดเสื้อผ้าส่วนที่รัดร่างกายออกให้หลวมมากที่สุด
3.) ให้ตรวจดูในปากว่ามีอะไรติดค้างหรือขวางทางเดินหายใจอยู่ให้เอาออกให้หมด
4.) เช็ดน้ำลาย หรือเสมหะ หรือเลือดที่ออกจากปาก
5.) ป้องกันลิ้นอุดลำคอ โดยให้เอียงหน้าผู้บาดเจ็บไปข้างใดข้างหนึ่ง
6.) ทำการผายปอดทันที หากแน่ใจว่าผู้บาดเจ็บมีอาการหยุดหายใจ เพราะโดยเฉลี่ยแล้วผู้บาดเจ็บที่ขาดออกซิเจนหายใจจะเสียชีวิตภายใน 6 นาที อย่างไรก็ตามผู้บาดเจ็บที่หยุดหายใจ 3-4 นาที อาจทำให้สมองตายและกลายเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราได้
7.) ในการผายปอดไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม ต้องทำให้มีจังหวะเหมือนกันระยะการหายใจจริง ๆ ซึ่งในผู้ใหญ่ให้ผาดปอดประมาณ 12 ครั้งต่อนาที เท่ากัน 5 วินาทีต่อ 1 ครั้ง ถ้าเด็กประมาณ 20 ครั้งต่อนาที
8.) ทำการผายปอดไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุดจนกว่าผู้บาดเจ็บจะมีอาการหายใจดีขึ้นหรือเป็นปกติ หรือจนแน่ใจว่าผู้บาดเจ็บเสียชีวิตแล้ว
9.) ในขณะผายปอดถ้าอาการไม่ดีขึ้น รีบปรึกษาแพทย์หรือส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
ภาพจาก www.swu.ac.th
วิธีการผายปอด
การผายปอดมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีเป้าหมายอันเดียวกัน คือเป็นการช่วยเหลือให้พ้นระยะวิกฤต หรือช่วยให้ผู้บาดเจ็บปลอดภัยมากที่สุด ได้มีการค้นคว้าวิธีการใหม่ ๆ ที่ให้มีอากาศถ่ายเทเข้าสู่ร่างกายผู้บาดเจ็บให้มากที่สุด จนกระทั่งพบว่า การผายปอดที่ได้ผลดีที่สุดมีอยู่ 2 วิธี
1. วิธีเป่าลมเข้าทางปากหรือทางจมูก ( Mouth to mouth method หรือ Mouth to nose method)
2. วิธียกแขนกดหลังของโฮลเกอร์นีลสัน (Holger-Neilson method)
การผายปอดโดยวิธีเป่าลมเข้าทางปาก
การผายปอดโดยวิธีเป่าลมเข้าทางปาก พบว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจ เป็นการปฐมพยาบาลเป่าลมเข้าปากของผู้บาดเจ็บมีวิธีปฏิบัติดังนี้
1.) ให้ผู้บาดเจ็บนอนหงายราบกับพื้น ใช้ผ้านวมหรือให้หมอนรองบริเวณใต้ไหล่ระหว่างสะบักทั้งสองข้าง เพื่อให้หน้าแหงนมากที่สุดจนศีรษะตั้งฉากกับพื้นและปากอ้า
2.) ถ้ามีสิ่งแปลกปลอม ใช้นิ้วมือพันด้วยผ้าสะอาดล้วงออกให้หมด ต้องระวังไม่ให้สิ่งแปลกปลอมถูก ผลักดันลึกเข้าไปอีก ถ้าสิ่งแปลกปลอมตกไปอยู่ลึกในลำคอบริเวณกล่องเสียง ให้ผู้ปฐมพยาบาลจับ ผู้บาดเจ็บนอนตะแคงแล้วใช้สันมือตบอย่างแระ 4 ครั้งติด ๆ กัน ที่หลังระหว่างสะบักทั้งสองข้าง เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา
3.) ผู้ปฐมพยาบาลอยู่ด้านข้างศีรษะของผู้บาดเจ็บ ทำการเปิดทางหายใจ โดยจับศีรษะให้แหงนไปข้างหลังมาก ๆ (ยกคางแหงนคอ) จนสังเกตเห็นว่า หลังคอตึงมากหลอดลมขยายออกและลิ้นจะถูกดึงไปข้างหน้า ไม่ตกลงมาอุดหลอดลมใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบจมูกผู้บาดเจ็บ อีกมือหนึ่งหนุนคางให้แหงน และใช้หัวแม่มือจับขากรรไกรล่างดึงให้ปากอ้าออก
4.) ผู้ทำการปฐมพยาบาลหายใจเข้าลึก ๆ ก้มหน้าลงอ้าปากประกบปากลงบนปากผู้บาดเจ็บให้แนบสนิท เป่าลมเข้าปากผู้บาดเจ็บให้หมด และชำเลืองดูหน้าอกของผู้บาดเจ็บที่ขยายตัวสูงขึ้น แล้วถอนปากออก เพื่อให้ลมในปอดผู้บาดเจ็บถ่ายออกเมื่ออกยุบลง
5.) เป่าลมเข้าปากผู้บาดเจ็บเป็นระยะติดต่อกันให้ได้จังหวะ อัตราความถี่ในการเป่าปากในผู้ใหญ่ประมาณ 12 ครั้งต่อนาที ส่วนในเด็กประมาณ 20 ครั้งต่อนาที สำหรับการเป่าลมเข้าปากเด็กให้เป่าลมไม่แรงเท่าผู้ใหญ่ ในเด็กเล็ก ๆ ใช้ลมจากกระพุ้งแก้มก็พอ ในทารกให้ทำการเป่าปากและจมูก โดยผู้ทำการปฐมพยาบาลอ้าปากครอบปากและจมูกของทารกให้แนบสนิท
6.) ทำการผายปอดติดต่อกันไปจนกว่าผู้บาดเจ็บหายใจได้เอง หรือมีผู้มาช่วยเหลือ ถ้าขากรรไกรแข็งอ้าปากไม่ออก ให้เป่าลมเข้าทางจมูกได้เช่นเดียวกัน
7.) ถ้าสังเกตเห็นว่า การช่วยเหลือไม่ได้ผล คือ ไม่สามารถเป่าลมเข้าไปในปากของผู้บาดเจ็บได้ หรือหน้าอกของผู้บาดเจ็บไม่ขยายอาจเป็นเพราะมีสิ่งแปลกปลอมขวางทางเดินหายใจ ให้จับผู้บาดเจ็บนอนตะแคง ตบที่หลังระหว่างสะบักหรือไหล่ทั้งสองข้าง โดยตบค่อนข้างแรงหลาย ๆ ครั้ง เพื่อดูว่ามีสิ่งอุดตันทางเดินหายใจหรือไม่ ถ้ามีสิ่งอุดตันจะหลุดออกมาแล้วรีบทำการผายปอด หรืออาจเป็นเพราะกดศีรษะผู้บาดเจ็บไปทางด้านหลังไม่พอ หรือประกบปากของผู้บาดเจ็บไม่สนิท หรือปิดจมูกผู้บาดเจ็บไม่สนิท ให้ทำการแก้ไขแล้วรีบผายปอด
การผายปอดโดยวิธีเป่าลมเข้าทางจมูก
ในบางสถานการณ์ ผู้ทำการปฐมพยาบาลประกบปากของผู้บาดเจ็บได้ไม่สนิท ผู้ทำการปฐมพยาบาลอาจใช้วิธีเป่าจมูกแทน ซึ่งทำได้ง่าย วิธีเป่าลมเข้าทางจมูกของผู้บาดเจ็บที่หยุดหายใจนี้ ให้ใช้หลักการและวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับการเป่าลมเข้าทางปาก แต่มีข้อแตกต่าง ดังนี้ เมื่อเวลาผู้ทำการปฐมพยาบาลเป่าลมเข้าทางจมูกผู้บาดเจ็บต้องปิดปากผู้บาดเจ็บให้สนิท และในขณะที่ผู้ทำการปฐมพยาบาลหยุดพักเพื่อหายใจเข้า ให้เปิดปากผู้บาดเจ็บ เพื่อให้ลมได้ไหลออกจากปอดของผู้บาดเจ็บ ซึ่งจะเป็นการหายใจออกของผู้บาดเจ็บ
การผายปอดโดยวิธียกแขนกดหลัง
วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมาก และมีประสิทธิภาพเป็นที่สองรองมาจากวิธีเป่าลมเข้าปาก วิธีการปฏิบัติให้กระทำดังต่อไปนี้
1.) ให้เอาสิ่งต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ในปากที่จะอุดหลอดลมออกให้หมด อาจใช้ผ้าสะอาดพันนิ้วมือแล้วล้วงออก
2.) ให้ผู้บาดเจ็บนอนคว่ำศีรษะต่ำกว่าระดับเท้า ข้อศอกทั้งสองข้างงอพับเข้าหากันให้มือข้างหนึ่งทับมืออีกข้างหนึ่ง และวางศีรษะลงบนมือทั้งสอง โดยให้เอียงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง
3.) ผู้ทำการปฐมพยาบาลคุกเข่าทั้งสองข้าง หรือข้างใดข้างหนึ่งเหนือศีรษะผู้บาดเจ็บโดยหันหน้าไปทางผู้บาดเจ็บและให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด
4.) วางมือลงบนหลังผู้บาดเจ็บทั้งสองข้างบริเวณต่ำกว่าสะบักเล็กน้อย ให้หันหัวแม่มือทั้งสองข้างจรดกัน นิ้วที่เหลือแยกออก
5.) วางแขนให้ตรง กดมือพร้อมทั้งโยกตัวไปข้างหน้า และกดฝ่ามือดันไปตามลำตัวโดยใช้น้ำหนักผ่อนไปตามแขนทั้งสองข้างทีละน้อยลงบนหลังผู้บาดเจ็บ กดอยู่นานประมาณ 2 วินาที หรือนับ 1-2-3 ( วิธีนี้ช่วยให้ผู้บาดเจ็บหายใจออก)
6.) ให้ผ่อนมือเมื่อนับ 4 พร้อมกับโยกตัวกลับไปข้างหลังช้า ๆ ขณะที่โยกตัวกลับนี้ให้จับเหนือข้อศอกผู้บาดเจ็บยกขึ้นเล็กน้อย แล้วดึงเข้าหาตัวผู้ทำการปฐมพยาบาลให้ตึงพอประมาณ ขณะดึง แขนของผู้ทำการปฐมพยาบาลต้องเหยียดตึงดังเดิม นับ 5-6-7 แล้วค่อย ๆ วางข้อศอกของผู้บาดเจ็บลงที่เดิม นับ 8 โดยใช้เวลาประมาณ 1 วินาที ( เป็นวิธีช่วยหายใจเข้า เป็นการครบรอบของการหายใจ อากาศจะพุ่งเข้าไปในปอด) เมื่อวางแขนผู้บาดเจ็บลงแล้ว เริ่มทำการกดใหม่สลับกันเรื่อยไป
7.) ให้ทำ 2 จังหวะ ดังที่กล่าวแล้ว ให้มีอัตราเท่ากับการหายใจจริง คือประมาณ 12 ครั้งต่อ 1 นาที หากเหนื่อยให้เปลี่ยนคนปฐมพยาบาล แต่ต้องไม่ให้ขาดจังหวะ
ที่มาข้อมูล
www.thaiheartfound.org/thaiheart
ทีมา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3067