โคลนนิ่ง : ผิดหรือถูก มนุษย์ตัดสินได้ไหม?


1,045 ผู้ชม

จากการที่บริษัทโคลนเอดในสหรัฐฯออกมาประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่าบริษัทตนได้สร้างทารกหญิงคนแรกที่เกิดจากผู้หญิงชาวสหรัฐคนหนึ่งโดยผ่านกรรมวิธีโคลนนิ่ง (การคัดลอกพันธุกรรม)


โคลนนิ่ง : ผิดหรือถูก มนุษย์ตัดสินได้ไหม?


     จากการที่บริษัทโคลนเอดในสหรัฐฯออกมาประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่าบริษัทตนได้สร้างทารกหญิงคนแรกที่เกิดจากผู้หญิงชาวสหรัฐคนหนึ่งโดยผ่านกรรมวิธีโคลนนิ่ง (การคัดลอกพันธุกรรม) นั้นได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

     ถ้าเช่นนั้น ใครถูก ? หลายคนในตะวันตกเชื่อว่าวิทยาศาสตร์สามารถที่จะให้ความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการควบคุมชีวิตของผู้คนได้ ทัศนะดังกล่าวนี้เป็นเรื่องผิดพลาดเพราะความคิดทางวิทยาศาสตร์เป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของความคิดที่เหมาะสำหรับศึกษาสิ่งที่เป็นวัตถุภายใต้เงื่อนไขในห้องทดลอง ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ไม่มีการเปิดเผยหรือการค้นพบสัจธรรมทางด้านจริยธรรม นั่นก็เพราะว่าสิ่งที่เป็นวัตถุนั้นมิได้มีลักษณะทางจริยธรรมติดตัวมาแสดงให้เห็นในระหว่างการทดลองได้ว่ามันผิดหรือถูก วิทยาศาสตร์เพียงแต่จัดหาคำอธิบายว่าสิ่งต่างๆทำงานอย่างไรและไม่สามารถตอบคำถามอย่างเช่น “ มันถูกไหม ?” หรือ “ มันควรเป็นที่อนุญาติไหม?” ได้ เหตุผลโต้แย้งนี้สามารถนำไปใช้กับสิ่งที่เรียกว่าการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ทางด้านวิทยาศาสตร์ มนุษย์มิได้ถูกกำเนิดขึ้นมาโดยกฎจริยธรรมและการกระทำของมนุษย์ก็ไม่มีคุณสมบัติทางด้านจริยธรรมที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด ตัวอย่างเช่น วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายกระบวนการกำเนิดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันสามารถบอกเราได้ไหมว่ามันเป็นสิ่งถูกต้องที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกการแต่งงานหรือการแต่งงานระหว่างพี่ชายกับน้องสาวหรือระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ? คนที่เลือกจะมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ต้องห้ามหรือลวนลามทางเพศต่อเด็กจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนวิตถารและน่าเกลียดเช่นเดียวกับกรณีของความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ความเห็นของสังคมได้เปลี่ยนไปเห็นว่าการรักร่วมเพศเป็ความคิดที่ยอมรับได้ หลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็เสนอแนะว่ามนุษย์บางคนเกิดมามีจิตใจชอบคนเพศเดียวกัน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่ามนุษย์เกิดมามีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศต้องห้าม หรือชอบลวนลามทางเพศต่อเด็กหรือการทำฆาตกรรม จะถือว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องไหม? สังคมจะยอมรับการกระทำเช่นนี้ได้หรือไม่ ?

      วิทยาศาสตร์ไม่สามารถที่จะให้คำตัดสินทางด้านจริยธรรมในหลายสิ่งหรือในเรื่องการกระทำของมนุษย์และไม่สามารถวางกฎจริยธรรมให้แก่มนุษย์ได้ ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์จะใช้ชีวิตไปตามทัศนะอย่างหนึ่งอย่างใดของชีวิตซึ่งจะเป็นตัวสร้างแนวโน้มและรสนิยมของเขา ทัศนะของชีวิตนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อและก่อให้เกิดระบบที่ผูกพันมนุษย์เข้าด้วยกันเพื่อที่จะสร้างสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ ความเชื่อกับทัศนะของชีวิตนี้จะสร้างกฎแห่งจริยธรรมที่รับผิดชอบต่อการควบคุมสังคม

    ในสังคมทุนนิยม ความเชื่อในเรื่องโลกวัตถุกับทัศนะต่อชีวิตที่วางอยู่บนผลประโยชน์เป็นสิ่งที่กำหนดว่าอะไรถูกและอะไรผิด และในทางปฏิบัติ นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นตัวแทนของประชาชนก็มีความรับผิดชอบในการตัดสินว่าอะไรถูกและผิดแทนสังคม นักการเมืองอาจจะชอบความจริงทางวิทยาศาสตร์หรือเหตุผลจากแหล่งอื่นๆระหว่างกระบวนการตัดสินใจ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว โดยทัศนะของนายทุน ผลประโยชน์คือตัวกำหนดจริยธรรม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะพบนักการเมืองตะวันตกมีทัศนะทางจริยธรรมดังกล่าวซึ่งทำให้นักการเมืองเหล่านี้และผู้สนับสนุนพวกเขาได้รับผลประโยชน์มากมายมหาศาล โดยปกติแล้วผู้สนับสนุนทัศนะเช่นนี้จะเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจ เช่น ธุรกิจขนาดใหญ่ นักอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งและองค์กรที่มีอิทธิพล บ่อยครั้งที่มีการขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มอำนาจเหล่านี้เพราะแต่ละกลุ่มต่างก็แข่งขันกันโดยเข้าหานักการเมืองมาคุ้มครองผลประโยชน์ของตน ในสถานการณ์เช่นนั้น นักการเมืองจึงพยายามหาทางออกที่ประนีประนอมเพื่อเอาใจกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ได้มีความพยายามอย่างจริงจังอะไรที่จะแสวงหาสัจธรรม เรื่องที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงที่สุดก็คือการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ตัวอย่างเช่นเรื่องการคัดลอกพันธุกรรมของมนุษย์หรือการโคลนนิ่ง พรรคเลเบอร์ของนายโทนี แบลร์ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบริษัทไบโอเทคนั้นเห็นด้วยกับการโคลนนิ่งมนุษย์ในขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านอย่างเช่นกลุ่มไลฟ์ที่ต่อต้านการทำแท้งต้องการที่จะให้มีการห้ามทุกรูปแบบ ในที่สุด รัฐบาลก็ต้องหาทางออกตรงกลางและได้ออกกฎหมายสนับสนุนการโคลนนิ่งตัวอ่อนมนุษย์ แต่ห้ามการโคลนนิ่งมนุษย์ แต่การออกเช่นนี้ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมเนื่องจากมันไม่ได้ให้คำตอบต่อคำถามเริ่มแรก ข้อบกพร่องของวิถีชีวิตแบบทุนนิยมก็คือมาตรฐานทางจริยธรรมจะวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปตามผลประโยชน์

     ไม่มีอะไรที่เป็นสัจธรรมหรือความเท็จและไม่มีอะไรที่ถูกหรือผิดอย่างสมบูรณ์ บางทีสิ่งหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นความชั่วและน่าขยะแขยงในเวลาหนึ่งจะได้รับการยกย่องและถือว่าเป็นเรื่องดีในอีกเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เรื่องการผิดประเวณี การรักร่วมเพศและลูกนอกสมรสหรือการค้าอวัยวะซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าดูถูก แต่ตอนนี้เป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ผู้คนทั่วไปถือว่าผิดได้ถูกคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีค่านิยมอย่างเดียวกันถือว่าถูก ตัวอย่างเช่น ชาวยุโรปถือว่าการลงโทษประหารชีวิตเป็นความป่าเถื่อนในขณะที่ชาวอเมริกันถือว่ามันเป็นรูปแบบการลงโทษที่มีอารยธรรม นี่เป็นสิ่งที่ทำให้คนสูญเสียความมั่นใจในมาตรฐานทางจริยธรรมและในที่สุดสังคมก็ล่มสลายทางศีลธรรมและตกต่ำเสื่อมทราม

     ในอิสลาม สัจธรรมและความเท็จ ถูกและผิดได้ถูกกำหนดไว้ชัดเจนแล้วและไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สถานที่หรือผู้คน กฎหมายอิสลามหรือมาตรฐานทางจริยธรรมในอิสลามได้ถูกกำหนดไว้ตายตัวแล้วและไม่หมุนไปตามผลประโยชน์หรือตกอยู่อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม นั่นเป็นเพราะว่าความเชื่อของอิสลามยอมรับอัลลอฮว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียวไม่ใช่มนุษย์ อัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินว่าอะไรผิดและอะไรถูก นั่นหมายความว่าการกระทำทั้งหมดที่มุสลิมทำไปหรือการตัดสินของมุสลิมต่อสิ่งต่างๆหรือเรื่องต่างๆนั้นจะต้องสอดคล้องกับอิสลาม

      อิสลามมิได้ปล่อยมนุษย์ไว้โดยปราศจากแนวทางในการดำเนินชีวิต อิสลามได้จัดเตรียมแนวทางแห่งชีวิตที่สมบูรณ์ในทุกด้านให้แก่มนุษย์ในรูปของคัมภีร์กุรอานและแบบอย่างคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด ตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ในคัมภีร์กุรอานเป็นอะไรที่มากกว่าการพูดถึงเรื่องปัญหาทุกอย่างของมนุษย์เพราะตัวบทกฎหมายของอิสลามสามารถที่จะหาทางแก้ปัญหาทุกด้านที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่โดยไม่คำนึงว่าปัญหานั้นจะหลากหลายหรือสับสนอย่างไรก็ตาม

แล้วอิสลามมีทัศนะต่อการโคลนนิ่งหรือการคัดลอกพันธุกรรมอย่างไร ?

     เป้าหมายของการโคลนนิ่งในพืชและสัตว์ก็คือเพื่อปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มผลผลิตและเพื่อหาวิธีการเยียวยาทางธรรมชาติเพื่อรักษาโรคหลายอย่างของมนุษย์โดยเฉพาะโรคที่มีอาการร้ายแรงนั้นไม่เพียงแต่เป็นที่อนุญาติในอิสลาม แต่อิสลามยังถือว่าเป็นเรื่องดีด้วยเพราะการหาทางเยียวยารักษาโรคเป็นเรื่องดีและการผลิตยาเพื่อรักษาโรคก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า : “อัลลอฮฺได้สร้างการเจ็บไข้ได้ป่วยและการเยียวยารักษาไว้แล้ว ดังนั้น จงแสวงหาการเยียวยารักษา” (อิมามอะหมัดรายงานจากอะนัส)

    ดังนั้น มันจึงเป็นที่อนุญาตให้ใช้กระบวนการโคลนนิ่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพืชและเพิ่มผลผลิตของมัน นอกจากนี้แล้วก็ยังอนุญาตให้ใช้กระบวนการโคลนนิ่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพของวัว แกะ อูฐ ม้าและสัตว์อื่นๆเพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตของสัตว์เหล่านี้และเพิ่มจำนวนของมันเช่นเดียวกับที่อนุญาตให้ใช้วิธีการโคลนนิ่งเพื่อรักษาโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคที่มีการอาการร้ายแรง

นี่เป็นกฎเกี่ยวกับการโคลนนิ่งพืชและสัตว์ สำหรับการโคลนนิ่งมนุษย์นั้น กฎมีดังนี้

      สำหรับการโคลนนิ่งตัวอ่อน ไซโกตหรือเซลที่ก่อตัวขึ้นในรังไข่ของภรรยาอันเนื่องมาจากตัวสเปิร์มของสามีและไข่ของภรรยา ไซโกตจะถูกแบ่งออกเป็นหลายเซลซึ่งสามารถแบ่งและเติบโตได้ เซลเหล่านี้จะถูกแบ่งเพื่อแต่ละเซลจะได้กลายเป็นตัวอ่อนโดยตัวของมันเองในฐานะที่เป็นตัวคัดลอกของไซโกตเดิม หลังจากนั้น ถ้าหากมันถูกนำไปฝังไว้ในรังไข่ของผู้หญิงคนอื่นหรือในรังไข่ของภรรยาคนที่สองของสามี รูปแบบของการโคลนนิ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) เพราะมันจะก่อให้เกิดการปะปนกันในความเป็นเครือญาติ ดังนั้น มันจะก่อให้เกิดการสูญเสียความเป็นเครือญาติ และอิสลามก็ห้ามสิ่งนี้ แต่ถ้าหากไซโกตได้ถูกนำไปฝังไว้ในรังไข่ของภรรยา (ผู้เป็นที่มาของเซลดั้งเดิม) แล้ว การโคลนนิ่งในรูปแบบนี้ก็เป็นที่อนุญาต (ฮะลาล) นั่นก็เพราะว่ามันเป็นการเพิ่มไซโกตที่เกิดขึ้นในรังไข่ของภรรยาโดยวิธีการทางการแพทย์เพื่อที่จะสร้างคู่แฝดที่เหมือนกัน นี่เป็นกฎเกี่ยวกับการโคลนิ่งตัวอ่อน สำหรับการโคลนนิ่งมนุษย์นั้นสามารถทำได้โดยการเอาเซลร่างกายจากเพศชายและเอานิวเคลียสของมันออกมาแล้วนำไปรวมกับไข่ของเพศหญิงหลังจากที่เอานิวเคลียสของไข่นั้นออกมาแล้ว นิวเคลียสเพศชายในไข่เพศหญิงนี้จะถูก ย้ายไปยังรังไข่ของผู้หญิงคนหนึ่งเพื่อที่จะทำให้มันเพิ่มขึ้นเป็นสองและเจริญเติบโตกลายเป็นตัวอ่อนและหลังจากนั้นก็เป็นทารกที่มีลักษณะเหมือนกับเพศชายที่เซลนั้นถูกนำมา

การโคลนนิ่งนี้สามารถทำได้ในหมู่เพศหญิงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเพศชายดังที่บริษัทโคลนเอดกล่าวอ้าง

     วิธีการก็คือการนำเอาเซลออกมาจากร่างกายของผู้หญิงคนหนึ่งและดึงเอานิวเคลียสของเซลนั้นออกมาเพื่อที่จะไปผสมกับไข่ของผู้หญิงคนหนึ่ง หลังจากนั้น ไข่นั้นก็จะถูกย้ายไปยังรังไข่ของผู้หญิงอีกคนหนึ่งหลังจากมันได้ถูกผสมกับนิวเคลียสของเซลเพื่อให้เจริญเติบโตกลายเป็นตัวอ่อนและหลังจากนั้นก็เป็นทารกซึ่งมีลักษณะเหมือนกับเพศหญิงที่เซลนั้นถูกนำมา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับแกะดอลลี่ที่ได้มีการนำเอานิวเคลียสมาจากเซลเต้านมของแกะตัวหนึ่ง หลังจากนั้นก็นำเอาส่วนที่เกี่ยวข้องกับเต้านมออกจากนิวเคลียสและนำเอานิวเคลียสนี้ออกมาไว้ในไข่ของแกะอีกตัวหนึ่งหลังจากที่เอานิวเคลียสออกจากไข่ของมันแล้ว เซลนี้ได้ถูกนำไปไว้ในรังไข่ของแกะตัวหนึ่งเพื่อที่จะให้มันเพิ่มขึ้นและเจริญเติบโตและกลายเป็นตัวอ่อน แกะดอลลี่ได้เกิดมาโดยมีลักษณะทุกอย่างเหมือนกับแกะตัวแรกที่ถูกนำเซลออกมา การคัดลอกพันธุกรรมหรือการโคลนนิ่งมนุษย์ในลักษณะเช่นนี้ทั้งเพศชายหรือเพศหญิงถ้าหากมีการทำขึ้นจะเป็นหายนะของโลก ไม่ว่าจะโดยมีเป้าหมายเพื่อการปรับปรุงคุณภาพ การคัดเลือกลูกหลานที่ดีกว่า แข็งแรงกว่า กล้าหาญกว่า สุขภาพดีกว่าหรือสวยกว่า หรือจะทำเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรหรือเพื่อทำให้รัฐเข้ม แข็ง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุแห่งความชั่ว ดังนั้น จึงเป็นที่ต้องห้ามและไม่อนุญาตให้ทำด้วยเหตุผลที่ว่า :

1) การสร้างเด็กในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิดไปจากลักษณะธรรมชาติที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้ให้มนุษย์สร้างลูกหลานของตน อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า : “และพระองค์ (อัลลอฮฺ) ได้ทรงสร้างคู่ชายหญิงขึ้นมามากมายจากหยดของอสุจิเมื่อมันถูกฉีดออกมา” (อัน-นัจญ์มุ :45-46) และ“เขามิได้เป็นหยดอสุจิที่ไหลออกมากระนั้นหรือ ? หลังจากนั้นเขาก็ได้เป็นก้อนเลือดที่เกาะอยู่ หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ทำให้เป็นรูปร่างและได้ทำให้เป็นสัดเป็นส่วนครบถ้วนสมบูรณ์ และได้ทำให้เขาเป็นสองเพศคือชายและหญิง” (อัล-กิยามะฮ :37-39)

2) เด็กที่เกิดจากผู้หญิงที่ทำการโคลนนิ่งโดยไม่มีเพศชายนั้นไม่มีพ่อ นอกจากนั้น พวกเขาจะไม่มีแม่ด้วยถ้าหากไข่ที่ถูกนำไปรวมกับนิวเคลียสของเซลได้ถูกนำไปไว้ในรังไข่ของเพศหญิงแตกต่างไปจากผู้หญิงที่ได้ถูกนำไข่มาใช้ในการทำโคลนนิ่ง นี่เป็นเรื่องสำคัญเพราะผู้หญิงที่รังไข่ของเธอถูกนำไปใช้ฝังไข่นั้นก็ไม่ต่างอะไรไปจากสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งใช้เก็บไข่ ดังนั้น เด็กที่เกิดมาจะไม่มีพ่อและแม่ ซึ่งเป็นการขัดกับวจนะของอัลลอฮที่ว่า : “มนุษย์เอ๋ย เราได้สร้างสูเจ้ามาจากเพศชายและเพศหญิง” (อัล-ฮุญุรอต : 13) “จงเรียกพวกเขาโดยชื่อของพ่อของพวกเขา นั่นเป็นการยุติธรรมกว่าสำหรับอัลลอฮฺ” (อัล-อะฮ์ซาบ : 5)

3) ไม่มีเครือญาติที่อิสลามสั่งให้สร้างและรักษาความผูกพันไว้ อิบนุอับบาสได้กล่าวว่าท่านรอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า : “ใครก็ตามที่อ้างว่าตัวเองเกิดจากคนอื่นนอกไปจากพ่อของตัวเองหรืออ้างว่าเป็นลูกคนอื่นที่เขาไม่ได้เป็นจริง เขาผู้นั้นจะถูกอัลลอฮและมลาอิก๊ะฮฺสาปแช่ง” (เล่าโดยอิบนุมาญะฮฺ) อบีอุษมาน อัน-นะฮฺรีได้กล่าวว่าเขาได้ยินซะด์และอบูบักเราะฮฺกล่าวว่าพวกเขาได้ยินและเข้าใจว่าท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า : “ใครก็ตามที่อ้างว่าใครบางคนนอกไปจากพ่อของเขาและเขารู้ว่าเขาคนนั้นไม่ใช่พ่อของเขา สวรรค์จะเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา” (เล่าโดยอิบนุมาญะฮฺ) อบูฮุร็อยเราะฮฺได้เล่าว่าเขาได้ยินท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า : “ผู้หญิงคนใดก็ตามที่แนะนำใครบางคนให้รู้จักลูกที่ไม่ใช่ของนาง นางจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอัลลอฮและนางจะไม่ได้เข้าสวรรค์ และผู้ชายคนใดที่ปฏิเสธลูกชายของตนเองในขณะที่มองเขา อัลลอฮฺจะไม่ให้เขาได้เห็นพระองค์และอัลลอฮฺจะทำให้เขาต้องได้รับความอัปยศต่อหน้าประชากรรุ่นแรกและรุ่นสุดท้าย” (เล่าโดยอัด-ดาริมี) การคัดลอกพันธุกรรมหรือการโคลนนิ่งที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างคนที่มีลักษณะเด่นทางด้านสติปัญญา ความเข้มแข็ง สุขภาพสมบูรร์และสวยงามอาจหมายถึงการเลือกคนที่ลักษณะในหมู่ผู้ชายและผู้หญิงโดยไม่คำนึงว่าพวกเขาเป็นคู่ที่แต่งงานกันหรือไม่ ผลก็คือ เซลอาจจะถูกนำมาจากผู้ชายที่มีลักษณะที่ต้องการและไข่อาจจะถูกนำมาจากผู้หญิงที่ได้ถูกเลือกไว้และนำไปฝากไว้ในผู้หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งนำไปสู่การสูญเสียและการสับสนทางด้านเครือญาติ

4) การสร้างเด็กโดยวิธีการโคลนนิ่งเป็นสิ่งที่ขัดขวางการใช้กฎชะรีอ๊ะฮหรือกฎหมายอิสลาม เช่น กฎหมายการแต่งงาน กฎของความเป็นเครือญาติ กฎการเลี้ยงดูภรรยาที่หย่าร้างจากสามี กฎเรื่องความเป็นพ่อเป็นลูก กฎหมายมรดก การเป็นผู้พิทักษ์ กฎการห้ามแต่งงานเพราะความสัมพันธ์ทางสายโลหิต และกฎชะรีอ๊ะฮฺอื่นๆอีก ความสัมพันธ์ทางเครือญาติอาจเกิดความสับสน นี่เป็นการขัดกับแนวทางธรรมชาติที่อัลลอฮได้ให้กำเนิดมนุษย์ผ่านทางมนุษย์ด้วยกัน มันเป็นกระบวนการที่ชั่วร้ายและจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ดังนั้น การโคลนนิ่งมนุษย์จึงเป็นที่ต้องห้ามจากทัศนะของชะรีอ๊ะฮฺ อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวถึงชัยฏอนที่ถูกสาปแช่งว่า : “ฉันจะบงการพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺสร้าง” (อัน-นิซาอ์ : 119) การสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺคือธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮฺ) ที่อัลลอฮฺได้ทรงสร้างขึ้นในมนุษย์ตอนเกิดและธรรมชาติของการให้กำเนิดของมนุษย์จากผู้ชายและผู้หญิงผ่านการปฏิสนธิของสเปิร์มผู้ชายกับไข่จากผู้หญิง

กฎของอัลลอฮฺก็คือกระบวนการนี้จะต้องทำกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงด้วยสัญญาที่ถูกต้อง การสร้างทารกโดยวิธีการโคลนนิ่งไม่ใช่ธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮฺ) นอกจากนี้แล้วมันอาจจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่มีสัญญาแต่งงานผูกมัดคนทั้งสองเข้าด้วยกัน เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าตัวบทกฎหมายอิสลามที่มีมานานถึง 1,400 ปีนั้นสามารถให้คำตอบที่ไม่คลุมเครือต่อเรื่องการโคลนนิ่งมนุษย์ซึ่งลัทธิทุนนิยมตะวันตกและวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบได้ มุสลิมในอังกฤษและทั่วโลกควรจะใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นว่าลัทธิทุนนยิมและวิทยาศาสตร์ไม่สามารถที่จะตอบปัญหาทางด้านจริยธรรมให้แก่สังคมได้ มุสลิมจะต้องทำงานเพื่อนำเสนอว่าอิสลามเป็นอุดมการณ์เดียวที่ให้กฎจริยธรรมและกำหนดไว้เป็นการตายตัวแล้วว่าอะไรคือสัจธรรมและความเท็จและอะไรคือความถูกต้องและความผิด


 

อัพเดทล่าสุด