การปลูกถ่ายอวัยวะ


1,302 ผู้ชม

สภานิติศาสตร์อิสลาม ในการประชุมครั้งที่ 8 ณ อาคารองค์การสันนิบาตอิสลาม นครมักกะห์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 28 รอบีอุ้ลอาคิร ฮ.ศ. 1405 ถึงวันจันทร์ที่ 7 ญะมาดุ้ลอูลา ฮ.ศ. 1405 ตรงกับวันที่ 19 - 28 มกราคม ค.ศ. 1985


สภานิติศาสตร์อิสลาม ในการประชุมครั้งที่ 8 ณ อาคารองค์การสันนิบาตอิสลาม นครมักกะห์ ระหว่างวันเสาร์ที่ 28 รอบีอุ้ลอาคิร ฮ.ศ. 1405 ถึงวันจันทร์ที่ 7 ญะมาดุ้ลอูลา ฮ.ศ. 1405 ตรงกับวันที่ 19 - 28 มกราคม ค.ศ. 1985 ได้พิจรณาเรื่องการถ่ายอวัยวะของคนหนึ่งและนำไปปลูกให้แก่อีกคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย เพื่อทำหน้าที่แทนอวัยวะที่ใช้การไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่วิชาการแพทย์สมัยใหม่สามารถทำเช่นนั้นได้ และได้รับผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวงโดยวิชาการแผนใหม่ ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ส่งมาจากสำนักงานองค์การสันนิบาตโลกอิสลามในสหรัฐอเมริกา
อาจารย์เชค อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลเราะห์มาน อัลบัชชาม ได้นำเรื่องนี้เข้าสู้การพิจรณาและศึกษาของสภานิติศาสตร์อิสลามตลอกทั้งทัศนะต่างๆของนักนิติศาสตร์อิสลามยุคใหม่ในเรื่องการถ่ายอวัยวะและหลักฐานที่นักวิชาการนำขึ้นมาอ้างอิง ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนทัศนะและการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางของคณะกรรมการแล้ว สภานิติศาสตร์อิสลามเห็นหลักฐานของฝ่ายที่กล่าวว่าอนุญาตมีน้ำหนักมากกว่า ดังนั้นทางสภานิติศาสตร์อิสลามจึงมีมติดังต่อไปนี้
การถ่ายอวัยวะของคนเป็น ( มีชีวิต ) และนำไปปลูกในร่างกายของอีกคนหนึ่งที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย ให้ฟื้นกลับทำหน้าที่หลักได้อีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นการกระทำที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ซึ่งไม่ขัดกับเกียรติยศของความเป็นมนุษย์ของผู้ที่บริจาคให้ และย่อมเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ผู้รับ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนา และการกระทำที่ควรได้รับการยกย่องเมื่อครบเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. การถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคจะต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอันเป็นปรกติของผู้บริจาคเพราะหลักการศาสนาวางไว้ว่า “ จะไม่ถือว่าภัยอันตรายจะถูกขจัดไปด้วยการทำให้เกิดอันตรายที่เท่ากันหรือมากกว่า ” และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะการบริจาคในขณะนั้น เท่ากับเป็นการนำตนเองไปสู่ความเสียหาย ซึ่งศาสนาไม่อนุญาตให้กระทำ
2. การบริจาคอวัยวะต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ด้วยการบีบบังคับ
3. การปลูกถ่ายหรือเปลี่ยนอวัยวะเป็นหนทางเดียวในการรักษาผู้ป่วยที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย ( จำเป็น )
4. การถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคและการปลูกให้แก่ผู้ป่วยต้องสำเร็จอย่างแน่นอน หรือโดยส่วนใหญ่ ให้ถือว่ากรณีต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้เช่นกัน คือ
1. การถ่ายอวัยวะจากคนตายไปช่วยชีวิตหนึ่งที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย โดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริจาคบรรลุศาสนภาวะ และได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนเสียชีวิต
2. อนุญาตให้เอาอวัยวะจากสัตว์ที่ศาสนาอนุญาตให้รับประทานเนื้อได้ และเชือดแล้วตามบัญญัติของศาสนา หรือจากสัตว์อื่นในภาวะที่จำเป็น เพื่อปลูกให้แก่ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย
3. อนุญาตให้เอาชิ้นส่วนในร่างกายของตนเองไปรักษาส่วนอื่นเช่น เอาหนังจากส่วนหนึ่งของร่างกายไปปะอีกส่วนหนึ่ง หรือเอากระดูกจากอวัยวะหนึ่ง ไปใส่อีกอวัยวะหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น
4. เอาวัสดุที่ทำเทียมขึ้นหรือเอาวัสดุใส่ในร่างกายเพื่อการบำบัดรักษาเช่นใส่ที่ข้อต่อ ลิ้นหัวใจ และอื่นๆ ทั้ง 4 กรณีที่กล่าวมา ทางสภานิติศาสนตร์อิสลามมีความเห็นว่าอนุมัติให้กระทำได้โดยมีเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้ว ในการประชุมครั้งมีนายแพทย์คณะหนึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยได้แก่
1. นพ. อัซซัยยิด มูฮัมหมัดอาลี อัลบาร
2. นพ. อับดุลลอฮฺ บาสะลามะห์
3. นพ. คอลิดมะมีน มูฮัมหมัดฮาซัน
4. นพ. อับดุลมะฮ์บูด อิมาเราะห์ อัซซัยยิด
5. นพ. อับดุลลอฮฺ ญมอะห์
6. นพ. ฆอซีย์ อัลฮาญิม
โดยการรับรองจาก ประธานสภานิติศาสตร์อิสลาม อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ บินบาซ และ ดร.อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร นะซีฟ รองประธานสภานิติศาสตร์อิสลาม และคณะกรรมการอีก 18 ท่าน

อัพเดทล่าสุด