บริษัทประกันภัย


868 ผู้ชม

ต่อไปนี้ขอให้เราหันมายังปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัยในปัจจุบัน ว่าอิสลามมีทัศนคติและกฎระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะตอบปัญหานี้


     ต่อไปนี้ขอให้เราหันมายังปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัยในปัจจุบัน ว่าอิสลามมีทัศนคติและกฎระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ ประการแรกเราจะต้องรู้ถึงลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้เอาประกันและบริษัทประกันภัยเสียก่อน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ บุคคลผู้เอาประกันนั้นเป็นหุ้นส่วนของเจ้าของบริษัทหรือไม ? ถ้าหากในกรณีนี้ทุกคนที่ถูกเอาประกันโดยบริษัทจะต้องมีส่วนในกำไรหรือขาดทุนของบริษัท ทั้งนี้เพราะนี่คือ ความหมายของการเป็นหุ้นส่วนในอิสลาม

เกี่ยวกับเรื่องการประกันวินาศภัยนั้น ผู้ที่เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันที่กำหนดในระหว่างปี ถ้าหากว่าไม่มีอุบัติเหตุใดดังที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินในระหว่างปี บริษัทประกันภัยก็จะได้รับเบี้ยประกันนั้นโดยไม่มีอะไรคืนให้แก่ผู้ที่จ่ายเบี้ยประกัน ในทางตรงกันข้ามถ้าหากว่ามีอุบัติภัยเกิดขึ้น ผู้ที่เอาประกันจะได้รับเงินจำนวนหนี่งที่ได้ตกลงกันไว้ ลักษณะของธุรกิจเช่นนี้จึงเป็นคนละเรื่องกับการค้าหรือหุ้นส่วน

    เกี่ยวกับเรื่องประกันชีวิตนั้น สมมุติว่าคนผู้หนึ่งได้ประกันชีวิตของตนไว้เป็นจำนวนห้าแสนบาท และหลังจากที่จ่ายเบี้ยประกันงวดแรกไปแล้ว เขาเกิดเสียชีวิตลงดังนั้นผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินประก็จะได้รับเงินประกันจำนวนห้าแสนบาททันที ถ้าหากว่านี่เป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เขาก็อาจจะมีสิทธิได้รับเพียงจำนวนของเบี้ยประกันที่จ่ายไปบวกด้วยผลกำไรที่เกิดจากมัน แต่ถ้าหากผู้เอาประกันไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันหลังจากที่ได้จ่ายไปบ้างแล้วตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัยเขาจะต้องสูญเสียที่เขาจ่ายไปทั้งหมดซึ่งตามตัวบทของระบบกฎหมายอิสลามแล้วเราอาจกล่าวได้ว่ามันไม่เป็นธรรม

     ดังนั้น ขอโต้แย้งว่าฝ่ายผู้เอาประกันและฝ่ายผู้รับประกันซึ่งต่างฝ่ายต่างทำสัญญากัน เพราะความอยากได้ประโยชน์ส่วนตัวจึงไม่มีน้ำหนัก เพราะเหมือนผู้ให้กู้และผู้กู้โดยคิดดอกเบี้ยหรือผู้เล่นการพนันทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสัญญายินยอมเช่นกัน ข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีผลในการทำธุรกิจที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน และเป็นธุรกิจที่หนีไม่พ้นความคลุมเครือ หรือการเอารัดเอาเปรียบ ยิ่งไปกว่านั้นเนื่องจากความยุติธรรมซึ่งไม่เป็นผลร้ายต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคือเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดสำหรับอิสลาม ดังนั้นธุรกิจใดๆก็ตามจะใช้ไม่ได้ถ้าหากมันมีเงื่อนไขว่าในบางกรณีฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ที่เอาทั้งหมดโดยไม่มีการประกันผลประโยชน์แก่อีกฝ่ายหนึ่งเลย

บริษัทประกันภัยจะเป็นสหกรณ์ได้ไหม ?

เป็นที่ชัดแจ้งแก่เราแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้เอาประกันและผู้ประกันนั้นมิใช่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นส่วน ดังนั้น ปัญหาจึงมีว่าลักษณะของความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เป็นอย่างไร ? มันเป็นความสัมพันธ์แบบการร่วมมือกันอย่างนั้นหรือ ? บริษัทประกันภัยทั้งหลายจะถูกถือว่าเป็นสหกรณ์ที่ดำเนินงานโดยสมาชิกเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยที่สามาชิกแต่ละคนจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนได้ไหม ?

เพื่อที่จะสร้างระบบสหกรณ์บนพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแรงในกลุ่มที่ต้องการจะช่วยสมาชิกของตนเมื่อประสบภัยพิบัติที่มิได้คาดคิด การเก็บเงินจากสมาชิกจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ....

1. สมาชิกทุกคนทีชำระเงินส่วนตนจะต้องจ่ายเงินนั้นเหมือนการบริจาคด้วยวิญญาณแห่งความเป็นพี่น้องกันและจากเงินนี้เองที่จะถูกนำไปช่วยเหลือผู้ที่จำเป็น

2. ถ้าหากว่าจะมีการนำเงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งไปลงทุนมันจะต้องถูกนำไปลงทุนในธุรกิจที่หะลาล(อนุญาต)เท่านั้น

3. ไม่เป็นที่อนุญาตให้สมาชิกบริจาคส่วนของตนโดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องได้รับเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้เมื่อเกิดมีภัยพิบัติขึ้น แต่เขาจะได้รับความช่วยเหลือในจำนวนเงินที่จะชดเชยความเสียหาย หรือชดเชยให้ส่วนหนึ่งซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงินที่มีอยู่ในกลุ่ม

4. สิ่งที่ให้ไปแล้วนั้นเป็นของขวัญจากผู้ให้ และการเอามันกลับมาถือเป็นการหะรอม ( ต้องห้าม )

    นอกจากสหกรณ์และสมาคมมุสลิมบางสมาคมที่สมาชิกจ่ายเงินบริจาคให้เป็นรายเดือนโดยไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะเอามันกลับคืนและจะมากำหนดเงื่อนไขไม่ได้ว่าจะต้องได้รับเท่านั้นเท่านี้ในกรณีที่ได้รับภัยพิบัติแล้ว เงื่อนไขเหล่านี้จะต้องไม่มีด้วย บริษัทประกันภัยต่างๆโดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิตนั้นไม่ชอบใจเงื่อนไขดังกล่าวก็เพราะ

1. ผู้ที่เอาประกันไม่จ่ายเบี้ยประกันเป็นการบริจาค และความคิดเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแก่พวกเขา

2. บริษัทประกันภัยเอาเงินของพวกเขาไปลงทุนในธุรกิจให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย ซึ่งธุรกิจเช่นนี้ทั้งหมดเป็นที่หะรอม ( ต้องห้าม )และมุสลิมถูกห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว เรื่องนี้บรรดานักกฎหมายอิสลามต่างเห็นพ้องต้องกันหมด

3. ในกรณีที่ผู้เอาประกันอยู่จนครบสัญญา เขาจะได้รับเงินเบี้ยประกันทั้งหมดที่เขาจ่ายไปบวกกับเงินเพิ่มจำนวนหนึ่งซึ่งมิใช่อื่นใดนอกจากดอกเบี้ย

ยิ่งไปกว่านั้น การประกันภัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังขัดกับแนวความคิดแห่งการร่วมมือในหมู่ประชาชนอีกด้วย กล่าวคือ ขณะที่หลักการแห่งความร่วมมือกันกำหนดว่าคนยากจนและคนขัดสนจะต้องได้รับความช่วยเหลือมากกว่าคนรวย แต่คนรวยที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันสูงจะได้รับเงินคืนเมื่อตายหรือได้รับอุบัติเหตุมากกว่าคนยากจน

การเปลี่ยนแปลงแก้ไข

ในทัศนะของข้าพเจ้า การประกันวินาศภัยสามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขให้เข้าอยู่ในลักษณะที่ใกล้ชิดกับหลักการของอิสลามได้โดยวิธีการทำสัญญา “ บริจาคโดยมีเงื่อนไขว่าจะได้รับการชดเชย “ กล่าวคือผู้เอาประกันอาจจะให้เงินจำนวนหนึ่งแก่บริษัทโดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทจะให้เงินชดเชยแก่เขาเมื่อเขาประสบภัยพิบัติในจำนวนที่จะช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระการสูญเสียแก่เขา การธุรกิจประเภทนี้เป็นที่ได้รับอนุญาต ในมัสฮับต่างๆบางมัสฮับ ( สำนักแนวความคิดในการตีความกฎหมายอิสลาม )ถ้าหากการปรับปรุงแก้ไขนี้มีผล และถ้าบริษัทไม่เข้าไปเกี่ยวพันกับธุรกิจดอกเบี้ยแล้ว เราอาจประกาศได้ว่า การประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องประกันชีวิตนั้น ข้าพเจ้ายังเห็นว่ามันยังห่างไกลจากการดำเนินธุรกิจแบบอิสลามอยู่มาก

ระบบการประกันของอิสลาม

การที่เราตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบของบริษัทประกันภัยสมัยใหม่และการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เป็นอยู่ปัจจุบันขัดกับหลักการอิสลามนั้น มิได้หมายความว่าอิสลามต่อต้านคัดค้านแนวความคิดเรื่องประกันภัย ไม่เลย แต่สิ่งที่อิสลามไม่เห็นด้วยก็คือวิธีการของมันต่างหาก ความจริงถ้าหากวิธีการที่บริษัทประกันภัยนำมาใช้ไม่ขัดแย้งกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบอิสลามแล้ว อิสลามก็ยินดีเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ระบบอิสลามเองก็ได้ประกันมุสลิมและคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ใต้การปกครองของกฎหมายอิสลาม ตามวิธีการของอิสลามเองอยู่แล้ว ซึ่งวิธีการนี้มีแทรกอยู่ในทุกคำสอนของอิสลาม การจัดเตรียมระบบประกันภัยนี้ดำเนินไปโดยถ้าไม่ทางการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างบุคคลก็โดยทางรัฐบาลที่เรียกว่า “ บัยตุลมาล “ เพราะบัยตุลมาลนี้คือบริษัทประกันภัยสากลสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขตการปกครองของรัฐอิสลาม

ในกฎหมายอิสลามเราจะพบการประกันวินาศภัยให้แก่บุคคลและการจัดหาความช่วยเหลือแก่พวกเขาเพื่อที่จะบรรเทาภัยพิบัติที่พวกเขาประสบ ก่อนหน้านี้เราได้กล่าวไปแล้วว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติได้รับอนุญาตให้ขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินได้โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลจนกว่าเขาสามารถยืนด้วยขาของตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้แล้ว เรายังพบแนวความคิดเรื่องการให้หลักประกันสำหรับทายาทของผู้เสียชีวิตในคำพูดของท่านศาสดา ศอลฯ อีกว่า “ ฉันใกล้ชิดมุสลิมแต่ละคนยิ่งกว่าตัวของเขาเองเสียอีก ถ้าหากเขาทิ้งทรัพย์สินไว้ข้างหลัง มันก็สำหรับทายาทของเขา และถ้าหากเขาทิ้งหนี้สินหรือครอบครัวกับลูกเล็กๆไว้ข้างหลัง เขาก็ทิ้งพวกเขาไว้ให้ฉัน และพวกเขาคือความรับผิดชอบของฉัน ” (รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม )

หมายความว่าคนเหล่านั้นเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลอิสลาม ตามรูปแบบของการให้หลักประกันอันยิ่งใหญ่ที่อิสลามได้กำหนดไว้เป็นตัวบทกฎหมายนั้น ในบรรดาผู้ที่มีสิทธิได้รับซะกาต จะมีคนประเภทหนึ่งคือ “ ฆอริมีน “ ( ผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ) นักตีความสมัยต้นได้กล่าวว่า “ คำว่า ฆอริม หมายถึงผู้หนึ่งผู้ใดที่บ้านของเขาถูกไฟไหม้ หรือผู้ที่ทรัพย์สิน หรือการค้าของเขาถูกน้ำท่วมหรือภัยพิบัติอย่างอื่นทำลาย “ นักกฎหมายบางคนถือว่าบุคคลประเภทนี้อาจจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนซะกาตจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะช่วยฟื้นฟูฐานะเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ของเขาให้กลับคืนมา ถึงแม้ว่าเงินจำนวนนี้อาจจะมากถึงเป็นหมื่นเป็นแสนก็ตาม

อัพเดทล่าสุด