เรียนรู้รายการวิทยสัประยุทธ์ แบบภาษาไทย...?


829 ผู้ชม


วิทยาศาสตร์กับการสร้างคำในภาษาไทย   

เรียนรู้รายการวิทยสัประยุทธ์  แบบภาษาไทย...?   

           เรียนรู้รายการวิทยสัประยุทธ์  แบบภาษาไทย...?
         ที่มาจาก https://www.tv5.co.th/admintv5/images/front_part/13020110409.jpg

บทนำ
          สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ได้จัดทำรายการสารคดีสั้น “วิทยสัประยุทธ์” ขึ้น  เป็นรายการวาไรตี้เชิงสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบการแข่งขันประลองความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา (https://www.newswit.com/)
ประเด็นน่าสนใจ
          “วิทยสัประยุทธ์”เป็นรายการการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทางด้านภาษาอย่างน่าสนใจ  โดยสร้างชื่อรายการแบบคำสมาส  แล้วคำสมาสคืออะไร? มีหลักการพิจารณาอย่างไร?
เนื้อหาสำหรับ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  มัธยมศึกษาตอนปลาย  และผู้ที่สนใจทั่วไป
สาระที่ ๔  หลักการใช้ภาษาไทย
มาตรฐาน  ท ๔.๑  เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย  การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา  ภูมิปัญญาทางภาษา  และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ 
ตัวชี้วัด                             
          ม.๒/๑     สร้างคำในภาษาไทย
          ม.๔-๖/๖ อธิบายและวิเคราะห์หลักการสร้างคำในภาษาไทย 

 
เรื่องน่ารู้

         “วิทยสัประยุทธ์”รายการที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ โดยออกอากาศทุกวันเสาร์ในช่วงค่ำเป็นการแข่งขันระหว่างโรงเรียนสองโรงเรียนในการประลองความคิดสร้างสรรค์   มีแนวคิดแปลกใหม่ สร้างเป็นผลงานตามโจทย์ที่รายการได้ตั้งไว้  โดยการดำเนินรายการนั้นต้องให้นักเรียนทั้งสองโรงเรียนมาประลองความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทุกแขนง ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ที่น่าติดตามรายการหนึ่ง แต่หลายคนคงสงสัยแล้วใช่ไหมว่าเกี่ยวอะไรกับภาษาไทยไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์หรอ!  ถ้าพิจารณาให้ดีลองอ่านชื่อรายการซิครับว่าอ่านอย่างไร     งงแล้วใช่ไหม คำว่า “วิทยสัประยุทธ์”  อ่านว่า วิด-ทะ-ยะ-สับ-ประ-ยุด  ซึ่งแปลว่า การประลองความรู้ เป็นการสร้างคำแบบสมาส  คือ วิทย + สัประยุทธ์ แล้วทำไมจึงเป็นคำสมาส เรามาลองศึกษากันนะครับ
          คำสมาส คือ คำที่สร้างขึ้นใหม่ตามหลักไวยากรณ์ของภาษาบาลีและสันสกฤต  โดยมีลักษณะดังนี้

               เรียนรู้รายการวิทยสัประยุทธ์  แบบภาษาไทย...?

๑.  เป็นการชนกันระหว่างคำมูล  ๒  คำ โดยที่คำศัพท์ทั้งสองเดิมเขียนอย่างไร  เมื่อนำมาชน(สมาส)กันแล้ว  ศัพท์ใหม่ที่ได้จะเป็นรูปศัพท์เดิม  และต้องเป็นภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเท่านั้น  เช่น
                อักษร(สันสกฤต) + ศาสตร์(สันสกฤต)   เป็น อักษรศาสตร์   
                                                                    แปลว่า วิชาว่าด้วยตัวหนังสือ
                วาท(บาลี-สันสกฤต) + ศิลป์(สันสกฤต)  เป็น วาทศิลป์ 
                                                                    แปลว่า ศิลปะการพูด   
                วีร(บาลี-สันสกฤต) + บุรุษ(สันสกฤต)    เป็น วีรบุรุษ          
                                                                    แปลว่า ชายผู้กล้าหาญ
     ข้อสังเกต  ถ้านำภาษาบาลี  หรือภาษาสันสกฤตไปสมาสกับภาษาไทย หรือภาษาอื่นอย่างนี้ไม่เรียกว่าคำสมาส  แต่เรียกว่า “คำประสม”เช่น
                *  ราช  (บาลี)  +  วัง  (ไทย)  เป็น ราชวัง      (เป็นคำประสม)
                *  ราช  (บาลี)  +  ดำรัส  (เขมร)  เป็น ราชดำรัส  (เป็นคำประสม)
                *  ผล (บาลี) + ไม้ (ไทย)   เป็น ผลไม้        (เป็นคำประสม)
                *  พล  (บาลี) + ความ (ไทย)  เป็น พลความ   (เป็นคำประสม)
                *  หลัก (ไทย) + ฐาน (บาลี)  เป็น หลักฐาน   (เป็นคำประสม)
 ๒.  คำสมาสนิยมอ่านออกเสียงเรียงพยางค์  (อ่านออกเสียงตัวสะกดของคำหน้า)  เช่น 
               ราชบุรี  อ่านว่า  ราด-ชะ-บุ-รี
               ประวัติศาสตร์ อ่านว่า  ประ-หวัด-ติ-สาด
               อักษรศาสตร์ อ่านว่า  อัก-สอ-ระ-สาด
      * ยกเว้นชื่อเฉพาะบางคำที่ถือเป็นคำสมาสได้โดยไม่อ่านตามหลักข้างต้น  ทั้งนี้เพื่อ        ความสะดวกและความไพเราะในการออกเสียง  อีกทั้งเป็นการอ่านตามความนิยมก็มาก  เช่น
               สุพรรณบุรี  (สุ-พัน-บุ-รี)                 สมุทรสาคร   (สะ-หมุด-สา-คอน)
               สมุทรปราการ  (สะ-หมุด-ปรา-กาน)  สมุทรสงคราม  (สะ-หมุด-สง-คราม)
 ๓.  คำสมาสจะแปลจากศัพท์ตัวหลังมาตัวหน้า  เช่น
              มหาบุรุษ      (มหา = ผู้ยิ่งใหญ่ , บุรุษ = บุรุษ  เป็น  บุรุษผู้ยิ่งใหญ่)
              วีรชน          (วีร =  กล้า , ชน =  คน  เป็น  คนกล้า)
              ราชการ       (ราช = พระราชา , การ =  กิจการงาน  เป็น  กิจการงานของพระราชา)
              สารคดี         (สาร =  ความรู้ , คดี = เรื่องราว   เป็น  เรื่องราวที่ให้ความรู้)
๔. คำสมาสห้ามมีสระ อะ  หรือ  การันต์  กลางคำ  เช่น
              ธุระกิจ  ผิด       ที่ถูกต้อง   ธุรกิจ
              อิสระภาพ ผิด    ที่ถูกต้อง   อิสรภาพ
              มนุษย์ศาสตร์ ผิด ที่ถูกต้อง มนุษยศาสตร์
              หัตถ์กรรม ผิด ที่ถูกต้อง หัตถกรรม ฯลฯ
 ๕.  คำภาษาบาลี  และภาษาสันสกฤตที่มีคำว่า “พระ” นำหน้าจัดเป็นคำสมาสได้  เช่น  
พระเนตร  พระกร  พระบาท  พระโอรส  พระธิดา  พระอัยกา  ฯลฯ
     * *  แต่ถ้าคำว่า “พระ”  นำหน้าภาษาอื่น  จะไม่จัดเป็นคำสมาส  จะถือเป็นคำประสม  เช่น  
               พระดำรัส   (ดำรัส  เป็น  ภาษาเขมร) 
               พระเก้าอี้     (เก้าอี้  เป็น  ภาษาจีน)
               พระเครื่อง  (เครื่อง  เป็น  คำไทย)    ฯลฯ
คิดอย่างสร้างสรรค์
         เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเป็นคำสมาส
         เราสามารถพบคำสมาสได้จากที่ใดได้บ้าง
         ทำไมต้องมีการสร้างคำสมาส
กิจกรรมเสนอแนะ
สร้างพจนานุกรมคำสมาสเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการค้นคว้า                                     
สร้างเกมคำสมาส  เช่น  ปริศนาอักษรไขว้  เกมบันไดงูคำสมาส

       
การบูรณาการกับสาระวิชาอื่น ๆ 
                   กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ  การออกแบบรูปเล่มพจานานุกรมคำสมาส                      
กลุ่มสาระการเรียนการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี  การประดิษฐ์เกม
                   กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

อ้างอิง
https://www.newswit.com/gen/2011-02-22/1d51c72813bd897f7220e25e94c34fc5/
https://www.tv5.co.th/admintv5/images/front_part/13020110409.jpg

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3750

อัพเดทล่าสุด