คำกิริยา คำในภาษาที่มีชีวิต


1,019 ผู้ชม


คำกริยาที่ต้องปรากฏหน้าคำกริยาอื่นเสมอ คำกริยานำทำให้ภาษาไทยมีชีวิต   

คำกริยา  คำในภาษาที่มีชีวิต
                              ยกนิ้วให้ผู้กำกับ  สวย เริด  เชิด...โสด
                       คำกิริยา คำในภาษาที่มีชีวิต
                                                  ภาพจาก : https://i.ytimg.com

          สนุกและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับละคร “สวยเริ่ดเชิดโสด” ทางช่อง๓
 งานนี้ต้องยกนิ้วให้กับการแสดงที่แสนจะทุ่มเทของพระเอกนางเอก ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์
                ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์  วันศุกร์ ที่  ๐๖ สิงหาคม   ๒๕๕๓

    อ่านข่าวแล้ว แม้จะเป็นข่าวบันเทิงธรรมดา แต่ในข้อความโฆษณา มีคำกริยานำที่ทำให้
บทโฆษณา เร้าใจ  จากข้อความ "งานนี้ต้องยกนิ้วให้กับ...."  คำว่า "ยก" ใครรู้บ้างว่าเป็น
คำชนิดใด   บอกง่ายๆ  เป็นคำ "กริยานำ"  คำกริยาที่ต้องปรากฏหน้าคำกริยาอื่นเสมอ  
คำกริยานำทำให้ภาษาไทยมีชีวิต


ประเด็นการศึกษา เรื่องคำกริยา
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒

คำกริยา 
           คำกริยา  คือคำที่ทำหน้าที่เป็นส่วนหนักของกริยาวลีซึ่งเป็นหัวใจของประโยค 
คำกริยามี ๒ ประเภท  คือ  
๑) ประเภทที่มีหน่วย  ได้แก่   
                คำกริยาสกรรม  และ
                คำกริยาทวิกรรม   
๒) ประเภทที่ไม่มีหน่วยกรรม   ได้แก่  
                คำกริยาอกรรม  
                คำกริยาคุณศัพท์  
                คำกริยาต้องเติมเต็ม  
                คำกริยานำ  และ
                คำกริยาตาม

                                   คำกิริยา คำในภาษาที่มีชีวิต

                              ภาพจาก : https://www.google.co.th

                    จากภาพ  "วัยรุ่นเซ็ง"   เซ็ง  เป็นคำกริยาอกรรม
   ๑) คำกริยาที่มีหน่วยกรรม
          ๑.๑) คำกริยาสกรรม  (สกรรมกริยา) คือคำกริยาที่มีนามวลีตามหลัง  
นามวลีนั้นทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรม เช่น  กิน ฟัง อ่าน เกี่ยว  ดังตัวอย่าง
                ฉันกินขนม,  
                พ่อฟังข่าว ,  
                น้องอ่านหนังสือ, 
                ชาวนาเกี่ยวข้าว
        นามวลี  ขนม  ข่าว  หนังสือ  ข้าว  ทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรมของคำกริยาสกรรม 
 กิน ฟัง อ่าน เกี่ยว

          ๑.๒) คำกริยาทวีกรรม  คือคำกริยาที่มีนามวลี  ๒ นามวลีตามหลัง  
นามวลีแรกทำหน้าที่กรรมตรง  ส่วนนามวลีที่สอง ทำหน้าที่กรรมรอง เช่น สอน ป้อน 
ให้ แจก อบรมดังตัวอย่าง  
                            เขาสอนภาษาไทยเด็กๆ
                            พี่ป้อนข้าวน้อง
                            แม่ให้เงินลูก
                            ครูแจกรางวัลเด็ก
                            ครูเพลินพิศอบรมมารยาทนักเรียน
      นามวลีแรก คือ ภาษาไทย  ข้าว  เงิน  รางวัล  มารยาท  ทำหน้าที่เป็นกรรมตรง
ของคำกริยา  สอน  ป้อน  ให้  แจก  อบรม  ตามลำดับ  ส่วนนามวลีที่สอน คือ เด็กๆ น้อง 
ลูก เด็ก นักเรียน ทำหน้าที่เป็นกรรมรอง

๒)คำกริยาที่ไม่มีหน่วยกรรม   
         ๒.๑) คำกริยาอกรรม  (อกรรมกริยา)  คือ คำกริยาที่ไม่ต้องมีนามวลี 
ทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรม หน่วยเติมเต็ม  หรือหน่วยเสริมความตามหลัง  เช่น  หัวเราะ  
ตก  ขึ้น  ตาย  ยืน  เดิน  เสียใจ  ดีใจ  วิตก  กังวล  เซ็ง  สนุก  หัวแตก  ปวดท้อง 
 ในตัวอย่างดังนี้
                เด็กหัวเราะ 
                เพื่อนๆ ดีใจ 
                ฝนตก
                นายกรัฐมนตรีวิตก 
                
พระอาทิตย์ขึ้น 
                ลูกๆ กังวล
                นาฬิกาตาย 
                วัยรุ่นเซ็ง  
                ตำรวจยืน
                นักท่องเที่ยวสนุก 
                 พ่อเดิน  
                 เด็กนักเรียนหัวแตก
                เราเสียใจ  
                พี่สาวปวดท้อง  
                          คำกิริยา คำในภาษาที่มีชีวิต
                             ภาพจาก : https://www.rakdara.net

                จากภาพ  นิ้วเท้ายิ้ม    ยิ้มเป็นคำกริยาอกรรม

          ๒.๒) คำกริยาคุณศัพท์  คือคำกริยาที่ไม่ต้องมีนามวลีทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรม 
หน่วยเติมเต็มหรือหน่วยเสริมความตามหลัง  และเป็นคำกริยาที่แสดงคุณสมบัติหรือสภาพ
ของคำนามหรือคำบุรุษสรรพนาม  เช่น  ดี  สวย  ว่องไว  สูง  ในตัวอย่างดังนี้
                  เด็กคนนี้ดี
                บ้านแถวนี้สวยทุกหลังเลย
                นักกีฬาเหล่านี้ว่องไว
                 เขาสูงขึ้นมากทีเดียว
     
ต่างจากกริยาอกรรมคือ   *ใช้ร่วมกับคำว่ากว่า และที่สุดได้
    *ตามหลังลักษณนามได้

                    คำกิริยา คำในภาษาที่มีชีวิต
                                      ภาพจาก : https://www.sahavicha.com

                  จากภาพ   "เธอสวยทั้งสองคน"  สวย เป็นคำกริยคุณศัพท์
         
 
           ๒.๓)  คำกริยาต้องเติมเต็ม   (วิกตรรถกริยา)  คือคำกริยาที่ต้องมีนามวลี
ทำหน้าที่เป็นหน่วยเติมเต็มตามหลังเสมอ ได้แก่  เป็น  คล้าย  เหมือน  เท่า  ใช่  มี  เกิด  
ปรากฏ  ในตัวอย่างต่อไปนี้
  เขาเป็นครูอยู่ชายแดน
  เขาเหมือนพ่อมาก
  สุมนาหน้าตาคล้ายแม่
  ขันใบนี้ขนาดเท่าใบนั้น
  เด็กคนนั้นใช่สมศักดิ์แน่นะ
  เขามีบ้านอยู่อุทัยธานี
  ปีที่แล้วเกิดภาวะฝนแล้ง
  คอยไม่นาน  เดี๋ยวก็ปรากฏเงารางๆ ขึ้นมา


           ๒.๔) คำกริยานำ  คือ คำกริยาที่ต้องปรากฏหน้าคำกริยาอื่นเสมอ  
คำกริยานำรวมกับคำกริยาที่ตามมาปรากฏในโครงสร้างกริยาเรียง  เช่น  ชอบ  พลอย  
พยายาม อยาก  ฝืน  หัด  ตั้งใจ  ห้าม  ช่วย  กรุณา  วาน  ในตัวอย่างต่อไปนี้
        เขาชอบเป็นหวัด         * (คำว่า “ชอบ” เมื่อใช้เป็นกริยานำ  หมายถึง  “มัก”)
        คนไข้ฝืนกินยาจนหมด        
         วันนี้เด็กๆ พลอยเปียกฝนด้วย
        เราพยายามเตือนเขาแล้ว    
         ตอนนี้เขาอยากพักผ่อนมาก
        เขาฝืนกินน้ำมะเขือเทศทั้งๆ ที่ไม่ชอบ          
        เด็กหัดเขียน ก ไก่
        นักเรียนตั้งใจฟังครู   
        แถวนี้ห้ามสูบบุหรี่
        คุณช่วยขยับไปหน่อยนะคะ  
        กรุณากดกริ่ง
        ผมวานซื้อบัตรโทรศัพท์หน่อยนะ

           ๒.๕) คำกริยาตาม  คือคำกริยาที่ปรากกฎตามหลังคำกริยาอื่นเสมอ  
อาจปรากฏหลังคำกริยาโดยตรงหรือปรากฏหลังหน่วยกรรมของกริยาก็ได้
       คำกริยาตามบางครั้งมีรูปเหมือนคำกริยาอกรรม  เช่น ไป  มา  ขึ้น  ลง  
เช้า  ออก   บางคำมีรูปเหมือนคำกริยาสกรรม  เช่น  ให้  ไว้  เสีย  เอา  ดังตัวอย่างนี้
            เขาส่งพัสดุไปแล้ว                
            พวกเรากลับจากเที่ยวกันมา
             ลูกโป่งค่อย ๆ ลอยขึ้น           
            น้ำลดลงมากแล้ว
            พยายามเข้า  อย่าได้ท้อ          
              เขาเก่งออก
             เขาหยิบยื่นไมตรีให้ก่อน         
             ขอเตือนไว้ก่อนว่าอย่างพยายามแหกกฎ
             ลงผู้คนแตกแยกเสียขนาดนี้ คงให้รักกันเหมือนเดิมได้ยาก
             เอื้อมไม่ถึง ก็ใช้ไม้สอยเอา

                                คำกิริยา คำในภาษาที่มีชีวิต
                                                          ภาพจาก : https://i162.photobucket.com

         จากภาพ              ลูกโป่งค่อย ๆ ลอยขึ้น            ขึ้น เป็นคำกริยาตาม

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
       ๑. คำกริยามีความสำคัญต่อการสื่อสารอย่างไร
       ๒. ให้เขียนแผนผังความคิดความรู้เรื่องคำสรรพนาม

  
กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑. แต่งเพลงอธิบายคำกริยา 
  
คุณลักษณะที่ปลูกฝัง
       ๑. รักความเป็นไทย
       ๒. มุ่งมั่นในการเรียน

กิจกรรมบูรณาการ   
      
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  เรื่อง Verb,   intransitive  verb,  
                         transitive  verb,    
                         transitive and intransitive  verb


ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒
ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่๒
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3066

อัพเดทล่าสุด