วรรณกรรมอันล้ำเลิศของไทย


1,084 ผู้ชม


กรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ประกาศยกย่อง ไตรภูมิพระร่วง เป็นสุดยอดวรรณคดีสมัยสุโขทัย   

5 สุดยอดวรรณกรรมของไทย

กรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ประกาศยกย่อง ไตรภูมิพระร่วง เป็นสุดยอดวรรณคดีสมัยสุโขทัย เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วน ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กรรมการวรรณคดีแห่งชาติ แถลงผลการคัดสรรวรรณกรรมที่แต่งในสมัยสุโขทัย ซึ่งมีให้พิจารณาจำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

              

                          
1.จารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

2. จารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม

3. จารึกหลักที่ 3 ศิลาจารึกนครชุม

4. สุภาษิตพระร่วง

5. ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง

           ซึ่งยอดวรรณคดีสมัยสุโขทัย ที่ถูกยกย่อง คือ ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง ที่เป็นวรรณคดีเก่าแก่อายุกว่า 600 ปี ที่พระราชนิพนธิ์ขึ้นในปี พ.ศ.1888 โดย พระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พระยาลิไท พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยองค์ที่ 7

          สำหรับวรรณคดี ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง เรื่องนี้ มุ่งเน้นสอนศีลธรรม และบาปบุญคุณโทษ นรก สวรรค์ หวังให้ประชาชนยึดมั่นในคุณงามความดี ตามความเชื่อที่มีมายาวนาน จึงทำให้คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ มีมติยกย่องให้ วรรณคดีไตรภูมิพระร่วง เป็น สุดยอดวรรณคดีสมัยสุโขทัย

          โดย ศ.รื่นฤทัย เปิดเผยว่า วรรณคดีเรื่องนี้ เป็นเรื่องมีคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ และมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งในเชิงวรรณคดีไทย ศาสนา ศิลปกรรม สังคม เป็นบทประพันธ์ร้อยแก้วที่มีศัพท์ทางศาสนา และศัพท์สมัยโบราณ ที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างทางการศึกษาได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นได้ด้านอักษรศาสตร์ การอุปมาอุปไมย ให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ และเห็นภาพชัดเจน

         ขณะที่ ศ.ประเสริฐ ณ นคร ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กล่าวว่า เด็กไทยในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้เรียนรู้เรื่องวรรณคดีเท่าที่ควร เห็นได้จากเพลงในสมัยนี้ ที่ไม่ค่อยมีคำคล้องจอง หรือลงสัมผัสเลย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการละเลยการฝึกฝน และการยัดเยียดให้เสพสื่อจนเคยชิน จึงจะต้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

                   วรรณกรรมอันล้ำเลิศของไทย

                                                                  ภาพจาก  learners.in.th

          หนังสือไตรภูมิพระร่วงเป็นหนังสือสำคัญสมัยกรุงสุโขทัยที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน    เป็นวรรณคดีทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก  เดิมเรียกว่า "เตภูมิกถา หรือไตรภูมิกถา"  ในการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ  พ.ศ. 2455  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเปลี่ยนชื่อหนังสือเล่มนี้เป็น "ไตรภูมิพระร่วง"      เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยให้คู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง

ผู้แต่ง           พระมหาธรรมราชาที่  1  (พระยาลิไท)

ความมุ่งหมาย   1.   เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา  เป็นการเจริญธรรมความกตัญญู
                     2.   เพื่อใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรมและช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนา
                                    ไว้ให้ยั่งยืน

ลักษณะการแต่ง      แต่งเป็นร้อยแก้ว

เนื้อหาสาระ       เริ่มต้นด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลี  ต่อไปมีบานแพนกบอกชื่อผู้แต่ง  วันเดือนปีที่แต่ง  บอกชื่อคัมภีร์   บอกความมุ่งหมายในการแต่ง  แล้วจึงกล่าวถึงภูมิทั้ง  3  ว่า  "อันว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมจะเวียนวนไปมาและเกิดในภูมิ  3  อันนี้แล"  คำว่า  "ไตรภูมิ"  แปลว่า  สามแดน  คือ  กามภูมิ  ,  รูปภูมิ  ,  และอรูปภูมิ   ทั้ง  3  ภูมิแบ่งออกเป็น  8  กันฑ์  คือ
                  1. กามภูมิ  มี  6  กัณฑ์  คือ
                     1.1. นรกภูมิ  เป็นแดนนรก
                     1.2. ดิรัจฉานภูมิ  เป็นแดนของสัตว์ที่เจริญตามขวาง
                     1.3. เปตภูมิ  เป็นแดนของเปรตที่เคยเป็นมนุษย์และทำความชั่วเกิดเป็นเปรต
                     1.4. อสุรกายภูมิ  เป็นแดนของยักษ์มารหรือผีที่หลอกมนุษย์ให้ตกใจกลัว
                     1.5. มนุสสภูมิ  เป็นแดนของมนุษย์
                     1.6. ฉกามาพจร  เป็นแดนของเทวดาที่ยังเกี่ยวข้องในกาม  มี  6  ชั้น  คือ   จาตุมหาราชิก  ,   ดาวดึงส์  ,  ยามะ   , ดุสิต  , นิมมานรดี  , ปรนิมมิตวสวดี
                  2.  รูปภูมิ มี  1  กัณฑ์   คือ  รูปาวจรภูมิ  เป็นแดนของพรหมที่มีรูป  แบ่งเป็น  16  ชั้น     ตามภูมิธรรม  เรียกว่า  โสฬสพรหม
                 3. อรูปภูมิ   มี  1  กัณฑ์  คือ  อรูปาวจรภูมิ  เป็นแดนของพรหมไม่มีรูป  มีแต่จิต แบ่งเป็น4ชั้น

คุณค่า   

                1.  ด้านศาสนา  ไตรภูมิพระร่วงเป็นหนังสืออ่านยาก     ตั้งแต่สมัยสุโขทัยตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น    ผู้ที่นำไตรภูมิไปสู่ชาวบ้านก็คือพระสงฆ์   และนำไปโดยการเทศนา   ทำภาษายากให้เป็นภาษาง่ายที่ชาวบ้านเข้าใจได้    โดยเฉพาะเนื้อเรื่องนั้นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ   การเกิดการตาย   เกี่ยวกับโลกทั้งสาม  (ไตรภูมิ)   ซึ่งทำให้คนสมัยกรุงสุโขทัยเข้าใจเรื่องชีวิตของตนเองว่าเกิดมาอย่างไร  ตายแล้วไปไหน  โลกที่อยู่ปัจจุบันและโลกหน้าเป็นอย่างไร

                2.  ด้านภาษา  สำนวนโวหารในไตรภูมิ    โดยเฉพาะพรรณนาโวหารนั้นประณีตละเอียดลออเป็นอย่างยิ่ง     จนทำให้นึกเห็นสมจริง  ให้เห็นสภาพอันน่าสยองขวัญของนรก   สภาพอันรุ่งเรืองบรมสุขของสวรรค์   จนจิตรกรอาจถ่ายบทพรรณนานั้นลงเป็นภาพได้  เราจะเห็นภาพฝาผนังของวิหารและโบสถ์ตามวัดต่างๆ ไป (นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางภาษาระหว่างสมัยพ่อขุนรามคำแหงกับสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท)

                3. ด้านสังคม  มุ่งใช้คุณธรรมความดีเป็นพื้นฐานการสร้างสรรค์ความสุขในสังคม

                4.  ด้านอิทธิพลต่อกวียุคหลังกวียุคหลังได้ใช้ไตรภูมินี้เป็นแนวพรรณนาป่าหิมพานต์  เขาพระสุเมรุ   วิมานพระอินทร์  ส่วนจิตรกรได้อาศัยความคิด  ความเชื่อในไตรภูมิ  เป็นแนวการสร้างสรรค์งานศิลปะ

        รวมความว่า   ไตรภูมิพระร่วงเป็นหนังสือเก่าชั้นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อความคิดอ่านของคนไทยในเรื่องบาปบุญคุณโทษ    ในด้านจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ต่างๆ   และวรรณคดีตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยปัจจุบัน      หนังสือนี้แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถของพระยาลิไทในด้านศาสนา    และใช้จริยธรรมในการบริหารบ้านเมือง    และยังแสดงให้เห็นพระสติปัญญา    ตลอดจนให้แนวคิดในเชิงปรัชญา  สังคม  และค่านิยมของสังคมเป็นอย่างดียิ่ง

ตัวอย่างในไตรภูมิพระร่วง  

        ผลแห่งการทำบาป
        "คนผู้ใดกล่าวคำร้ายแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศิลและพ่อแม่และผู้เฒ่าผู้แก่ครูปาทยาย  คนผู้นั้นตาย  ไปเกิดในนรกอันได้ขื่อว่า  สุนักขนรกนั้นแล  ในสุนักขนรกนั้นมีหมา  4  สิ่ง  หมาจำพวกหนึ่งนั้นขาว  หมาจำพวกหนึ่งนั้นแดง  หมาจำพวกหนึ่งนั้นดำ  หมาจำพวกหนึ่งนั้นเหลือง  และตัวหมาผู้นั้นใหญ่เท่าช้างสารทุกตัว  ฝูงแร้งแลกาอันอยู่ในนรกนั้นใหญ่เท่าเกวียนทุกตัว  ปากแร้งแลกาแลตีนนั่น  เทียรย่อมเหล็กแดงลุกเป็นเปลวไฟอยู่มิได้เหือดสักคาบ  แร้งแลกาหมาฝูงนั้นเทียรย่อมจิกแหกหัวอกขบตอดคนทั้งหลายในนรกด้วยบาปกรรมของเขานั้น  แลมิให้เขาอยู่สบายแลให้เขาเจ็บปวดสาหัส  ได้เวทนาพ้นประมาณ  ทนอยู่ในนรกอันชื่อสุนักขนรกนั้นแล"

 

ขอบคุณ
https://www.thaigoodview.com/library/teachershow/trang/rootjarin_ch/sec04p03.html
https://variety.teenee.com/foodforbrain/29732.html
 https:// www.st.ac.th
https://www.muslimthai.com/main/1428/

ประเด็นศึกษา  ; การเขียนบรรยายโวหาร
                        กลุ่มสารการเรียนรู้ภาษาไทย    ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖    
                       
 ที่มา :  นัทธมน  คำครุฑ  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3204

อัพเดทล่าสุด