คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง


693 ผู้ชม



ข้อสรุปที่ได้ จะหนักแน่น และน่าเชื่อถือ ก็ต้องมีข้อมูลมาสนับสนุนข้อมูลที่นำมาสนับสนุน ต้องเป็นข้อมูลที่สมเหตุสมผล   

                               คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง


ประเด็นสนทนา

                                         ทำไมยางลบต้องอยู่บนดินสอ
                  คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง

                              ภาพจาก : https://vlovefo.ob.tc/picture

                ...................
                   ครูเขียนบนกระดาน  " ทำไมต้องมียางลบอยู่บนหัวดินสอ ...  
                    ครูเขียนตอบ          "เพราะคนเรามีสิทธิ์ทำผิดกันได้"

             แต่จงจำไว้ว่า. .. .. “เราไม่ควรใช้ยางลบให้หมดก่อนดินสอ 
           เพราะนั่นอาจหมายความว่า เรากำลังทำผิดซ้ำๆ จนความผิดนั้นอาจสายเกินแก้" 
           ครูเองยังไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งที่คิดต่อจาก คำถามของลูกชายนั้นมันจะถูก หรือไม่ 
           และนักเรียนที่อ่าน ประโยคคำถามนี้   จะเข้าใจในสิ่งที่ครูต้องการจะบอกหรือเปล่า 
           จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ. . ..นั่นไม่ใช่สิ่งที่ครูต้องการมากสักเท่าไหร่ 
    ลึก...ลึก  ครูก็แค่หวังว่า นักเรียนของครูคงจะกล้าเผชิญหน้ากับความผิดพลาด 
และไม่ประมาทในการใช้ชีวิต  และยอมรับการกระทำของตัวเอง. . . เพียงแค่นั้น 
ครูก็มั่นใจ....ในสำนึกดีของลูกศิษย์ 
                       ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล  บทความน่ารู้สำหรับครูและนักเรียน

        จากเรื่องราวข้างต้น   คำถามหรือปัญหาที่พบ  จะทำให้เราคิดหาข้อสรุปและคำตอบ
คำตอบที่ได้ หรือข้อสรุปที่ได้ จะหนักแน่น และน่าเชื่อถือ  ก็ต้องมีข้อมูลมาสนับสนุน
ข้อมูลที่นำมาสนับสนุน ต้องเป็นข้อมูลที่สมเหตุสมผล  อธิบาย และตีความข้อมูลที่นำมาได้
ด้วยภาษาที่ชัดเจน  ทั้งหมดเป็นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล

ประเด็นการศึกษา  การคิดอย่างมีเหตุผล
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕

การคิดอย่างมีเหตุผล  และไม่มีเหตุผล
       ๑. การคิดอย่างมีเหตุผล
       ๒. การคิดอย่างไม่มีเหตุผล
                         คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง
                                 ภาพจาก : https://www.tnews.co.th/html

        การคิดอย่างมีเหตุผล คือการตั้งข้อสรุปโดยมีเหตุผลสนับสนุนข้อสรุปนั้น
และเหตุผลนั้นต้องมีน้ำหนักเพียงพอ  เหตุผลอาจเป็นข้อเท็จจริงหรืออาจเป็นหลักการ
หรื่อทั้งสองอย่างประกอบกัน  ทั้งนี้ต้องเป็นข้อเท็จจริงหรือหลักการที่ถูกต้อง
(มิฉะนั้นข้อสรุปอาจผิดพลาด)
       ผลของการคิดอย่างมีเหตุผลนี้มีโอกาสผิดพลาดน้อย  สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้อง
       ลักษณะของคนที่คิดอย่างมีเหตุผล มักไม่หลงเชื่อใคร หรือเรื่องอะไรง่ายๆ
จะตริตรองให้ถ่องแท้ก่อนจึงเชื่อ

        การคิดอย่างไม่มีเหตุผลนั้น มีลักษณะตรงกันข้าม  เป็นการคิดที่ขาดข้อสนับสนุน
ที่มีน้ำหนักเพียงพอ   หรือข้อสนับสนุนนั้นเป็นข้อสนับสนุนที่มีอคติ ชอบหรือไม่ชอบ
        ผลของการคิดอย่างไม่มีเหตุผล จึงมักผิดพลาด หรือเลื่อนลอย  ไม่เกิดประโยชน์
        ลักษณะของคนที่มีปกติวินัยคิดอย่างไม่มีเหตุผล  
 เมื่อได้รับข้อเท็จจริงบางอย่าง มักสรุปง่ายๆ  หรือปักใจเชื่อง่ายว่า  ต้องเป็นอย่างนั้น
 อย่างนี้  ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุนเลย
              คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง

                                    ภาพจาก : https://www.oknation.net

การแสดงความคิดที่มีเหตุผลแต่ละตอน  จะต้องประกอบด้วยข้อความ ๒ ช่วงคือ
 ๑. เหตุผล
 ๒. ข้อสรุป  ที่ได้มาจากเหตุผล ขาดช่วงใดช่วงหนึ่งไม่ได้

ภาษาที่ใช้แสดงเหตุผล
     ถ้อยคำที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอ คือ
 เพราะว่า.................................... เพราะฉะนั้น...............................
              โดยที่.......................................ฉะนั้น.......................................
               เนื่องด้วย....................................จึง.......................................
  ..........................................จึง...............................................
 ..............................................ทั้งนี้เพราะว่า..............................
 .........................................เหตุผลก็คือ.....................................

                     คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง
                                               ภาพจาก : https://file.giggog.com

การใช้ภาษาแสดงเหตุผล 
     ความหมายของคำว่าเหตุผล
          เหตุผล หมายถึง ความคิดอันเป็นหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ รวมทั้งข้อเท็จจริง 
ที่สนับสนุนข้อสรุป ข้อวินิจฉัย ข้อตัดสินใจ หรือข้อยุติ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 
เนื่องจากเราใช้ เหตุผล ในการสนับสนุน ข้อสรุป เราอาจจะเรียก เหตุผล ว่าข้อสนับสนุนก็ได้ 
และข้อสรุป เป็นคำกลาง ๆ เป็นศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวกับการแสดงเหตุผล ในภาษาที่ใช้กันอยู่
ตามปกตินั้นอาจเรียกว่า ข้อสังเกต,การคาดคะเน, คำวิงวอน, ข้อคิด, หรือการตัดสินใจ ก็ได้
                 คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง
                                ภาพจาก :    https://www.daradaily.com

                             
โครงสร้างของการแสดงเหตุผลและภาษาที่ใช้ในการแสดงเหตุผล
     ๑. โครงสร้างของการแสดงเหตุผล ประกอบด้วย
            - ตัวเหตุผล หรือเรียกว่า ข้อสนับสนุน
            - ข้อสรุป

    ๒. ภาษาที่ใช้ในการแสดงเหตุผล มี ๔ ลักษณะดังต่อไปนี้
           ๒.๑ ใช้สันธานที่จำเป็นบางคำ มักเรียงเหตุผลไว้ก่อนสรุป โดยใช้สันธาน จึง เพราะ 
เพราะว่า เพราะฉะนั้น เพราะ……จึง หรืออาจเรียงข้อสรุปไว้ก่อนเหตุผล โดยใช้คำสันธาน 
เพราะ เพราะว่า ทั้งนี้เพราะว่า
           ๒.๒ ไม่ใช้สันธาน แต่เรียบเรียงข้อความโดยวางส่วนที่เป็นเหตุผล หรือส่วนที่เป็น
ข้อสรุปไว้ให้เหมาะสม  ผู้ฟังก็จะรับสารได้ว่า ข้อความนั้นเป็นการแสดง เหตุผล อยู่ในตัว 
เช่น ฉันจะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ เป็นอันขาด ฉันได้รับการสั่งสอนจากคุณแม่ให้สู้เสมอ
จะเห็นว่า วรรคแรก เป็นข้อสรุป วรรคที่สอง เป็นเหตุผล
ที่สนับสนุนข้อสรุป
           ๒.๓ ใช้กลุ่มคำเรียงกันบ่งชี้ว่า ตอนใดเป็นเหตุผล หรือข้อสรุป เมื่อต้องการชี้เหตุผล
และข้อสรุป ให้ชัดแจ้งลงไป ก็ระบุไปว่า ข้อสรุป ข้อสรุปว่า เหตุผลคือ เหตุผลที่สำคัญคือ
           ๒.๔ ใช้เหตุผลหลาย ๆ ประกอบกันเข้า เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อสรุปของตน
 โดยแยกแยะเหตุผลเป็นข้อ ๆ ไป เพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น 
                          คิดอย่างมีเหตุผล ฝึกฝนได้ ใช้ภาษาเชื่อมโยง
                                    ภาพจาก : https://topicstock.pantip.com

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
 แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๔-๕ คน แต่ละกลุ่มช่วยกันตอบคำถามต่อไปนี้
         ๑. การคิดอย่างมีเหตุผลมีกระบวนการอย่างไร 
         ๒. ประโยชน์ของการคิดอย่างมีเหตุผล บอกเป็นข้อๆ
  
  
กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑. แบ่งกลุ่ม  แต่งเพลงประกอบการเรียนเรื่องการคิดอย่างมีเหตุผล
หรือแต่งคำประพันธ์บรรยายการคิดอย่างมีเหตุผล

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในการสื่อสาร

กิจกรรมบูรณาการ  

        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เรื่อง การใช้ปัญญา


      ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๕
      ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3310

อัพเดทล่าสุด