นางมัทรีผู้ดึงดื้อ พระนางคือยอดพระมารดา


2,217 ผู้ชม


ข้อคิดจากเรื่อง ลูกคือแก้วตาดวงใจของแม่   

                      นางมัทรีผู้ดึงดื้อ พระนางคือยอดพระมารดา

ประเด็นการศึกษา  มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕


         กล่าวถึงมหาเวสสันดรชาดก  เป็นนิบาตชาดก 
 
องค์ประกอบของชาดก 
ชาดกทุกเรื่องจะมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ 
 ๑. ปรารภเรื่อง คือบทนำ จะกล่าวถึงมูลเหตุหรือที่มาของชาดก เช่น เรื่องเวสสันดรชาดก 
      พระภิกษุจะทูลถามพระพุทธองค์เรื่อง ฝนโบกขรพรรณ พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่อง 
๒. อดีตนิทาน หรือชาดก หมายถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่า 
๓. ประชุมชาดก ประมวลชาดกเป็นเนื้อความตอนสุดท้ายของชาดก กล่าวถึงบุคคลในชาดก
     ว่าผู้ใดกลับชาติเป็นใครบ้างในปัจจุบันกาล ชาดกทุกเรื่องมีองค์ประกอบ  ๓  ส่วน 

บทวิเคราะห์มหาเวสสันดรชาดก

องค์ประกอบส่วนที่ ๑  ปฐมเหตุ  เวสสันดร

          พระพุทธองค์เจ้า  สมัยเมื่อสมเด็จละจากมหาวิหารเวฬุวันใกล้กรุงราชคฤห์ 
อันเป็นราชธานีแห่งมคธ สู่นครกบิลพัสดุ์   แขวงสักกชนบทเพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยา
โปรดพระญาติ มีพระเจ้าสุทโธทนพุทะบิดาเป็นประธาน  อันพระกาฬุทายีเป็นผู้สื่อสาร
และนำเสด็จทรงประทับยังนิดครธาราม  ไม่ห่างจากมหานคร ตามที่ศากยราชจัดถวาย
ต้อนรับพร้อมด้วยหมู่พระภิกษุ์บริวารเป็นอันมาก(๑แสน)ยังมีความยินดีให้แผ่ไปทั่วทั้ง
กบิลพัสดุ์  
         ในกาลนั้นความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้นเหตุให้ทรงประกาศเรื่องเวสสันดรชาดก
  
 โดยปกติ พระตถาคตเจ้าเสด็จสู่ ณ ที่ใดก็ย่อมเกิดความสุขสวัสดี 
ณ ที่นั้นเพราะอานุภาพแห่งคำสั่งสอนที่ตรัสประทานด้วยพระมหากรุณา 
อุปมาเสมือนมหาเมฆหลั่งโปรยสายฝนอันเย็นฉ่ำลงมายังโลก 
ยังความอ้าวระอุของไอแดด  ไอดินให้ระงับ ชุบชีพพฤกษชาติที่เหี่ยวเฉา  
ให้ฟื้นสู่ความตระการด้วยดอกช่อและก้านใบฉะนั้น แต่สำหรับกบิลพัสดุ์ดินแดน
ที่ทรงถือพระกำเนิด และเจริญวัยมา มวลพระญาติและราษฎร์ประชาหาได้ยินดี
พุทธวิสัย ธรรมมานุภาพไม่

       พระองค์ทรงอุบัติมา  เป๊นความหวังของคนทั้งแว่นแคว้น  ทุกคนพากันรอคอย
อย่างกระหาย ใคร่จะชมพระบารมีจักรพรรดิราช 
       แต่แล้วท่ามกลางความไม่นึกฝันทรงอยู่ในพระเยาวกาล  เกศายังดำสนิท
ไม่มีร่องรอยแห่งสังขาร เท่าที่สมบัติประจำวิสัยบุรุษจะพึงมีพระชายาสิริโฉมป็นเลิศ
ให้กำเนิดโอรสอันเป็นสิริแห่งวงศ์ตระกูลอีกเล่า    (ยังมีต่อ)-----------

----------------คนที่มีจิตมากอยู่ด้วยมานะทิฐิก็ฉันนั้น
                               นางมัทรีผู้ดึงดื้อ พระนางคือยอดพระมารดา
                                      ภาพจาก : https://www.bloggang.com

       ทรงคงพิจารณาดังนี้ จึงเห็นว่ากิจอันควรก่อนอื่น คือทำลายความกระด้างล้างความถือดี
เสียด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงกำหนดจิตเจริญฌาน มีอภิญญาเป็นภาคพื้น
ลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศ เสด็จลีลาสจงกรมไปมาน่าอัศจรรย์ เพียงเท่านี้เองความคิดข้องใจ
ที่ว่าใครอาบน้ำร้อนก่อนหลัง ก็เสื่อมสูญอันตรธาน พากันก้มเศียรคารวะ แสดงถึงยอมรับ
นับถืออย่างเต็มใจ เมื่อเสด็จลงประทับ ณ พุทธอาสน์เบื้องนั้น ฝนอันมหัศจรรย์อย่างที่
ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลง ความมหัศจรรย์มีลักษณะดังนี้

          ๑.  สีเม็ดน้ำฝน แดงเรื่อ เหมือนแก้วทับทิม
          ๒.  ผู้ใดปรารถนาให้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนาแม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย
          ๓.  ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด
          ๔.  ตกลงเฉพาะสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย

คติในความมหัศจรรย์ โดยอุปมา เท่าที่คิดเห็นและประกาศแล้ว ในที่ทั่วไปดังนี้

ข้อที่ ๑. สีของน้ำฝน ได้แก่สีโลหิตแห่งความชื่นชมยินดี วันนี้เป็นวันที่ศากยราชทั้งปวงรอคอย 
ก็สมหวังแล้ว เมื่อพระองค์เสด็จคืนกลับมา ให้เขาได้เห็นพระรูปพระโฉมจึงพากันชื่นบาน
ผิวพรรณก็ซ่านด้วยสายเลือดอย่างที่เรียกราศีของคนมีบุญว่า ผิวพรรณอมเลือดอมฝาด

ข้อที่ ๒. ความชุ่มชื่นของสายฝน ก็ได้แก่พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงประกาศออกไป
 มีเหตุมีผลสมบูรณ์ด้วยหลักการ ถ้าผู้ใดตั้งใจฟังด้วยความเคารพธรรม ก็เข้าสัมผัสจิตสำนึก 
และสามารถจะปรับปรุงจิตของตนตามหลักแห่งเหตุผลนั้น จนกระทั่งจิตตั้งอยู่ในภาวะ
เยือกเย็นเหมือนผิวกายต้องละอองฝนแต่สำหรับบุคคลที่ฟังสักแต่ว่าฟังธรรมนั้น
ก็จะไม่กระทบใจ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาอุปมาด้วยฝนไม่เปียก

ข้อที่ ๓. ปกติธรรมะเป็นของสะอาดไม่ก่อทุกข์โทษอันพึ่งรังเกียจ แก่ใครๆ ไม่ว่ากาลไหนๆ

ข้อที่ ๔. พระพุทธจริยาครั้งนี้ ทรงมุ่งบำเพ็ญเฉพาะหมู่พระญาติ ศากยะล้วนๆ

        เมื่อเหล่าศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝน  เย็นใจด้วยกระแสธรรมและ
กราบบังคมลา พากันกลับคืนสู่พระราชนิเวศน์แล้ว แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เขตสนธยากาล
แสงแดดอ่อนสาดฝ่าละอองฝน ที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับ
จะกลายเป็นยามอรุณ ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนลงเผลอ 
แม้นกบินกลับรวงรังอย่างลังเล

       ภิกษุทั้งหลาย กำลังชุมนุมสนทนากัน  ถึงฝนอันมหัศจรรย์และสายัณห์อันพระพุทธองค์ 
ทรงเสด็จสู่วงสนทนาของภิกษุพุทธสาวก เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทศแห่งการสนทนานั้น
ก็ทรงตรัสแย้มว่า ฝนนี้เรียกว่าฝนโบกขรพรรษ ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่ 
แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์นามว่า เวสสันดร ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม 
จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษ
ได้ตกลงมานั้นสิ อัศจรรย์ยิ่งกว่า ภิกษุทั้งหลายต่างพากัน
กราบทูลพระมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง ซึ่งพระพุทธองค์เจ้าก็ทรงโปรด 
เรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็นสามสิบกัณฑ์ พันคาถา

               ( จากหนังสือเรื่อง เพลงศาสนา ของหลวงตา(แพรเยื่อไม้) )

องค์ประกอบส่วนที่ ๒   อดีตนิทาน ได้แก่ เรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์
สำหรับบทเรียนนี้ ขอนำมาเพียง ๑ กัณฑ์  คือ  กัณฑ์ที่ ๙   กัณฑ์มัทรี 
                              นางมัทรีผู้ดึงดื้อ พระนางคือยอดพระมารดา

                                  ภาพจาก : https://www.watsamma.com 
มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ ๙   กัณฑ์มัทรี
เพลงหน้าพาทย์  เพลงทยอยโอด   จำนวนคาถามี   ๙๐ พระคาถา 
ผู้แต่ง  เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ฉันทลักษณ์  ร่ายยาว

         รุ่งเช้าพระนางมัทรี เข้าป่าหาผลไม้   "เกิดเหตุแปลกประหลาดมหัศจรรย์ 
ผลไม้เผือกมัน   ช่างหายากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงมัน ลูกจันทน์ ลิ้นจี่ น้อยหน่า 
สาลี่  ละมุด  พุทรา ไม่มีให้เก็บเหมือนดังกับวันก่อน   นางรีบย้อนกลับเคหา 
ก็เกิดพายุใหญ่   จนมืดครึ้มไปทั่วทั้งป่า   ท้องฟ้าสีแดงปานเลือดละเลง  ทั้งแปดทิศ
ปรากฎมืดมนไปหมดอย่างไม่เคยมี   พระนางทรงห่วงหน้าพะวงหลัง เกรงจะมีภัย
แต่พระเวสสันดรา  กัณหาและชาลี
        พระนางมัทรีรีบยกหาบใส่บ่ารีบเดินทาง พอถึงช่องแคบระหว่างเขาคีรี
เป็นตรอกน้อยรอยวิถีทาง ที่เฉพาะจะต้องเสด็จผ่าน ก็พบกับสองเสือสามสัตว์
มานอนสกัดหน้า เทวดาสามองค์แปลงร่างเป็นราชสีห์ เสือเหลือง เสือโคร่ง
สกัดทางนางไว้  เพื่อมิให้พระนางมัทรีติดตามกัณหา ชาลีได้ทัน 
         แต่ถึงกระนั้น เมื่อยามทุกข์เข้าบีบคั้น ความรักลูก ความห่วงพระภัสดา 
พระนางจึงก้มกราบวิงวอน ขอหนทางต่อพญาสัตว์  ทั้งสาม เมื่อได้หนทางแล้ว 
พระนางก็รีบเสด็จกลับอาศรม

        เมื่อมาถึงอาศรม ไม่พบกัณหา ชาลี พระนางก็ร้องเรียกหาว่า"ชาลี กัณหา 
แม่มาถึงแล้ว เหตุไฉนไยพระลูกแก้ว จึงไม่มารับเล่าหลากแก่ใจ แต่ก่อนร่อนชะไร
สิพร้อมเพรียง  เจ้าเคยวิ่งระรี่เรียงเคียงแข่งกันมารับพระมารดา เคยแย้มสรวล
สำรวจร่า ระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน แล้วก็พากันกราบกรานพระชนนี พ่อชาลี 
ก็จะรับเอาผลไม้ แม่กัณหาก็จะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลาง 
เจ้าเคยฉอเลาะ  แม่ต่าง ๆ ตามประสาทารกเจริญใจฯ"

          บัดนี้ลูกรักทั้งคู่ไปไหนเสีย จึงมิมารับแม่เล่า ครั้นเข้าไปถามพระเวสสันดร
ก็ถูกตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ จนพระนางมัทรีถึงวิสัญญีภาพสลบลง พระเวสสันดรทรง
ปฐมพยาบาลจนพระนางมัทรีฟื้น แล้วจึงแจ้งความจริงว่า พระองค์ได้ทรงยกลูกรัก
ชายหญิงทั้งสอง มอบให้แก่ชูชกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน พระนางก็อนุโมทนาซึ่งทาน
นั้นด้วย

                                      จบความย่อ
                          ปี่พาทย์ทำเพลงทยอยโอด

อานิสงส์

       ผู้ใดบูชากัณฑ์มัทรี เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ
เป็นผู้มีอายุยืนยาว ทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลายจะไปในที่แห่งใด 
ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทุกหนแห่ง

ข้อคิดประจำกัณฑ์  กัณฑ์มัทรี 
      ลูกคือแก้วตาดวงใจของผู้เป็นพ่อแม่ "ลูกดีเป็นที่ชื่นใจของพ่อแม่ 
ลูกแย่พ่อแม่ช้ำใจ"
      รักใครเล่าจะเท่าพ่อแม่รัก 
      ห่วงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่ห่วง 
      หวงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่หวง 
      ให้ใครเล่าจะเท่าพ่อแม่ให้ 
 เพราะฉะนั้นพึงเป็นลูกแก้วลูกขวัญ ลูกกตัญญู ที่ชาวโลกชื่นชม พรหมก็สรรเสริญฯ 
 


องค์ประกอบส่วนที่สาม  ประชุมชาดก
      เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ คือ  ทุกข์  สมุทัย นิโรธ  
มรรค   ต่อท้ายมหาเวสสันดรชาดกแล้ว  พระองค์ได้ตรัสท้าวความหลังให้ภิกษุทั้งหลายฟัง
อีกครั้งหนึ่งผู้มีนามปรากฏในเรื่อง  มหาเวสสันดรชาดกนั้น เมื่อกลับชาติมาในปัจจุบันนี้
มีใครบ้าง  ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเป็นสามัญลักษณะแม้กระทั่ง
นามสมมุติ ชื่อเสียงนามโคตรก็เช่นกัน  ย่อมเปลี่ยนแปลงไปแคว้นสีพี...ครั้นล่วงมาถึง
ยุคพุทธกาลก็เปลี่ยนเป็นสักกชนบท  ,  นครเชตุดร  ก็เปลี่ยนเป็นกรุงกบิลพัสดุ์  ,
ราชวงศ์สีวีราช  ก็เปลี่ยนเป็นศากยราช ,ส่วนที่เหลือ  ท่านแสดงได้ดังนี้

 บทเรียนนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะบุคคลที่นักเรียนรู้จักคุ้นเคยจากกัณฑ์ที่ ๙ เท่านั้น

๑.  พระเจ้ากรุงสัญชัย กลับชาติมา  คือ  พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา
๒.  พระนางผุสดี        กลับชาติมา  คือ  พระนางสิริมหามายา  พุทธมารดา
๓.  พระนางมัทรี        กลับชาติมา  คือ  พระนางยโสธราพิมพา  มารดาพระราหุล
๔.  พระชาลี             กลับชาติมา  คือ  พระราหุล  พุทธชิโนรส
๕.  พระกัณหา     กลับชาติมา  คือ  นางอุบลวรรณาเถรี
๖.  พระอจุตฤาษี  กลับชาติมา  คือ  พระสารีบุตร   อัครสาวกเบื้องขวา
๗.  ท้าวสักกะ  (พระอินทร์) กลับชาติมา  คือ  พระอนุรุทธเถระ
๘.  พรานเจตบุตร  กลับชาติมา คือ พระฉันนะเถระ
๙.  พราหมณ์ชูชก  กลับชาติมา คือพระเทวทัตต์
๑๐. นางอมิตตดา   กลับชาติมา คือ นางจิญจมาณวิกิ สาวิกาเดียรญีย์
๑๑.เทวดาที่แปลงเป็นพระยาพยัคฆราช(เสือโคร่ง)    กลับชาติมา คือ พระสิมพลีเถระ
๑๒.เทวดาที่แปลงร่างเป็นพระยาทีปิราช(เสือเหลือง) กลับชาติมา คือ พระจุลนาคเถระ
๑๓.เทวดาผู้ชายที่มาดูแลกัณหาชาลี     กลับชาติมา คือ พระมหากัจจายนะเถระ
๑๔.เทวดาผู้หญิงที่มาดูแลกัณหาชาลี    กลับชาติมา คือ นางวิสาขาอุบาสิกา 
๑๕.เทวดาที่แปลงเป็นพระยาไกรสรราช(ราชสีห์)    กลับชาติมา คือ พระอุบาลีเถระ
๑๖.ช้างปัจจัยนาค    กลับชาติมา คือ พระมหากัสสปะเถระ
๑๘.มารดาช้างปัจจัยนาค    กลับชาติมา คือ นางกีสา โคตมี
๑๙.อำมาตย์ที่ทูลข่าวเนรเทศ    กลับชาตมา คือ พระอานนทเถระ
๒๐.พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์  กลับชาติมา คือ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า


 ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
 แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๔-๕ คน แต่ละกลุ่ม  ช่วยกันตอบคำถามต่อไปนี้
         ๑. เหตุใดเทพยาจึงต้องแปลงกายเป็นสัตว์ร้ายขวางทางพระนางมัทรี
             และการกระทำของเทพยดาเหมาะสมหรือไม เพราะอะไร
         ๒ พระนางมัทรีทำอย่างไรเมื่อพบสัตว์ร้ายขวางทางสัญจร  และการกระทำดังกล่าว
             ของพระนางมัทรีสะท้อนความเชื่ออย่างไร
         ๓. พระเวสสันดรใช้อุบายอย่างไรเพื่อให้พระนางมัทรีคลายทุกข์  อุบายดังกล่าว
               ใช้ได้ผลหรือไม่ เพราะเหตุใด 
         ๔. ข้อใดเป็นเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดในการที่ต้องเทศน์ให้จบภายในวันเดียว

  
กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  วิเคราะห์คุณค่าด้านวรรณศิลป์ที่ได้รับจากเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก 
กัณฑ์มัทรี

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในการสื่อสาร

กิจกรรมบูรณาการ  

        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เรื่อง มหาชาติชาดกกัณฑ์มัทรี


          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๕
            ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3320

อัพเดทล่าสุด