หัวใจชายหนุ่ม ตอน เธอกับเขาและรักของเรา


1,984 ผู้ชม


ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความยุ่งยาในชีวิต ควรคิดพิจารณา   

 หัวใจชายหนุ่ม  ตอน เธอกับเขา...และรักของเรา

                     หัวใจชายหนุ่ม ตอน เธอกับเขาและรักของเรา
                                ภาพจาก : webboard.radio.sanook.com
          เพิ่งจะจบแบบ "กรีดหัวใจ" คนดู แต่ละครเรตติ้ง ร้อน "เธอกับเขาและรักของเรา" 
  ก็ยังทำแฟนๆ "อิน" ชนิดลืมไม่ลง โดยเฉพาะ "ฉากปากแข็ง"... 

               ที่มา ไทยรัฐออนไลน์  ๑๑ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔, ๐๕.๔๕ น.

           ในบ้านเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ  ดินฟ้าอากาศ  อาหารการกิน  แม้แต่การค้า
ชายแดน  อ่านแล้วเครียด  มีเรื่องละคร และคู่รัก  ที่ทำให้จิตใจชุ่ม ขึ้นมาบ้าง ระยะนี้ก็
ใกล้วันแห่งความรัก  อยากให้ทุกคนมีความรัก  สาวๆ หลายคนหลงรัก "อาเปา" จากละคร
เธอกับเขาและเรารักกัน  ในละครชีวิตเหมือนฝัน สุขเร็ว  ทุกข์เร็ว  แต่ในชีวิตจริงนั้น
ช่วงชีวิตยาวนาน  หากจะมีความรัก อยากให้ตรองให้ดี ให้ถึงวัยอันควร  มิฉะนั้น
ชีวิตจะหักเห  เหมือนดังประพันธ์  จาก หัวใจชายหนุ่ม

ประเด็นการศึกษา  หัวใจชายหนุ่ม

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

 

๑. เรื่อง  หัวใจชายหนุ่ม
๒. ผู้แต่ง    เรื่องหัวใจชายหนุ่ม เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
               เจ้าอยู่หัว  ทรงใช้พระนามแฝง  “รามจิตติ”
 พระราชประวัติ   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นพระมหากษัตริย์ทีทรง
เป็นปราชญ์ และกวี  ทรงเชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์และโบราณคดี         
พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและบทร้อยกรองไว้จำนวนมาก       
ทรงได้รับสมญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
พระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ ทรงปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า เช่น  ยกฐานะโรงเรียน
มหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตั้งธนาคารออมสิน ตราพระราชบัญญัติ
ประถมศึกษา   พระราชบัญญัติขนานนามสกุล  ตั้งกองเสือป่า และลูกเสือ
 งานพระราชนิพนธ์ แบ่งประเภทได้ดังนี้
  ๑) โขนและบทละคร        จำนวน  ๑๖๗       เรื่อง
  ๒) นิทานและบทชวนหัว จำนวน  ๑๕๗      เรื่อง
  ๓)  บทความที่ลงหนังสือพิมพ์  จำนวน  ๒๗๘     เรื่อง
  ๔)  บทร้อยกรอง    จำนวน  ๑๕๑       เรื่อง
  ๕)  สารคดี    จำนวน   ๑๐๐       เรื่อง
  ๖)  บทละครพูด   จำนวนไม่ต่ำกว่า   ๕๐       เรื่อง

 พระนามแฝง
  ๑)  บันเทิงคดีและสารคดีที่ทรงแปลจากต่างประเทศ  ทรงใช้ว่า รามจิตติ
  ๒) บทละคร ทรงใช้ว่า   ศรีอยุธยา    พระขรรค์เพชร    สภานายก    ท.ป.ส.
  ๓)  บทความทางการเมืองและการปลุกใจ  ทรงใช้ว่า    อัศวพาหุ
  ๔)  เรื่องเกี่ยวกับทหารเรือ  ทรงใช้ว่า พันแหลม
  ๕)  เรื่องเกี่ยวกับนิทานและชวนหัว  ทรงใช้ว่า  สุครีพ  น้อยลา น้ายแก้วนายขวัญ
  ๖)  เรื่องปกิณกคดี  ทรงใช้ว่า  ชามภูวราช  ไก่เขียว  หนานแก้วเมืองบูรณ์  สุริยงส่องฟ้า
   และ  นักเรียนอีกคนหนึ่ง

๓.  ลักษณะของคำประพันธ์   ร้อยแก้ว ประเภทนวนิยาย  โดยใช้จดหมายเป็นหลักในการ
ดำเนินเรื่องและเสนอแนวคิดสำคัญ  ลงพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต

๔. จุดมุ่งหมายในการแต่ง     เพื่อแสดงให้เห็นว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างไม่ถูกต้อง
จะส่งผลร้ายอย่างไร


๕  เนื้อเรื่องย่อ
       นายประพันธ์เขียนจดหมายถึงนายประเสริฐซึ่งเป็นเพื่อนรักของเขา นายประพันธ์
เป็นนักเรียนนอกจากประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย พ่อของเขาหวังจะให้แต่งงาน
กับแม่กิมเน้ยแต่ประพันธ์ไม่ชอบใจการแต่งตัวของหล่อนที่ประดับประดามากเกินไปและ
ดูเกินงาม จนทำให้เขาปลีกตัวออกไปจากการคลุมถุงชนจนได้พบกับแม่อุไร ซึ่งเป็นหญิงสาว
หัวนอกด้านวัฒนธรรมตะวันตกเช่นเดียวกับประพันธ์ 
        ทั้งสองถูกคอกัน มักพากันเที่ยวเตร่สม่ำเสมอ จนในที่สุดเกิดได้เสียกันจนแม่อุไร
ตั้งครรภ์ จึงจำเป็นต้องแต่งงานกันบนความ
ไม่พอใจของผู้ใหญ่   
        ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อแต่งงานไปนานๆ นิสัยของแม่อุไรได้เปลี่ยนไป 
ชอบข่มสามีต่อหน้าคนอื่น หยาบกระด้าง ไร้ซึ่งมารยาท จนหนักเข้าเธอเริ่มเหินห่างประพันธ์
ไปคบกับพระยาตระเวนนคร เสือผู้หญิงที่ประสงค์ได้ผู้หญิงคนไหนย่อมได้ทุกครั้งไป
รวมถึงแม่อุไรที่ต้องหย่ากับประพันธ์ด้วยหวังว่าพระยาตระเวนนครจะให้เกียรติเธอราวภรรยา
คนสำคัญ แต่กลับตาลปัตรทางรักของแม่อุไรพังลงเมื่อพระยาตระเวนนครมีหญิงคนใหม่ 
เธอจึงกลับมาขอคืนดีกับประพันธ์ แต่ถูกปฏิเสธ จนเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านชีวิตของนายประพันธ์
ไป 
          ทำให้เขาเริ่มคิดได้ว่าบางทีการดำเนินชีวิตแบบชาวตะวันตกนั้นมิสามารถ
ใช้ได้กับวิถีแห่งความเป็นไทย ในที่สุดเขาได้พบกับนางสาวศรีสมาน หญิงสาวผู้ที่เขาคิดว่า
จะเยียวยาและบำรุงชีวิตของเขาให้ฟื้นคืนมาได้ ส่วนแม่อุไรก็ได้พบรักกับหลวงพิเศษผลพานิช พ่อค้าผู้มั่งมี แม้หน้าตาของเขาจะมิได้หล่อเหลา แต่มีเงินมากพอที่จะซื้อความสุขให้กับแม่อุไรได้เช่นกันเรื่องราวต่างๆ ได้จบลงด้วยจดหมายฉบับสุดท้ายแต่เพียงเท่านี้...

  สาระสำคัญ   
            จดหมายของประพันธ์บรรยายความชื่นชมยินดีในวัฒนธรรมฟุ่มเฟือยของตะวันตก  
อันเป็นความศิวิไลซ์  ในขณะเดียวกันก็ดูถูกบ้านเกิดเมืองนอน  บรรพบุรุษ  รวมทั้งวัฒนธรรมไทยว่าล้าสมัยเขาเห็นว่าการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยการทำบุญไหว้เจ้า
เป็นประเพณีที่ครึ อย่างยิ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้ประพันธ์ได้เรียนรู้ความผิดพลาดของตน  
และเริ่มปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย  และรับราชการจดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริบาลบรมศักดิ์ ประพันธ์ปฏิเสธที่จะแต่งงานกับผู้หญิงที่บิดามารดาเลือกให้ 
แต่แล้วเมื่อเขาได้แต่งงานกับอุไร ก็ต้องประสบปัญหาจนต้องหย่าขาดกัน เนื่องจากการเลี้ยงดูแบบตะวันตกไม่เหมาะกับสังคมในประเทศไทย


๖.  วิเคราะห์เนื้อหา เรื่องหัวใจชายหนุ่ม
           เรื่องหัวใจชายหนุ่ม มีเนื้อหาง่าย ๆ ผู้นิพนธ์ทรงชี้ให้เห็นปมปัญหาของชีวิตที่ไม่น่า
จะเกิดปัญหาโดยทรงกำหนดให้พระเอกของเรื่องเป็นหนุ่มนักเรียนนอก สำเร็จการศึกษาอย่างดี  แก่กลับประสบความผิดพลาดในการตัดสินใจแต่งงาน  เพราะความดูถูกพ่อแม่และระเบียบปฏิบัติแบบไทยว่าคร่ำครึ  หลงระเริงในความโก้หรูอย่างฉาบฉวยว่าเป็นความทันสมัย  แต่เนื่องจากเป็นคนมีพื้นฐานทางจิตใจดี  จึงรู้จักพิจารณาไตร่ตรองแล้วพยายายามแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้  จึงหันกลับไปเอาดีทางการงาน  มีความเจริญก้าวหน้าได้  เรื่องนี้สามารถวิเคราะห์ในแนวทางต่าง ๆ ดังนี้
           ๑)  จุดประสงค์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผู้อ่านตระหนักว่า การนิยมวัฒนธรรมตะวันตกอย่างผิดๆ นั้นนำไปสู่ชีวิตที่มีปัญหา  รากฐานของสังคมคือวัฒนธรรมอันดีงามของชาติตน  เยาวชนไทยบางคนที่ผ่านชีวิตในเมืองฝรั่งมา ไม่ควรดูถูกบ้านเกิดเมืองนอน พ่อแม่ บรรพบุรุษ  ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาติตน
           ๒)  เรื่องย่อของเรื่องหัวใจชายหนุ่ม  ผู้แต่งทรงใช้กลวิธีให้ตัวละครเอกเขียนเป็นจดหมายเล่าเรื่องของตนให้เพื่อนที่อยู่ต่างประเทศ  เรื่องราวดำเนินไปด้วยการเขียนเล่า  พอจะสรุปได้ว่า
                    ๏ นายประพันธ์สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ  และกำลังเดินทางกลับ
                       ประเทศไทย เขาเสียใจที่ต้องจากบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่บ้านเมือง
                       ที่ล้าสมัย  ผู้คนคร่ำครึ   
                    ๏ ด้านการงาน เมื่อเขากลับมาแล้วบิดาของเขาก็พาเขาเข้าสังคม
                       ในระดับสูง   และพาเขาไปฝากทำงานราชการ  เขาไม่ชอบการฝากเข้า
                       ทำงาน  แต่เขาก็หางานทำเองไม่ได้  ในที่สุดเขาก็ได้
                       เข้าทำงานด้วยการฝาก แต่เนื่องจากตัวเขาเองมีพื้นฐานการศึกษาดีมีความ
                       กระตือรือร้น  และรักความก้าวหน้าเขาก็ประสบความก้าวหน้าในการงาน
                       ตามลำดับอย่างรวดเร็ว  
                    ๏ ในด้านชีวิตรัก เขาไม่เข้าใจความหมายของหญิงที่ดีที่จะเป็นภรรยาที่ดี  
                       เขาจึงไปนิยมชมชอบหญิงที่เป็นดาวเด่นของสังคม เต้นรำ แต่งตัวเก่ง
                       คบผู้ชาย  และเที่ยวเก่ง  จนได้เสียกันและแต่งานกันโดยปราศจาก
                       ความเข้าใจกัน  แล้วชีวิตครอบครัวก็ล่มสลายเพราะฝ่ายหญิงไม่ยอมรับ 

                       หน้าที่ของภรรยาที่ดี


                    ๏ หลังการหย่าร้าง  นางต้องตกทุกข์อยู่ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดทั้งสองฝ่าย
                        ก็สามารถปรับตนให้มีชีวิตที่เหมาะสมและมีความสุขของตนได้
           ๓)  ปมปัญหา  หรือข้อขัดแย้ง  ของเรื่อง
                 ประการที่หนึ่ง  ตัวเอกของเรื่องนิยมความฟุ้งเฟ้อและวัฒนธรรมฝรั่งแบบผิดๆ
ดูถูกบ้านเกิดเมืองนอน  พ่อแม่ และความคิดแบบไทยๆ  ทำให้ใช้ชีวิตอย่างผิดๆ 
และแต่งงานอย่างผิดๆ  
                 ประการที่สอง  เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายภรรยาไม่ตระหนักในหน้าที่ของภรรยาที่ดี
นอกจากไม่ยอมปฏิบัติตนให้ถูกต้องแล้วยังทำตัวเหลวแหลกต่างๆ นานา เช่น ใช้เงินฟุ่มเฟือย
เกินฐานะมาก  ไม่ให้เกียรติสามี  และโดยเฉพาะคบชายอื่นอย่างเปิดเผย
        ๔)  ลักษณะนิสัยของนายประพันธ์  ถ้าตัดความหลงผิดเรื่องนิยมความเป็นฝรั่ง
ออกเสียง   แล้วก็จะได้ชายหนุ่มที่มีความคิดจิตใจที่ดีคนหนึ่ง  เช่น  รับผิดชอบแม่อุไร  
รักครอบครัว รักเกียรติยศของตน  มีความอดทน  มีกิริยามารยาทดีรักษาอารมณ์ไว้ได้   
ซื่อตรงและยุติธรรม  ต่อสตรีเพศ    ในด้านการงาน เป็นคนรักงานทำงานเต็มสติปัญญา  
มีความอุตสาหพยายาม
         ๕)  วิถีชีวิต และสภาพสังคมไทยในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ 
 เป็นระยะของการก้าวเลี้ยวจากสังคมเก่าไปสู่สังคมแบบตะวันตก
         ๖)  เหตุที่เรื่องหัวใจชายหนุ่มยังเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านทั้งที่เรื่องนี้แต่งมากว่า ๘๐ ปี
แล้ว เพราะมีเนื้อหาสอดคล้องกับผู้คนในยุคสมัย  ได้แก่ คนรุ่นใหม่ที่ยังคงฟุ้งเฟ้อนิยมแบบ
ตะวันตกอย่างไม่มีเหตุผล
                                              อ่านเพิ่มเติม เรื่มฉบับที่ ๑๒
                                              อ่านเพิ่มเติม เริ่มฉบับที่ ๖
                                              อ่านเพิ่มเติม เริ่มฉบับที่ ๑


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑.   ชีวิตครอบครัวของแม่อุไร กับประพันธ์ จบในเวลาอันรวดเร็ว
เพราะสาเหตุใด หากนักเรียนเป็นประพันธ์  กับแม่อุไร  จะมีวิธีประคับประครองชีวิตคู่ให้
สมบูรณ์ได้อย่างไร  อภิปรายแนวคิด  และคาดผลที่จะเกิดจากแนวคิดนั้น

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  โต้วาที ญัตติ เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก เกิดเป็นชายซิลำบากยากยิ่งกว่า

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เรื่อง ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๔
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3491

อัพเดทล่าสุด