เรียนกวีโวหาร ...ร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทย


746 ผู้ชม


มองในแง่การใช้ภาษา ถือพลังของภาษา เป็นการ "อธิพจน์" คือการกล่าวเกินจริง   

เรียนกวีโวหาร ...ร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทย

         “พายัพ”คำรามส.ส.ปันใจย้ายซบภท.ไม่รับ 
                        เรียนกวีโวหาร ...ร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทย
                                        ภาพจาก : https://img.kajeab.com/146161.jpg
 
      วันนี้(7 มิ.ย.)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายพายัพ ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทย 
ในฐานะประธานภาคอีสาน   กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยออกมาระบุว่า ฝากเลี้ยง
ส.ส.   ไว้ในพรรคเพื่อไทย   และในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะย้ายมาอยู่กับภูมิใจไทย
โดยนายพายัพ   ยืนยันว่า   ไม่มีส.ส.คนไหนจะไปร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน 
และไม่มีการรับฝากเลี้ยงส.ส. อย่างที่พรรคภูมิใจไทยกล่าวอ้าง   เชื่อว่า ส.ส.ในพรรค
จะมีวิจารณญาณ จึงขอท้าให้พรรคภูมิใจไทย  ออกมาประกาศรายชื่อว่ามี ส.ส.พรรค
เพื่อไทยคนไหนบ้าง  ที่ปันใจจะไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย “ยอมรับว่าอาจจะมีบ้าง 
ที่ส.ส.บางคน ได้เงิน เขาก็คงเอา แต่เชื่อว่า ระหว่างเงินกับสอบตก  เขาก็ต้องกลัว
สอบตกมากกว่า   แต่หาก ส.ส.คนไหนปันใจจะไปอยู่กับพรรคอื่น   โดยเฉพาะภูมิใจไทย
ก็บอกตรงนี้ได้เลยว่า เราจะไม่รับกลับมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย หากใครรับกลับ ก็ไม่มีผม” 
นายพายัพ กล่าว


            ที่มา :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันจันทร์ ที่ ๗ มิถุนายน   ๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๓๐ น
            จาก : https://www.dailynews.co.th/newstartpage

         ดูจากหัวข้อข่าว...สะท้อนให้เห็นการใช้ภาษา  จัดเป็นศิลปะในการ
เขียน   "พายัพ"  คาราม ส.ส.ปันใจย้าย ซบ ภท. ไม่รับ  
ที่จริงแล้ว "คำราม"  เป็นกิริยาของเสือ หรือสัตว์ที่มีความดุร้าย  และเป็นผู้มีอิทธิพล
การคำราม เพื่อต้องการเตือน หรือข่มขู่คู่ต่อสู้  ให้ถอยจากสิ่งหวงห้าม มิฉะนั้นอาจ
ต้องถูกสั่งสอน ด้วยการต่อสู้ ตามสัญชาตญาณสัตว์ 
      แต่สำหรับข้อความข้างต้นนี้แต่นักข่าวใช้คำว่า "คำราม" กับคุณพายัพ  
มองในแง่การใช้ภาษา ถือพลังของภาษา เป็นการ "อธิพจน์"  คือการกล่าวเกินจริง
จัดเป็นการใช้โวหารในภาษาไทยที่งดงาม

ประเด็นการศึกษา    กวีโวหารและสำนวนวเปรียบเทียบ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔


เรื่องกวีโวหาร และสำนวนโวหารเปรียบเทียบ

        ๑. อุปมาโวหาร  เปรียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนสิ่งหนึ่ง  เป็นการเปรียบเทียบ มีคำว่า 
เหมือน  ดุจ   ประดุจ  ดั่ง   ปูน  ราว  พ่าง  เพียง  เช่น  
         ความรู้ประดุจวา   ริจะมา ณ ทิศทาง
  ไป่ควรจะกั้นกาง  กลก่อทำนบกัน  
                                                                                 (พหูสูต  ของครูเทพ)

    ตัวข้าอุปมาเหมือนใบตอง          ประคองห่อหุ้มขนมไว้
 แก้สาดเสียสิ้นกินแต่ของ               อันใบตองหาทะยาทะแยไม่     
                                                                             (ขุนช้างขุนแผน)
                    เรียนกวีโวหาร ...ร่วมสืบสานภูมิปัญญาไทย
                         ภาพจาก : https://www.thai-folksy.net

        ๒. อุปลักษณ์  การเปรียบเทียบโดยนัย มีลักษณะคล้ายอุปมา  แต่อาจมีคำว่า  
คือ,เป็น,ฤาอยู่ด้วย หรือไม่มีก็ได้  หรือเปรียบเทียบโดยไม่มีคำเชื่อมโยง เช่น
              น้ำเงินคือเงินยวง  ขาวพรายช่วงสีสำอาง
     เต่าเตี้ยดอกอย่าต่อให้ตีนสูง  มิใช่ยูงจะมาย้อมไม่เห็นขัน
    หิ่งห้อยฤาจะแข่งแสงพระจันทร์  อย่าปั้นน้ำให้หลงตะลึงเงา  
                                                                               (ขุนช้างขุนแผน)

        ๓. สัญลักษณ์ คือ สิ่งที่นำมาใช้แสดงออกแทนสิ่งอื่น  เพื่อสื่อความหมายให้เกิดภาพ 
หรือให้เกิดความเข้าใจชัดเจน  นิยมใช้รูปธรรมเป็นสัญลักษณ์แทนนามธรรม  
สิ่งที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์จะมีส่วนสัมพันธ์กับความหมายของสัญลักษณ์อย่างใกล้ชิด 
คือ จะมีส่วนเหมือนหรือคล้ายกันในรูปทรง หรือในคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

  อันมือไกวเปลไซร้แต่ไรมา คือหัตถาครองพิภพจบสากล
   มือไกวเปล  เป็นสัญลักษณ์แทน  แม่

  ในระยะนี้ ระยะที่เสียงป่าดังชัดเจนขึ้น
   เสียงป่า  หมายถึง เสียงของสัตว์ที่เป็นเจ้าป่า คือสิงโต
ตัวอย่างคำสัญลักษณ์(ให้นักเรียนลองเติมความหมายตามความรู้สึก)
 ท้องทะเล หมายถึง ......................................................................
 พระราม หมายถึง  ......................................................................
 สีดา  หมายถึง  ........................................................
 พระอาทิตย์อัสดง หมายถึง  ........................................................
 คลื่น  หมายถึง  ........................................................
 พายุ  หมายถึง ........................................................
 สีขาว  หมายถึง  .......................................................


     เฉลย สำหรับครู
           ท้องทะเล หมายถึง ความเวิ้งว้าง  ความหว้าเหว่
           พระราม หมายถึง  ธรรมะ
           สีดา  หมายถึง  การกสิกรรม (รอยไถ)
           พระอาทิตย์อัสดง หมายถึง  ความเศร้า
           คลื่น  หมายถึง  อารมณ์ปั่นป่วนเพราะความรักความใคร่
           พายุ  หมายถึง  อารมณ์โกรธ
           สีขาว  หมายถึง  ความบริสุทธิ์


        ๔. บุคลาธิษฐาน(บุคคลวัต) การสมมุติให้มีตัวตน  หรือการนำสิ่งไม่มีชีวิตมากล่าว
ราวกับมีชีวิต  เช่น   น้ำเซาะหินรินรินหลากไหล ไม่หลับเลยชั่วฟ้าดินสลาย
     (ลำนำภูกระดึง ของอังคาร กัลป์ยาณพงศ์)

 ฉันจะไม่ยอมให้ที่ดินนรกนี้  มาเป็นฆาตกรฆ่าลูกของฉันอย่างลูกคนแรกอีกต่อไป
      (ลูกแม่พระธรณี)

 อัวราคอยนาย คาดว่าจะพบในฝูงมนุษย์ที่อัวราเห็นทุกๆ วัน อัวราคิดถึงนาย 
          คิดถึงทุกระยะที่กระดิกตัว  คิดถึงทุกลมหายใจ      
                                                                                    (อัวรานางสิงห์)

        ๕. อธิพจน์(หรืออติพจน์)  การกล่าวเกินจริง เพื่อเน้นความรู้สึก ทำให้เกิดความแปลก
 และเรียกร้องความสนใจได้ดี เช่น
                         เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม           ถึงพรหม
                                                              (นิราศนรินทร์)

                   ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น           วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย
            รสทิพย์หยิบมาโปรย               ฤาจักเทียบเปรียบมือนาง
                                                      (กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน รัชกาลที่ ๒)

        ๖. สัทพจน์ การกล่าวเปรียบเทียบโดยเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น
          ครืนครืนใช่ฟ้าร้อง เรียมครวญ
  หึ่งหึ่งใช่ลมหวน   พี่ไห้
  ฝนตกใช่ฝนนวล  ที่ทอด  ใจนา
  ร้อนใช่ร้อนไฟไหม้  พี่ร้อนรนกาม

        ๗. นามนัย  การนำคุณสมบัติที่เด่นของสิ่งหนึ่งมากล่าวแทนการเอ่ยชื่อสิ่งนั้น 
หรือการเรียก บุคคลโดยนำความหมายที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกันมาเป็นสัญลักษณ์  เช่น
 ดอกบัว  หมายถึง .............................................................
 ดอกหญ้า หมายถึง .............................................................
 กระต่าย หมายถึง .............................................................
 งู  หมายถึง ..............................................................
 ไซ  หมายถึง ..............................................................
 นก  หมายถึง ................................................................
 แก้ว  หมายถึง ...............................................................
 กา  หมายถึง ................................................................
 จระเข้  หมายถึง ...............................................................
 เต่า  หมายถึง ................................................................

             เฉลยสำหรับครู
        ดอกบัว  หมายถึง สตรี
        ดอกหญ้า หมายถึง ผู้หญิงสามัญ
        กระต่าย หมายถึง คนต่ำต้อย
        งู หมายถึง คนที่ไม่น่าไว้วางใจ
       ไซ หมายถึง จุดหมาย ,พระโพธิญาณ
        นก หมายถึง ความเป็นอิสระทางใจ
        แก้ว หมายถึง นางที่รัก, พระธรรม, พระรัตนตรัย
        กา หมายถึง คนคด, คนใจดำ
       จระเข้ หมายถึง ตัวแทนสัตวัร้ายในป่า, คนที่ไม่น่าไว้ใจ
       เต่า หมายถึง คนโง่, คนไร้วาสนา
 

        ๘. ปรพากย์  (หรือปฏิพากย์) ภาพพจน์ที่เกิดจากการเปรียบเทียบโดยใช้คำที่มี
ความหมายตรงกันข้าม เช่น มาสด้า ๘๐๘ โฉมใหม่ในราคาเก่า,  หน้าเนื้อใจเสือ,  
เธอต้องรู้จักยอม ยอมที่จะแพ้แล้วเธอจะชนะ

         ๙. คำอัพภาพ  คือคำเดิมเป็นคำซ้ำ   และกร่อนเสียงคำหน้าเป็นอะ เช่น
   ยุ่งยุ่ง เป็น ยะยุ่ง
   ยิ้มยิ้ม   เป็น ยะยิ้ม
   รื่นรื่น เป็น ระรื่น

บทสรุป   กวีโวหารคือภูมิปัญญาทางภาษา  เป็นการสอนให้รู้ใช้ให้คำให้เหมาะกับโอกาส
แสะสถานการณ์  เป็นความละเอียดอ่อนในการใช้ภาษา  เป็นพลังทำให้ผู้ซาบซึ้ง เกิด
จิตนาการ  การใช้กวีโวหารถือเป็นการใช้คำที่มีศักดิ์ของคำสูง  เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
       ๑. การเรียนกวีโวหารมีประโยชน์อย่างไร   
       ๒. กวีโวหารเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทยอย่างไร
  
กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑. ให้นักเรียนศึกษาหัวข้อข่าว พาดหัวข่าว ข่าว และรวบรวมกวีโวหาร  นำเสนอ
ที่ป้ายนิเทศหน้าห้องเรียน
       ๒. ประกวดการเขียนเรียงความเรื่อง กวีโวหารคือการสืบสานภูมิปัญญาไทย 
  
คุณลักษณะที่ปลูกฝัง
       ๑. ใฝ่เรียนรู้
       ๒. รักความเป็นไทย

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ การใช้สติในการรับสาร
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  การใช้สำนวนภาษา


 ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๑  ชั้น ม.๔
              ที่มา:  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย ท๓๑๑๐๑  ชั้น ม.๔

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2679

อัพเดทล่าสุด