นิราศนรินทร์ ตอน กรุงเทพฯแสนงดงาม


4,266 ผู้ชม


ภาพความงามของกรุงเทพฯ งดงามยิ่งกว่าเมืองสวรรค์   

นิราศนรินทร์ ตอน กรุงเทพฯของฉัน

ไฟไหม้กรุงเทพฯ
                  นิราศนรินทร์ ตอน กรุงเทพฯแสนงดงาม

                               ภาพจาก : https://www.google.co.th

       ขณะนี้ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ในหลายพื้นที่สำคัญๆ ของกรุงเทพฯ ด้วยกัน ๑๒ จุดใหญ่
ไม่นับรวมการเผายางรถยนต์ตามจุดต่างๆ ประกอบด้วย ๑.สยามพารากอน 
และสยามสแควร์ ๒.โรงแรมเซ็นทารา ๓.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
๔.อาคารแห่งหนึ่งย่านบ่อนไก่ ๕.ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย สาขาอโศก 
๖.ป.ป.ส.และร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และ......."
ข่าวจาก : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ๑๗.๐๐ น.
                 นิราศนรินทร์ ตอน กรุงเทพฯแสนงดงาม
                                     ภาพจาก : https://www.optimus.co.th

    ไม่น่าเชื่อจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับกรุงเทพฯ  ความงดงามของศิลปะการก่อสร้าง
ความงดงามของวัฒนธรรม ความงดงามของคนไทย  
     ภาพความงามของกรุงเทพฯ งดงามยิ่งกว่าเมืองสวรรค์  ดังข้อความที่ปรากฏใน
นิราศนรินทร์ 

ประเด็นการศึกษา    นิราศนรินทร์ ตอน กรุงเทพฯ ของฉัน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

๑. เรื่อง   นิราศนรินทร์คำโคลง
          เรียกตามชื่อผู้แต่งว่า “นิราศนรินทร์”  
          เพราะแต่งเป็นโคลง จึงเรียกว่า “โคลงนิราศนรินทร์”  หรือ “นิราศนรินทร์คำโคลง”

๒. ผู้ประพันธ์    นายนรินทรธิเบศร์
         นายนรินทรธิเบศร์  มีนามเดิมว่า อิน  รับราชการเป็นมหาดเล็กหุ้มแพร ในสมเด็จ
พระบวรราชเจ้าวังหน้าในรัชกาลที่ ๒
นายนรินทร(อิน) แต่งนิราศเรื่องนี้เมื่อคราวตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหา-
เสนานุรักษ์ ซึ่งทรงยกทัพไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองถลาง และเมืองชุมพร

๓.  ลักษณะของคำประพันธ์   แต่งเป็นร่ายสุภาพนำ ๑ บท  และต่อด้วยโคลงสี่สุภาพ
     จำนวน ๑๔๓ บท

๔. จุดมุ่งหมายในการแต่ง     เพื่อบันทึกการเดินทางในลักษณะนิราศ  
๕. ความสำคัญ   วรรณคดีสโมสรยกย่องว่าเป็น “ยอดของโคลงนิราศ” ที่มีความงามด้านวรรณศิลป์ 
  งดงามทั้งความหมาย และเสียงสัมผัส
  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงกล่าวถึงนิราศนรินทรว่าเป็นวรรณคดีที่จะหาโคลงเรื่องใด
มาเปรียบเทียบได้ยาก

๖.  รู้จักกับนิราศนรินทร์…ก่อน อ่าน
 การเขียนนิราศเป็นโคลงสี่สุภาพนั้น ขึ้นต้นต้องเขียนร่ายสุภาพก่อน เนื้อความในร่าย
จะต้องเป็นคำสดุดีสรรเสริญบ้านเมือง  ยอเกียรติกษัตริย์   ดังนี้เป็นธรรมเนียม
 อนึ่งควรจำไว้ด้วยว่า กวีย่อมจะประพันธ์กาพย์กลอนด้วยความรู้สึกซาบซึ้งใจ 
และด้วยจินตนาการ ความนึกคิดเห็นไป ฉะนั้นในบางวรรคบางตอน เราผู้อ่านอาจจะตีความ
ให้ชัดเจนลงไปได้ โดยยาก

๗. เนื้อเรื่อง ร่ายสุภาพนำ (ร่ายสุภาพจะจบลงด้วยโคลงสองเสมอ)

         ๑. ศรีสิทธิ์พิศาลภพ   เลอหล้าลบล่มสวรรค์      จรรโลงโลกกว่ากว้าง
แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ        ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า    แจกแสงจ้าเจิดจันทร์ 
เพียงรพิพรรณผ่องด้าว   ขุนหาญห้าวแหนบาท  สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน
ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า  ราญราบหน้าเภริน    เข็ญข่าวยินยอบตัว 
ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว  ทุกไทน้าวมาลย์น้อม  ขอออกอ้อมมาอ่อน
ผ่อนแผ่นดินให้ผาย  ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว    เลี้ยงทแกล้วให้กล้า 
พระยศไท้เทิดฟ้า  เฟื่องฟุ้งทศธรรม    ท่านแฮ

ความหมายของคำศัพท์
- ศรี หมายถึง  ศิริ มิ่งขวัญ ความสง่า ความสุกใส ความดีงามความเป็นใหญ่ อำนาจ
- สิทธิ์ หมายถึง  ความสุข ความเจริญ ความบรรลุผล ความสำเร็จ
- พิศาล  หมายถึง  วิศาล ไพศาล กว้างขวาง ใหญ่โต สำคัญ
- ภพ  หมายถึง  แผ่นดิน ที่อยู่ ความเกิด
- เลอ  หมายถึง  เหนือ บน สูง เลิศ
- จรรโลง  หมายถึง  พะยุง ค้ำจุน
- ผ้าง  หมายถึง  พ่าง เพี้ยง เช่น เหมือน (ตรงนี้ต้องใช้ ผ้าง เพราะคำส่งสัมผัสวรรคหน้าว่า กว้าง 
        เป็นวรรณยุกต์โท ฉะนั้นคำที่มารับสัมผัสต้องเป็นโทด้วย)
- เมรุ  คือเขาพระสุเมรุ เมืองเมรุหมายถึงเมืองสวรรค์
- อยุธเยนทร์ หมายถึง    อยุธยา+อินทร์ ศรีอยุธยาคือ นครหลวงของไทย ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ 
          แต่ก่อนคำว่า ศรีอยุธยาหมายถึง ประเทศไทย
- รพิ   หมายถึง  รวิ รพี รำไพ พระอาทิตย์
- สระ   หมายถึง  ชำระ
- เหลี้ยน   หมายถึง  .เลี่ยน เขียนในรูปโท (โทโทษ)
- ล่ง   หมายถึง  โล่ง ตลอด
เภริน    หมายถึง  เภรี กลอง
- ควบ   หมายถึง  รวมกัน
- มาลย์    หมายถึง  ดอกไม้ ในที่นี้หมายถึง เครื่องราชบรรณาการ
- ละล้าว    หมายถึง  .สล้าง
- ทศธรรม   หมายถึง  ทศพิศราชธรรม ธรรม ๑๐ ประการของราชา คือ...ทำทาน   รักษาศีล    
               ใช้ทรัพย์ทำบุญ   ซื่อตรง    อ่อนโยน    บำเพ็ญตบะ    ไม่โกรธ   
                ไม่เบียดเบียน   อดทน   ไม่ประพฤติผิด

ถอดความ
      ขอความดีงามจงบังเกิดแก่แผ่นดินอันกว้างใหญ่  และประเสริฐยิ่งกว่าดินแดนในโลก       
จนอาจข่มสวรรค์  แผ่นดินนั้นเปรียบดังเมืองสวรรค์ ณ ยอดเขาพระสุเมรุและเป็นที่ค้ำจุน
โลกอันกว้างใหญ่ แผ่นดินที่กล่าวถึงนี้ คือ ศรีอยุธเยนทร์ อันเรืองรุ่งโรจน์ จับฟ้า      
และความสว่างรุ่งเรืองนั้นแจ่มแจ้งยิ่งกว่าแสงเดือน จะเปรียบได้ก็กับแสงตะวัน        
มีเสนาอำมาตย์คอยพิทักษ์รักษาพระมหากษัตริย์    ผู้ทรงขจัดความทุกข์ของประชาราษฎร
 และทำลายข้าศึกให้สิ้นไป จนตลอดโลกก็ราบคาบเรียบดังหน้ากลอง บรรดาศัตรูเสี้ยนหนาม
 เพียงได้ยินชื่อ อยุธเยนทร์ ก็ต้องพากันน้อมตัวกราบไหว้กันอยู่ไสว       เพราะความยำเกรง
 บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ  ก็ส่งดอกไม้ เครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน    
 พระมหากษัตริย์ได้ทรงขยายพระราชอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป ทรงจัดให้บ้านเมือง
มีความสุขสงบราบคาบ     พระองค์ก็ทรงทำนุบำรุงบรรดาทวยหาญให้มีน้ำใจแกล้วกล้า   
พระยศของพระองค์นั้นสูงเสมอท้องฟ้า  และทศพิศราชธรรมที่ทรงบำเพ็ญนั้น   ก็เป็นที่ประจักษ์
ตลอดพระราชอาณาเขตของพระองค์

คุณค่าทางวรรณศิลป์
๑. โวหารภาพพจน์  พบอธิพจน์ (การกล่าวเกินจริง) จากข้อความ  "...เลอหล้าลบล่มสวรรค์....."  
หมายถึงแผ่นดิน  ที่งดงามยิ่งกว่าสวรรค์  นั่นหมายถึงกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นการกล่าวที่เกินจริง
๒. มีวรรณศิลป์ ดังนี้
       การเล่นเสียงวรรณยุกต์  " "...แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ..."    แผน-แผ่น-ผ้าง
       การเล่นเสียงพยัญชนะ ตลอดทั้งบท  เช่น  
 เลอหล้าลบล่มสวรรค์  เล่นเสียง พยัญชนะ ล
       แจกแสงจ้าเจิดจันทร์  เล่นเสียง  จ
 เพียงระพิพรรณผ่องด้าย เล่นเสียง พ
 ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า เล่นเสียง ล     ฯลฯ

บทสรุป    จากร่ายสุภาพ ในนิราศนรินทร์ จะเห็นความงดงามของกรุงเทพฯ 
ที่กวีได้พรรณนาไว้อย่างไพเราะ  แสนงดงาม ทั้งภาษาและหัวใจของผู้บอกเล่า
ความงดงามจนผู้อ่าน ลูกหลานอย่างเรา มองเห็นความงดงาม  ที่งดงามยิ่งกว่า   
       แม้ว่าเราจะก้าวผ่านวิกฤตของชาติ  ความงดงามของสิ่งก่อสร้างอาจลดลง  
แต่อยากให้ทุกคนรักษาความงดงามของหัวใจไว้  เพื่อจรรโลงและสร้างสรรค์
ความงดงามของความเป็นไทย  สืบทอดไว้เป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ให้ลูกหลานไทยต่อไป


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
       ๑.  ความงดงามของกรุงเทพฯ ที่นายนรินทร์พรรณนาไว้ในบทนิราศ  สะท้อนนิสัย
ของคนไทยในอดีตอย่างไร   
     

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑. ประกวดวาดภาพจากร่ายสุภาพในนิราศนรินทร์

  
คุณลักษณะที่ปลูกฝัง
       ๑. รักความเป็นไทย
       ๒. ใฝ่เรียนรู้

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  คำศัพท์เกี่ยวกับความงาดงามของกรุงเทพฯ      


 ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๑  ชั้น ม.๔
              ที่มา:  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย ท๓๑๑๐๑  ชั้น ม.๔

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2788

อัพเดทล่าสุด