วรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึงผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบต่างๆ
รู้จักตัวตน รู้จักคนจากวรรณกรรมท้องถิ่น
ภาพจาก : https://www.cmw.ac.th
ผลจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมตะวันตกและความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไทย การรับวัฒนธรรมต่างชาติโดยไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยสูญเสียไป เกิดการรับค่านิยมและแนวการปฏิบัติที่อาจไม่เหมาะสม วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามและหลากหลายในสังคมสูญหายไป หรืออาจถูกบิดเบือนไปจากหลักการดั้งเดิมที่ดี รวมทั้งอาจถูกละเลยมิได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเท่าที่ควร ข้อมูลจาก : สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ -- ศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๐๐๔ ๑๕:๐๖:๔๘ .https://www.ryt9.com
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันคนไทยนิยมวัฒนธรรมต่างชาติกันมากขึ้น อันสืบเนื่องจากยุคโลกไร้พรมแดน การขาดวิจารณญาณในการตัดสินใจ หรือแม้เเต่ครูผู้สอนไม่ได้สอดแทรกในเรื่องของท้องถิ่นกับกลุ่มสาระของตนเองเท่าที่ควร ฉะนั้นครูผู้สอนควรจะนำเอาวรรณกรรมท้องถิ่นมาบูรณาการกับการเรียนการสอน และวรรณกรรมท้องถิ่นก็เป็นศิลปวัฒนธรรมไทยที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญการนำวรรณกรรมท้องถิ่นไปใช้สอน ครูผู้สอนสามารถใช้ได้กับกลุ่มสาระภาษาไทย ทุกช่วงชั้น
วรรณกรรมท้องถิ่น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วรรณกรรมพื้นบ้าน” พรทิพย์ ซังธาดา(๒๕๓๙) ได้รวบรวมและสรุปความหมาย ลักษณะ ประเภท และคุณค่าของวรรณกรรมท้องถิ่นหรือวรรณกรรมพื้นบ้าน จากนักการศึกษาท่านต่างๆ สรุปได้ดังนี้ วรรณกรรมพื้นบ้าน(Folk Literature) หรือวรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง ผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ภาษาเป็นสื่อ ทั้งในรูปแบบ ของมุขปาฐะและที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เพลง นิทาน สุภาษิต เพื่อสร้างความบันเทิงในท้องถิ่น เสนอแง่คิด คติสอนใจในการดำเนินชีวิต การศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านจะช่วยให้เข้าใจวิถีชีวิต ค่านิยม และความเชื่อของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นรากฐานความคิดและพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน ฉะนั้นวรรณกรรมพื้นบ้านหรือวรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง วรรณกรรมที่เป็นมุขปาฐะคือ การเล่าสืบต่อกันมา และวรรณกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือบันทึกในวัสดุต่างๆ เช่น ในใบลาน หรือสมุดข่อย วรรณกรรมเหล่านี้ถ่ายทอดระหว่างกลุ่มชนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งผู้เล่าหรือผู้เขียนเป็นคนในท้องถิ่น เล่าหรือเขียนให้คนในท้องถิ่นของตนฟังหรืออ่าน รูปแบบฉันทลักษณ์เป็นไปตามความนิยมของท้องถิ่น ใช้ภาษาท้องถิ่น ที่พบมากคือ นิทานพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก เพลงพื้นเมือง ปริศนาคำทาย ภาษิต คาถา บทเทศน์ คำกล่าวในพิธีกรรมต่างๆ
ลักษณะของวรรณกรรมท้องถิ่น บุปฝา ทวีสุข (๒๕๒๘)
๑. วรรณกรรมท้องถิ่นโดยทั่วไปมีวัดเป็นศูนย์กลางเผยแพร่กวีผู้ประพันธ์ส่วนมากคือพระภิกษุ และชาวบ้าน
๒. ภาษาที่ใช้เป็นภาษาถิ่น ใช้ถ้อยคำสำนวนท้องถิ่นที่เรียบง่าย ชาวบ้านทั่วไปรู้เรื่อง และใช้ฉันทลักษณ์ที่นิยมในท้องถิ่นนั้นๆ
๓. เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ มุ่งให้ความบันเทิงใจ และสอดแทรก คติธรรม ทาง พุทธศาสนา
๔. ยึดค่านิยมแนวปรัชญาพุทธศาสนา เช่น กฎแห่งกรรม หรือธรรมะย่อมชนะอธรรม
ประเภทของวรรณกรรมท้องถิ่น
นักการศึกษาได้แบ่งวรรณกรรมท้องถิ่นหรือวรรณกรรมพื้นบ้านโดยทั่วไปตามลักษณะการถ่ายทอด แบ่งออกเป็น ๒ประเภท คือ
๑. วรรณกรรมมุขปาฐะ ได้แก่วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเล่าสืบต่อกันมา วรรณกรรมประเภทนี้ได้แก่ ประเพณีต่างๆนิทาน การแหล่ขวัญ คำสู่ขวัญ ภาษิต ปริศนา ผญา เพลงพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก เพลงประกอบการละเล่น เป็นต้น
๒. วรรณกรรมลายลักษณ์ ได้แก่วรรณกรรมที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งลักษณะคำประพันธ์ที่เป็นร้อยแก้ว และร้อยกรอง ส่วนใหญ่จะจารไว้ในใบลาน
คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน มนตรี ตราโมท ( ๒๕๑๘)
วรรณกรรมแห่งชาติมีคุณค่าต่อประชาคมในชาติอย่างไร วรรณกรรมพื้นบ้านก็มีคุณค่าต่อประชาคมท้องถิ่นอย่างนั้น คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน อาจสรุปได้ดังนี้
๑. มีคุณค่าต่อการอธิบายความเป็นมาของชุมชนและเผ่าพันธุ์
๒. สะท้อนให้เห็นโลกทั้งนี้และค่านิยมต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่น โดยผ่านทางวรรณกรรม
๓. เป็นเครื่องมืออบรมสั่งสอนจริยธรรมของคนในสังคม
๔. เป็นแหล่งบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี และการดำเนินชีวิตของคในท้องถิ่น
วิธีการสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น กิ่งแก้ว อัตถากร (๒๕๑๓)
วิธีการสืบทอดวรรณกรรมท้องถิ่นอาจทำได้หลายวิธี เช่น
๑. สืบทอดทางมุขปาฐะ คือการสืบทอดต่อกันมาด้วยปาก กล่าวคือ เล่าเรื่องราวต่างๆ สืบต่อกันมา เช่นผู้สูงอายุเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง เป็นต้น
๒. สืบทอดด้วยลายลักษณ์ เป็นวิธีการใหม่ที่ต้องอาศัยวิชาการทางหนังสือ กล่าวคือ ผู้รู้ได้จดจารลงในหนังสือใบลาน สมัยต่อมาก็ได้ปริวรรต และตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ
๓. สืบทอดด้วยการแสดงมหรสพ ในปัจจุบันมีการนำวรรณกรรมท้องถิ่นมาแสดงต่อสาธารณชน ในรูปมหรสพต่าง ๆ รวมทั้ง การถ่ายทอดผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น
๔. สืบทอดด้วยการศึกษาเล่าเรียน ในสมัยโบราณ ประชาชนส่วนใหญ่ รับรู้วรรณกรรมจากการฟัง (มุขปาฐะ) ผู้ที่มีอกาส
ได้ “อ่าน” คือผู้ที่บวชเรียนเท่านั้น จึงทำให้การสืบสานทำได้ ในวงแคบ การนำวรรณกรรมและภาษาท้องถิ่นมาสอนในโรงเรียนให้ทุกคนได้เรียนรู้ จึงเป็นทางหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา ในปัจจุบัน การส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (อินเตอร์เน็ต) สามารถทำได้รวดเร็วและกว้างไกลไปทั่วโลก จึงน่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการเผยแพร่ และสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น
๕. สืบทอดด้วยการจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สาธิต โดยสถาบันการศึกษา หรือองค์กรในท้องถิ่นต่าง ๆ
จะเห็นได่ว่าการศึกษาวรรณกรมท้องถิ่น จะทำให้เราทราบถึง ภาษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ค่านิยม ประเพณี ความเชื่อฯลฯ ทำให้ทราบถึงรากหง้าของตนเอง และสามารถจะเรียนรู้ลักษณะนิสัยของคนได้จากวรรณกรรมท้องถิ่น
ครูผู้สอนควรจะจัดทำหรือรวบรวมวรรณกรรมท้องถิ่นให้นักเรียนได้ศึกษา หรืออาจจะให้นักเรียนได้ทำโครงงานในเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่น และที่สำคัญเมื่อนักเรียนได้จัดทำโครงงานแล้วครูผู้สอนสามารถบูรณาการความรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างหลากหลาย เช่น การรวบรวมคำศัพท์(กลุภาษาอังกฤษ วิถีชีวิตความเป็นอยู่(กลุ่มสารสังคมฯ) การแต่งกาย การละเล่น(กลุ่มสาระดนตรี-นาฎศิลป์) ฯลฯ
ภาพอ้งอิงจาก : https://www.pimkham.com
แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้
กิ่งแก้ว อัตถากร. วรรณกรรมจากบ้านใน. กรุงเทพฯ : หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู, ๒๕๑๓.
บุปผา ทวีสุข. คติชาวบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ ๖ กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๒๘.
พรทิพย์ ซังธาดา. วรรณกรรมท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, ๒๕๓๙.
มนตรี ตราโมท. การละเล่นของไทย. กรุงเทพฯ : ขนิษฐ์การพิมพ์, ๒๕๑๘.
https://gotoknow.org
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=229