หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ผู้อ่านจะเกิดภาพในใจที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริบทของชีวิต ลองอ่านดูนะคะ
กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว ตอนที่ 1
สาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ 4
สาระที่ 1 การอ่าน
มาตรฐาน ท 1.1
-
ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิดเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจ แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต และมีนิสัยรักการอ่าน
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง อ่านอย่างมีวิจารณญาณและมีประสิทธิภาพได้
ตัวชี้วัด
-
วิเคราะห์และวิจารณ์เรื่องที่อ่านทุกๆ ด้านอย่างมีเหตุผล
-
คาดคะเนเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่านและประเมินค่าเพื่อนำความคิดไปใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต
-
วิเคราะห์ วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น โต้แย้งกับเรื่องที่อ่านและเสนอความคิดใหม่อย่างมี เหตุผล
-
ตอบคำถามจากการอ่านประเภทต่างๆ ภายในเวลาที่กำหนด
สาระที่ 2 การเขียน
มาตรฐาน ท 2.1 ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
-
เขียนเชิงวิชาการ เขียนอธิบาย ชี้แจงแสดงทรรศนะ สารคดี เขียนเชิงสร้างสรรค์ได้
-
ตั้งประเด็นหัวข้อการเขียนได้ตามจุดประสงค์ เรียบเรียงงานเขียนโดยมีการอ้างอิงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างถูกต้อง
- ใช้ภาษาพัฒนาการเรียน การทำงาน และการประกอบอาชีพสร้างสรรค์งานเชิงวิชาการ และใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์
ตัวชี้วัด
-
เขียนสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยใช้ภาษาเรียบเรียงถูกต้องมีข้อมูลและสาระสำคัญชัดเจน
-
มีมารยาทการเขียน
สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย
มาตรฐาน ท 4.1 เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษา และพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ
ผลการเรียนรู้
-
ใช้ภาษาพัฒนาการเรียน การทำงาน และการประกอบอาชีพสร้างสรรค์งานเชิงวิชาการ และใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์
ตัวชี้วัด
-
วิเคราะห์และประเมินการใช้ภาษาจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออีเล็กทรอนิกส์
กิจกรรมการเรียนรู้
ผู้ใหญ่ในวันนี้ คือ เด็กๆ เมื่อหลายปีที่ผ่านมาแล้ว ปัจจุบันนี้ เราพบว่ามีปัญหามากมายเกิดขึ้นเพราะผู้ใหญ่ เราเคยสงสัยไหมว่า อะไรนะ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ มีปัญหา
อ่านบทความนี้แล้วขอความคิดเห็นด้วย โดยตอบคำถามท้ายบทความนะคะ
กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว ตอนที่ 1
ข้อความนี้ เป็นชื่อหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กที่ผู้เขียนเคยอ่านเมื่อประมาณ 19 ปี มาแล้ว และเป็นวลีที่ยังติดอยู่ในใจเสมอ ยิ่งทุกวันนี้ได้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับคนตั้งแต่ระดับ ป.1– ระดับที่สูงกว่าดอกเตอร์ ด้วยสายสัมพันธ์อันมีนัยทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผู้เขียนยิ่งพบว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริงอย่างที่สุด
คนที่ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ ได้ยินเพียงคำว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว”โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่บางคนตีความว่าการเรียนรู้ซึ่งพวกเขาเข้าใจว่าเป็นการเรียนรู้ทางวิชาการของเด็กซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนถึงอนุบาลหรือไม่ก็ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจึงได้กระตือร้นที่จะให้ลูกได้เริ่มศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลส่งผลให้มีนักวิชาการน้อยมากมายในครัวเรือนสะสมความเครียดให้กับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ โดยที่เด็กไม่รู้ตัว
บางครอบครัวสรรหาของเล่นที่คิดว่าจะช่วยให้ลูกเกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น เครื่องบิน รถ เรือ หุ่นยนต์ ตุ๊กตาแฟชัน ฯลฯ โดยไม่ทราบถึงผลการวิจัยของเล่นประเภทนี้ที่พบว่า ของเล่นประเภทนี้จะทำให้เด็กกลายเป็นคนเบื่อง่าย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ขาดจินตนาการ เพราะของเล่นลักษณะนี้ มีจินตนาการสำเร็จรูปมาแล้ว เป็นรูป เป็นร่างสามารถนำมาใช้ นำมาเล่นได้ทันที ต่างจากของเล่นตามธรรมชาติซึ่งอาจจะเป็นก้อนหิน ใบไม้ เปลือกหอย ดินน้ำมัน ที่เด็กสามารถสมมติให้เป็นอะไรก็ได้ตามใจของเขา แต่ก็น่าเสียดายที่เด็กๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้จินตนาการตามใจเพราะพ่อแม่เกรงว่าลูกจะไม่ฉลาด จึงเลือกสรรความฉลาดให้ลูกโดยการซื้อของเล่นที่ตนคิดว่าฉลาดแล้วที่เลือกมาและหวังว่าลูกจะฉลาดตามที่ต้องการแล้วในที่สุดเด็ก ๆ ก็ไม่สามารถฉลาดได้อย่างที่คิด เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย พอเริ่มจะเรียนรู้ได้ก็จัดประสบการณ์ทางวิชาการให้ลูกทันที ด้วยการให้เรียนพิเศษในทุกรายวิชายอดนิยมที่เชื่อว่าจะทำให้ลูกเก่งตั้งแต่เด็ก เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น
ที่จริงแล้ว หนังสือ กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ กล่าวไว้ว่า “เด็กมีการเรียนรู้มากที่สุดในช่วง 3ขวบปีแรก ในช่วง 3ปีทองนี้ เด็กเรียนรู้มากกว่าการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเสียอีก” แต่การเรียนรู้ตรงนี้ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ได้อยู่กับของใช้ที่เป็นธรรมชาติ เพราะเด็กที่เลี้ยงมากับธรรมชาติ เช่น การใช้ถ้วยชาม แก้ว เซรามิก ไม้ บ้าน สีธรรมชาติ เสียงธรรมชาติ เมื่อโตขึ้นจะมีนิสัยที่ละเอียดอ่อน รอบคอบ มีสมาธิ มากกว่าเด็กที่มีแต่ของใช้พลาสติก เมลามีน เพราะธรรมชาตินั้นมีความสุภาพและละเอียดอ่อนจึงเป็นการสร้างจิตวิญญาณที่ดีให้เด็ก ซึ่งพ่อแม่ไทยโบราณก็เลี้ยงลูกท่านแบบนี้ อันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมคนเดี๋ยวนี้จึงหุนหันพลันแล่นและมีจิตใจหยาบกระด้าง
ประเด็นอภิปราย / ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นลงในส่วนที่จัดพื้นที่ไว้ให้ ควรใช้ข้อความที่สุภาพและระมัดระวังการเขียนสะกดคำให้ถูกต้อง
1. นักเรียนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับบทความนี้ ในประเด็นใดบ้าง
2. นักเรียนคิดว่า นักเรียนเป็นผู้ได้รับการเลี้ยงดูมาในลักษณะใด
3. ในอนาคต ถ้านักเรียนต้องทำหน้าที่ผู้ปกครอง นักเรียนคิดว่าจะเลี้ยงดูเด็กในปกครองอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ ความคิดเห็นหลังการอ่าน เป็นผลที่เกิดจากทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ ของผู้อ่านแต่ละคน โดยมีองค์ประกอบของชีวิตเป็นพื้นฐาน มีประสบการณ์เป็นแหล่งข้อมูล ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ผู้อ่านมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นตามมุมมองที่เป็นเหตุเป็นผลของตนเอง
การบูรณาการกับกลุ่มสาระ สังคมศึกษา สุขศึกษาพลศึกษา แนะแนว
แหล่งข้อมูล
มุมชวนมอง ของ ครูระพีร์ นสพ.อ่างทองโพสต์ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2550
ภาพประกอบ https://www.trevorromain.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=232