นิทานคุณธรรมนำความรู้


709 ผู้ชม



เพื่อนในห้วงน้ำ   


นิทานคุณธรรมนำความรู้
www.feeding-fish.blogspot.com


        นิทานนับว่าเป็นมรดกทางภาษาและวัฒนธรรมของไทยอย่างหนึ่ง  การนำเอานิทานมาสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้จึงเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการอย่างยิ่ง

เป้าหมายแห่งผองชน

       เพื่อให้ผู้อ่าน  มีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ การช่วยเหลือ  การแบ่งปัน ตลอดจนสามารถให้การช่วยเหลือ แบ่งปันแก่ผู้อื่น ได้ตามความเหมาะสมกับสถานะของตนเอง


เนื้อหาสำหรับสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย ช่วงชั้นที่ 1-4


        “โอ๊ย.......โอ๊ย.......โอ๊ย........เจ็บเหลือเกิน”  ไส้เดือนร้องครวญครางอย่างเจ็บปวด  ที่ลำตัวของไส้เดือน   
มีเบ็ดอันแหลมคม   เสียบห้อยลงไปในน้ำ  ทันทีที่ไส้เดือนน้อย  ถูกหย่อนด้วยคันเบ็ดลงไปในน้ำ  บรรดาสัตว์น้ำต่าง ๆ อาทิ ปูนา  ปลาช่อน ประซิว  ปลาดุก และ ปลาหมอ  ต่างแหวกว่ายน้ำตรงมายังเจ้าไส้เดือนน้อยผู้เคราะห์ร้าย  
ขณะเดียวกันเจ้าปลาช่อนตัวเขื่องกำลังจะงาบกินไส้เดือนเป็นอาหาร
        “หยุดก่อนพี่ปลาซ่อน”  ไส้เดือนห้าม พอได้ยินเสียงห้ามของไส้เดือน   เจ้าปลาช่อนถึงกับหยุดด้วยความสงสัย
        “อะไรเล่า..กลัวตายเหรอ”
       “ใช่...ข้ากลัวตาย  แต่ก็กลัวท่านจะตายด้วย” ไส้เดือนบอก
       “น่าขันจังเจ้าไส้เดือนน้อย   ข้าไม่ตายหรอก  แต่เจ้านั่นแหละจะตาย เพราะข้าจะกินเจ้าเดี๋ยวนี้”   ปลาช่อนขู่
       “ถ้าท่านกินข้า..ท่านก็ตาย” ไส้เดือนย้ำ
      “อย่าขู่ข้าเลย  ตัวเล็กอย่างเจ้า ไม่มีมือไม่มีเท้า  แม้แต่กระดูกสันหลังยังไม่มี จะเอาอะไรมาสู้กับข้า”  
ปลาช่อนสำทับ
       “ผู้ที่จะทำให้ท่านตายไม่ใช่ข้า  แต่คนต่างหากที่จะทำให้ท่านตาย คน...คน...รู้ไหม” ไส้เดือนผู้น่าสงสารบอก
       “คนอยู่ไหนไม่เห็นมีเลย”
       “คนยังไม่มา  แต่ท่านโปรดสังเกตดู   ตรงลำตัวของข้าก่อน ท่านเห็นหรือไม่ว่า  จากลำตัวของข้านี้    มีสายโยง
ขึ้นไปข้างบน ในลำตัวของข้ามีเบ็ดปักเสียบไว้   หากท่านกินข้าเข้าไป   เบ็ดจะติดคอของท่าน  เมื่อนั่นแหละ
ท่านจะกลายเป็นอาหารอันโอชะของคน” ไส้เดือนสาธยาย
         เจ้าปลาช่อนตัวเขื่อง   ว่ายวนดูโดยรอบของไส้เดือนน้อย  มองเห็นเบ็ดอันแหลมคม   เสียบที่ตัวของไส้เดือนอย่างชัดเจน  มีสายห้อยโยงขึ้นไปผูกติดกับคันเบ็ด   ที่ปักเสียบไว้บนคันนา  เจ้าปลาช่อนถึงกับหน้าซีดเผือก
       “ถ้าเราใจร้อนกว่านี้  เห็นทีจะไม่รอด”  ปลาซ่อนคิดในใจ
       “เห็นอันตรายหรือยังท่าน”  ไส้เดือนน้อยเอ่ยถาม
       “เห็นแล้วน่ากลัวมาก” ปลาช่อนบอก
       “ข้าช่วยท่านแล้วนะ  ถ้าข้าไม่ช่วยท่านไว้  ป่านนี้เบ็ดคงติดที่ลำคอของท่านแล้ว  ข้าช่วยท่านให้รอดตายแล้ว   ท่านต้องช่วยข้าด้วย” ไส้เดือนขอร้องเมื่อสบโอกาส
       “ข้าจะช่วยเจ้าได้อย่างไร”
       “ก็ช่วยกัดสายเบ็ดให้ขาดเท่านั้น ข้าก็จะเป็นอิสระ” ไส้เดือนชี้แนะ
       “ฟันของข้าก็ซี่เล็กนิดเดียว  ข้าจะกัดสายเบ็ดให้ขาดได้อย่างไร” ปลาช่อนบ่น
       “ในห้วงน้ำนี้มีใครบ้างพอที่จะช่วยข้าได้” ไส้เดือนถาม
        ปลาช่อนตัวเขื่องเริ่มคิดหนัก  ใช้ครีบสองครับกุมขมับตัวเอง เขาคิดหาทางช่วยเหลือไส้เดือน  และแล้วความคิด
ก็ผุดขึ้น
       “ปูนา...ปูนา....ใช่แล้ว  ปูนามีก้ามแข็งแรงพอที่จะช่วยเหลือได้”  ปลาช่อนเห็นช่องทาง   ที่จะช่วยเหลือไส้เดือนได้แล้ว
       “แต่.....เอ.....เรากับปูนาไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่   ปูนาชอบกัดกินเพื่อนปลาของฉันเป็นประจำ”  ปลาช่อนบ่นออกมา
      “ไม่มีทางพอที่จะคุยกันได้เลยหรือ” ไส้เดือนสงสัย
      “ข้ากำลังคิดอยู่  เอาไว้อีกสองสามวันข้าจะไปขอร้องปูนาดู”
      “โอ๊ย..ๆ ไม่ทันการแล้ว ถ้ารออีกสองสามวันข้าก็ตายก่อนนะซี” ไส้เดือนร้องออกมาด้วยความตกใจกลัว

นิทานคุณธรรมนำความรู้
      www.flaw2-49-2.blogspot.com


         ขณะที่ทั้งสองกำลังคุยกันอยู่นั้น  ชาวนาที่เป็นคนนำเบ็ดมาปักไว้ได้เดินกลับมาอีกรอบ   เพื่อตรวจดูว่ามีปลา
มาติดเบ็ดหรือยัง  พอเดินมาเกือบถึงคันเบ็ด  ที่ปักเสียบเบ็ดไว้   ชาวนาได้เหยียบลงบนกอหญ้าที่มีกบหลบอาศัยอยู่   กบตกใจกระโดดลงไปในน้ำตรงที่ปลาช่อนกำลังคุยกับไส้เดือนพอดี  ไส้เดือนกับปลาช่อนถึงกลับสะดุ้ง  ปลาช่อนเตรียมว่ายหนีไป  แต่ด้วยจิตสำนึกของปลาช่อนได้ผุดขึ้นมาทันทีว่า กบเป็นเพื่อนกับปูนา  เพราะกบกับปูนาชอบอาศัยอยู่ในรู้ด้วยกัน  หากใช้กบเป็นสื่อ  ไปประสานงานกับปูนาคงจะสำเร็จ ว่าแล้วปลาช่อนจึงว่ายตามกบไป
         “การพูดคุยกับปูนานั้น ข้าพอจะคุยกันได้   แต่ปูนาจะช่วยหรือไม่นั้นคือปัญหา” กบบอกปลาช่อนแบบไม่มั่นใจ
         “ลองดูเถอะน่า”  ปลาช่อนเร่งเร้า
         “ตกลง เราไปด้วยกัน” กบชวนปลาช่อนไปพบปูนา
          จากนั้น  ทั้งกบและปลาช่อน   ก็พากันแหวกว่ายน้ำที่ขุ่นข้นในผืนน้ำไปหาปูนา  ปล่อยให้ไส้เดือนที่ถูกเสียบ
ด้วยเบ็ด   มองตามไปจนสุดสายตา ในใจอธิฐานของให้ปูนามาช่วย

        “เพื่อเห็นแก่คำขอร้องของท่านกบผู้ทรงศีล  ข้าจะช่วย”  ปูนาตอบตกลง    หลังจากที่ได้รับคำขอร้องอ้อนวอนจากกบและปลาช่อน
        “ขอบพระคุณท่านมากปูนาผู้มีใจเมตตา” กบกล่าวขอบคุณในน้ำใจของปูนา แล้วทั้งสาม   ก็พากันว่ายน้ำไปยังบริเวณที่ไส้เดือนติดเบ็ดอยู่  พอมาถึงที่หมาย   เจ้าปูนาก็ตรงไปที่สายเบ็ด  แล้วใช้ก้ามอันใหญ่โตกัดสายเบ็ดจนขาด   จากนั้นก็ใช้ขาที่แหลมคม  กรีดเอาเบ็ดออกจากลำตัวของไส้เดือน  เมื่อไส้เดือนเป็นอิสระแล้ว  ไส้เดือนก็ขอบคุณปูนา  ปลาช่อน และกบ ที่ให้ความช่วยเหลือจนมีชีวิตรอดได้
         วันนั้น  สัตว์ต่าง ๆในห้วงน้ำต่างเป็นเพื่อนกัน  ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน  แต่มีบางครั้งที่สัตว์เหล่านั้นอาจทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง  แต่ก็เป็นธรรมดาของสัตว์  ดูอย่างคนเราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ 
ยังมีการแก่งแย่ง ทะเลาะวิวาทกัน  ขณะเดียวกันการทะเลาะวิวาท  การเห็นแก่ตัวจะไม่เกิดขึ้น    หากคนเรามีจิตใจที่เป็นสาธารณะ มีความพอประมาณ   มีเหตุผล   เพราะความพอประมาณ  ความมีเหตุผลจะเป็นภูมิคุ้มกันเรา   ให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม  อย่างมีความสุขที่ยั่งยืนตลอดไป


คำถามในยามอยากรู้
1.เราจะแสดงออกอย่างไรให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
2.การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก่อให้เกิดผลดีอย่างไร


กิจกรรมเสนอแนะ
1.กำหนดภาพสัตว์แล้วให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับภาพ
2.การเล่านิทานให้นักเรียนฟังบ่อย ๆ จะเป็นการนำไปสู่การเป็นผู้เขียนนิทานได้

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
1.สาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ ให้นักเรียนนับจำนวนสัตว์ในนิทานว่ามีสัตว์จำนวนเท่าไร
2.สาระการเรียนสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สอนเกี่ยวกับคุณธรรมนำความรู้
3.สาระการเรียนรู้ศิลปะ โดยการวาดภาพสัตว์จากนิทาน
4.สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยการค้นคำศัพท์ชื่อสัตว์จากนิทานเป็นภาษาต่างประเทศ
 
แหล่งที่มาของข้อมูลภาพประกอบ

www.baanmaha.com
www.flaw2-49-2.blogspot.com

www.feeding-fish.blogspot.com

www.oknation.net

นิทานคุณธรรมนำความรู้
 www.baanmaha.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=491

อัพเดทล่าสุด